ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือ ทุกปี ที่คู่สามีภรรยาจะฉลองวันแต่งงานครบรอบห้าสิบปี ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Golden Anniversary ในปัจจุบัน อย่าว่าแต่จะฉลองห้าสิบปีเลย แม้แต่สิบปีก็ค่อนข้างจะหายาก วันเวลาและสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไปด้วยอย่างรวดเร็วและว่องไว ในประเทศสวิสมีสถิติการหย่าร้างถึง ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ในจำนวนคู่สมรสทั้งหมด ไม่ตำหนิกันเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเขาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
หากมีลูก ก็มีคำกล่าวว่า “It’s better for children to come from a broken home than to live in one” แปลว่า สำหรับพวกลูกๆแล้ว จะเป็นการดีกว่า หากว่าเขาจะเป็นเด็กที่มีพ่อแม่หย่าขาดจากกันและแยกกันอยู่ ดีกว่าที่จะต้องทนอยู่ในบ้านที่มีการระหองระแหง เพราะพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน ส่วนใหญ่ลูกๆเองก็มักจะปรับตัวได้และไม่ได้ถือว่าการหย่าร้างของพ่อแม่สร้างปมด้อยให้อย่างไร หากว่าพวกเขาได้รับการอธิบายว่าบางครั้ง คนสองคนแม้ว่าจะรักกันเพียงใด ถ้ามีความแตกต่างมากเกินไป ก็ไม่สามารถที่จะร่วมอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดี ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ ที่จะต้องให้ความอบอุ่นแก่พวกเขาเท่าที่สามารถจะทำได้ และเลี้ยงดูพวกเขาอย่างดีจากทั้งพ่อและแม่ ไม่ใช่ปล่อยให้ความรับผิดชอบตกเป็นของแม่แต่เพียงคนเดียว อย่างในประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ
อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้เองก็ได้ที่หนุ่มๆสาวๆหลายคู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าจะทำงานทำการเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ เลือกที่จะไม่แต่งงานแต่เลือกที่จะอยู่ด้วยกันเฉยๆอย่างเปิดเผย ไม่ผูกมัดกันด้วยกระดาษแผ่นเดียวซึ่งหาค่าไม่ได้เลย ยกเว้นทางกฏหมาย ถ้าการอยู่ด้วยกันไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของความรักอีกต่อไป ที่ทนอยู่ด้วยกัน อาจจะเพราะต้องการรักษาหน้าตาทางสังคมหรืออยู่เพื่อลูก เพราะการปฏิบัติเช่นนี้เป็นการเสแสร้ง ตบตาผู้คนในสังคม ทั้งๆที่ทั้งคู่ไม่มีความสุขเลย ทำให้กระทบถึงจิตใจของลูกด้วย ในปัจจุบันกฏหมายสวิส อนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้นามสกุลของตนเองได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่จำเป็นต้องไปใช้นามสกุลของคู่สมรส หลังจากการแต่งงานแล้วโดยถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนลูกที่จะเกิดมานั้น ก็แล้วแต่จะตกลงกันว่าจะใช้นามสกุลของพ่อหรือแม่
