ต้นไม้ไม่สามารถจะขึ้นบนเกาะได้เลย เนื่องจากความแห้งแล้งของสถานที่และภูมิประเทศ ที่พืชมอสสีเขียวแลดูเหมือนพรมมหึมาและต้นหญ้า scurvy grass ขึ้นอยู่ได้ก็เพราะความชื้นและแสงแดดที่ส่องมาทั้งวันทั้งคืนในฤดูร้อน อยากจะตั้งข้อสังเกตเป็นส่วนตัวว่า ที่เรียกพืชชนิดนี้ว่า scurvy อาจจะเป็นเพราะชาวท้องถิ่นหรือผู้เดินเรือในสมัยก่อนคงจะอาศัยหญ้าพวกนี้กิน เพื่อช่วยไม่ให้เป็นโรคลักกะปิดลักกะเปิด (เลือดออกตามไรฟัน) ก็เป็นได้ ไม่มีสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอาศัยอยู่เลย อาจจะมีหมาจิ้งจอกอาร์คติค (arctic fox) เจ้าถิ่นอาศัยอยู่บ้าง แต่คิดว่าคงมีจำนวนน้อยมาก เพราะไม่ได้เห็นเลยสักตัว ส่วนหมีโพลาร์ก็ไม่มี ทั้งๆที่เกาะตั้งขึ้นด้วยชื่อของหมีโพลาร์แท้ๆ
Bear Island เป็นจุดแรกเริ่มที่ดีที่สุดสำหรับพวกเราที่จะได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับธรรมชาติ และสัตว์ หรือสิ่งที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งความเยือกเย็น หนาวเหน็บและแสนจะกันดารแห่งนี้
เรากลับไปขึ้นเรือใหญ่เพื่อกินอาหารกลางวัน และแม้ว่าเรือจะแล่นออกไปแล้วพวกนก Northern Fulmar ก็ยังคงบินตามมาตลอด แม้ว่าจะมีหมอกหนาทึบและมีสายฝนกระหน่ำลงมา
ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเรือ กัปตันมักจะเชิญชวนให้แขกขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้นหก เพื่อช่วยกันสอดส่ายสายตาหาดูสัตว์ ที่หาดูได้ยากบนพื้นโลกใบนี้ พวกเรามากันจากที่ไกลๆก็เพื่อจะได้ผจญกับสิ่งแปลกๆใหม่ๆในขั้วโลกเหนือ
ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่สี่ของการเดินทาง เมื่อเรือได้แล่นมาถึง Hornsund ซึ่งถือกันว่าเป็นฟยอร์ดที่งดงาม ที่สุดแห่งหนึ่งใน Svalbard พวกเราจึงได้สอดส่ายสายตาหาหมีโพลาร์และสัตว์มีชีวิตอื่นๆที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ เรือยังคงแล่นขึ้นไปทางตอนเหนือ แต่ว่าเหนือขึ้นไปจาก Arctic Circle มาก จึงไม่มีผู้คนอาศัยอยู่กี่คนระหว่างจุดนี้กับขั้วโลกเหนือ มีแต่ศูนย์กลางค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ของโปแลนด์เท่านั้น มีนักวิทยาศาสตร์อยู่เก้าคนในฤดูหนาว แต่จะเพิ่มขึ้นในฤดูร้อน
Hallmark ของ Silversea Explorer คือการยืดหยุ่นในการเดินเรือ เช่นเดียวกับการเดินทางด้วยเรือยอร์ชส่วนตัว ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเดินทางได้แล้วแต่สภาพและภาวะในช่วงนั้นๆ วันนั้นกัปตันเปลี่ยนใจกระทันหันที่จะเดินทางไปยังจุดที่ต้องการจะไปเมื่อเริ่มแรก เพราะบังเอิญได้ไปเห็นร่องรอยว่าอาจจะมีหมีโพลาร์มาหาอาหารในแถบนี้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถลงเรือ zodiac ไปดูธารน้ำแข็งที่ Burgerbukta ตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรก
ชื่อของธารน้ำแข็งตั้งตามตากล้องชาวออเสเตรีย นาย Burger ที่มาทำการสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๑๘๗๒ เบอร์เกอร์บุคต้า เป็นอ่าวที่อยู่ทางเหนือของ Hornsund เรือแล่นเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ กัปตันพยายามหาช่องว่างในทะเลน้ำแข็ง ด้วยต้องการจะค้นหาหมีโพลาร์ให้พบจนได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนักในช่วงเวลาดังกล่าว
