หุบผาอันเขียวขจีของ George Bernard Shaw (Part 1)

แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศไอร์แลนด์ก็มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงและกวีเอกของโลกหลายคน สี่คนได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม นาย จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) เป็นคนหนึ่งที่ได้รับรางวัล อันทรงเกียรตินี้ด้วย ใครๆก็รู้ว่าแม้นายชอว์จะฉลาดเป็นอัจฉริยะ แต่เขามีหน้าตาไม่หล่อเลย มีเรื่องขันๆเล่าว่า เขาบังเอิญพบกับนักแสดงสาวสวยคนหนึ่ง ในขณะที่คุยกัน เธอกล่าวกับเขาว่า หากเธอและเขาได้แต่งงานกันแล้วละก็ ลูกที่จะเกิดมาจะต้องทั้งสวยและฉลาดมากอย่างไม่ต้องสงสัย ชอว์ตอบไปว่า เหตุการณ์อาจจะกลับตะละปัดกันก็ได้ คือ ลูกที่เกิดมาอาจจะมีหน้าตาเหมือนเขาและมีสมองเหมือนเธอก็ได้

นักเขียนที่มีชื่อเสียงของไอร์แลนด์ได้เขียนหนังสือที่น่าอ่านไว้มากมาย ในจำนวนนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากจะให้อ่านกัน ไม่ทราบว่าได้แปลเป็นภาษาไทยหรือเปล่า ถ้าใครได้อ่าน Angela’s Ashe ที่เขียนโดย Frank McCourt เมื่อปี ๑๙๙๖ แล้วจะเข้าใจซาบซึ้งถึงความยากจนในประเทศหนาวว่าเป็นอย่างไร เป็นเรื่องชีวิตจริงของผู้เขียนเองในสมัยที่ยังเป็นเด็กในเมือง Limerick เขาเติบโตมาในปีที่เกิดการข้าวยากหมากแพงอย่างร้ายแรง หรือที่เรียกว่า Depression ในปี ๑๙๓๐ เขาได้รับรางวัล Pulitzer Prize สำหรับหนังสือเล่มนี้ นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์โดยนาย Alan Parker อีกต่างหาก

นาย McCourt ได้กล่าวไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า ความยากจนอดหยาก โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเด็กๆเป็นสิ่งที่เลวร้ายเกินกว่าที่จะรับได้ แต่ความเลวร้ายแห่งความยากจนนี้ แม้จะโหดร้ายแค่ไหน ก็ไม่เท่ากับความยากจนอดหยากอันเกิดขึ้นกับเด็กๆชาวไอริชที่นับถือศาสนาคาธอลิก ได้อ่านประโยคนี้แล้วน้ำตาซึมค่ะ

ฉันเองได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนชาวไอริชหลายคนซึ่งไม่อาจจะกล่าวถึงได้ทั้งหมด แต่สำหรับนักอ่านและนักศึกษาชาวไทย อาจจะรู้จักนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่จะกล่าวถึงอีกสักสองสามคนคือ Oscar Wilde อีกคนหนึ่งคือ Jonathan Swift ที่เขียน Gulliver’s Travel และเรื่อง Dracula ที่เขียนโดย Bram Stoker ที่เคยกล่าวถึงแล้วในสารคดี เรื่อง “แม่น้ำดานูบไหลเอื่อยๆผ่านดินแดนที่โลก (เกือบ) ลืม” ไหนๆก็ไหนๆแล้วก็ขอกล่าวถึงนักเขียนที่คนไทยหลายคนอาจจะรู้จักอีกคนหนึ่งคือ James Joyce ที่เขียนเรื่อง Ulysses และ Waiting for Godot

นอกจากจะเป็นนักเขียน นักกวี และนักเล่านิทานชั้นเยี่ยมแล้ว ไอร์แลนด์ยังมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงก้องโลกอีกหลายคน แต่จะกล่าวถึงเพียงคนเดียวที่คนไทยส่วนใหญ่คงจะรู้จัก คือ Liam Neeson ที่แสดงเป็นตัวเอก ในหนังเรื่อง Schindler’s List ส่วนเรื่องดนตรีแล้วใครบ้างที่ไม่รู้จัก Rock Band U2 ที่เคยไปตั้งวงแสดงที่โรงแรม Clarence ในกรุงดับลิน (Dublin) ซึ่งเป็นที่พักของเราตอนที่อยู่ดับลิน ทุกครั้งที่ผ่านโรงแรมนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินเที่ยวชมเมืองหรือนั่งรถ hop-on hop-off ไกด์จะต้องกล่าวถึงโรงแรมนี้เสมอ ว่ามีชื่อเสียงอย่างไรบ้าง

เมื่อพูดถึงประเทศไอร์แลนด์ดังที่คุณผู้อ่านได้อ่านแล้วข้างบน ฉันหมายถึงเกาะไอร์แลนด์ทั้งเกาะ อันที่จริงเกาะไอร์แลนด์แบ่งออกเป็นสองประเทศมาตั้งแต่ค.ศ. ๑๙๒๑ ด้วยสัญญา Anglo-Irish คือ Northern Ireland ไอร์แลนด์เหนือ มี เบลฟัสท์ Belfast เป็นเมืองหลวง และ the Irish Free State หรือ Republic of Ireland มีกรุงดับลิน Dublin เป็นเมืองหลวง การแยกประเทศออกจากกันเกิดขึ้น หลังสงคราม Anglo-Irish War ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึง ๑๙๒๒ ซึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๒๑ ไอร์แลนด์เหนือก็ได้มี รัฐสภาเป็นของตนเอง โดยอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรอังกฤษ ส่วนไอร์แลนด์ทางใต้ก็ได้แยกตนเองออกไปจากเครือรัฐ (Commonwealth) ตั้งตนเองป็นสาธารณรัฐ (Republic) เมื่อปี ๑๙๔๙ หลังจากนั้นแล้วสาธารณรัฐไอร์แลนด์ก็แยกตัวออกเด็ดขาดจากไอร์แลนด์เหนือเป็นคนละประเทศ ความจริงประวัติศาสตร์ของประเทศไอร์แลนด์มีมากมาย และยุ่งยากเกินกว่าจะอธิบายได้หมด ความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวเนื่องกับความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่ลงรอยกันของคนที่นับถือศาสนาคาธอลิกและโปรเตสเตนท์เสียเกือบทั้งสิ้น

