เตรียมตัวกันมานาน ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง วันศุกร์ ที่ ๑ กรกฎาคม เราบินจากซูริคไปกรุง Oslo ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ แม้ว่าจะเคยมาแล้ว แต่ก็ยังอดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะจะได้มีโอกาสเห็นสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นในเมืองนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงละครมหาอุปรากรและบัลเล่ต์แห่งชาติของประเทศนอร์เวย์ (The Norwegian National Opera and Ballet) ซึ่งเพิ่งเปิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๐๐๘ และเป็นสถาบันศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพนักงานถึง ๖๕๐ คน ในจำนวนนี้มีอาชีพต่างๆกันถึง ๕๐ อาชีพ โรงมหาอุปรากรตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือเก่าริมฝั่งฟิยอร์ด (fjord) ของออสโล เรียกว่า Bjorvika ซึ่งไม่ช้าไม่นานก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวง เพราะเป็นศิลปะการก่อสร้างที่แปลกตา เปรียบได้กับโรงโอเปร่าของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สถาปนิกเป็นชาวนอร์เวย์ชื่อ นาย Snohetta เขาได้ใช้วัสดุเช่น อาลุมิเนียม และหินอ่อนของอิตาลีที่ได้มาจากเมือง Carera ส่วนภายในประกอบด้วยไม้โอ๊ค ตีเป็นร่องๆ ดูห่างๆคล้ายกับเอาปล้องไม้ไผ่มาสร้าง อาจจะกล่าวได้ว่าโรงละครแห่งนี้เป็นแห่งเดียวในโลกที่อนุญาตให้ผู้คนไปเดินบนหลังคาเพื่อชมวิวได้ หลังคามีลักษณะการก่อสร้างเป็นทางลาดชัน เช่นเดียวกับธารน้ำแข็ง แม้ว่าเราอยากจะไปชมมหาอุปรากรหรือดูคอนเสิร์ท ในฐานะที่เป็นคอมหรสพประเภทนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เช่นใจปรารถนา เพราะเขาหยุดการแสดงในช่วงฤดูร้อน
The City Hall (Radshusplassen) เป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งที่อยากจะกล่าวถึง เพราะเป็นที่ๆมีการมอบรางวัล Nobel Peace Prize มาตั้งแต่ปี ๑๙๐๑ ในสมัยนั้นทั้งประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ยังร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปี ๑๘๔๙ คือ Union of Norway and Sweden จึงได้จัดการมอบรางวัลร่วมกัน
เรานั่งรถ hop on – hop off เช่นเคย ผ่าน The Royal Palace Park ซึ่งมีสนามหญ้าและต้นไม้ร่มครึ้ม เปิดให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะของชาวเมือง ส่วนพระราชวังเองนั้นเป็นตึกไม่หรูหราสดุดตาแต่อย่างไร ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเป็นพระราชวัง ความจริงเขาใช้วังแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ มีไว้สำหรับพิธีรับรองอาคันตุกะ และงานสำคัญต่างๆของประเทศ