เราลงเรือ zodiac ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นและลมที่พัดแรง ในเขตเส้นรุ้งที่ ๗๗ องศาเหนือเส้นศูนย์สูตร ไม่ว่าจะมองไปทางไหนเห็นแต่ ผาสูงชันของน้ำแข็งเป็นสีฟ้าล้อมรอบ เมื่ออากาศอบอุ่นขึ้นหน้าผาน้ำแข็งก็จะค่อยๆละลายออกทีละน้อย โดยแยกตัวออกมาเป็นในลักษณะเส้นตั้ง (horizontal) บางครั้งเราจะได้ยินเสียงครืนๆของน้ำแข็งที่แตกและละลายออกมา Hornsund แยกตัวออกไปเป็นหลายลำธาร แต่ละลำธารพัดพาน้ำแข็งออกไปยังทะเลเปิด อากาศที่นี่โหดร้ายและหนาวเย็นกว่าที่อื่น เพราะได้รับกระแสน้ำที่เยือกเย็นจากทางตอนเหนือ ทั้งยังไม่ได้รับอานิสงฆ์จากกระแสน้ำอุ่นของ Gulf Stream เช่นเดียวกับบางแห่งที่เล่าให้ฟังแล้วข้างต้น สภาพอากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยหมอกและมักจะพร่ามัวด้วยฝนเม็ดเล็กๆ
เชื่อกันว่า พวกไวกิงค์ (Vikings) เป็นพวกแรกที่ได้มาเยือนถิ่นนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๒ และที่ ๑๓ ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเหลือไว้ให้เห็น แต่ก็มีร่องรอยทิ้งไว้ให้เห็นจากการล่าสัตว์ ในสมัยหลังๆของชาวรัสเซียและชาวนอร์เวย์ Hornsund มีอากาศที่เยือกเย็น จึงเป็นแหล่งที่หมีโพล่าร์สามารถจะอาศัยอยู่ได้ตลอดฤดูร้อน เพราะน้ำแข็งที่ลอยมาจากธารน้ำแข็งเป็นจำนวนมากมาย เป็นที่พักอย่างดีของแมวน้ำซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของหมีโพล่าร์ ที่นี่มีศูนย์วิจัยค้นคว้าทางวิยาศาสตร์ของประเทศโปแลนด์ซึ่งเปิดตลอดปี
เมื่อเราลงจากเรือ zodiac ไกด์ผู้ทรงคุณวุฒิประจำเรือ ได้พาเราเดินไปตามฝั่งที่เป็น Desert Tundra ซึ่งเป็นฝั่งเล็กๆแห่งหนึ่งที่ไม่ได้ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง หิมะหรือน้ำ จึงช่วยให้มีพืชพรรณเติบโตได้บ้าง แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวาเพียงสั้นๆคือหนึ่งร้อยวันต่อปี แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ถึง ความได้เปรียบของถิ่นนี้คือแสงแดดที่ส่องทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงฤดูร้อน ซึ่งช่วยให้พืชพรรณเจริญเติบโตได้รวดเร็วตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ถ้าจะเปรียบกับทะเลทราย ก็อาจจะกล่าวได้ว่า Svalbard โดยส่วนรวม เป็นโอเอซิสของอาร์คติคก็ได้ เขตอื่นๆที่อยู่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเย็นรุนแรงยิ่งไปกว่านี้ เช่น กรีนแลนด์ หรือ Franz Joseph Land ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า มีพืชพรรณชนิดต่างๆที่ขึ้นอยู่ในแหล่งนี้ถึง ๑๖๔ ชนิด ไม่นับที่นำเข้ามาปลูกอีกประมาณ ๖ หรือ ๗ ชนิด ในขณะที่กรีนแลนด์มีเพียง ๓๖ ชนิดเท่านั้น