หลังจากที่ได้เซ็นต์สัญญา Anglo-Irish แล้ว กองทัพปลดปล่อยของชาวไอริช Irish Republican Army เริ่มมีบทบาทในการออกจู่โจมสาธารณูประโภคของชาวโปรเตสเตนท์ในตอนเหนือ แต่การก่อการร้ายทำอยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นใน Irish Free State ซึ่งทำให้ IRA ต้องหันกลับมาปรับขบวนการต่อสู้ใหม่ ในที่สุดเมื่อสงครามยุติลง ประเทศไอร์แลนด์เหนือก็มีเวลาจัดระบบของตนเอง ดังนั้นประเทศจึงมีสภาพที่มั่นคงมากกว่าสาธารณะรัฐไอร์แลนด์ ในปัจจุบันความคิดที่จะรวมตัวกันของทั้งสองประเทศยังมีอยู่ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นชาติเดียวกัน

ในช่วงนี้ขอให้คุณผู้อ่านได้เพียงทราบว่า เกาะไอร์แลนด์แบ่งออกเป็นสองประเทศอย่างที่อธิบายมาแล้วก็คงจะพอ ไอร์แลนด์เหนือประกอบไปด้วยชาวคาธอลิกและโปรเตสเตนท์ เกือบครึ่งต่อครึ่ง คือ ๖๐ เปอร์เซนต์คาธอลิก และ ๔๐ เปอร์เซนต์โปรเตสเตนท์ แม้แต่จะเป็นประเทศเดียวกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ลงรอยกันจนเกิดเป็นการต่อสู้ที่รู้จักกันว่า The Troubles หรือความยุ่งยาก การเคลื่อนไหวอย่างสงบของชาวคาธอลิกที่เขาเห็นว่าได้เกิดจากความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยคือโปรเตสเตนท์ ได้ทำตัวอยู่เหนือชาวคาธอลิกในหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการโกงการเลือกตั้ง หรือประกาศว่า ชาวคาธอลิกมีสิทธิ์มีเสียงในการโหวตหนึ่งเสียงต่อหนึ่งครอบครัว ไม่ว่าครอบครัวจะใหญ่เล็กขนาดไหน ในขณะที่ชาวโปรเตสเตนท์เองมีเสียงโหวตหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง

การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของชาวคาธอลิกในเมือง แดรี่ (Derry) ที่เรียกว่า Catholic March เมื่อเดือนตุลาคม ปี ๑๙๖๘ ได้ถูก “กระชับพื้นที่” อย่างโหดเหี้ยมจากกรมตำรวจชาวโปรเตสเตนท์ของเมือง อัลสเตอร์ (Royal Ulster Constabulary) ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Troubles อันกินเวลานานถึง ๒๕ ปี เพื่อเป็นเกล็ดความรู้เล็กน้อย อยากจะอธิบายให้คุณผู้อ่านทราบว่า ชาวโปรเตสเตนท์จะเรียกเมือง แดรี่ ว่า ลอนดอนแดรี่ Londonderry ส่วนชาวคาธอลิกจะเรียกว่า แดรี่เฉยๆ ซึ่งแสดงว่าไม่ยอมรับการปกครองของชาวอังกฤษชาวโปรเตสเตนท์ พอฟังคนพูดกล่าวถึงเมืองนี้แล้วจะรู้ได้ว่าเขาเป็นคาธอลิกหรือโปรเตสเตนท์ เอาไว้เมื่อไปถึงเมืองเบลฟัสท์แล้ว จะเล่าเรื่องการเมืองของเขาให้ฟังอีกทีค่ะ

จากซูริคใช้เวลาบินไปดับลินเกือบสองชั่วโมง เมื่อไปถึงเราก็ไปเอารถที่ได้เช่าไว้ล่วงหน้าจากสวิส เนื่องจากยังเป็นเวลาไม่ถึงเที่ยง เราจึงขับขึ้นไปเที่ยวหมู่บ้านโฮธ (Howth) ที่อยู่บนฝั่งทะเลทางเหนือของสนามบินดับลินไปประมาณสิบกว่ากิโลเมตร โฮธ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนเนินเขา มองลงไปเห็นทะเลไอริช Irish Sea มีบ้านสวยๆมากมาย จนกล่าวได้ว่าเป็นชมรมชนบทที่ผู้คนมีฐานะดีกว่าและน่าอยู่กว่าในหรือรอบเมืองหลวง โฮธเคยเป็นท่าเรือมาก่อน แต่ได้กลายเป็นหมู่บ้านชาวประมงและท่าเรือยอร์จในสมัยปัจจุบัน ที่น่าสนใจก็คือ พระเจ้าจอร์จที่สี่ได้นั่งเรือจากอังกฤษมาไอร์แลนด์ โดยมาขึ้นที่ท่าเรือ โฮธ ในอาการเมามาย เมื่อปี คศ ๑๘๒๑