สถานช็อปปิ้งที่มีชื่อเสียงของออสโลเรียกว่า Bogstadvein ไม่ได้ใหญ่โตหรูหราอะไรนัก ผ่าน Majostuen ซึ่งเป็นสถานีรถไฟใต้ดิน ผ่าน Vogeland Park ซึ่งมีสนามเทนนิสหลายสนาม มีสระว่ายน้ำสาธารณะใหญ่โต ผ่านพิพิทธภัณฑ์หลายแห่ง ในจำนวนนี้มีพิพิทธภัณฑ์แสดงเรือไวกิ้งในสมัยโบราณอยู่ด้วย แลเห็นโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันมากนักในยุโรปแถบอื่นๆ เท่าที่เคยเห็นรู้สึกว่าจะมีเฉพาะในสวีเดนและนอร์เวย์เท่านั้น
ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่ร่ำรวย เพราะมีน้ำมัน ข้าวของในประเทศจึงแพงมาก แพงกว่าประเทศเดนมาร์ค สวีเดน ฟินแลนด์ และแม้แต่ประเทศสวิสเอง มีคนสวีเดนหลายคนมาทำงานในนอร์เวย์ เพราะเขาบอกว่าค่าแรงสูงกว่า แต่ก็ต้องอยู่กินกันอย่างประหยัด เพื่อให้มีเงินเก็บกลับบ้าน ชาวนอร์เวย์เอง แม้ว่าจะมีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงเช่นเดียวกัน ภาษีของเขาเก็บสูงมาก ทว่ารัฐบาลได้ใช้เงินเหล่านี้เพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชนโดยแท้จริง ไม่ได้ไปเข้าพกเข้าห่อของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่ง นอร์เวย์เป็นประเทศที่แทบจะไม่มีการคอรรัปชั่นเลย
ดูการแต่งเนื้อแต่งตัว พวกเขาก็แต่งกันแบบไม่หรูหรา เพราะต้องเก็บเงินไว้ซื้อเสื้อผ้าที่แตกต่างกันไปในแต่ฤดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ซึ่งหนาวจัดยิ่งไปกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ประชาชนมีทั้งขาว ดำ และเหลือง ปนเปกันไป ไม่มีการรังเกียจสีผิวเช่นบางประเทศที่พบมา เท่าที่สังเกตดูประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีอิสรภาพในการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ สมกับได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งเสรีภาพและสวัสดิการโดยแท้จริง
แต่น่าเศร้าใจเป็นที่สุดในขณะที่กำลังเขียนสารคดีชิ้นนี้ ได้มีการฆาตรกรรมหมู่ขึ้นในใจกลางเมืองหลวงออสโล มีคนตายเจ็ดศพ และบนเกาะ Utoya ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปประมาณสี่สิบกิโลเมตร มีทั้งเด็กหนุ่มเด็กสาวถูกฆ่าถึง ๘๖ ศพ โดยฆาตรกรหนุ่มอายุ ๓๒ ปี ชื่อ นาย Anders Breivik ชาวนอร์เวย์ เขาเป็นพวกขวาจัดแบบสุดโต่ง แถมยังบอกว่าไม่รู้สึกผิดใดๆ อยากให้ตายมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป เขาบอกว่าได้ทำสิ่งชั่วร้ายนี้แต่เพียงลำพัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อว่าการกระทำแบบอุกฉกรรจ์เช่นนี้ จะเป็นการกระทำโดยโดดเดี่ยว เขาเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวต่างชาติที่ลี้ภัยเข้ามาในนอร์เวย์ โดยเฉพาะพวกมุสลิม เขาต้องการกำจัดพวกที่เขาคิดว่า มีส่วนสนับสนุนและเกี่ยวข้อง