ลักษณะพิเศษในเขต Arctic คือ permafrost หรือน้ำค้างที่จับแข็งอยู่ใต้ดิน ด้วยเหตุที่ในแถบนี้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่า ศูนย์องศา เซลเซียส ทำให้พื้นดินแข็งตัวลงไปถึง สามร้อย เมตร และบางแห่งถึงสี่ร้อยห้าสิบเมตร โดยทั่วไปแล้วดูน่าจะเป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตของพืชพรรณ แต่ทว่าน้ำค้างแข็งนี้ช่วยให้ความชุ่มชื่นต่อผืนดิน เพราะหากปราศจาก permafrost แล้ว พื้นดินจะแห้งแล้งกันดาร ความชุ่มชื้นที่ได้มาจากน้ำค้างแข็งนี้ป้องกันไม่ให้น้ำที่อยู่ข้างบนระเหยออกไปได้ ดังนั้น ดินแดนอาร์คติคจึงไม่เลวร้ายอย่างที่เกรงกัน เช่นเดียวกับในแถบไซบีเรียที่เคยเล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วในเรื่อง “ขี่ม้าเหล็กข้ามไซบีเรีย”
เราจึงได้เห็นดอกไม้เล็กๆน่ารักสีสวยต่างชนิดขึ้นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งดอก Purple Saxifrage – lichen fields ดอกไม้และพืชพรรณจำพวกนี้สามารถขึ้นได้ดี หากว่ามีกวางเรนเดียร์ มาขุดหาพืชผสมของตะไคร่และเห็ดราคือ ไลเคิน lichen ร่องรอยของกวางเรนเดียร์มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในวันนั้น
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับเรื่องหิน ได้อธิบายถึงกำเนิดของหินโดยมีธรรมชาติเป็นตัวกระตุ้น เช่นหิน troll bread ซึ่งมีลักษณะเหมือนขนมปังที่หั่นบางๆ วางสลับซ้อนกัน หรือไม่ก็ก้อนหินที่มีลวดลายเป็นขีดสีขาว สวยจนอยากจะเอาไปไว้ในสวนที่บ้าน หินในสภาพและลักษณะต่างๆก็เกิดจาก permafrost เช่นกัน
เราเดินผ่านกระท่อมของนักล่าปลาวาฬในสมัยก่อนที่ทิ้งร้างเอาไว้ แต่เขายังรักษาสภาพให้คล้ายของเดิมมากที่สุด ในช่วงที่มีการล่าปลาวาฬกันอย่างขนานใหญ่ช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น มีท่าสถานีล่าปลาวาฬของชาวฮอลแลนด์ตั้งอยู่ที่นี่ ภายนอกปริมณฑลของ Hornsund เรียกว่า Gashamna หรือ Goose Harbour ซึ่งเราเห็นได้จากทรากหัวกะโหลกของปลาวาฬหลายหัวพร้อมกับกะทะต้มเคี่ยวเอาไขมันปลาวาฬรียกว่า blubber oven
ความปลอดภัยของพวกเราเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของการเดินทางในลักษณะนี้ ฉนั้นในระหว่างช่วงเวลาที่เราเดินชมธรรมชาติท่ามกลางความเวิ้งว้างของภูมิประเทศ จึงมียามรักษาการณ์อยู่ทุกจุดเพียบพร้อมไปด้วยปืนบรรจุกระสุน ในกรณีที่อาจจะต้องเผชิญกับหมีโพลาร์ อย่างที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วข้างต้น เจ้าหน้าที่ได้เห็นร่องรอยของหมีโพลาร์เมื่อตอนเช้า อันตรายของมันก็คือ มันชอบหลบตัวคอยตะครุบเหยื่ออยู่ข้างหลังเนินหรือไม่ก็หลังกองดิน
การขึ้นจากเรือ zodiac มาขึ้นเรือใหญ่ในช่วงนี้เป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะคลื่นมหึมาที่โถมตัวเข้ามาตลอดเวลา ฉันจึงได้เห็นความสำคัญอันยิ่งยวดของการสาธิต ของ รอบิน ในเรื่องของความปลอดภัยในการขึ้นและลงเรือจากการใช้ sailor’s grip เข้าช่วย
King of Arctic (เจ้าถิ่นของเขตอาร์คติค)
