Karol Jozef Wojtyla เกิดที่เมือง Wadowice (วา โด วี ช่า) ห่างจากเมือง Krakov ๕๐ กิโลเมตร หลังจากที่เรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Jagiellonian ในเมือง Krakov แผนกการละคร หลังสงครามโลกครั้งที่สองไปศึกษาวิชาการศาสนา (Theology) ต่อในมหาวิทยาลัยเดิมจนสำเร็จได้เป็นพระสงฆ์ในนิกายคาทอลิกเมื่อปี ๑๙๔๖ หลังจากได้รับยศเป็น bishop หรือหัวหน้าบาทหลวง เมื่อปี ๑๙๕๘ ใช้เวลาส่วนหนึ่งพักอยู่ที่ ปราสาท วาเวล (Wawel Castle) ในเมืองเดียวกัน จะเล่าเรื่องของปราสาท วาเวลในภายหลัง เมื่อไปถึงเมือง Krakovแล้ว
ในปี ๑๙๗๘ พระราชาคณะของคาทอลิกได้พร้อมใจกันเลือก Karol Jozef Wojtyla ให้เป็นพระสันตะปาปา เรียกตนเองว่า Pope John Paul II พระสันตะปาปาองค์นี้รักคนหนุ่มๆสาวๆ จึงได้สถาปนา วันคนหนุ่มสาวของโลกขึ้น (World Youth Day) ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังรักการดนตรี กีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นสกีหิมะ และพิสมัยการเดินทางอีกต่างหาก ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้รับความนิยมชมชื่น และการต้อนรับจากพวกคนหนุ่มสาวเสมือนเช่น ป็อบสตาร์คนดังคนหนึ่งของโลก ด้วยความที่ไม่ถือพระองค์ ยินยอมให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายไม่เสแสร้งว่าเป็นเทวดาจุติมาเกิด จึงเป็นที่รักใคร่จากคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาคาทอลิกหรือไม่ พระองค์เป็นความภาคภูมิใจของชาวโปแลนด์โดยทั่วไป
เมื่อสิ้นชีพตักษัยในปี ๒๐๐๕ มีผู้แสวงบุญกว่าสามล้านคนเดินทางไปกรุงโรมเพื่อทำการสักการะเป็นครั้งสุดท้าย หลายคนต้องรอคิวอยู่นานถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงกว่าจะได้เข้าไปถึงร่างของพระองค์ที่นอนอยู่ในโบสถ์เซ็นต์ปีเตอร์ส (St.Peter’s Basilica) แม้ว่า ๒๗ ปีของการเป็นพระสันตะปาปาจะไม่ยาวนานนัก แต่ก็นานพอสมควรสำหรับตำแหน่งอันสูงสุดของอาณาจักรศาสนาอันยิ่งใหญ่นี้
ชาวโปแลนด์ภูมิใจมากที่พวกเขาคนหนึ่งได้รับยศที่มีเกียรติสูงสุดเป็นถึงองค์พระสันตะปาปา ดังนั้นไม่ว่าจะไปแห่งใดในเมือง Krakov จะเห็นโปสเตอร์ของพระองค์ติดอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะรูปการเดินทางไปพบบุคคลสำคัญต่างๆทั่วโลก หลายคนคงจะจำภาพที่เห็นจนเจนตาคือ ทันทีที่เสด็จลงจากเครื่องบิน พระองค์จะคุกเข่าลงจูบพื้นดินของประเทศที่เสด็จไปเยือน เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก
Warsaw
จากซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ใช้เวลาบินหนึ่งชั่วโมงห้าสิบนาทีก็ถึงกรุงวอร์ซอ ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องผ่านด่านประทับตราตรวจหนังสือเดินทาง เพราะโปแลนด์ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศในเครือ Shengen แต่กว่าจะผ่านด่านภาษีออกมาได้ ต้องรอคิวยาวเหยียด ยังนึกสงสัยว่าประเทศนี้เป็นเช่นไรหนอเมื่อสมัยยี่สิบปีก่อนที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ จากสนามบิน Frederic Chopin ใช้เวลาเพียงยี่สิบนาทีก็ไปถึงโรงแรม Polonia Palace ที่อยู่เยื้องกับ Palace of Culture & Science ซึ่งเป็นตึกสูงถึง ๒๓๑ เมตรและสูงที่สุดในวอร์ซอ เป็นของขวัญจากประชาชนชาวโซเวียตรัสเซีย ที่ สตาลินมอบให้ สร้างขึ้นระหว่าง ปี ๑๙๕๒ และ ๑๙๕๕ ลักษณะของตึกคล้ายคลึงกับตึกทั้งเจ็ดหลังในมอสโกที่เรียกว่า พี่สาวและน้องสาวของ สตาลิน ที่เคยเล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้ว ในสารคดีเรื่อง “ขี่ม้าเหล็กข้ามไซบีเรีย” ถูกชาวเมืองหลวงนินทาค่อนแคะว่าช่างเป็นตึกที่น่าเกลียดน่าชังไม่เข้ากับบรรยากาศของเมืองหลวงเสียเลย