ประเทศนอร์เวย์ยังตกอยู่ในความโศรกเศร้าอาลัยต่อผู้ที่จากไป ชาวนอร์เวย์และแน่นอนชาวโลกยังอยู่ในสภาพช็อคแบบสุดๆไม่สามารถเข้าใจว่าได้เกิดอะไรขึ้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รักสงบ ไม่มีศตรู มีสวัสดิการเป็นเลิศ ชาวนอร์เวย์มีจิตใจดี ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนที่มาจากทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศสวิส การรักษาความปลอดภัยในประเทศของเขาโดยเฉพาะในส่วนราชการ จึงไม่เคร่งครัดเท่าที่ควรเช่นในหลายๆประเทศ แม้แต่ตำรวจที่รักษาการบางเหล่ายังขี่ม้าตรวจการแบบสบายๆ เป็นสาวสวย หน้าตายิ้มแย้ม การดำเนินการในศาล จะทำโดยไม่เปิดเผย เพราะเขาบอกว่า ไม่ต้องการให้อุดมการณ์บัดซบของฆาตรกรผู้นี้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั่วไป โทษสูงสุดในประเทศนอร์เวย์จำคุกไม่เกิน ๒๑ ปี อย่างไรก็ดี มีหลายคนมีความเห็นว่า การฆาตรกรรมหมู่ครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ได้วางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี
ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก และเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ก็ขอแสดงความเสียใจและอาลัยมากับชาวนอร์เวย์ด้วยอย่างสุดซึ้ง เมื่อได้เห็นกษัตริย์ของตนร้องไห้ออกมาโดยเปิดเผยต่อหน้าสาธารณะ ชาวนอร์เวย์ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความปลาบปลื้มที่มีกษัตริย์ที่หลั่งน้ำตาให้แก่ประชาชนของพระองค์เอง โดยไม่เสแสร้งหรือสร้างภาพ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
อยู่ออสโลได้สองคืนเราก็บินไปเมือง Tromso (ทรอมโซ) เพื่อไปลงเรือ Silversea Explorer ใช้เวลาบินในราวสองชั่วโมง การเดินทางมีชื่อว่า Expedition Svalbard 7114 เป็นการล่องเรือจาก Tromso, Norway ถึง Longyearbyen ไม่ใช่เป็นการล่องเรือโดยตรงจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่เป็นการล่องไปตาม (Fjord) ฟยอร์ดและเกาะแก่งต่างๆเท่าที่เรือสามารถจะล่องเข้าไปจอดได้ โดยไม่ต้องไปชนกับก้อนน้ำแข็งใหญ่ๆที่ลอยอยู่ทั่วไป
Spitsbergen เป็นชื่อที่ประมงค์ชาวฮอลแลนด์ขนานนามให้ Svalbard เพราะภูเขาที่มีก้อนหินเก่าแก่ ตะปุ่มตะป่ำที่มีอายุเนิ่นนานเป็นเวลาถึงสี่ร้อยห้าร้อยล้านปี Spitsbergen มีชุมนุมชนใหญ่ๆสี่แห่ง มี Longyearbyen เป็นเมืองหลวง ไม่ว่าใครที่จะไปเยือนสถานที่นี้ มักจะมาเข้าและออกกันที่เมืองนี้ ในปัจจุบันมีพลเมืองอาศัยอยู่ประมาณสองพันคน ส่วนใหญ่เป็นชาวนอร์เวย์ รองลงมาเป็นคนไทย หรือหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวนอร์เวย์ และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ นอกนั้นก็มีชาวรัสเซียประปราย Longyearbyen ตั้งอยู่บนเส้นรุ้ง หรือ latitude๗๘ องศา เหนือ polar circle เอาไว้เมื่อไปถึงเมืองแล้วจะเล่ารายละเอียดให้ฟังค่ะ