แม้แต่รัฐมนตรีหญิงคนหนึ่งของประเทศสวิสก็อยู่กินกับคู่รักโดยไม่ได้แต่งงานกัน แต่ก็ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่มีการออกมาโจมตีให้เสียหายแต่อย่างใด ในเมื่อเธอได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดี ในวันหนึ่งเมื่อถึงวาระ เธอผู้นี้จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ เพราะฉนั้นในประเทศที่ผู้คนมีการศึกษา มีจิตใจสูงจะไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเลวทรามต่ำช้าแต่อย่างใด ข้อสำคัญคนที่จะประพฤติเช่นนี้ได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบชีวิตของตนเองพอสมควร ไม่ใช่เด็กหนุ่มๆสาวๆที่ยังหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ แต่เข้าใจผิดว่าการไปอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานหรือได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ดีงามและโก้เก๋ทันสมัยหรือถูกต้อง
เราได้รับเชิญจาก Anne และ Jimmy ซึ่งเป็นเพื่อนอาวุโสชาวสก็อตที่สนิทของเรา งานฉลองจะมีขึ้นที่เมือง Aberdeen ประเทศสกอตแลนด์ ที่เขาทั้งสองได้เกิดและเติบโตมา งานนี้จะจัดขึ้นที่โรงแรม The Marcliffe at Pitfodils ที่เราพักอยู่ โรงแรมนี้เป็นโรงแรมเก่าแก่ ในแบบโรงแรมโอเรียนเต็ลของไทยหรือโรงแรม Raffles ของสิงค์โปรค์ในสมัยก่อนการพัฒนาปรับปรุง
เมื่อได้รับคำเชิญจากแอนน์และจิมมี่ มีหรือที่เราจะปฏิเสธ (It was an invitation we could not refuse) เพราะเป็นการเชิญเฉพาะเพื่อนฝูงที่สนิทสนมเท่านั้น เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ เรายังไม่เคยไปเมือง Aberdeen เลย ทั้งๆที่เคยขับรถไปเที่ยวสกอตแลนด์มาแล้วจนทั่ว ตั้งแต่ใต้จดเหนือจนถึงเมือง Thurso เรื่อยเลยไปเมือง John o’Groats ที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศ เรียกว่าถ้าเราเดินถอยหลังไปก้าวเดียว ก็จะตกทะเลเหนือ North Sea แม้แต่ที่เมือง Durness ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือที่สุดของประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ The most west northerly point of Britain เราก็เคยไปตีกอลฟ์มาแล้วใครที่มีเพื่อนสนิทเป็นชาวสก็อตหรือรู้จักพวกเขาดี จะเข้าใจว่าการเชิญเยี่ยงนี้ เป็นการให้เกียรติอย่างสูงแก่ผู้ที่ได้รับเชิญ
เช้าวันที่ไปถึง มีฝนตก อากาศค่อนข้างเย็น แอนน์ขับรถไปรับที่สนามบิน Dyce ที่ห่างจากเมือง Aberdeen ประมาณเกือบสิบกิโลเมตร แต่โชคร้ายกระเป๋าเดินทางทั้งสองใบของเราไม่ได้ไปถึงด้วย ไปติดอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ที่อังกฤษ ซึ่งเราต้องไปเปลี่ยนจากเครื่องสวิสที่เราบินไปจากซูริค แล้วจึงจะบินต่อไปยังเมืองอาเบอร์ดีน คาดว่าเวลาที่เปลี่ยนเครื่องบินที่แมนเชสเตอร์หนึ่งชั่วโมงสั้นเกินไปที่จะถ่ายกระเป๋าจากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งได้ทันเวลา อันเนื่องมาจากความเข้มงวดในการตรวจตรากระเป๋าเดินทางของประเทศอังกฤษ เสื้อแจ๊กเก็ตกันฝนและกันหนาวของฉันก็อยู่ในกระเป๋านั้นด้วย โชคดีที่สรวมเสื้อนอกค่อนข้างหนาเอาไว้ จึงรอดตัวไปได้ ตอนที่แอนน์มารับที่สนามบินและพาไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆในเมืองเขาก็เอาร่มให้ยืม แต่ฉันเป็นโรคไม่ถูกกับร่ม จึงยอมเดินตากฝนพรำๆไปตลอดทาง