แถมตึกสูงใหญ่ยังไปบดบังรัศมีของสถานีรถไฟ Warsaw Central Train Station อีกต่างหาก เขากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ดีที่สุดของตึกแห่งนี้ ก็คือ เมื่อขึ้นไปถึงจุดดูวิวข้างบนแล้วจะเห็นวิวของเมืองสวยที่สุด เพราะไม่มีวิวของตึกหลังนี้รวมอยู่ด้วยให้เกะกะสายตา
ถึงแม้ว่าชาวโปแลนด์ที่มีอายุห้าสิบขึ้นไป จะพูดภาษารัสเซียได้ เพราะจำต้องเรียนในระหว่างที่โซเวียต ยึดครองประเทศอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าลืมไปหมดแล้ว ด้วยเหตุที่ไม่ต้องการระลึกถึงสมัยที่อยู่ภายใต้อำนาจกดขี่ของคอมมิวนิสต์โซเวียต ประเทศโปแลนด์เพิ่งจะฉลองการปลดแอกมาได้เพียงยี่สิบปีในปีนี้
ใครที่ไม่รู้ประวัติของโปแลนด์ เมื่อได้มาเยือนกรุงวอร์ซอและเดินผ่านไปตามถนนที่ยาวกว้างขวาง เห็นสภาพตึกรามที่ยังใหม่ จะเชื่อว่ากรุงวอร์ซอและชาวเมืองหลวงคงจะผ่านการดำเนินชีวิตที่ราบรื่นมาตลอดระยะเวลาสองร้อยปี แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วอร์ซอถูกทำลายจนเกือบสิ้นซากโดยพวกเยอรมันนาซี หากว่าในจิตใจที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญและเลือดเนื้อวิญญาณของนักต่อสู้ ชาววอร์ซอจึงผงาดขึ้นมาได้อีกอย่างปาฏิหาริย์ แม้แต่นายพล Dwight Eisenhower ของสหรัฐฯเอง เมื่อได้ เห็นความย่อยยับของวอร์ซอแล้ว ยังเต็มตื้นไปด้วยความรันทด ถึงกับพูดว่า เขาได้เห็นความเสียหายมามากแล้วในที่ต่างๆ แต่ไม่เคยเห็นเมืองใดที่ยับเยินยิ่งไปกว่ากรุงวอร์ซอ
เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สอง คือปี ๑๙๔๔ พอมีข่าวว่ากองทัพเยอรมันนาซี จะบุกเข้ายึดวอร์ซอ ชาววอร์ซอไม่ได้หวาดกลัวยอมสยบหัวให้ เช่นชาวเมืองอื่นๆในยุโป รอให้กองทัพนาซีมายึดเมือง พวกเขากลับลุกขึ้นต่อสู้ป้องกันเมืองของตนเสียก่อน ทั้งๆที่กองทัพหน่วยที่ประจำอยู่ มีอาวุธไม่มากนัก และพลเมืองเองก็ปราศจากอาวุธ ไม่มีแม้แต่ความช่วยเหลือจากกองทัพ “แดง” ของ สหภาพโซเวียตที่ตั้งฐานทัพอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ Vistula วิซตูล่า หรือ วิซล่า (Wisla) ส่วนกองทัพพันธมิตร (The Allies) นั้นเล่าก็กำลังรบอย่างดุเดือดอยู่ที่ นอร์มังดี ไม่สามารถจัดกำลังมาช่วยได้
การต่อสู้ที่เรียกว่า “Warsaw Uprising” สร้างความเคียดแค้นแก่ เผด็จการฮิตเลอร์ เป็นอันมาก ถึงกับมีคำสั่งให้กองทัพขยี้เมืองให้แหลกลาน ไม่ให้หลงเหลืออยู่เลยในแผนที่โลก สั่งการไม่ให้มีการจับเป็นนักโทษ แต่จับตายทั้งหมด หลัง จากที่ได้ต่อต้านกำลังของนาซีอยู่นานถึง ๖๓ วัน ตึกรามและสิ่งก่อสร้างในวอร์ซอถูกทำลายถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ปีนี้เป็นปีครบรอบ เจ็ดสิบปีของการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๑๙๓๙ และสิ้นสุดลงในปี ๑๙๔๕ กระสุนปืนนัดแรกของสงครามถูกยิงออกไปที่เมือง Danzig หรือ Gdansk ทางเหนือของโปแลนด์ โดยกองทัพเยอรมันนาซี