Silversea Explorer เคยมีชื่อว่า Albert II เพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อได้ไม่นานมานี้ เรือประภทนี้มีอยู่หกลำคือ Silver Cloud, Silver Shadow, Silver Whisper, Silver Wind และ Silver Spirit เจ้าของเป็นชาวอิตาเลียน ที่บอกชื่อเรือมาทั้งหมด เพื่อว่าหากคุณผู้อ่านมีโอกาสโดยสารเรือที่มีชื่อดังกล่าวจะได้รู้ว่าเป็นเจ้าของเดียวกัน เรือประเภทนี้เป็นเรื่อหรูขนาดเล็กจึงสามารถล่องไปตามเกาะแก่งและสถานที่ต่างๆที่เรือโดยสารลำใหญ่ไม่สามารถเข้าไปถึง Silversea บรรจุผู้โดยสารได้เต็มอัตรา ๑๓๒ คน แต่ตอนที่เราไป มีผู้โดยสารเพียง ๑๒๑ คน ต่อลูกเรือ ๑๒๓ คน เข้าใจว่าเพราะเรือลำนี้ต่อที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อปี ๑๙๘๙ จึงมีกัปตันเป็นชาวฟินแลนด์ แต่ไปจดทะเบียนเรือที่ประเทศ บาฮามาส มีน้ำหนัก ๖๑๓๐ ตัน มีความยาว ๑๐๘ เมตร กว้าง ๑๕.๖ เมตร ความเร็วทั่วไป ๑๔ น๊อต ในเรือประกอบไปด้วยสถานให้บริการครบวงจรฉบับกระเป๋า ตั้งแต่โรงยิม จาคูซี่ ร้านทำผม ทำเล็บ ร้านขายของที่ระลึกจิปาถะ ห้องสมุด ทั้งบนชั้นหกและชั้นห้า กัปตันบอกว่ามีลูกเรือถึง ๒๕ สัญชาติ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง เมื่อกล่าวถึงเรื่องภาษาแล้ว อยากจะเล่าให้คุณผู้อ่านฟังสักเล็กน้อยว่าผู้คนในประเทศนอร์เวย์สมัยนี้ พูดภาษาอังกฤษได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคนเสิร์ฟอาหาร คนงานทั่วไป เพราะเขาถือว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญต่อชีวิตมากในปัจจุบัน ในส่วนตัวฉันเองก็เห็นว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญยิ่งยวด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่างประเทศ ไม่ใช่ว่าพูดพอรู้เรื่อง แต่ต้องพูดให้เจ้าของภาษาเข้าใจได้ดีด้วย ทั้งในเรื่องธรรมดาทั่วไปและเรื่องที่มีสาระสำคัญอื่นๆของโลก เพราะเราไม่สามารถปิดประตูอยู่เพียงลำพังได้อีกต่อไปแล้ว การพูดภาษาสากลได้ดีและมีสาระ ช่วยให้มีศักดิ์ศรีและมีความมั่นใจในตนเอง
Silversea Explorer มีเรือ Zodiac ทั้งหมดแปดลำ สำหรับพาแขกไปขึ้นฝั่ง เพื่อชมภูมิประเทศเช่นธารน้ำแข็ง ชมสัตว์และพืชพันธุ์ดอกไม้ต่างๆ
วันแรกของการเดินทางเป็นวันอาทิตย์ แขกต่างทะยอยกันมาลงเรือตั้งแต่ตอนบ่าย กำหนดเวลาออกคือบ่ายสี่โมง แต่ก่อนเวลาบ่ายสี่โมงเล็กน้อย แขกได้มาเช็คอินครบถ้วนแล้ว กัปตันจึงตกลงใจที่จะออกก่อนเวลา ใช้เรือลากจูงสวนกระแสน้ำออกมาจนถึงช่องแคบระหว่างแผ่นดินใหญ่ของนอร์เวย์และเกาะทรอมโซ (Tromso)