ฉันรู้สึกใจหายใจคว่ำไปตลอดทั้งวันและตลอดคืน เพราะงานเลี้ยงฉลองจะมีขึ้นในตอนเย็นวันรุ่งขึ้น ชุดสวยของฉันที่ขนมาแต่งเพื่องานนี้ พร้อมกับชุดทักซีโด้ (tuxedo) ของวอลเตอร์ก็อยู่ในกระเป๋านั้นเช่นเดียวกัน ในที่สุด กระเป๋าทั้งสองใบก็มาถึงโรงแรมโดยปลอดภัยในตอนกลางดึกของคืนนั้น
Aberdeen เป็นเมืองใหญ่ที่สามของประเทศสกอตแลนด์ ต่อจาก Edinburgh เมืองหลวงและ Glasgow ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเมืองวัฒนธรรมและเมืองแห่งสถาปัตยกรรมและดีไซน์ เมืองอาเบอร์ดีน ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำดอน (Don) ทางตอนเหนือและแม่น้ำดี (Dee) ทางตอนใต้ มีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ติดไปจนถึงกับทะเลเหนือ North Sea ที่ได้มีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อต้นๆปีของ ๑๙๗๐ ทำให้เมืองอาเบอร์ดีนเติบโตร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วจากน้ำมัน ที่เรียกว่า ทองดำ (black gold) แต่เพื่อนก็บ่นว่า รายได้ส่วนใหญ่ต้องส่งส่วยไปให้รัฐบาลกลางในลอนดอน ขอเล่าไว้ในที่นี้ด้วยว่า ชาวสก็อตทั่วไปมักจะไม่ชอบชาวอังกฤษสักเท่าไร เพราะประวัติที่ถูกข่มเหงมายาวนาน
สมัยก่อนเมืองอาเบอร์ดีนมีอาชีพหลักในการติดต่อค้าขายกับประเทศในแถบสะแกนดิเนเวีย เพราะมีบริษัทสร้างเรือที่ส่งไปค้าขายถึงประเทศอินเดีย โดยเอาชาและสินค้าชนิดต่างๆกลับมาขายยังประเทศของตน จึงกล่าวได้ว่าในสมัยนั้นอาชีพที่สำคัญคือการต่อเรือและการประมง โดยเหตุนี้เองในสมัยก่อนจึงมีบริษัทต่อเรืออยู่หลายแห่ง มีที่ฉันรู้จักเป็นส่วนตัวอยู่แห่งหนึ่งคือ บริษัท Yarrow Shipbuilders เจ้าของและประธานบริษัทเป็นชาวสก็อตชื่อ Sir Eric Yarrow แม้แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลงแล้ว การประมงและการต่อเรือและการเดินเรือยังคงเป็นอาชีพที่สำคัญของเมืองอาเบอร์ดีน
เท่าที่สังเกตดูทั้งแอนน์และจิมมี่ รวมถึงเพื่อนๆชาวสก๊อตคนอื่นของเขาด้วย ต่างก็มีความภาคภูมิใจในประเทศและเมืองของเขามาก แต่ไม่ใช่ความหลงประเทศแบบที่เห็นทุกอย่างดีไปหมด อะไรที่ไม่ถูกต้องเขาก็ออกมาพูดติเตียนโดยเปิดเผย นิสัยส่วนตัวที่น่านิยมของพวกเขาอีกอย่างหนึ่งคือการประหยัดมัธยัสถ์