ขณะที่เขียนสารคดีนี้ ทางรัฐบาลโปแลนด์ซึ่งมีนาย Lech Kaczynski ประธานาธิบดี และนาย Donald Tusk นายกรัฐมนตรี เป็น เจ้าภาพ จัดพิธีระลึกถึงผู้ตายจำนวนหลายหมื่นล้านในสงคราม วันแรกของการ ต่อสู้ปะทุขึ้นที่เมืองเกดังสค์ ระหว่างพิธี ทั้งนาย Kaczynski และนาย Tuskได้กล่าวติเตียน บทบาทของโซเวียตรัสเซีย ใน ครั้งนั้น สืบเนื่องมาจากสัญญา (Molotov-Ribbentrop Pact) ซึ่งเป็นชื่อ รัฐมนตรีต่างประเทศของโซเวียตและเยอรมันนี หรือที่เรียกทั่วๆไปว่า สัญญาระหว่าง ฮิตเลอร์–สตาลิน ว่าจะไม่รุกรานกัน (Non-Aggression) ทำให้เยอรมันนาซีฉวยโอกาสเดินหน้าทำสงครามกับประเทศอื่นๆในยุโรป โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตลบหลังโดยโซเวียต ทุกคนมีความเห็นว่าสัญญาฉบับนี้ปราศจากจรรยาบรรณและไร้ศีลธรรมโดยสิ้นเชิง
นาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีของรัสเซีย และนาง Angela Merkel ของประเทศเยอรมันนีได้ไปร่วมพิธีด้วย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นคู่ร่วมสงคราม และมีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของโลก ระหว่างการ ปราศรัย นาง Merkel ได้กล่าวคำขอโทษ และพูดว่า เธอขอก้มหัวแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหมดในระหว่างสงคราม “Ich verneige mich vor den Opfern.” นี่เป็นคำพูดคำต่อคำของเธอ แต่ประธานาธิบดี ปูติน ไม่ได้ขอโทษกล่าวแต่เพียงว่า โปแลนด์และโซเวียต รัสเซีย ได้ต่อสู้ศตรูร่วมกัน ส่วนคำติเตียนต่อบทบาทของโซเวียตรัสเซีย นั้น ก็ต้องพิจารณาถึงประเทศอื่นๆด้วย เพราะพวกเขาก็มีการติดต่อกับนาซีเยอรมันเช่นกัน
จะขอเล่าภูมิหลังให้คุณผู้อ่านฟังสักเล็กน้อยถึงการกระทำอันน่าอัปยศของชาวโซเวียตในครั้งนั้น จะได้เข้าใจว่า เหตุไรชาวโปแลนด์จึงชิงชังพวกเขานัก ในปี ๑๙๔๓ กองทัพเยอรมันที่กำลังต่อสู้กับกองทัพโซเวียต ด้านตะวันออก ได้บังเอิญพบหลุมฝังศพมหึมาในป่าของเมือง Katyn ซึ่งเป็นเขตของประเทศ Belarusในปัจจุบัน การขุดค้นต่อไปพบว่าเป็นศพของทั้งทหารและพลเรือนชาวโปแลนด์จำนวน นับหมื่นที่ถูกประหารชีวิต และเอาศพมาโยนทิ้งไว้ รัฐบาลโซเวียต ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง แต่โยนความผิดไปให้ทหารเยอรมันนาซี เรื่องนี้ถูกปิดเงียบเป็นความลับมาเนิ่นนาน เป็นเรื่องต้องห้ามพูดถึงโดยเด็ดขาด ทั้งๆที่ชาวโปแลนด์ทุกคนรู้ดีอยู่แก่ใจว่าได้เกิดอะไรขึ้นที่ป่าในเมือง กาทิน
จนกระทั่งถึงปี ๑๙๙๐ โซเวียตรัสเซีย ได้ยอมรับว่าการฆ่าหมู่ที่กาทิน “Massacre at Katyn” ในครั้งนั้นเป็น “ความผิดพลาด” ของโซเวียต เอง อีกสองปีต่อมา ก็มีเอกสารเผยแพร่ให้ได้รับรู้กันว่า ตำรวจลับของ สตาลิน หรือ Stalin’s Politburo เองเป็น ฆาตรกร ระหว่างนั้นในปี ๑๙๙๑ ก็ได้มีการค้นพบหลุมฝังศพของทหารโปแลนด์อีกจำนวนมากที่เมือง Myednoye และ Kharkov ตอนกลางของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ในที่สุดความน่าขนพองสยองเกล้าของเหตุการณ์ก็ค่อยๆคลี่คลายออกมาระหว่างปี ๑๙๙๕ และ ๑๙๙๖ ตอนที่บุกเข้าไปโจมตีประเทศโปแลนด์ในปี ๑๙๓๙ นั้น กองทัพโซเวียตได้จับนักโทษชาวโปแลนด์ไว้ได้ประมาณหนึ่งแสนแปดหมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นชาวโปแลนด์ชั้นปัญญาชนทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงนายทหาร นายตำรวจ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ อยู่ด้วย โดยคำสั่งที่ เซ็นต์ โดย สตาลิน ในปี ๑๙๔๐ นักโทษจำนวน สองหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยคนจากจำนวนนี้ ถูกบรรทุกไปในป่าของเมือง Katyn เมือง Myednoye และ เมือง Kharkov ถูกยิงเป้าจนตายแล้วศพถูกกลบไว้ในหลุมใหญ่จุดประสงค์ของการ กระทำอันเหี้ยมโหดและ ป่าเถื่อนครั้งนี้ก็เพราะโซเวียตรัสเซีย ไม่ต้องการให้โปแลนด์มีปัญญาชนหรือกลุ่มพวกอำมาตย์ขุนนางหลงเหลืออยู่เป็นเสี้ยนหนามอีกต่อไป
จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีใครต้องโทษจากการกระทำอันเหี้ยมโหดนี้แต่อย่างใด เพราะรัสเซียย้ำว่า เป็นการกระทำของกองทัพ ไม่ใช่พลเรือน จึงไม่อาจจะนับได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเป็นการกระทำที่ผิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ดังที่กล่าวหากัน
เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ สปิริต แห่งความกล้าหาญระหว่างชาวปารีสกับชาววอร์ซอ กรุงปารีสมีกองทัพใหญ่และมีกองทัพที่มีอำนาจที่สุดในโลกช่วยป้องกันเมืองให้อีกต่างหาก แต่ยังใช้เวลาในการต่อ สู้เพียงเก้าวันเท่านั้น กรุงปารีสก็ต้องศิโรราบต่อกองทัพเยอรมันนาซี
หลักฐานการต่อสู้ของชาวกรุงวอร์ซอทั้งหมดมีแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ ชื่อเดียวกันคือ Museum of Warsaw Uprising เป็นสถานที่ๆนักท่องเที่ยวและผู้สนใจประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะปีนี้คือปี ๒๐๐๙ เป็นปีครบรอบ ๖๕ ปีแห่งความสูญเสียของกรุงวอร์ซอพอดี และครบ ๗๐ ปีแห่งการเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง
กว่า โซเวียตรัสเซีย จะยกกองทัพที่ตั้งอยู่บนอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ Wisla มาช่วย ที่บรรจงเรียกเสียโก้ว่า Liberation (การปลดปล่อย) ได้มีผู้สูญเสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนี้ไปแล้วถึง แปดแสนคน ไม่รวมทหารเยอรมันและทหารชาวโปแลนด์ที่เสียชีวิตอีก สี่หมื่นคน เมื่อเข้าตาจนและคิดว่าจะไม่รอดแล้ว ชาวเมืองหลวงได้วางแผนหลบหนีออกทางท่อน้ำเสียใต้ดินของเมืองเก่า ซึ่งไกด์ได้พาเดินผ่านไปและชี้ให้ดูแผนที่ในตอนที่ไปชมเมือง
กองทัพนาซีได้รับคำสั่งให้ทำลายสิ่งก่อสร้างทุกชนิดที่มีความสำคัญในด้านวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ของชาวโปแลนด์เป็นสิ่งแรก ส่วนสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญรองลงมาก็ให้เผาทิ้งไม่ให้เหลือซากอยู่เลย ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีความกล้าหาญน้อยกว่านี้ เมืองหลวงก็คงจะถูกย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียนานแล้ว แต่ไม่มีใครคาดฝันว่ากรุงวอร์ซอจะผงาดขึ้นมาอีก หลังจากที่ได้แพ้อย่างยับเยิน สำหรับการบูรณะเมืองเก่าเขาใช้ภาพถ่ายเก่าแก่ และผังเมืองดั้งเดิมเป็นตัวอย่างในการสร้างสถานที่ๆสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้มีสภาพเหมือนของเดิมทุกประการเฉกเช่นที่ได้สร้างมาแล้วเมื่อสองร้อยปีก่อน การซ่อมแซมบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์ใช้เวลาถึงสิบสี่ปี คือระหว่างปี ๑๙๔๙ จนถึง ๑๙๖๓ เมืองเก่าที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ได้รับการยกย่องจดทะเบียนให้เป็นมรดกของโลกจากยูเนสโกในปี ๑๙๘๐