หลังอาหารกลางวัน ตอนบ่ายจัดๆ เราก็ได้เห็นหมีโพลาร์สมใจ ท่ามกลางความโล่งอกโล่งใจของการ์ดผู้รักษาความปลอดภัยที่พาเรากลับมาขึ้นเรือได้โดยไม่มีเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวแต่อย่างใด เรือวิ่งไปช้าๆเพื่อให้เราได้ถ่ายรูป ได้ชื่นชมกับหมีน้ำแข็งที่ยิ่งใหญ่ มันเดินอย่างเป็นสง่าอยู่บนน้ำแข็ง คาดว่าคงจะมองหาแมวน้ำเพื่อจับกินเป็นอาหาร พวกเราได้รับคำสั่งให้อยู่กันเงียบๆ ไม่ให้คุยกันเสียงดัง เพราะจะเป็นการรบกวรการเคลื่อนไหวของมัน
Polar Bear (หมีโพลาร์หรือหมีขาวขนาดใหญ่) มีลำตัวยาวประมาณ ๒ ถึง ๓ เมตร ตัวผู้มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักตัววัดได้ถึง ๗๐๐ กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักของตัวเมียอาจจะอยู่ในราว ๑๕๐ ถึง ๓๕๐ กิโลกรัม ทั้งลำตัวอาจจะเป็นสีขาวทั้งหมด หรือไม่ก็สีเหลืองอ่อน มีจมูกสีดำ เจ้าแห่ง Arctic
มีลำตัวและกล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ก็คล่องแคล่ว ว่องไว ที่น่าแปลกคือหัวมันเล็กมากเมื่อเทียบกับลำตัว มีครั้งเดียวที่หมีโพลาร์ไปปรากฏกายบนแผ่นดินใหญ่นอร์เวย์ เพราะโดยปกติ มันเป็นสัตว์ที่มีถิ่นที่พักอยู่ในน่านน้ำของเขตอาร์คติคเท่านั้น มันทนอยู่ในแหล่งที่มีสภาพอากาศ “อุ่นกว่า” ไม่ได้ มันมักจะติดตามไปกับก้อนน้ำแข็งที่เคลื่อนไปตามทะเล เรียกว่า drift ice
อาหารของเจ้าหมีโพลาร์คือ แมวน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมวน้ำที่มีหนวดยาว (Bearded Seal) หรือไม่ก็ (Ringed Seal) แต่ก็ไม่ปฎิเสธที่จะกินปลาวาฬขนาดเล็กเช่น beluga whale หรือแม้แต่นกหรือไข่นก ที่มันจะเข้าไปตะปบเอาถึงในรัง ในยามที่มันหาแมวน้ำกินไม่ได้ แมวน้ำมักจะขึ้นมาจากน้ำเพื่อสูดลมหายใจในฤดูหนาว ส่วนในฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาวมันจะขึ้นมานอนเล่นบนน้ำแข็ง
หมีโพล่าร์จะผสมพันธ์ในฤดูใบไม้ผลิ โดยมีคู่ต่างๆกันไป อาจจะเรียกว่า หมี “สวิงกิ้ง” ได้กระมัง ไม่รู้ว่ามันไปเรียนวิชานี้มาจากมนุษย์ตนใดและที่ใด ลูหมีจะเกิดในราวปลายๆปี และต้นๆปี แม่หมีจะเจาะโพรงลงไปในน้ำแข็ง และจะพาลูกหมีออกจากโพรงในวันที่มีอากาศแจ่มใส คือในราวเดือนมีนาคม หรือเมษายน ในตอนนั้นลูกหมีจะมีน้ำหนักตัวประมาณ ๘ ถึง ๑๒ กิโลกรัม อายุโดยถัวเฉลี่ยของมันอยู่ในราว ๑๕ ถึง ๓๒ ปี
ในปัจจุบัน มีหมีโพล่าร์อยู่ทั้งหมดประมาณ ๓๐๐๐ ตัว มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการควบคุมการล่าหมีอย่างเข้มงวดของทางการที่เริ่มขึ้นเมื่อ ๒๕ ปีก่อน อย่างไรก็ดี การล่าหมีโพล่าร์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการขยายพันธุ์ของมันอีกต่อไป แต่ว่าสารที่มีพิษซึ่งอยู่ในอาหารที่มันกินเข้าไปต่างหากที่ทำให้การให้กำเนิดของมันเสื่อมสมรรถภาพลง และเป็นตัวเร่งให้มันตายเร็วขึ้น
คุณผู้อ่านคงจะสงสัยว่า ถ้าหมีมีลำตัวขนาดใหญ่และมีน้ำหนักตัวถึงขนาดดังที่ว่าแล้ว มันจะเดินไปบนก้อนน้ำแข็งได้อย่างไร ขออธิบายให่ฟังว่าก้อนน้ำแข็งที่นี่โดยเฉลี่ยจะสูงถึง ๔๕ เมตร และมีความยาวถึง ๑๘๐ เมตร จะเทียบได้ก็เท่ากับตึกสูงสามสี่ชั้นทีเดียว บางครั้งก็สูงและยาวมากกว่าที่กล่าวมากมาย