ซึ่งคล้ายคลึงกับนิสัยของชาวสวิส ระหว่างที่พาเราไปเที่ยวชมเมือง แอนน์อธิบายสถานที่สำคัญต่างๆด้วยความภูมิใจ เราขับDb1รถไปตาม ถนนสำคัญของเมืองคือ Union Street ซึ่งมีความยาวประมาณเกือบสองกิโลเมตร ถนนสายนี้เต็มไปด้วยตึกก่อสร้างที่สวยงามขึงขังสร้างขึ้นจากหินกรานิต (granite) ในแบบวิคตอเรีย โกธิค และแม้แต่ตึกทันสมัยที่สร้างด้วยคอนกรีตแซมกระจก ถนนพลุกพล่านไปด้วยรถโดยสาร รถส่วนตัว และผู้คนที่เดินกันขวักไขว่ ในยามที่มีแสงแดด ตึกที่สร้างด้วยหินกรานิตจะมีแสงระยิบระยับ เนื่องจาก mica chips เล็กๆที่ฝังตัวอยู่ในแผ่นหิน ก่อให้เกิดประกายล้อเล่นกับแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ดี วันที่เราไปดูเมืองกับแอนน์เป็นวันที่ฝนตก ตึกที่เห็นในวันดังกล่าวจึงแลดูทึบทึม เศร้าหมอง ผิดกับวันต่อมาที่มีอากาศแจ่มใส เราจึงได้เห็นสิ่งก่อสร้างของเมืองส่งความสวยงามออกมาอย่างแจ่มชัด
จิมมี่พาเราไปชมโรงละคร His Majesty’s Theatre ที่เขาและครอบครัวเคยเป็นเจ้าของมาสองสามชั่วคน แต่ในที่สุดก็ต้องขายไป เป็นโรงละครที่เล็กแต่โก้หรู ย่อขนาดมาจากโรงละครใหญ่ มีหลืบมีมุมให้แขกคนสำคัญได้นั่งชม โดยไม่ต้องตกเป็นเป้าสายตาของผู้ชมคนอื่นๆ บนผนังในห้องต้อนรับ มีรูปภาพของผู้ก่อตั้งโรงละครซึ่งเป็นพ่อของทวดของจิมมี่และสมาชิกลูกหลานที่สืบทอดกันมา มีรูปของราชวงศ์หลายองค์ที่เคยมาชมละคร มีจิมมี่แต่งตัวหล่อคอยต้อนรับ เช่นเจ้าหญิงมากาเร็ต น้องสาวของควีนอาลิซาเบธ พระราชินีองค์ปัจจุบันของอังกฤษ รวมถึงควีนมัมด้วย เขาเคยเล่าเรื่องเบื้องหลังที่สนุกๆให้ฟังมากมาย
หลังจากนั่นก็ไปชม Art Gallery ที่มีรูปภาพน้ำมันที่น่าสนใจและงดงามมาก แล้วก็ไปดูห้องสมุดของเมืองที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อก่อนที่เราจะไปถึงได้เพียงวันเดียว เป็นห้องสมุดที่ใหญ่โต สวยงาม มีวิวที่มองไปเห็นเมืองอาเบอร์ดีนด้านล่าง มีชุดเก้าอี้และโต๊ะจัดไว้ให้ได้นั่งหลายชุด จูงใจให้ไปนั่งอ่านหนังสือที่มีอยู่มากมาย หลายภาษา
กว่าจะได้กินอาหารกลางวันในวันนั้นก็ตกเข้าไปบ่ายสองโมงครึ่ง จิมมี่พาเราไปกินกันที่ Royal Aberdeen Golf Club ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ เป็นสนามกอลฟ์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งประธานาธิบดีคนก่อนของสหรัฐฯคือ จอร์จ บุช ก็เคยมาเล่นกอลฟ์ที่นี่ จึงทำให้ชาวอเมริกันหลายคนตามรอยมาเล่นด้วย แต่ต้องได้รับอนุญาติเป็นพิเศษ เพราะเขาไม่ค่อยยอมให้คนนอกมาเล่นเลย
ตอนเย็นเขาพาเราไปใช้บริการที่ Deeside Golf Club จิมมี่เชิญเพื่อนและญาติของเขามาร่วมด้วย รวมทั้งหมดด้วยกันสิบคน ความจริงกฏของห้องอาหารทั้งสองแห่งไม่อนุญาติให้นุ่งกางเกงยีนส์เข้าไปใช้บริการ ส่วนฉันแม้จะไม่เห็นด้วยกับการสรวมยีนส์ไปรับประทานอาหารเย็นไม่ว่าจะเป็นที่ไหน รู้สึกกระดากนิดหน่อย และได้ขอโทษขอโพยเพื่อนที่มาร่วมกินอาหาร แต่พวกเขาก็เข้าใจไม่ถือสา เพราะรู้ว่ากระเป๋าหาย โชคดีที่ฉันใส่เสื้อนอกสวยทับกางเกง จึงไม่ทำให้น่าเกลียดจนเกินไป