ส่วนปราสาทดั้งเดิมที่ถูกทำลายเพิ่งจะเริ่มการซ่อมแซมเมื่อ ปี ๑๙๗๑ และแล้วเสร็จในปี ๑๙๘๔ ซึ่งก็มีลักษณะเหมือนของเดิมก่อนถูกทำลายทุกประการ แม้ว่าส่วนใหญ่จำจะต้องใช้หินใหม่เข้าช่วย แต่เขาก็เอาส่วนเก่าๆที่ยังเหลือแทรกเข้าไปด้วย
เมื่อสิ่งก่อสร้างที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นลงแล้ว จำจะต้องสร้างที่อยู่อาศัยให้พลเมืองแทนของเก่า ตึกที่สร้างใหม่ในตอนแรก เป็นตึกที่มีลักษณะของประเทศคอมมิวนิสต์ สมัย สตาลิน เป็นส่วนใหญ่ แลดูทึบทึมน่าเกลียด แต่ตั้งแต่ปี ๑๙๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่ระบบคอมมิวนิสต์ ล่มสลาย เริ่มขึ้นจากปี ๑๙๘๐ เมื่อสหภาพแรงงานทั่วประเทศโปแลนด์ได้จัดตั้งกลุ่มคนงานที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับการบัญชาการของรัฐบาลเรียกว่า Solidarity (Solidarnose) เลือกให้นาย Lech Walesa หัวหน้าคนงานที่ชักชวนผู้ใช้แรงงานก่อการสไตรค์ ที่เมือง Gdansk เป็นผู้นำ ในเวลาไม่นาน Solidarity ก็สร้างความปั่นป่วนขึ้นในรัฐบาล จนต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีอิทธิพลต่อสังคมโปแลนด์เป็นอันมาก หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเป็นเวลานานถึงสามสิบห้าปี ทุกอย่างก็ถูกเปิดเผยออกมาต่อสาธารณะชน ในที่สุดประชาชนมีอิสระที่จะพูดถึงการฆ่าล้างหฤโหดที่เมืองกาทิน และสัญญาซ่อนเม็ดอันชั่วร้ายของ ฮิตเลอร์และสตาลินได้โดยเปิดเผย
ในปี ๑๙๘๕ จากนโยบาย glasnost และ perestroika ของนาย Gorbachev ประธานาธิบดีของโซเวียตรัสเซียในสมัยนั้น ทำให้มีการปฏิวัติกันอย่างขนานใหญ่เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงอันมีประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นคอมมิวนิสต์รวมอยู่ด้วยในที่สุดกำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายลงเมื่อปี ๑๙๘๙ เป็นชนวนให้ระบอบคอมมิวนิสต์ถึงแก่การอวสาน ดังที่ได้รู้กันอยู่แล้ว ผู้คนในประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์เริ่มมีชีวิตใหม่ มีเสรีภาพในการเลือกแบบที่อยู่ ในลักษณะที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตึกที่อยู่อาศัยในกรุงวอร์ซอและปริมณฑลเริ่มเปลี่ยนไป พัฒนามากขึ้น แม้ว่าจะมีความน่าเกลียดจากระบอบของสตาลินหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แต่เมื่อคิดว่าเมืองหลวงที่ถูกทำลายจนสิ้นซาก ได้ฟื้นขึ้นมาได้ขนาดนี้ ก็นับว่ายอดเยี่ยมที่สุด เพราะฉะนั้นแม้ว่ากรุงวอร์ซอจะไม่ใช่เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว แต่เรื่องที่เล่ามาแล้วก็คงจะเป็นเหตุเพียงพอจูงใจหลายคนให้ไปชมเมืองหลวงของประเทศโปแลนด์
บ่ายวันแรกที่ไปถึง เราเดินเรื่อยๆจากโรงแรมไปจนถึงถนน Nowy Swiat ถนนที่เป็นทางเท้ากว้างขวาง คล้าย เมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถนนสายนี้เป็นถนนที่ชาวเมืองหลวงอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ภายนอกเมืองเก่า ผ่านโบสถ์เซ็นต์แอนน์ St. Anne’s Church ที่เป็นหนึ่งในจำนวนสามโบสถ์ที่ไม่ถูกทำลายไปในสงคราม อีกโบสถ์หนึ่งคือ St.Carmelite ไม่แน่ใจว่าโบสถ์ที่สามชื่ออะไร ได้แต่เดินผ่านไป