คืนวันนี้เราได้ชื่นชมกับพระอาทิตย์เที่ยงคืนกันอย่างเต็มที่ คืนอื่นๆ เราเรียกว่า โพล่าร์ไนท์ หรือ polar night ซึ่งก็คล้ายๆกัน เพราะในช่วงฤดูร้อนพระอาทิตย์ไม่ตกในเขตขั้วโลกเหนือเลย ถึงแม้ว่าประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะไม่มืดตลอดทั้งยี่สิบสี่ชั่วโมงก็ตาม แต่ว่าหลังเที่ยงคืนไปแล้วพระอาทิตย์ก็ยังสลัวๆไปบ้าง ทว่าในเขตขั้วโลกเหนือ พระอาทิตย์ไม่ตกเลยในช่วงฤดูร้อนสั้นๆนี้ บางครั้งลืมตาตื่นขึ้นมาตอนตีสาม ก็จะเห็นพระอาทิตย์กำลังขึ้นอีก
วันที่ห้าของการเดินทาง เรือได้เปลี่ยนทิศทางไป Bellsund ชื่อนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี ๑๖๑๐ เพราะมีภูเขาที่มีลักษณะเหมือนรูปกระดิ่งอยู่ในเขตนี้ พอลืมตาตื่น ก็ได้ยินเสียงประกาศจากลำโพง
ให้แขกขึ้นไปบนดาดฟ้าของเรือชั้นหก เพราะเจ้าหน้าที่แลเห็นปลาวาฬสีน้ำเงิน (Blue Whale) กระโดดโลดแล่นเวียนว่ายอยู่ข้างลำเรือ พวกเรารีบตาลีตาเหลือกแต่งตัวด้วยชุดกันหนาวเต็มยศไต่บันไดไปดาดฟ้า ขนาดเราอยู่ชั้นเจ็ด ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดและเหนือดาดฟ้าชั้นเดียว ยังไปแทบไม่ทัน ปรากฏว่าพอไปถึงก็มีแขกคนอื่นๆที่เร็วกว่าไปยืนกันเต็มหมดแล้ว แต่ละคนมีทั้งกล้องถ่ายรูปและกล้องส่องทางไกลพร้อม ในที่สุดเราก็ได้เห็นปลาวาฬสมใจและได้ถ่ายรูปมาด้วย คุณผู้อ่านดูเอาเองในรูปนะคะ
ผู้เชี่ยวชาญเล่าว่าปลาวาฬประเภทนี้หาดูยากมาก ไม่ค่อยจะได้ออกมาอวดโฉมกันมากนัก
เพราะฉนั้นการที่ได้เห็นปลาวาฬสีฟ้าจึงเป็นโชคอย่างยิ่งยวดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แลเห็นสัตว์มหึมาประเภทนี้ดำผุดดำว่ายในน้ำทะเลที่มีภูเขาน้ำแข็งตะปุ่มตะป่ำเป็นฉากอยู่เบื้องหลัง
ปลาวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวของลำตัววัดได้ถึง ๓๓.๕ เมตร และมีน้ำหนักถึง ๒๐๐ ตัน ในขณะที่ตัวเล็กที่สุดมีขนาดลำตัววัดได้เพียง ๑.๕๐ เมตรเท่านั้น
เช้าวันนี้อากาศขมุกขมัวไปด้วยเมฆ ลมแรง ฝนเริ่มปรอยๆลงมา อุณหภูมิหนึ่งองศา ซึ่งก็ไม่เย็นมากนัก แต่เพื่อนเดินทางหลายคนบ่นว่าหนาว เพราะฝนและลมที่พัดมา เราขึ้นเรือ zodiac ไปขึ้นฝั่ง Bamsebu อันเป็นชื่อที่สลักไว้หน้าเคบินเก่าๆหลังหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นกระท่อมของนักล่าหมาจิ้งจอกแห่งอาร์คติค Arctic Fox และของนักล่าปลาวาฬที่ปฏิการตามชายหาด โครงของกระท่อมสร้างด้วยไม้ดุ้นใหญ่ ได้มาจากท่อนไม้ที่ลอยมาตามแม่น้ำที่ไหลมาจากไซบีเรีย ก่อนที่กระแสน้ำจะพัดมันให้ลอยมาจนถึง Svalbard ไม้ที่ลอยมานี้เรียกว่า drift wood เขตนี้เป็นเขตที่ต้นไม้ไม่สามารถขึ้นได้เลย จึงไม่มีทางที่จะตัดต้นไม้เอามาใช้สำหรับปลูกสร้างแน่นอน กระท่อมใช้แผ่นเหล็กเป็นประตู ส่วนหน้าต่างก็ตอกตาปูตัวเบ้อเริ่มเอาไว้จนทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้หมีหรือสัตว์ร้ายพังประตูเข้าไปได้
ไม่ไกลจากกระท่อมนี้ ยังมีกระท่อมสำหรับเก็บสัมภาระ ใกล้ๆกันเป็นเรือคว่ำ คือเอาท้องเรือมาไว้ข้างบน ใช้เป็นที่เก็บอาหารที่ไม่ต้องการให้เปียกหรือชำรุดเพราะอากาศ Bamsebu คงจะเป็นสถานที่มหัศจรรย์สำหรับผู้คนที่เคยอยู่ที่นี่ เพราะสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม แต่แสนจะกันดารยากไร้และไกลปืนเที่ยงไม่น่าเชื่อ ไกลออกไปอีกฟากหนึ่ง เราเห็นป้อมเล็กๆที่ใช้ในสมัยก่อนสำหรับเฝ้าดูแลความปลอดภัยจากหมีอันดุร้าย