บนฝั่งทะเลเป็นถนนรอบเกาะ บางส่วนสร้างเป็น promenade ทางเท้าให้ได้เดินเล่นกัน ด้วยเหตุที่เป็นวันอาทิตย์ตอนที่เราไปถึง จึงมีชาวบ้านมาเดินเล่นกันมากมาย ในร้านที่เป็นทั้ง pub และร้านอาหาร มีแขกอยู่เต็ม เพราะเป็นประเพณีปฎิบัติของชาวอังกฤษซึ่งหมายถึงสหราชอาณาจักร ที่จะออกไปกินอาหารกลางวัน

นอกบ้านในวันอาทิตย์ที่ผับ เพื่อจะได้ออกไปพบเพื่อนฝูงและได้ไปเที่ยวนอกบ้านด้วย ร้านหรือผับที่เราเข้าไปชื่อWaterside Restaurant คนข้างเคียง สั่งอาหารหลักของชาวเมืองคือ Fish and Chips ส่วนฉันเองสั่ง Fresh Mussels in white wine sauce and garlics คือหอยแมงภู่ที่ปรุงด้วยไวน์ขาวผสมกระเทียมและสมุนไพรสองสามชนิด เสิร์ฟมาในหม้อกระเบื้องที่ทำให้ร้อนจัดจริงๆ

ไม่ได้ค่าจ้างค่าออนอะไรมาจากร้านอาหารแห่งนี้ แต่ขอบอกว่าอาหารจานนี้อร่อยมากๆ ฉันไม่ได้ใช้แม้แต่ขนมปังที่เขาเสิร์ฟมาเคียงสำหรับจิ้มลงไปในซอส แต่ได้ใช้ช้อนตักน้ำซอสกินจนเกลี้ยง อยากจะบอกคุณผู้อ่านว่าอาหารร้อนนั้นถ้าจะให้อร่อยจริงๆจะต้องทำให้ร้อนจัดและกินร้อนๆ หากทิ้งไว้ให้เย็นแม้แต่นิดเดียวก็จะขาดความอร่อยไปเลยค่ะ

ไปเช็คอินเข้าโรงแรม Clarence Hotel ซึ่งชาวไอริชที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกที่ใช้ชื่อเพียงตัวเดียวคือ Bono, the Edge (David Howell Evans) ร็อคสตาร์ เจ้าของ U2 ใช้เป็นที่พักและแสดงดนตรี โรงแรมจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวงดนตรีนี้ U2 ได้ออกอัลบัมชื่อ War ในปี ค.ศ. ๑๙๘๓ ที่มีเพลงฮิต “Bloody Sunday” และเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๘ วงดนตรีได้ร้องเพลงฮิต Pride (In the Name of Love) ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศดีขึ้นเขาจึงได้แต่งเพลง Beautiful Day แสดงความสุขใจและความยินดี ในปัจจุบัน U2 ยังคงเป็นวงดนตรีที่ป๊อปปิวล่าร์ ได้จำหน่ายอัลบัมไปแล้วถึง ร้อยสี่สิบห้าล้านอัลบัม ได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง ๒๒ รางวัล Bono และพรรคพวกได้รับการยกย่องในรื่องงานกุศลที่เขาทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือประเทศอัฟริกาที่ยากจน

ในโรงแรมมีบาร์ที่น่านั่ง มีเหล้าชนิดต่างๆวางอยู่เต็มไปหมด แต่ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าโรงแรมใช้ชื่อเสียงของวงดนตรีสำหรับโพรโมตโรงแรมมากกว่าอย่างอื่น

ตอนบ่ายเราเดินออกทางประตูหลังของโรงแรมไปขึ้นรถ hop-on hop-off เพื่อไปชมเมืองโดยคร่าวๆเช่นกับที่เคยปฎิบัติมาหลายประเทศ จะเล่าถึงสถานที่ที่น่าสนใจให้ผู้อ่านฟังสักนิดหน่อย ก่อนอื่น รถวิ่งผ่าน Christ Church ซึ่งเป็นวิหารใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจำนวนสามแห่งของดับลิน เป็นวิหารที่จำได้ง่ายที่สุด เนื่องจากมีหอคอยที่สูงเห็นได้แต่ไกล ผ่าน Guinness Store House ซึ่งก่อตั้งโดยนาย อาร์เธอร์ กีนเนส Arthur Guinness ในปี ๑๗๕๙ ตั้งแต่การก่อตั้งแล้ว St. James’Gate Brewery ก็ได้ขยายกิจการการผลิต “ทองสีดำ” Black Gold จนขยายไปจนถึงฝั่งแม่น้ำ ลิฟฟี่ Liffey อันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงดับลิน ครั้งหนึ่งโรงกลั่นเบียร์กีนเนสใหญ่โตถึงขนาดมีรางรถไฟเป็นของตนเอง มีประตูเข้าใหญ่โตผ่าถนนเจมส์เข้าไป ดังนั้นโรงกลั่นเบียร์แห่งนี้จึงมีชื่อที่แท้จริงว่า St. James’ Gate Brewery ในสมัยปี ๑๙๓๐ โรงกลั่นจ้างคนงานจำนวนถึง ห้าพันคน เป็นนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดในดับลิน แต่เมื่อมีเทคโนโลยี่สมัยใหม่เข้ามา จึงเหลือพนักงานเพียงหกร้อยคน แต่ก็ยังผลิตเบียร์ได้วันละถึง สองล้านครึ่ง ไพน์ ถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปชมการผลิตเบียร์ในนั้นได้

รถวิ่งผ่าน The Royal Hospital Klimainham ที่สร้างขึ้นในระหว่างปี คศ. ๑๖๘๐ และ ๑๖๘๗ เพื่อเป็นที่พักของทหารที่เกษียณแล้ว จนถึงปี ๑๙๒๘ และก็ถูกปล่อยทิ้งไว้ตามมีตามเกิดถึงห้าสิบปี จนถึงปี ๑๙๘๐ จึงได้รับการซ่อมแซมใหม่ ในระหว่างการก่อสร้างก็มีชาวบ้านบ่นกันว่า ตึกแห่งนี้ดีเกินไปสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไอริช

ใกล้ๆกันเป็น Klimainham Jail คุกที่สร้างขึ้นไว้ขังนักโทษการเมืองชาวไอริชที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นอิสรภาพจากอังกฤษในสมัยก่อน ไกด์ประจำรถเล่าว่า อาหารในคุกยังอร่อยกว่าอาหารของคนยากจนชาวไอริชเสียอีก เลยทำให้คิดถึงหนังสือเรื่อง Angela’s Ashes ที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วข้างต้น

จุดต่อไปเป็น War Memorial Gardens สวนนี้สร้างเพื่อระลึกถึงทหารชาวไอริชจำนวน ๔๙๔๐๐ คนที่ตายระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไปกลับรถ

ที่ Phoenix Park ซึ่งมีสถานที่กว้างถึง ๗๐๙เฮคเตอร์ เป็นปาร์คที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เป็นสถานที่ที่ใหญ่กว่าเซ็นทรัลปาร์คในนิวยอร์ค และใหญ่กว่าปาร์คใหญ่ๆในลอนดอนรวมกันแล้วทั้งหมด เราเห็นต้นไม้ใหญ่โตร่มครึ้มมากมาย เห็นหญ้าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา มีคนเล่นฟุตบอลบ้าง คริกเก็ตบ้างอยู่ ทั่วไป

ไม่ไกลออกไปเป็นทำเนียบที่อาศัยของประธานาธิบดีของไอร์แลนด์และของเอกอัครราชทูตอเมริกัน เห็นไกด์เล่าว่ายังมีกวางอีกมากมายอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งอาจจะหลงเหลือมาจากในสมัยก่อนเพราะปาร์คนี้เคยเป็นที่ล่าสัตว์มาก่อน จนถึงปีคศ. ๑๗๔๕ เมื่อลอร์ดเชสเตอร์ฟีลด์ได้เปิดให้เป็นปาร์คสาธารณะจนมาถึงในปัจจุบัน ชื่อ ฟีนิกซ์ ชื่อปาร์คไม่ได้มาจากชื่อของนกฟินิกซ์ แต่เป็นคำแผลงที่มาจากภาษาไอริช fionn uisce ซึ่งแปลว่า น้ำใส clear water

เราลงจากรถ hop-on hop-off ที่ Temple Bar ซึ่งป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยผู้คน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือชาวเมืองเอง มีถนนที่เป็นหินขรุขระ cobbled stone มีร้านรวงหลายแห่ง อาจจะเรียกว่าเป็นจตุจักรของดับลินก็ว่าได้ หลังจากที่เดินดูโน่นดูนี่ฝ่าฝูงผู้คนกันไปได้สักพักหนึ่ง เราก็เข้าไปในผับชื่อ The Oliver St. John Gogarty ดูจากภายนอกมีสีสันที่ชวนให้เข้าไปเป็นที่ยิ่ง แล้วก็ไม่ผิดหวัง ข้างในตกแต่งไว้อย่างน่าดู มีลูกค้ายืนอย่างแออัดยัดเยียดอยู่ที่เคาน์เตอร์ มีโต๊ะเล็กๆล้อมรอบ มีแขกนั่งกันอยู่เต็ม ขับกล่อมโดยนักดนตรีชายสองคนเล่นกีตาร์เป็นดนตรีเพลงไอริช อยู่ที่หน้าประตู เราต่างสั่ง Guinness มาคนละไพน์ แล้วยืนฟังเพลงอย่างเพลิดเพลิน รู้สึกสนุกไปด้วย ไม่นานก็มีหนุ่มคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ๆเข้ามาแนะนำตัวและคุยด้วย

เขาบอกว่าเป็นชาวออสเตรเลียน ถึงเขาไม่บอกเราก็รู้ได้ด้วยสำเนียงว่าเขาเป็นชาวออสเตรเลียน เขาล่าว่ามาเยี่ยมแฟนสาวชาวไอริชที่อยู่ที่ดับลิน พ่อแม่ของเขาก็มาด้วย เพื่อจะได้ปรึกษาหารือเรื่องงานแต่งงานของเขาทั้งสองที่จะจัดขึ้นในเร็ววันนี้

คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เหตุไรชายหนุ่มคนนี้จึงได้เล่าเรื่องของเขาให้เราฟังภายในชั่วเวลาที่รู้จักกันสั้นๆ ก่อนอื่นขอบอกว่าสังคมฝรั่งโดยทั่วไปโดยเฉพาะผู้คนที่มาจากประเทศออสเตรเลียและคานาดา สังคมของพวกเขาเป็นสังคมที่ “เปิด” ไม่ใช่สังคมที่เสแสร้งหรือปั้นปึ่งต่อคนแปลกหน้า ถ้าไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน ก็มักจะทำหยิ่งไว้ก่อน โดยแกล้งไม่เข้าใจว่าการได้พบปะคนแปลกหน้าและได้คุยกันนั้นเป็นสังคมของคนที่มีอารยะแล้ว และการได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เป็นกำไรอย่างหนึ่งของชีวิต ได้รู้จักกับผู้คนที่ในโอกาสอื่นๆอาจจะไม่มีโอกาสก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบกันในผับก็เป็นสาเหตุอีกอันหนึ่งที่จะทำให้ปลูกมิตรได้โดยง่าย การพบปะพูดจากัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นมิตรกับเขาไปจนวันตาย หรือว่าต้องสนิทสมถึงกับเชื้อเชิญไปบ้านช่อง สำหรับชาวไอริชแล้วผับเป็นหัวใจและศูนย์กลางของชีวิตนั่นเทียว สังคมของชาวไอริชอยู่ที่ผับ การดื่มเบียร์ stout หรือ plain ช่วยให้การสนทนาไหลลื่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่การดื่มแบบเมามาย หัวราน้ำ ทะเลาะวิวาท อย่างที่ทำกันในประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ การดื่มอัลกอฮอลล์ในประเทศไอร์แลนด์ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเพื่อการเข้าสังคมอย่างเดียว แต่เป็นประเพณีที่สร้างวัฒนธรรมของชาวไอริชขึ้นมา การที่ชาวไอริชมีความสามารถผลิตเครื่องดื่มได้อร่อยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทำให้ชาวไอริชสามารถรักษาความเป็นคนมีน้ำจิตน้ำใจไว้ได้ตลอดมา แม้ว่าจะได้รับความอยุติธรรมมาโดยตลอดจากชนชั้นปกครองในอดีต และแม้ว่าชาวไอริชจะประสบชตากรรมจากความยากจนข้นแค้นมาแล้วหลายศตวรรษ