แขกหลายคนขึ้นไปชมวิวบนดาดฟ้า เนื่องจากอากาศที่แจ่มใส แสงแดดส่องไปจับต้องภูมิประเทศ เห็นสะพาน มหาวิหารของทรอมโซ ผ่านเรือที่แล่นผ่านไปมาหลายลำ จนที่สุดลมเริ่มพัดมาแรง พวกแขกจึงหนีลมไปดาดฟ้าด้านหลัง เพื่อดื่มค็อกเทลและรับประทานอาหารว่าง เป็นโอกาสอันดีที่แขกจะได้ทำความรู้จักกัน ทันทีที่เรือแล่นออกจากท่า ฝูงนกต่างก็เริ่มบินมาวนเวียนที่จาคูซี่อย่างรื่นเริง
ส่วนภายในเคบินของเรา บัทเลอร์และรูมเหมดได้มาจัดการกับกระเป๋าเดินทาง แขวนเสื้อแจ๊กเก็ท Parka ที่ทางบริษัทเรือได้จัดเตรียมไว้ให้ เขาได้เขียนมาขอขนาดของเสื้อไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนการเดินทาง เตรียมเสื้อชูชีพให้เรียบร้อย เอาเครื่องดื่มพวกแชมเปญ มาวางไว้ให้ พร้อมผลไม้
ในราวบ่ายห้าโมง รอบิน เวสท์ (Robin West) หัวหน้าการเดินทางเพื่อสำรวจ (Expedition Leader) สาธิตวิธีการใช้เสื้อ Parka เสื้อชูชีพ และการปฏิบัติตนในการขึ้นและลงเรือ Zodiac ต้องสวมรองเท้าบู๊ตเวลาไปขึ้นฝั่ง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการลงจากเรือไปลงน้ำ ที่เรียกว่า wet landing การช่วยเหลือในการขึ้นและลงเรือ เจ้าหน้าที่สองคนจะช่วยด้วยการใช้ sailor’s grip คือจะใช้มือทั้งสองข้างตั้งแต่ข้อศอกลงไปจำมือผู้โดยสารไว้ การใช้กริปในลักษณะนี้ มีสิทธิภาพและเป็นลักษณะที่ใช้กันทั่วโลก ปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่มีคลื่นลมแรงมาก ซึ่งเราก็ได้ผจญมาแล้ว การสาธิตรวมไปถึงการวางตัวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสัตว์และพืชพรรณไม้ ในเขตขั้วโลกเหนือ ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องจากรัฐอย่างเข้มงวด
หลังจากนั่นก็เป็นการรับประทานเย็นที่แสนจะโอชะเป็นครั้งแรกในเรือสำราญลำนี้ ซึ่งกำหนดจะแล่นออกไปจนถึงทะเลเปิดในตอนสามทุ่ม ในขณะที่พระอาทิตย์ยังอยู่เหนือหัวเช่นตอนกลางวันและจะไม่ตกอีกในเขตเส้นรุ้ง ๗๓ องศา เช่นนี้ คืนเช่นนี้เราเรียกว่า polar night หลังอาหารเย็นแขกหลายคนไปรวมตัวกันอยู่ที่บาร์ เพื่อคุยกันต่อ
Lord of the Winds (เจ้าแห่งสายลม)
ตั้งแต่เรือแล่นออกเมื่อตอนบ่ายสี่โมง สังเกตว่ามีนกฝูงหนึ่ง บินฉวัดเฉวียนติดตามเรือมาตลอด แล้วก็โฉบลงไปบนผิวน้ำอย่างอ่อนช้อย ดูเพลินตาเพลินใจ เสร็จแล้วก็ถลาบินอย่างเริงร่าขึ้นมาบนเหล็กที่กั้นเรือ พร้อมกับเบิ่งตามองผู้คนบนเรือด้วยความสนใจ ราวกับเป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมานาน เมื่อมันบินมาจนใกล้ จะเห็นจงอยของมันเป็นปล้อง คล้ายนกนางนวล นกฝูงนี้มีลักษณะของนกในตระกูล Fulmar ที่รู้ก็เพราะได้รับฟังการบรรยายของนักวิทยากรมืออาชีพตอนบ่ายๆของทุกวัน จึงได้ความรู้ว่านกที่บินได้อย่างสวยงามเป็นสง่าฝูงนี้ มีชื่อว่า Northern Fulmar นกประเภทนี้ เป็นเจ้าแห่งมหาสมุทรแห่งนี้โดยแท้ ได้รับสมญานาม ว่า lords over the world’s oceans