เป็นโชคดีของเราที่พื้นดินที่เดินไปวันนั้นไม่ชื้นแฉะ จึงสามารถเดินข้ามไปอีกฟากหนึ่งได้ ได้เห็นนกที่ค่อนข้างจะเห็นได้ยากอีกชนิดหนึ่งคือ snow bunting, purple sandpipers และ Arctic skuas ต้องขออภัยคุณผู้อ่านไว้ณที่นี้ด้วยที่ไม่สามารถจะแปลชื่อนกเป็นภาษาไทยได้ เอาเป็นว่า เป็นนกที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งทะเลก็แล้วกันนะคะ
คราวนี้เราไม่เห็นร่องรอยของกวางเรนเดียร์เลย นอกจากอุจจาระของมัน และเขาคู่หนึ่งที่มันสลัดทิ้งไว้ เรายังอยู่ในเขต Tundra ที่อธิบายไว้แล้วข้างต้น จึงเดินไปบนพื้นที่ยึดหยุ่นแบบฟองน้ำ ได้เห็นดอกไม้เล็กๆสีสวย และพืชพรรณไม้แคระที่ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะดอก Saxifrage สีชมพู ม่วงและ เหลือง แล้วก็มีตะไคร่ moss กระจิดหริดน่าเอ็นดูรวมอยู่ด้วย คุณผู้อ่านดูในรูปเอาก็แล้วกันนะคะ
ผู้เชี่ยวชาญด้านหินอีกคนหนึ่ง (Juan) ฮวน มาจากประเทศโคลัมเบีย ที่เราได้พบเมื่อวานฉันได้มีโอกาสคุยอย่างสนิทสนมกับเขา เขาได้อธิบายอย่างละเอียดถึงการแข็งตัวและการละลายของน้ำแข็ง freeze and thaw เป็นเวลานับล้านๆปี จึงก่อให้เกิดการสร้างตัวของหินในลักษณะต่างๆกัน จนเป็นหินในลักษณะแปลกๆที่เราเห็นอยู่ คำอธิบายที่น่าสนใจของฮวน พร้อมกับได้เห็นของจริงประกอบ เป็นความรู้ใหม่ที่ฉันประทับใจมาก
วันที่หกของการเดินทาง เป็นวันที่น่าตื่นเต้นอีกวันหนึ่ง เรามาทอดสมอที่ Torellneset ซึ่งอยู่ไปทางตะวันตกของ Nordaustlandet (North East Land) มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๔๗๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นที่สองของจำนวนเกาะทั้งหมดในเขต Svalbard หรือ Spitsbergen เป็นเขตที่ได้ชื่อว่าแสนจะโหดเหี้ยมที่สุด เพราะปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มีธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดเป็นที่สามของโลกคือ Austfonna ซึ่งเล็กกว่าก็แต่เพียงธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์และที่ไอซ์แลนด์ (Iceland) เท่านั้น Torell ตั้งตามชื่อของนักธรณีวิทยาชาวสวีเดน Otto Martin Torell
Austfonna เป็นธารน้ำแข็งที่อยู่ด้านหน้าของฝั่ง Nordaustlandet ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งประมาณ ๘๕๐๐ ตารางกิโลเมตร เช้าวันนี้มีลมพัดแรง อากาศมืดมัว ไม่เป็นใจให้กับพวกเราเลย แต่มาคิดให้ดี เราอยู่บนเส้นรุ้งที่ ๗๙ องศา ในเขตขั้วโลกเหนือของอาร์คติด จะไปเรียกร้องให้มีอากาศแจ่มใสได้อย่างไร บางครั้งการไปเที่ยวแบบสำรวจประเภทนี้ อากาศที่เลวร้ายหรือไม่เหมาะกับที่ใจปรารถนา จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