แต่เข้าไปไม่ได้ เพราะกำลังซ่อมแซม วันต่อมาไกด์บอกว่าโบสถ์นี้เกือบจะพังไปหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่โดยศตรู แต่เป็นความบกพร่องสับเพร่าของสถาปนิกและผู้ก่อสร้างชาวโปแลนด์เอง การก่อสร้างไม่แข็งแรงพอ ทำให้เกิดดินถล่มขึ้น ต้องซ่อมแซมกันหลายครั้ง ถัดจากโบสถ์ เซ็นต์แอนน์ เป็นอนุสาวรีย์ของ Nicholas Copernicus ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ทันสมัย เขาได้ชี้แจงก่อนที่จะมีการค้นพบกล้องส่องดูดาวถึงหนึ่งศตวรรษ ในหนังสือเรื่อง De Revolutionibus ที่เขียนและพิมพ์เผยแพร่ ในปี ๑๕๓๐ ว่าโลกหมุนด้วยตัวเองวันละรอบ หมุนรอบดวงอาทิตย์ปีละครั้ง และมนุษย์เป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น ในปัจจุบันเรื่องนี้เป็นความรู้ธรรมดาทั่วไป แต่ในสมัยนั้นการกล่าวเช่นนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ถูกกล่าวหาว่ามีความคิดวิบัติผิดเพี้ยน นอกร่องรอยของคำสอนทางศาสนา และถูกนำไปเผามาแล้วหลายคนโดยโบสถ์คาทอลิก หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่เป็นหนังสือต้องห้ามจนถึง ปี ๑๘๓๕ อย่างไรก็ดี เวลาไม่เคยหมุนกลับ ได้มีการพิสูจน์แล้วว่า โลกของเราเป็นแต่ดาวดวงหนึ่งในล้านๆดวงของจักรวาล
เยื้องไปจากอนุสาวรีย์เป็นโบสถ์ Holy Cross Church ที่สร้างในแบบบาโร้ค ใครที่เป็นแฟนดนตรีของ Frederic Chopin (๑๘๑๐ ถึง ๑๘๔๙) จะเพิกเฉยผ่านโบสถ์นี้ไปโดยไม่แยแสไม่ได้ เพราะที่นี่เป็นสถานที่พักสุดท้ายของนักแต่งดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลก โชแปงเกิดจากแม่ชาวโปแลนด์และพ่อชาวฝรั่งเศส ซึ่งมาตั้งรกรากอยู่ที่โปแลนด์ หลังจากที่โชแปง อายุได้หนึ่งขวบ พ่อเขาก็อพยพมาอยู่ที่กรุงวอร์ซอ มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส ส่วนโชแปง เรียนเล่นปีอาโนตั้งแต่อายุได้สี่ขวบ เขามีพรสวรรค์มาตั้งแต่เด็กๆ ทันที่เรียนจบ เขาก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงการเล่นปีอาโนที่กรุงเวียนนา เมื่อกลับมาวอร์ซอ เขาได้แสดงฝีมือการเล่นปีอาโนคอนแชร์โต in F Minor จน เป็นที่ฮือฮา อย่างไรก็ดี ความระส่ำระสายของการเมืองและสงครามต่อต้านการปกครองของโซเวียตรัสเซียในสมัยนั้นบันดาลใจให้โชแปง แต่งดนตรี ชื่อว่า Revolution ซึ่งได้ กลายเป็นมาสเตอร์พีสของเขา ดนตรีชิ้นนี้ ส่อให้เห็นถึงความทุกข์ระทมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของบ้านเมือง
ด้วยสาเหตุจากความวุ่นวายยุ่งยากของประเทศ เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีสเมื่ออายุได้ยี่สิบ และไม่ได้กลับไปวอร์ซออีกเลยจนสิ้นชีวิตในปี ๑๘๔๙ ด้วยวัณโรค เขามีอายุได้เพียง ๓๙ ปีเท่านั้น ร่างของเขาถูกฝังอยู่ในสุสานที่กรุงปารีส อย่างไรก็ดี เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของโชแปง ที่จะให้ผ่าเอาหัวใจของเขาออกและนำไปรักษาไว้ที่Holy Cross Church แห่งนี้ เนื่องจากเขากลัวการถูกฝังทั้งเป็นอย่างสุดชีวิต ที่หน้าหีบจารึกว่า Here rests the heart of Frederic Chopin ในจำนวนมิตรสหายของโชแปง มีนักแต่งดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกอีกคนหนึ่งรวมอยู่ด้วยคือ Mendelssohn และนาย Nicolas Copernicus นักดาราศาสตร์ที่กล่าวถึงข้างต้นก็เคยเป็นเพื่อนบ้านของโชแปง ในสมัยที่เขายังอยู่ในวอร์ซอ อันที่จริงบ้านเกิดของโชแปงอยู่ไม่ไกลจากโบสถ์นี้เท่าไรนัก ในปัจจุบัน ได้มีฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อ ระลีกถึง ตัวเขา