ชาวไอริชเรียกเครื่องดื่มของเขาในภาษาเกลิค Gaelic ว่า uisce beatha ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า the water of life ในจำนวนวิสกี้กว่าร้อยยี่ห้อที่มีอยู่นั้น มีอยู่สองยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ Jameson และ Bushmills วิสกี้ได้เริ่มการผลิตในไอร์แลนด์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบ พวกพระที่ธุดงค์ไปประเทศแถวตะวันออกกลางได้นำวิธีการผลิตวิสกี้มาจากที่นั่น ชาวอาหรับในสมัยก่อนได้ใช้ดอกไม้มากลั่นเป็นน้ำหอม แต่พระชาวไอริชเห็นประโยชน์จากวิธีการกลั่นดอกไม้ให้เป็นน้ำหอม จึงได้ดัดแปลงมาเป็นวิสกี้แทนโดยใช้ข้าว บาร์เลย์ มากลั่นแทนดอกไม้ และรักษาวิธีการกลั่นเป็นความลับมาหลายศตวรรษ

อาจจะมีคนสงสัยว่าวิสกี้ของชาวสก็อตกับชาวไอริชแตกต่างกันอย่างไร ถ้าจะพูดเล่นๆก็คือชาวไอริชสกดคำว่าวิสกี้โดยมีตัวอี คือ whiskey แต่ชาวสก็อตสกดคำว่าวิสกี้ โดยไม่มีตัว อี whisky แต่ถ้าจะพูดกันจริงๆแล้ว ความแตกต่างคือในขณะที่ชาวสก็อตผึ่งข้าวบาร์เลย์ของเขาให้แห้งภายในบ้านเรือน แต่บาร์เลย์ของชาวไอริชผึ่งไว้ในแดดข้างนอก นอกจากนั้นวิสกี้ของชาวไอริชยังถูกกลั่นถึงสามครั้ง แต่วิสกี้ของชาวสก็อตกลั่นเพียงสองครั้งเท่านั้น

โรงกลั่น Bushmills เป็นโรงกลั่นที่ ถูกต้องตามกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่ชาวไอริชได้ดื่มวิสกี้กันก่อนหน้านี้มาเนิ่นนานแล้ว

ส่วนไอริชคอฟฟี่ Irish Coffee ที่พวกเรารู้จักกันนั้น เกิดจาก นายโจ แชริดัน Joe Sheridon ซึ่งเคยเป็นบาร์เทนเดอร์ที่สนามบินแชนนอนใน ค.ศ. ๑๙๔๐ นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเมื่อมาไอร์แลนด์ ก็มักจะมาแวะหยุดเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินแชนนอน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังที่ต่างๆ ด้วยเหตุที่ไอร์แลนด์มีอากาศหนาวเย็น นักท่องเที่ยวพวกนี้ไม่คุ้นกับความหนาวของไอร์แลนด์ ก็ตัวสั่นงันงกด้วยความหนาว จึงมักจะแวะไปที่บาร์ที่นายแชริดันเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ ต่างก็มองหาเครื่องดื่มที่จะสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย นายแชริดันจึงเอาวิสกี้มาผสมกับกาแฟร้อนจัดแล้วใส่ครีมเข้าไป จึงได้เกิดไอริชคอฟฟี่มาจนถึงทุกวันนี้

วันรุ่งขึ้นเราเดินไปจนถึง St.Patrick’s Cathedral ซึ่งมีปาร์คเขียวขจี เต็มไปด้วยดอกไม้สีสวยชนิดต่างๆปลูกไว้ เซนต์เพทริคเคยใช้บ่อน้ำในบริเวณโบสถ์ทำการ baptize หรือทำพิธีศีลล้างบาปให้แก่ชาวไอริชที่ไม่มีศาสนาหลายต่อหลายคน การทำพิธีแบบนี้คือการใช้นำพรมที่หัว แต่แทนที่จะเอาน้ำพรม เซนต์เพทริค กลับเอาหัวของพวกเขาจุ่มลงไปในบ่อแทน ด้วยเหตุนี้วิหารแห่งนี้จึงใช้ชื่อของ เซนต์เพทริค และตั้งอยู่บนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในใจกลางเมือง ถึงแม้ว่าจะเคยมีโบสถ์มาก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่ห้า วิหารที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เพิ่งสร้างขึ้นมาเมื่อ คศ. ๑๑๙๐ หรือ ๑๒๒๕ (ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องปีที่แน่นอน) วิหารได้รับการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี คศ. ๑๘๖๔ เมื่อได้เพิ่มหอคอยเข้าไป เพื่อช่วยให้สิ่งก่อสร้างแข็งแรงขึ้น ในแบบของ นีโอโกธิค (neo-Gothic) ซึ่งเป็นแฟชั่นอยู่ในขณะนั้น