นก Albatross ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่และมีปีกยาวใหญ่ที่สุด ก็อยู่ในตระกูลเดียวกัน ชาวอีนูอิท (Inuit) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในแถบขั้วโลกเหนือ อาร์คติค เชื่อว่า นก fulmar เป็นสามีของเจ้าแม่ Sedna (Goddess Sedna) ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดดั้งเดิมของพวกเขา และเชื่อว่าเจ้าแม่ Sedna เป็นผู้ดูและคุ้มครองสัตว์แห่งทะเลและมหาสมุทรทั้งหมด ที่เชื่อเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าชาวอีนูอิท กินเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ตลอดทั้งปี เนื่องด้วยภูมิประเทศและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำ ซึ่งปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและความหนาวตลอดทั้งปี พวกเขาจึงไม่อาจใช้พื้นที่ทำกสิกรรมหรือการเกษตรอะไรได้ เพราะแม้แต่ต้นไม้ก็หาไม่ได้เลย จำเป็นต้องเร่ร่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเช่นเดียวกับชาวเบดูอินที่เร่ร่อนอยู่ในทะเลทรายเพื่อหาน้ำและอาหาร เมื่ออากาศอุ่นขึ้นมานิดหนึ่ง เขาก็จะเก็บผลไม้จำพวกลูกแบรี่ กิน รวมไปถึงสาหร่ายทะเลและไข่ เข้าใจว่าคงจะเป็นไข่นก
นอกจากนี้ก็มีนก kittiwakes ที่บินตามเรือ สลับไปกับนก Northern Fulmar แต่นก “คิตตี้วัค” ไม่บินแบบมีจุดมุ่งหมายเช่น นก Northern Fulmar พวกมันได้แต่บินโฉบไปมาแล้วก็โฉบลงไปเหนือคลื่นเท่านั้น นกทั้งสองประเภทนี้ต่างก็ไปสร้างรังและวางไข่บนบกคือบนเกาะโขดหินเหมือนกัน
เรือแล่นไปท่ามกลางความเวิ้งว้างของมหาสมุทร ล้อมรอบไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง สลับกับก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ลอยมาเป็นระยะๆ ที่หอบังคับการเรือจะมีเจ้าหน้าที่คอยส่องกล้องดูแลตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เรือไปปะทะกับก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้ เป็นงานที่ค่อนข้างหนักเอาเรื่อง เขาจึงมีเจ้าหน้าที่ผัดเปลี่ยนกันทุกๆสี่ชั่วโมง หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของเขาก็คือ การเฝ้ามองหาสัตว์ที่มีที่พำนักอยู่ในถิ่นนั้นๆ
เช้าวันแรกคือวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่สองของการเดินทาง เป็นวันที่ตรงกับวันชาติหรือ Independence Day ของชาวอมริกัน เมื่อตื่นขึ้น ได้เห็นปลาโลมา (dolphin) ว่ายน้ำอวดโฉมอยู่ใกล้ๆเรือ แขกทุกคนพากันไปรวมตัวอยู่บนดาดฟ้า ชั้นที่หก เหนือหอบังคับการของกัปตันซึ่งอยู่ชั้นห้า ชั้นหกมี Panorama Lounge ซึ่งมองไปได้รอบ มี Observation Deck ภายในปิดกั้นด้วยกระจก ด้านหัวเรือเป็นห้องนั่งเล่น อ่านหนังสือ และสำหรับผู้ที่ตื่นเช้าก่อนเวลา เจ็ดนาฬิกา ก็มีอาหารเช้าแบบเบาๆเสิร์ฟ ถัดออกไปด้านหลัง เป็นห้องประชุมใหญ่ มีบาร์ มีเครื่องดื่มบริบูรณ์สำหรับเวลาที่แขกลงมานั่งฟังเล็กเชอร์ และสำหรับการจัดเลี้ยงค็อกเทลต้อนรับในวันที่มาถึงและอำลาในวันสุดท้าย ของกัปตันเรือ มี Outdoor Grill ในยามที่มีอากาศดีก็อาจจะมานั่งพักผ่อนและทานอาหารกลางวันได้