อนุสาวรีย์ถัดมาเป็นนักกวีผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของโปแลนด์ รูปปั้นของเขาล้อมรอบไปด้วยรูปแกะสลักสี่ด้าน หมายถึง ประเทศบ้านเกิด การเรียนรู้ บทกลอนกวี และความกล้าหาญ Adam Mickiewicz (๑๘๐๙ ถึง ๑๘๕๕) มีความสำคัญสำหรับชาวโปแลนด์เทียบเท่ากับ เช็คสเปียร์ สำหรับชาวอังกฤษ เขามีชีวิตอยู่เกือบจะช่วงเวลาเดียวกับ โชแปง จากการเป็นนักต่อสู้ที่ไม่ยอมสยบหัวให้แก่ใคร เขาจึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ใจกลางของประเทศรัสเซียถึงห้าปี และไม่ได้กลับไปอยู่โปแลนด์อีกเลย เขาตายที่กรุงปารีส เช่นเดียวกับ โชแปง ที่อนุสาวรีย์ของเขายังมีรูกระสุนจากสงครามโลกครั้งที่สองเหลือให้เห็น
ชาวโปแลนด์เกือบทั้งประเทศนับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ดังนั้นหลังจากที่ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงเมื่อปี ๑๙๘๙ โบสถ์โรมันคาทอลิกของโปแลนด์จึงได้เข้ามามีบทบาทแทนที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ เริ่มด้วยการเรียกร้องเอาที่ดินคืน ขยายอำนาจและอิทธิพลของโรมให้มากขึ้น เข้ามามีส่วนในด้านศีลธรรม จรรยาธรรมของประเทศ การช่วยเหลืออย่างขันแข็งจากโบสถ์ มีส่วนช่วยนาย Lech Walesa ให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโปแลนด์ในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ในระหว่างที่เขาถือบังเหียนปกครองประเทศ เขาจึงเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนศาสนานิกายคาทอลิกแบบหัวลิ่มทิ่มประตู เขาไม่เคยไปไหนมาไหนเลยโดยไม่มีพระสงฆ์แนบข้าง
ดังนั้น เราจึงได้เห็นรูปปั้นของพระสันตะปาปา จอห์นพอลที่สอง พร้อมกับรูปปั้นของพระคาร์ดินาล Stefan Wyszynski ซึ่งเป็นสหายของพระองค์ และเป็นผู้หนึ่งที่ยืนหยัดต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์มาโดยตลอด ประดับอยู่หน้าโบสถ์ Sisters of Visitation ซึ่งเป็นอารามของชีมืด อย่างไรก็ตามเมื่อศาสนาเข้ามามีบทบาทวุ่นวายกับการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง กฎหมายอนุญาตการทำแท้งที่มีมาตั้งแต่ ๑๙๕๖ เมื่อยังอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งใช้เป็นการคุมกำเนิดไปด้วยในตัว แต่ เมื่อทางโบสถ์คาทอลิกของโปแลนด์ เริ่มเข้ามายุ่งกับการบริหารของประเทศ โดยจัดให้มีการรณรงค์ขนานใหญ่ จนตะบันคลอด กฏหมาย ห้ามการทำแท้งออกมาจนได้ในปี ๑๙๙๓ ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี พวกที่ไม่ใช่ประเภทสุดกู่ก็พ่วงเอาข้ออนุญาตให้มีการใช้ระบบคุมกำเนิดเข้าไว้ด้วยเป็นการป้องกันการทำแท้งทางหนึ่ง