เดินไปตรงจุดที่เป็นแหล่งพบปะกับพวกที่จะร่วมไปกับ walking tour โดยใช้ตั๋วที่ใช้กับรถ hop-on hop-off เมื่อวันวานก็สามารถเดินไปกับทัวร์นี้ได้ ไกด์ผู้หญิงมีชื่อเดียวกับผู้เขียน ได้รออยู่บนถนน O’Connell Street ซึ่งแม้ว่าจะมีแท่งสูงเสียบฟ้า spire ทำด้วยเหล็กเสตนเลสสูงทมึนอยู่เหนือถนนก็ตาม แต่ก็หาได้บดบังทำให้ถนนนี้ด้อยไปไม่ ด้วยมีอนุสาวรีย์รูปปั้นของคนสำคัญใหญ่น้อยของไอร์แลนด์อยู่หลายรูป โดยเฉพาะรูปปั้นบรอนซ์ของ Daniel O’Connell ผู้ปลดแอกของชาวไอริช แทบเท้าของเขามีรูปปั้นของเทวดาสี่องค์ล้อมรอบ เทวดาเหล่านี้ เป็นสัญญลักษณ์แห่งความดีของ โอคอนเนลล์ คือ ความรักชาติ ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ และความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้นเขายังมีศิลปะในการปราศรัยโน้มน้าวใจผู้ฟังอีกต่างหาก spire แห่งนี้ หรือที่หลายคนเรียกว่า อนุสาวรีย์แห่งแสงสว่าง มีความสูงถึง ๑๒๐ เมตร ซึ่งเป็นแท่งที่สูงที่สุดในโลก สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนศตวรรษที่เรียกว่า millennium ในปี ค.ศ. ๒๐๐๐

ไกด์บอกว่าการเดินจะใช้เวลาในราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง ตึกแรกที่เราได้รับคำอธิบาย ก็คือตึกที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามชื่อ Beshoff ซึ่งไกด์บอกว่าเป็นร้าน Fish and Chips แห่งแรกของประเทศ เริ่มโดยชาวรัสเซียและชาวอิตาเลียน เราเดินไปบนถนน Grafton Street และ Nassau Street ซึ่งเป็นถนนคนเดิน เต็มไปด้วยร้านรวงมากมาย ประมาณสองกิโลเมตรห่างออกไปทางตะวันตกติดกับฝั่งแม่น้ำเป็นสถานีรถไฟ ฮอยเสตน Heuston ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสถานีของดับลิน ทางเหนือของแม่น้ำลิฟฟี่เป็นถนน O’Connll Street และ Henry Street แออัดไปด้วยร้านรวง บาร์ ร้านอาหาร และผับ เดินผ่านสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่จะกล่าวถึงเพียงสถานที่ที่น่าสนใจจริงๆสักสองสามแห่งเท่านั้น ผ่านโบสถ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโบสถ์ในนิกาย Anglican ไกด์บอกว่ามีสะพาน ข้ามแม่น้ำ Liffey ถึงสิบเก้าสะพาน แม่น้ำลิฟฟี่ไหลผ่านใจกลางของดับลิน และแบ่งเมืองออกเป็นสองฟากคือทางเหนือที่ค่อนข้างยากจน และทางใต้ที่มีฐานะดีกว่า

Temple Bar อยู่ทางใต้ของ O’Connell Bridge มีบริเวณอันกว้างขวางของ มหาวิทยาลัย Trinity College ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศและของโลก ตึกและแคมปัสของมหาวิทยาลัยสร้างขึ้นในแบบ Victorian ได้รับอนุญาติให้เปิดเป็นมหาวิทยาลัยได้ในปีค.ศ. ๑๕๙๒โดยพระนางเจ้า เอลิซาเบธที่หนึ่ง Queen Elizabeth I ด้วยมีพระประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้นักศึกษาชาวไอริช ข้ามไปศึกษาต่อที่ทวีปยุโรป และกลายเป็นเครื่องมือของพระสันตะปาปา ในการโน้มน้าวจิตใจของนักศึกษาให้นับถือศาสนาคาธอลิก ในช่วงนั้นใครที่นับถือศาสนาคาธอลิกจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เลย มหาวิทยาลัยจึงมีแต่นักศึกษาที่นับถือศาสนาโปรเตสเตนท์ล้วนๆ จนถึงปี ค.ศ. ๑๗๙๓ในปัจจุบันสภาพเช่นนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว นักศึกษา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็สามารเข้าไปเรียนได้ จึงทำให้ Trinity College อันมีนักศึกษาประมาณ ๑๓๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคาธอลิก ได้ติดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง จัดอยู่ในอันดับที่ ๒๓ ของโลก ถ้าจะเปรียบเทียบกัน มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ ก็เพิ่งจะอนุญาติให้มีนักศึกษาหญิงได้ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี ในสมัยที่เริ่มมีการอนุญาติให้นักศึกษาคาธอลิกมาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทางโบสถ์คาธอลิกในกรุงโรมก็ยังไม่ยอมให้นักศึกษาคาธอลิกมาศึกษาที่นี่จนกว่าจะได้รับการอนุญาติเป็นทางการ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. ๑๙๗๐ หากไม่เชื่อฟังทางโบสถ์ก็จะถูกถอดถอนจากการเป็นชาวคาธอลิกซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า ex- communication การถูกตัดออกจากโบสถ์ หมายความว่าพวกเขาจะหมดสิทธ์จากการได้รับศีลมหาสนิท (Holy Communion) หรือร่วมกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวกับศาสนา รวมถึงหมดสิทธิ์ที่จะถูกฝังภายในบริเวณโบสถ์เมื่อสิ้นชีวิต เรื่องนี้เคยเป็นที่หวาดหวั่นและน่าสะพรึงกลัวของผู้ที่นับถือคาธอลิกมาก แต่สมัยนี้โลกได้เปลี่ยนไปไม่ค่อยจะมีใครกลัวกันแล้ว โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในประเทศที่พัฒนา เพื่อนๆของผู้เขียนสองสามคน ก็ได้ลาออกจากการนับถือศาสนาคาธอลิก เพราะไม่พอใจพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน

ในบริเวณมหาวิทยาลัยยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งยวดอีกอย่างหนึ่งคือมีห้องที่รักษาหนังสือที่มีชื่อเสียงของโลกเรียกว่า Book of Kells หนังสือต้นฉบับอันมีแสงในตัวเอง เชื่อว่ามีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๘๐๐ คาดว่าเขียนโดยพระสงฆ์ในมหาวิหารแห่งหนึ่งบนเกาะ Ionaที่อยู่ออกไปทางตะวันตกของประเทศสก็อตแลนด์ แต่แล้วพอหกปีให้หลังพระสงฆ์พวกนี้ก็ต้องพาหนังสือหนีไปเก็บรักษาไว้ที่เกาะ Kells ในประเทศไอร์แลนด์ เพราะถูกรุกรานจากการปล้นสดมของพวกไวกิงค์

ความจริงหนังสือนี่มีทั้งหมดด้วยกันหกร้อยแปดสิบหน้า แต่วางตั้งแสดงอยู่ให้เราได้ชมเพียงสองหน้าเท่านั้น หน้าหนึ่งเป็นตัวหนังสือ อีกหน้าหนึ่งเป็นหน้าที่เปล่งประกาย ใครๆจึงตั้งฉายาว่า Page of Kells แทน Book of Kells เพราะมีแต่เพียงสองหน้าเท่านั้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับอนุญาติให้จับต้อง แต่ก็สามารถหาซื้อหนังสือซึ่งเป็นก็อปปี้ได้ที่ร้านขายของที่ระลึกภายในบริเวณ ฉันเองปกติไม่ค่อยชอบซื้ออะไรรุงรัง แต่ก็ได้ซื้อปฏิทินสำหรับปีหน้าที่ทำด้วย Book of Kells มาแขวนไว้ดูเล่น

ทรัพย์สมบัติอันมีค่าที่น่าชมของมหาวิทยาลัยเก็บไว้ใน Long Room เมื่อขึ้นบันไดไปชั้นสอง ก็แลเห็นห้องอันยาวเหยียดมีเพดานสูง มีหนังสือเก่าแก่อันหาค่ามิได้ตั้งไว้แน่นขนัดจนเต็มไปถึงเพดานทุกชั้น กลิ่นอับๆของหนังสือโบราณหลายร้อยปีที่เก็บรักษาไว้โชยมาเข้าจมูก แน่นอนละ ในจำนวนนี้มีหนังสือ Book of Kells ที่กล่าวถึงข้างต้นรวมอยู่ด้วย มีเอกสารที่แถลงการณ์การเป็นสาธารณรัฐของไอร์แลนด์ คือ the Proclamation of the Irish Republic ซึ่งประกาศเมื่อตอนต้นการต่อสู้ที่เรียกว่า the Easter Rising ใน ค.ศ. ๑๙๑๖

ไกด์ของเราเดินเร็วมากเพื่อทำเวลาให้ทัน ทุกคนต้องเดินตามอย่างเร็วด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะพลัดหลงไปที่อื่นได้ เพราะมีถนน ซอกซอย เชื่อมติดต่อกันหลายสาย แต่เวลาที่อธิบายอะไรเธอก็จะหยุดและใช้เวลาอธิบายทุกอย่างอย่างละเอียด เราเดินมาถึงหน้าตึกของ City Hall ซึ่งสร้างระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๖๙ ถึง ๑๗๗๙ ในห้องโถงชั้นล่างมีรูปปั้นของคนสำคัญของไอร์แลนด์ตั้งอวดอยู่สี่ห้ารูปในจำนวนนี้มีรูปปั้นของ Michael Collins อยู่ด้วย นายไมเคิล ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในการติดต่อตกลงประสานงานกับอังกฤษ จนได้สัญญาที่เรียกว่า Anglo Irish Treaty มา ในปืค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งทำให้รัฐอิสระชาวไอริช Irish Free State ได้ถือกำเนิดมา ไมเคิลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกของรัฐอิสระนี้ และต่อสู้จนเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๒๒ อย่างไรก็ดีเขาโดนสังหารชีวิตในปีเดียวกันนั่นเอง จากพวกที่ต่อต้านสัญญาฉบับนี้

ทว่า ตอนที่อังกฤษได้แบ่งแยกรัฐอิสระชาวไอริชออกมานั้น ในสัญญา Anglo-Irish ไม่ได้มีส่วนไหนในสัญญาที่จะปกป้องชาวคาธอลิกแม้แต่น้อยพวกเขามีจำนวนเพียงเศษหนึ่งส่วนสามซึ่งเป็นส่วนน้อยของประเทศ ชาวไอริชโปรเตสเตนท์ที่เคยเป็นส่วนน้อยของประเทศก่อนที่จะมีการเซ็นต์สัญญา จึงใช้โอกาสนี้เอาเปรียบชาวคาธอลิกในทุกๆทาง แม้แต่โรงเรียนก็ให้มีระบบการเรียนที่เชื่อมโยงกับโปรเตสเตนท์ ทำทุกวิถีทางที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมและอคติต่อชาวคาธอลิก