วันรุ่งขึ้นมีแสงแดดแจ่มใส วอลเตอร์และฉันจึงเดินออกจากโรงแรมไปเรื่อยๆจนถึงป้ายรถเมล์เบอร์ ๑๙ ที่พาเข้าไปในเมือง แม้ว่าอุณหภูมิจะไม่ต่ำมาก แต่ลมแรงที่พัดมาจากทะเลเหนือเย็นมาก ถ้าไม่มีแจ๊กเก็ตให้ความอบอุ่นก็คิดว่าคงไม่อาจจะเดินไปเที่ยวชมเมืองได้ พอลงจากรถบัส เราก็เดินไปเรื่อยๆชมตึกรามบ้านเรือนที่สร้างด้วยกรานิต พร้อมทั้งอนุสาวรีย์ต่างๆ เช่น Robert the Bruce กษัตริย์ของชาวสก๊อตตั้งแต่ปี ๑๓๐๖ ถึง ๑๓๒๙ ประทับอยู่บนหลังม้า Bruce ได้รับการปกป้องจากประชาชนในระหว่างสงครามต่อสู้เพื่ออิสระภาพ เพื่อเป็นการตอบแทนประชาชน Bruce จึงตกรางวัลให้พลเมืองด้วยการไม่เก็บภาษีอากรที่ในสมัยก่อนพวกเขาต้องจ่ายให้พระองค์ แต่เอาภาษีนี้ไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเมืองและสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายให้ชาวเมือง ไปสร้างปาร์คต่างๆจนทำให้อาเบอร์ดีนเป็นA5เมืองที่เขียวชะอุ่ม เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆมากมาย เช่น Union Terrace Gardens ที่อยู่เบื้องล่างของถนน Union และต้องไต่บันไดลงไปถ้าต้องการหนีจากความวุ่นวายของจราจร ที่ปลายถนนมีสิ่งก่อสร้างสามแห่งที่ตั้งอยู่ทางขวามือของถนน ทั้งหมด คือ ห้องสมุด (เก่า) โรงละครของจิมมี่ (His Majesty’s Theatre) ที่เราไปดูมาเมื่อวาน และ โบสถ์ของเซนต์มารค์ ชาวเมืองอาเบอร์ดีนล้อเลียนตึกทั้งสามในบริเวณนี้ว่า Education, Damnation และ Salvation แปลว่าการศึกษา สิ่งที่ถูกสาป และการอยู่รอดปลอดภัยด้วยพระเจ้าและศาสนา
ไม่ไกลจากที่นี่ เป็นอนุสาวรีย์ของ William Wallace วีระชนชาวสก๊อต ซึ่งได้ใช้ความฉลาดเฉลียว ขับไล่ King Edward ที่หนึ่งของอังกฤษออกไปจากประเทศ เพราะกษัตริย์องค์นี้พยายามที่จะรวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๓๐๕ William Wallace ถูกประหารชีวิต โดยมีกษัตรย์องค์นี้เป็นพยาน Wallace จึงได้รับการยกย่องให้เป็นวีระบุรุษเพราะความกล้าหาญ และความรักความซื่อสัตย์ที่เขามีต่อประเทศบ้านเกิด
เดินไปอีกหน่อยก็ถึงรูปปั้นของกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดของสกอตแลนด์ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Robert Burns ซึ่งคนไทยหลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า Burn’s Night ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยชาวสก๊อต ในวันที่ ๒๕ มกราคม Robert Burns ได้แต่งโคลงกลอนไว้มากมาย รวมถึงเพลง Auld Lang Syne ที่ชาวโลกรู้จักกันดีและใช้ร้องในวันส่งท้ายปีเก่ายามที่มิตรสหายมาพบปะสังสรรค์กัน บทกลอนที่รู้จักกันมากอีกบทหนึ่งคือ To A Mouse จนมีประโยคหนึ่งที่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษพูดกันจนติดปากก็คือ The best laid schemes of mice and men ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ว่ามนุษย์เราจะวางแผนไว้ดีอย่างไร แต่ก็ไม่อาจจะสู้ได้กับพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า What man proposes, God disposes.