“ลูกเสือ” หรือ scout ที่ไปสำรวจพื้นที่บนฝั่งพร้อมปืนและลูกกระสุนครบครัน ส่งข่าวมาว่าได้พบสัตว์ใหญ่อีกประเภทนี้ที่ต้องการเห็นคือ Walrus วอลรัส เราลงจากเรือ zodiac ลงไปในน้ำแบบ wet landing ทำให้ต้องขอบคุณรองเท้าบู๊ทยางที่เอาติดตัวมาและใส่อยู่ตลอดเวลาในยามที่ขึ้นฝั่ง นักวิทยากรอีกคนหนึ่งรอพวกเราอยู่แล้วที่ฝั่ง พาเดินไปจนถึงจุดที่ตัววอลรัสอาบแดดเกยกันอยู่ถึงสิบห้าตัวทั้งตัวผู้และตัวเมีย พอเห็นพวกเราบางตัวก็ยกหัวขึ้นมามองอย่างเกียจคร้านหรือเสียไม่ได้ มีบางตัวลงไปว่ายเล่นอยู่ในน้ำ อวดความสามารถ หรือที่เราบอกว่ามันกำลังจะ show off
Walrus เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ตัวผู้มีลำตัวยาวถึง ๒.๕ ถึง ๓.๕ เมตร หนักถึง ๑.๕ ตัน ในขณะที่ตัวเมียมีลำตัวยาว ๒.๒ ถึง ๓ เมตร มีน้ำหนักถึง ๙๐๐ กิโลกรัม ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีหนวดยาว มีงวงสีขาว แต่งวงของตัวผู้ใหญ่และหนากว่าตัวเมีย มีสีเทา แต่ถ้ามันอาบแดดนานเลือดในตัวของมันจะค่อยๆซึมเข้าไปในหนัง ทำให้งวงกลายเป็นสีค่อนข้างแดง ถ้าเปรียบเทียบกับแมวน้ำแล้ว วอลรัสมีความว่องไวในการเคลื่อนไหวได้ดีมากกว่าแมวน้ำ ถ้าอยู่บนพื้นดิน
วอลรัสเป็นสัตว์ที่รักความสงบ แต่ก็ไม่ชอบอยู่ตามลำพังมักจะพบพวกมันเป็นฝูงๆ มัน กินหอยกาบและหอยแครงเป็นอาหาร โดยใช้วิธีเอาปากเปิดฝาหอยและดูดเนื้อเข้าปาก ทิ้งเปลือกไว้ข้างหลัง บางครั้งมันก็กินซากสัตว์เน่าๆหรือไม่ก็ล่าแมวน้ำเป็นอาหาร วอลรัสผสมพันธ์ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากสิบห้าเดือนก็จะมีทารกวอลรัส ตัวแม่จะต้องเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนานเกือบสองปี ดังนั้นวอลรัสตัวเมียไม่สามารถจะให้กำเนิดทารกได้ทุกปี แต่เว้นระยะในราวสองปี ในเขต Spitsbergen วอลรัสที่เห็นส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ นานๆจึงจะได้เห็นตัวเมียหรือลูกน้อยสักที วอลรัสสามารถมีชีวิตได้นานถึงสามสิบปี สมัยก่อนมีวอลรัสอยู่เป็นแสน แต่จากการล่าอย่างหนักเพื่อจะเอางวง เอาเนื้อมากิน เอากระดูก หนังและน้ำมันมาใช้ จำนวนของวอลรัสจึงลดลงอย่างน่าใจหาย จนกระทั่งมีกฏหมายออกมาคุ้มกันเมื่อปี ๑๙๕๒ จำนวนของมันจึงค่อยๆเพิ่มขึ้นอีก ในปัจจุบัน คาดว่ามีอยู่ถึง ๑๕๐๐ ตัวในแถบกรีนแลนด์และ Spitsbergen
วิทยากรไกด์ที่ขับเรือ zodiac ให้เรานั่ง ต้องหยุดเรือชั่วคราว กว่าจะพาไปขึ้นฝั่ง เขาบอกว่า ต้องคอยระวังเจ้าวอลรัส เพราะมันเป็นศตรูกับเรือ zodiac และอาจจะเข้ามาดันเอาจนเรือคว่ำได้ เพราะมันคิดว่าเรือคือศตรูคู่แข่งของมัน
หลังอาหารกลางวัน เรือได้แล่นต่อไป โดยมีจุดประสงค์จะไปทอดสมอที่ Vibebukta ทางตะวันตกของ Brasvellbreen ที่อยู่ทางใต้ของ Austfonna ธารน้ำแข็งใหญ่ที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วข้างต้น แต่ว่าโชคไม่ดีมีก้อนน้ำแข็งมหึมาลอยขวางอยู่ ทำให้การแล่นเรือไปจอดทอดสมอเพื่อให้เราลงเรือ zodiac จึงไม่สามาถจะทำได้
เรือแล่นต่อไป เมื่อท้องฟ้าเปิด มีแสงแดด แลเห็นวิวที่สวยงามมาก น้ำแข็งที่ลอยอยู่เป็นสีครามตัดกับภูเขาและธารน้ำแข็งข้างหลัง ในที่สุดกัปตันก็หาที่ทอดสมอได้ เพื่อให้เราลงเรือ zodiac ไปชมธารน้ำแข็ง แต่การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาถึงกว่าครึ่งชั่วโมง