ความจริงสวีทของเรามีระเบียง มีโต๊ะและเก้าอี้นั่งนอนสำหรับชมวิว แต่ด้วยลมที่พัดแรงจัดตลอดเวลา จึงไม่ค่อยได้ใช้ ส่วนใหญ่ฉันจะใช้เป็นที่ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ตอนตื่นขึ้นมาในตอนเช้าและก่อนนอนหลังอาหารเย็น
วันนั้นมีแสงแดดเราจึงได้รับการเชิญชวน ให้ออกไปรับประทานอาหารกลางวันที่ Outdoor Grill ที่อยู่ทางหลังเรือ ซึ่งมีบาร์ มีที่สำหรับทำบาร์บีคิว ส่วนใครที่อยากจะไปทานอาหารกลางวันกันในห้องอาหารก็ทำได้ ไม่ขัดข้อง แต่แขกส่วนใหญ่ยินดีที่จะออกไปโต้ลมหนาวกันข้างนอกมากกว่าอุดอู้อยู่ภายในเรือ เชิญคุณผู้อ่านดูรูปค่ะ ระหว่างอาหารกลางวันได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมเดินทางอีกหลายคน มีทั้งออสเตรเลียน อเมริกัน อังกฤษ และคะเนเดียน ลืมบอกคุณผู้อ่านไปว่าอ่างน้ำจาคูซี่ก็อยู่ที่นี่ด้วย ถ้าดูให้ดีๆจะเห็นภาพ
ตอนเย็นเป็น Welcome Cocktail และ Captain Dinner มี Dress Code แบบ Casually Elegant ซึ่งเป็นการแต่งกายแบบสุภาพ คือสุภาพบุรุษสรวมเสื้อนอก ผูกเน็คไท ส่วนสตรีก็สวยได้ตามอัธยาศัย แต่ไม่มีใครแต่งจนเลิศหรู แบบต้นคริสต์มาสเคลื่อนที่ ชอบใจสังคมฝรั่งก็ตรงนี้ เขารวยอยู่แล้ว ไม่ต้องไปอวดด้วยเครื่องเพชรหลอกชาวบ้าน
Bear Island (Bjornoya)
วันที่สามของการเดินทาง อากาศค่อนข้างปิด คลื่นในทะเลเริ่มแรงขึ้น เนื่องจากเราได้แล่นออกมาในท้องทะเลเปิดอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีที่กำบังอีกต่อไป เรือไปทอดสมอจอดกลางทะเล เจ้าหน่าที่จัดให้เราไปลงเรือ Zodiac เพื่อจะไปเกาะหมี ฟังชื่อแล้ว ทุกคนคงจะคิดว่าเป็นเกาะที่มีหมีอาศัยอยู่ แต่ไม่ใช่เลย Bear Island เป็นเกาะในมหาสมุทรอาร์คติด ตอนใต้สุดของ Svalbard ทางตะวันตกของ Barents Sea ประมาณกึ่งกลางระหว่าง Spitsbergen และ North Cape แห่งหลังนักท่องเที่ยวไทยคงจะรู้จัก เกาะหมีถูกค้นพบในปี ๑๕๙๖ โดยนักสำรวจสองคน ตั้งชิ่อว่าเกาะหมี เพราะบังเอิญไปเห็นหมีโพลาร์ว่ายน้ำอยู่ใกล้ๆหนึ่งตัว ในปี ๑๙๒๐ เกาะหมี ก็ได้เข้ามาอยู่ในเขตการปกครองของประเทศนอร์เวย์
แม้ว่าจะอยู่ไกลปืนเที่ยงและแสนจะกันดาร เกาะนี้ก็เคยรุ่งเรืองพอสมควรด้วยกิจการหลายอย่าง เช่น การขุดถ่านหิน การประมงค์ และการจับปลาวาฬ (ความจริงไม่น่าจะเรียกว่า ปลาวาฬ เพราะไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จึงควรเรียกว่า วาฬ เฉยๆ) อย่างไรก็ดีกิจการเหล่านี้ไม่เคยยาวนานเกินสองสามปีเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันเกาะหมีไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย นอกจากบุคคลากร ที่ทำงานให้สถานีวิทยุ และสถานีพยากรณ์อากาศซึ่งเป็นของชาวนอร์เวย์และอยู่ใต้การบริหารงานของนอร์เวย์ทั้งหมด ในปี ๒๐๐๒ Bear Island และร่องน้ำในเขตนั้น ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนทางธรรมชาติ (Nature Reserve)