ความจริง สกอตแลนด์มีนักประพันธ์ นักกวี นักแต่งโคลงกลอนมากมาย เช่น Sir Walter Scott ที่เขียนเรื่อง Ivanhoe Robert Louis Stevensonเขียนเรื่องที่โด่งดังมากคือ The Strange Case of Doctor Jekyll and Master Hyde อีกคนหนึ่งที่จะกล่าวถึงเสียไม่ได้คือ Sir Arthur Conan Doyle ที่เขียนเรื่องนักสืบ Sherlock Holmes และ The Lost World เรื่องหลังรู้สึกว่าจะแปลออกมาเป็นไทยให้นักเรียนไทยในสมัยก่อนได้เรียนกัน นอกจากนั้นยังมีนักเขียนและนักกวีชาวสก๊อตอีกหลายคนที่มีชื่อเสียงก้องโลกแต่ไม่อาจจะกล่าวถึงได้ทั้งหมด
ตรงกันข้ามกับสำนักงานท่องเที่ยวมีมหาวิทยาลัย Marischal College ออกเสียงว่า Marshall ซึ่งเป็นตึกที่สร้างด้วยหินกรานิตที่ใหญ่เป็นที่สองของโลก ตึก Escorial ซึ่งอยู่ในกรุงมาดริด ประเทศเสปน เป็นตึกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่สร้างด้วยกรานิต ตึกมาร์แชลเป็นตึกที่สร้างในแบบนีโอโกธิค (neo-gothic) เป็นตึกถึงแม้ใครจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถมองข้ามไปได้ เพราะสง่างามน่าทึ่งจริงๆ อาเบอร์ดีนเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสองแห่งคือ Catholic King’s College และ Protestant Marischal College แต่เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๐ สองมหาวิทยาลัยก็รวมเข้าด้วยกันกลายเป็น Aberdeen University
อดไม่ได้ที่จะหวนกลับไปยัง Art Gallery อีกครั้งหนึ่ง เพราะอยากดูรูปภาพที่น่าสนใจที่เรามาดูคร่าวๆกับแอนน์เมื่อวันวานแต่ไม่ได้มีเวลาดูรายละเอียด ต้องขอชมเชยนโยบายของประเทศสกอตแลนด์ด้วยใจจริงว่า เขาสนับสนุนให้ผู้คนของเขารักศิลปะ ชอบการอ่าน พิพิธภัณฑ์ทุกแห่ง รวมถึงสถานที่ให้ความรู้ทุกแห่งไม่มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูเลย ชาวต่างชาติจึงได้รับอนิสงค์ไปด้วย
Art Gallery เป็นตึกที่สร้างอย่างสวยงาม อ่อนช้อย เราขึ้นบันไดที่ทำด้วยหินอ่อนกว้างขวางไปชั้นบน เหนือบันได เป็นรูปปั้นกระเบื้อง Meissen chinaซึ่งเป็นกระเบื้องมีชื่อเสียงทำจากเมือง Meissen ของประเทศเยอรมันนี นักเพนท์กระเบื้องจะคุ้นเคยกันดีกับกระเบื้องชนิดนี้ ด้วยความที่ฉันประทับใจกับแกลอรี่ จึงอยากจะขอเล่าถึงรูปภาพที่เด่นๆให้คุณผู้อ่านฟังสักสองสามภาพ ถ้าไม่สนใจก็ข้ามไปได้ค่ะ แต่สำหรับตัวฉันแล้วเห็นว่านอกจากรูปภาพจะงดงามแล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจประกอบด้วย ซึ่งจะไม่มีในตำราประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ภาพทั้งหมดนี้เป็นภาพที่วาดจากสีน้ำมัน
ภาพหนึ่งวาดโดย Sir Edwin Landseer ชาวอังกฤษในต้นกลางของศตวรรษที่สิบเก้า ภาพของเขาทั้งหมดมักจะเล่าเรื่องต่างๆให้คนดูเสมอ ภาพนี้แสดงให้เห็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพร้อมด้วยสัตว์เลี้ยง ที่แสดงความตื่นตกใจและงุนงงจากน้ำที่กำลังจะท่วมมากขึ้นๆทุกขณะ เนื่องด้วยฝนที่ตกอย่างหนักและไหลลงมาในหุบเขาของภูเขา Cairngorms และ Monadhiliath เป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขต Morayshire ไม่ห่างจากเมืองอาเบอร์ดีนมากนัก เมื่อเดือนสิงหาคม ๑๘๒๙