กว่าจะไปถึงจุดที่เราต้องการ แต่ก็คุ้มค่า เพราะสิ่งที่ปรากฎอยู่ข้างหน้าคือ Monacobreen หมายถึงธารน้ำแข็งโมนาโค ได้ชื่อตามเจ้าชายมอนาโคที่ได้เสด็จมาที่นี่ในปี ๑๘๙๙ และได้เป็นสปอนเซอร์ให้มีการสำรวจธารน้ำแข็งแห่งนี้ด้วยกันหลายครั้ง ทิวทัศน์ที่เห็นคือน้ำทะเลสีเขียวใสจดขอบฟ้า มีธารน้ำแข็งอยู่ตรงหน้า ช่างเหมือนฝันจริงๆ ไม่ไกลนักคือ Idabreen ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่สวยจับตาอีกแห่งหนึ่ง เราได้ยินเสียงครืนครันของน้ำแข็งที่แยกตัว ส่งเสียงเหมือนกับฟ้าร้อง อีกไม่นานก็เห็นน้ำแข็งสลายตัวออกมา ตามทางที่เรือเล็กของเราผ่าน มีน้ำแข็งที่ดูเหมือนสลักเป็นรูปต่างๆโดยทั่วไป ทุกแห่งเป็นสีมรกต เป็นประกายเหมือนเพชรที่ล้อเล่นกับแสงแดด
บ่ายนี้เรามีโชคดีหลายอย่าง ขากลับได้แลเห็น Minke Whale สองสามตัวดำผุดดำว่ายอยู่ไม่ไกลจากเรือใหญ่มากนัก ได้รับคำอธิบายว่า ปลาวาฬชนิดนี้มีอยู่มากในแถบนี้ สังเกตได้จากสันหลังของมันซึ่งเป็นสีดำ ข้างใต้เป็นสีอ่อน แต่ก็อาจจะเป็นสีสะท้อนแสงก็ได้ ลำตัวอาจจะยาวถึง ๑๐ เมตร และหนักประมาณ ๘ ถึง ๑๐ ตัน เรากลับขึ้นเรือใหญ่ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ
เวลาห้าโมงเย็น นักประวัติศาสตร์ชาวคะเนเดียน ปีเตอร์ ได้มาอธิบายและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนชายฝั่งที่เราไปขึ้นบกเมื่อวันวาน เขาเล่าว่า เมื่อตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีความพยายามของนักสำรวจชาวสวีเดนชื่อ Salomon Andree ที่พยายามจะเดินทางไปให้ถึงขั้วโลกเหนือด้วยลูกบัลลูนให้จงได้จาก Spitsbergen หรือสถานที่ที่เราผ่านไปเมื่อวันก่อน ความพยายามครั้งแรกของเขาไม่เป็นผล เพราะเขาไม่ได้บรรจุแก๊สไฮโดรเจนจนพอเพียงในบัลลูน เขาจึงพยายามใหม่ในปีต่อมาจาก Danskoya คือในปี ๑๘๙๗ กับเพื่อนอีกสองคน (ดูรูปค่ะ) จากนั่นก็ไม่มีใครได้ข่าวคราวของเขาอีกเลย จนอีก ๓๓ ปีต่อมา คือปี ๑๙๓๐ ได้มีการสำรวจเช่นเดียวกัน ก็ได้มีการค้นพบร่างที่ปราศจากชีวิตของชายทั้งสาม พร้อมอุปกรณ์ อันมีฟิล์มที่เป็นน้ำแข็งแล้วรวมอยู่ด้วยแต่ยังอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม เขาจึงเอาฟิล์มมาล้าง ทำให้ได้ร่องรอยของการเคลื่อนไหวช่วงสุดท้ายของนาย Salomon Andree และเพื่อน
หลักฐานจากฟิล์มที่เอามาล้างแล้ว แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่ลูกบัลลูนบินขึ้นไปได้สองวัน ก็ตกลงมาบนน้ำแข็ง เขาจึงสร้างล้อเลื่อน sledge ไว้บรรทุกสัมภาระเพื่อเดินทางต่อไป พวกเขาไม่ได้เอาเสื้อผ้ากันหนาวมาอย่างพอพียง เพราะตามหมายกำหนดเดิม คาดว่าจะบินลูกบัลลูนจากฟากหนึ่งของอาร์คติคไปอีกฟากหนึ่งเท่านั้น คงจะกินเวลาไม่นานก็จะลงอย่างปลอดภัย ทว่าเมื่อลูกบัลลูนตก เขาจึงสร้างกระท่อมเพื่อได้พักอยู่ในช่วงฤดูหนาว ไม่มีสิ่งใดชี้แน่ชัดไปว่าพวกเขาทั้งสามตายเพราะเหตุใด แต่เชื่อกันว่าตายจากสารพิษที่ได้รับจากสารตะกั่วที่มีอยู่ในกระป๋องที่บรรจุอาหารและโรคลักกะปิดลักกะเปิดหรือเลือดออกตามไรฟัน (scurvy) ศพของคนทั้งสามถูกนำกลับไปเมืองสต๊อกโฮล์มเพื่อทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติ เหมาะสมกับที่เขาได้พยายามที่จะไปให้ถึงขั้วโลกเหนือ