จึงไม่น่าสงสัยเลย เหตุไรทั้งสองกลุ่มทั้งๆที่เป็นชาติเดียวกัน จึงได้มีความขัดแย้งมากมาย อีกประการหนึ่งชาวคาธอลิกส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับการแบ่งประเทศเป็น Irish Free State ไม่ช้าไม่นานประเทศไอร์แลนด์เหนือก็ได้กลายเป็นสมรภูมิย่อยๆ ที่ใช้อาวุธแทนกฎหมาย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำนั่นเอง ส่วนรายละเอียดอื่นๆจะค่อยๆเล่าค่ะ

เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว ไกด์ถือโอกาสเล่าให้ฟังว่า ไอร์แลนด์มีประชากรสี่ล้านครึ่ง มีผู้ตกงานถึงสิบสี่จุดห้าเปอร์เซ็นต์ ดับลินเป็นศูนย์กลางของบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น กูเกิ้ล ยาฮู อีเบย์ เป็นต้น ขณะนี้ไอร์แลนด์มีปัญหาในด้านเงินเพราะเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ อยู่ถึงแปดสิบห้าพันล้านยูโร และจำเป็นต้องใช้หนี้ให้หมด ต้องจ่ายดอกเบี้ยในราคาที่สูง ทำให้รัฐบาลจำป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายหลายอย่างในการทำนุบำรุงประเทศ ไอร์แลนด์ซึ่งเคยเป็นประเทศที่เป็นดาวดวงใหม่รุ่งโรจน์ ได้อับแสงลง ปัญหาเรื่องเงินของประเทศเกิดจากฟองสบู่แตกเช่นเดียวกับหลายๆประเทศ ด้วยการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวจากการก่อสร้างบ้านเรือน ตึกราม ด้วยธนาคารออกเงินให้กู้โดยคิดดอกเบี้ยถูกๆ และเหตุการณ์ยิ่งร้ายลงไปอีก เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น บริษัทเลห์มานน์บราเธอร์ล้มละลาย พลอยดึงให้ธนาคารสำคัญๆของไอร์แลนด์เจ๊งตามไปด้วย เรื่องที่จะเข้าใกล้แหล่งเงินอีกนั้น ลืมไปได้เลยจนกว่าจะถึงปี ๒๐๑๓ หรือ ๒๐๑๔ เป็นอย่างน้อย ส่วนรายได้ที่เคยได้จากการท่องเที่ยวก็ลดลงอย่างน่าใจหาย ถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ถึง ๒๐๑๑

อย่างไรก็ดี เพิ่งได้ข่าวมาเมื่อไม่นานนี้ว่า สถานะทางการงินของไอร์แลนด์ได้กระเตื้องขึ้นมากแล้ว เพราะประชาชนมีวินัยในการใช้จ่ายดีกว่าบางประเทศที่เป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ แต่ไม่ยอมปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ แทนที่จะเชื่อฟังนโยบายเรื่องการประหยัด ก็ออกมาทำการประท้วงต่อต้านดังที่เป็นข่าวอยู่ทุกวัน

สิ่งที่ฉันชอบไปชมเวลาไปเที่ยวต่างประเทศที่มีประวัติการเมืองที่น่าสนใจก็คือการไปเที่ยวชมหลุมฝังศพ เพราะป้ายต่างๆที่หลุมฝังศพเป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกที่มาจากส่วนลึกของหัวใจหลายอย่าง เพราะฉนั้นหลังจากที่ได้เที่ยวดับลินพอสมควรแล้ว เราจึงแยกตัวไปขึ้นรถบัสที่จะพาเราไปหลุมฝังศพ Glasnevin Cemetery ซึ่งเป็นหลุมฝังศพที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของไอร์แลนด์ เป็นหลุมฝังศพของพวกที่นับถือศาสนาคาธอลิกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๓๒ เพราะถูกห้ามใช้สถานที่ของชาวโปรเตสเตนท์ภายในเมืองเป็นที่ฝัง ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นหลุมฝังศพที่แสดงสัญลักษณ์ความรู้สึกต่อชาติและประเทศอย่างสุดๆ เช่นสร้างไม้กางเขนที่สูงใหญ่โต

สัญลักษณ์ของประเทศคือ แชมร็อค Shamrock ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไอร์แลนด์มาเนิ่นนาน แชมร็อคเป็นวัชพืชรูปใบไม้สามแฉก ตำนานเล่าว่าเมื่อคราวที่เซนต์เพทริค St. Patrick ซึ่งเป็นนักบุญผู้คุ้มครองไอร์แลนด์ได้พยายามอธิบายให้หัวหน้าเผ่าชาวเคลท์ Celt ฟังถึงปาฏิหารย์ของศาสนาคริสต์อันมี พระบิดา พระบุตร และพระจิต ในองค์เดียวกัน (Holy Trinity) เพื่อใช้ประกอบการอธิบาย ท่านได้หยิบเอาใบไม้แชมร็อคขึ้นมา และบอกว่าปาฏิหารย์นี้ก็เหมือนใบไม้ที่ติดกัน แต่มีสามแฉก ด้วยเหตุนี้แชมร็อคจึงได้ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการฉลองวัน St. Patrick ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ของชาวไอร์แลนด์ทุกปี ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเป็นที่ฝังศพของพระคาร์ดินัล McCabe ที่เคยเป็นอาร์คบิชอพที่มีตำแหน่งสูงสุดของประเทศ นอกจากนี้ก็มีหลุมฝังศพของคนสำคัญอีกมากมายหลายคน ในจำนวนนี้มี Daniel O’Connell รวมอยู่ด้วย เขาตายในปี ค.ศ. ๑๘๔๗ และเริ่มสร้างหอคอยกลมสูงเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายชี้ตำแหน่งว่าที่นี่เป็นหลุมฝังศพของเขา เมื่อหอคอยได้สร้างเสร็จ ศพของเขาก็ได้ถูกย้ายมาฝังที่นี่อีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๘๖๙