อีกภาพหนึ่งที่ประทับใจคือ Baptism in Scotland คือการที่พระสงฆ์ใช้น้ำแต้มหัวของเด็กทารก เพื่อยืนยันว่าได้นับถือศาสนาคริสต์เรียบร้อยแล้ว หากตายไปจะได้ไปขึ้นสวรรค์ เป็นภาพสีน้ำมันของปี ๑๘๕๐ ภาพที่สามและเป็นภาพสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังคือ ภาพที่ใช้ชื่อว่า Penelope and her suitors เป็นภาพสีน้ำมันที่วาดในปี ๑๙๑๒ เล่าถึงหญิงสาวคนหนึ่งชื่อเพนเนลอพเป้และหนุ่มๆที่มาจีบ ผู้ดูภาพจะแลเห็นพวกหนุ่มเหล่านี้ รออยู่ที่หน้าต่าง สามีของเธอคือ ยูลิซิส Ulysses ได้ออกไปเป็นทหารสู้ในสงครามทรอย Troy เธอตั้งหน้าตั้งตาคอยสามีด้วยความซื่อสัตย์ แต่ก็ถูกตื๊อจากหนุ่มๆในหมู่บ้านไม่ได้หยุดหย่อน เธอจึงหาอุบายเอาไหมพรมมาถักผ้าพันคอ พร้อมกับบอกหนุ่มๆที่มาจีบว่า เธอจะยอมแต่งงานกับคนใดคนหนึ่ง ต่อเมื่อเธอได้ถักผ้าพันคอเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จนแล้วจนเล่าผ้าที่เธอถักก็ไม่เสร็จเสียที เพราะเธอทำท่าถักไหมพรมให้ใครๆได้เห็นตลอดทั้งวัน แต่พอตกลางคืนก็จะแก้สิ่งที่เธอถักออกจนหมด และเริ่มถักใหม่ในวันต่อไป ด้วยเหตุนี้ผ้าพันคอก็ไม่เคยเสร็จเลย
ตอนเย็นวันเดียวกัน เป็นงานเลี้ยงฉลองวันครบรอบแต่งงานของแอนน์และจิมมี่ ทั้งลูกสาวและลูกชายของเขาทั้งสองพร้อมหลานชายวัยรุ่นซึ่งเป็นหลานตายาย ต่างก็มากันพร้อมหน้า ลูกชายเป็นลูกคนโต ยังไม่แต่งงานแต่ทำงานอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลายี่สิบกว่าปีแล้ว ก็มาร่วมงานด้วย งานฉลองไม่ได้ใหญ่โตหรือมีแขกมากมาย เพราะเชิญเฉพาะญาติและเพื่อนสนิทไม่กี่คน แต่ก็เป็นงานที่เล็กและหรู แขกผู้ชายทุกคนถ้าไม่สรวม Kilt เครื่องแต่งกายประจำชาติ ก็สรวมชุดทักซีโด้ (tuxedo) ส่วนผู้หญิงก็แต่งชุดราตรียาวเรียบๆ ไม่มีเครื่องเพชรประดับจนล้นคอ ล้นแขน
ในห้องอาหารของโรงแรม Marcliffe มีโต๊ะจัดไว้เจ็ดโต๊ะ แต่ละโต๊ะมีแขกประมาณแปดถึงสิบคน มีชื่อโต๊ะและชื่อแขกวางไว้ให้เรียบร้อย งานผ่านไปด้วยดี จิมมี่ทำการปราศรัยแนะนำแขกที่เดินทางมาจากที่ไกลเช่นฉันและวอลเตอร์ พร้อมทั้งแขกชาวนอร์เวย์อีกคู่หนึ่ง คำปราศรัยของเขาสั้นๆแต่ก็ได้ใจความไม่น่าเบื่อ ส่วนลูกชายก็ลุกขึ้นปราศรัยเล่าเกล็ดขำๆของพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เขาทั้งสองพยายามจะเรียนภาษาไทย แขกเพื่อนสนิทของเขาทั้งสองอีกคนหนึ่ง หายไปสักครู่ก็กลับมา แต่งชุดของพระสันตะปาปาแบบสบายๆ สรวมหมวกกระบังของพระองค์ ออกมาล้อเลียนว่างานฉลองวันครบแต่งงานครบห้าสิบปีนี้ แม้แต่ Pope Benedict XVI ก็เสด็จมาอวยพร พระสันตะปาปาปราศรัยครึ่งเยอรมัน ครึ่ง ScottishGaelic ซึ่งชาวสก๊อตถือว่าเป็นภาษาประจำชาติของเขา และภาษาอังกฤษ เรียกเสียงหัวเราะและปรบมือจากแขกทั้งห้อง ความมีอิสระเสรีในการพูด การเขียน และการแสดงออกทางความคิดอย่างเปิดเผยของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสิ่งที่น่านิยม