ที่น่าสนใจอีกประการก็คือเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บนรอยต่อของน้ำเย็นจากทางเหนือและน้ำที่อุ่นกว่าที่ไหลมาจากมหาสมุทรแอตแลนติค อุณหภูมิของน้ำในเขตนี้จึงค่อนข้างจะไม่คงที่ คือ อยู่ในราว ๑๐ องศาเซลเซียสในฤดูร้อน ในช่วงฤดูหนาว ขณะที่มีน้ำแข็งรวมตัวกันอยู่บนฝั่ง แต่ในทะเลเปิด (open sea) แห่งนี้แทบจะไม่มีน้ำแข็งเลย ในทุกฤดูหนาวก้อนน้ำแข็งมหึมาที่เราเห็นถูกพัดพามาตาม Barents Sea เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี สภาวะเช่นนี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นก่อนจะถึงเดือนกุมภาพันธ์
เมื่อเรือ Zodiac ของเราแล่นเข้าไปใกล้เกาะทางตอนใต้ เห็นโขดหินทรายอันสูงชัน สิ่งแรกที่ได้ยินคือเสียงนกร้องจำนวนเป็นแสนๆตัว ดังกระหึ่มไปหมด เพราะเกาะหมีเป็นที่อยู่อาศัยของนกชนิดต่างๆ ฝูงนก kittiwake ที่มีขาเป็นสีดำ และที่คอยบินตามเรืออย่างที่เล่าแล้วมีจำนวนมากที่สุดเกาะอยู่บนรังที่ทำด้วยหญ้าอยู่ระหว่างโขดหิน ปีกของมันดูดำคล้ำคล้ายกับจิ้มลงไปในขวดหมึก
นอกจากนั้นก็มีนก guillemot เป็นจำนวนนับหมื่น ดูท่านั่งของนกประเภทนี้ตามซอกหินที่เหลือบเป็นชั้นๆแล้ว เหมือนท่านั่งของนกเพนควิน (penguins) นกประเภทนี้วางไข่บนซอกชั้นของโขดหิน และสามารถอยู่อย่างยัดเยียดกับนกประเภทอื่นๆได้ ไข่ของมันมีลักษณะรีๆคล้ายลูกแพร์ ธรรมชาติมีส่วนช่วยไม่ให้ไข่กลิ้งไหลตกลงไปในทะเลได้โดยง่าย หากตีนของนกบังเอิญไปเขี่ยโดนโดยไม่ตั้งใจ แต่มันจะหมุนไปมา ถ้าหากไข่มีลักษณะกลมมันก็จะร่วงลงทะเลไปได้ทันที
มีนกอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า glaucous gull ซึ่งอยู่ในพันธ์ของนกนางนวล เป็นนกใหญ่ที่สุดในบรรดานกประเภทนี้ มีสีเทาซีดๆ พวกนี้เป็นนกสังหาร ขี้ขโมย มันจ้องขโมยลูกนกเล็กๆจากนกอื่นๆไปกินเป็นอาหาร ด้วยเหตุที่เกาะนี้เป็นหินทราย มันจึงถูกเซาะเป็นถ้ำบ้าง เป็นเกาะแก่งเล็กๆบ้าง ช่วยให้เรือแล่นเข้าออกไปตามซอกหินเหล่านี้ได้ เราได้เห็นทรากของเรืออับปางลำหนึ่งเกยอยู่บนริมฝั่ง ได้ข่าวว่าเป็นอุบัติเหตุเรือล่มที่เกิดขึ้นเมื่อสักสองสามปีก่อน
นกเป็นจำนวนแสนเกาะเต็มโขดหินไปหมด มองไปทางไหนเห็นแต่นก ทำให้คิดถึงหนังเรื่อง The Birds ของนาย Hitchcock สมัยก่อน เสียงร้องของมันดังสนั่นหวั่นไหวจนพูดกันแทบไม่ได้ยิน กลิ่นอับของถ้ำและกลิ่นเหม็นของขี้นกคละคลุ้งไปทั่ว ถ้าจะพูดว่ามีนกเป็นล้านตัวอาศัยอยู่ณที่นี้แห่งเดียว ก็คงจะไม่เกินความจริงนัก