ไม่มีการเต้นรำในวันนั้น เพราะเขาต้องการให้เป็นวันสังสรรค์ของมิตรสหายที่ไม่ได้พบกันเป็นเวลานานได้คุยกันอย่างเต็มที่ สำหรับการร้องเพลงคาราโอเกะนั้น ลืมไปได้เลย เพราะไม่ใช่ประเพณีปฏิบัติของชาวยุโรปโดยทั่วไป ไม่มีแม้แต่การออกมาร้องเพลงให้แขกต้องรำคาญหู แต่ต้องทนฟังเพื่อรักษามรรยาท
วันต่อมาเป็นวันที่อากาศดีอีกวันหนึ่ง ทั้งแอนน์และจิมมี่มารับเราไปเที่ยวโรงกลั่นวิสกี้ Royal Lochnagar อันเป็นโรงกลั่นเล็กๆ ไม่มีความพิเศษมากไปกว่าโรงกลั่นเหล้าใหญ่ๆหลายโรงที่เราเคยไปเห็นมาแล้วทางตอนเหนือของประเทศ แต่ก็ถือว่าได้เป็นการออกไปเที่ยวชมภูมิประเทศ ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งกว่าจะถึง เป็นโรงกลั่นที่อยู่ติดกับวัง Balmoral แต่เราเข้าไปในวังไม่ได้ในวันนั้น เพราะชาร์ลส์และภรรยามาพักในสัปดาห์นั้น จิมมี่ถามเจ้าหน้าที่หญิงที่รักษาการณ์หน้าประตูว่า มีโอกาสที่พวกเราจะได้เข้าไปจิบน้ำชาไหม เจ้าหน้าที่มีอารมณ์ขันพอๆกัน ตอบยิ้มๆว่า ทำไม่จะไม่ได้เล่า หากเราได้รับเชิญ มันเป็นลักษณะการตอบโต้ที่ฉันเองเห็นว่าน่ารักมาก
อาหารกลางวันเป็น Cup Cakes ที่เพื่อนแอนน์ทำมาให้เยอะแยะในงานเลี้ยง มีกาแฟดื่มกลั้วคอ เรากินกันแบบปิคนิค บนโต๊ะข้างนอกโรงกลั่น อากาศดีเกินกว่าที่จะไปนั่งกินซุปและแซนด์วิชในร้านอาหาร
ภูมิประเทศที่ผ่านไปเขียวชอุ่ม มีผลไม้จำพวกแอปเปิ้ลและลูกพลัมอยู่มาก สังเกตได้ว่ามีพื้นที่สำหรับการเกษตรอยู่ไม่น้อยในแถบนี้ ถ้าหากอาเบอร์ดีนไม่มีน้ำมันในทะเลเหนือ การทำฟาร์มและการ หาปลา ประกอบด้วยการสร้างเรือ ก็คงจะทำให้ชาวอาเบอร์ดีนมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายพอสมควร
เย็นวันนั้นเราได้รับเชิญให้ไปกินอาหารเย็นที่บ้านของจิมมี่และแอนน์ ร่วมกับญาติลูกพี่ลูกน้องชาวอังกฤษของเขาคู่หนึ่งที่ขับรถมาจากอังกฤษและเพื่อนชาวนอร์เวย์อีกคู่หนึ่งที่มาจากเมืองออสโล อาหารเย็นวันนั้นเป็นอาหารแบบสก๊อตแท้ๆ อาหารจานแรกเริ่มด้วย haggis ซึ่งทำจากกระเพาะของแกะยัดด้วยเครื่องในสับ เสิร์ฟพร้อมมันฝรั่งบด ตามด้วยเมนคอร์สคือสตูว์ขาแกะ ทานกับมันฝรั่งบดเช่นเดียวกัน มีผักต้มคือแครอทเป็นเครื่องเคียง จบด้วยของหวานที่เป็นพุดดิ้งเรียกว่า trifles อร่อยมาก
แม้ว่าเราจะอยู่เมืองอาร์เบอร์ดีนเพียงสี่วัน แต่ก็เป็นสี่วันที่เต็มไปด้วยความสุข ความรื่นรมย์ กับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้อยู่ในหมู่เพื่อนฝูงและมิตรสหายที่จริงใจ ได้ไปเที่ยวประเทศที่พัฒนาแล้วอีกประเทศหนึ่ง เราบินกลับประเทศสวิสด้วยความอิ่มอกอิ่มใจในความสุขที่ได้รับและจะประทับใจไปอีกนาน