นอกเหนือไปจากนั้น ศาสนะจักรโปแลนด์ เริ่มบังคับให้โรงเรียนเอาบทสอนศาสนารวมไว้ในหลักสูตรด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก จนความนิยมในศาสนะจักรของโปแลนด์เริ่มเสื่อมลง จน Lech Walesa ต้องแพ้การเลือกตั้งในปี ๑๙๙๕ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ศาสนะจักรใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกของ EU เนื่องจากกฎหมายเรื่องการห้ามทำแท้ง ถึงแม้ว่าพระสันตะปาปาจอห์น พอล จะเห็นด้วยที่จะให้โปแลนด์ร่วมเป็นสมาชิก แต่ขัดอยู่ที่กฎหมายอันนี้ซึ่ง EU ไม่ยอมรับ ในปี ๒๐๐๔ EU ก็ได้รับโปแลนด์เข้าเป็นสมาชิก และยอมให้โปแลนด์พ่วงเอากฎหมายห้ามทำแท้งเข้าไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จอันสูงสุดของโปแลนด์ หลังการเป็นสมาชิกของนาโต้เมื่อปี ๑๙๙๙ อันทำให้สนธิสัญญาวอร์ซอหรือ Warsaw Pact ที่เซ็นต์ขึ้นในโปแลนด์ เมื่อปี ๑๙๕๕ กับหลายประเทศทางตะวันออกของยุโรปในสมัยนั้นเป็นโมฆะไปเมื่อปี ๑๙๘๐ สัญญานี้ให้อำนาจทางทหารแก่โซเวียต มาก เมื่อฮังการีพยายามจะถอนตัวโซเวียตก็ส่งกองทัพเข้าไปบุกในปี ๑๙๕๖ เหตุการณ์เช่นเดียวกันเกิดขึ้นกับประเทศเช็คโกสโลเวเกียในปี ๑๙๖๘ ซึ่งในระยะนั้นเรียกกันว่าสงครามเย็น Cold War
อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศโปแลนด์จะได้เป็นสมาชิกของ EU แล้ว เขาก็ยังไม่ใช้เงิน ยูโร แต่ยังคงใช้เงินของประเทศตนเองคือ Polish Zloty ซึ่งมีค่า หนึ่ง ดอลล่าร์ เท่ากับ ๒.๖ ซล็อตตี้ และหนึ่ง สวิสฟรังค์ เท่ากับ ๒.๕ ซล็อตตี้ เลยทำให้รู้สึกว่าราคาข้าวของในประเทศไม่สู้แพงเท่ากับประเทศอื่นๆในยุโรปที่เป็นสมาชิกของ EU
หลังจากที่ได้เดินดูสถานที่ต่างๆไปเรื่อยๆ เก็บเกี่ยวความรู้ไว้ก่อนจะพบไกด์ส่วนตัวของเราในวันรุ่งขึ้น วันเวลาก็เริ่มจะ เย็นลง พร้อมกับความหิวเข้ามาเยือน ประเทศโปแลนด์ไม่ใช่ประเทศที่มีอาหารอร่อยมีชื่อเสียง อาหารพื้นเมืองเป็นอาหารหนักปรุงด้วยเนื้อชนิดต่างๆรวมถึงเป็ดไก่และนก ส่วนซุปและซอสต่างๆก็เข้มข้นเต็มไปด้วยไขมัน อาหารหลักคือมันฝรั่งและแป้งจำพวกพาสต้า ชาวโปแลนด์ไม่ใช่ชาติที่ดื่มไวน์ แต่เบียร์ของเขามีหลายชนิดส่วนใหญ่เป็น Lager Beer เราแวะเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่งอยู่ติดกับถนนคนเดิน มีผ้าปูโต๊ะขาวสะอาด วอลเตอร์ สั่งอาหารพื้นเมืองของชาวโปแลนด์มาลองชิม Bigos ทำจาก sauerkraut ใบกะหล่ำ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ไส้กรอก และเบคอน ที่สับจนละเอียด ผสมเข้าด้วยกัน อบในเตาอบเป็นเวลานานหลายชั่วโมง แล้วเอาออกมาอุ่นให้ร้อนอีกหลายครั้ง คล้ายกับอาหาร cassoulet ของฝรั่งเศส เขาบอกว่าวิธีปรุงอาหารแบบนี้ เพิ่ม ความอร่อยขึ้นอีกมาก ทางร้านอาหารได้จัดอาหารจานพิเศษนี้ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว เพียงแต่ต้องอุ่นให้ร้อนขึ้นอีกเท่านั้น
ส่วนอาหารอีกจานหนึ่งที่ขอแนะนำคือเป็ดอบของเขา อร่อยมาก แต่ต้องรู้จักร้านอาหารที่ทำเนื้อเป็ดชนิดนี้โดยเฉพาะ สั่งมารับประทานกับเบียร์เย็นๆ หลังอาหารก็ต้องเรียกวอดก้ามาช่วยย่อย ผู้เชี่ยวชาญยังเถียงกันไม่รู้จบว่า ใครเป็นผู้ให้กำเนิดวอดก้า คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าวอดก้าของโปแลนด์มีรสชาติเหนือกว่าของรัสเซีย และ ยี่ห้อที่ว่าอร่อยนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากโชแปง Chopin
วันรุ่งขึ้นไกด์มารับไปดูเมือง บาร์บาร่าขับรถมาเอง สอบถามได้ความว่าเป็นไกด์อิสระและรถที่ขับมาก็เป็นรถส่วนตัว บริษัทท่องเที่ยวจ้างเธอในช่วงที่มีแขก เธอเล่าให้ฟังว่า สถานที่ๆผ่านเคยเป็นโรงงานใหญ่ทำนม แต่ถูกรื้อหมดเพื่อจัดเตรียมงานฟุตบอลยูโรคัพในปี ๒๐๑๒ เธอเล่าจาก ประสบการณ์ของตนเองว่าเมื่อปี ๑๙๘๐ เธอมีอายุได้สิบสอง จำได้ว่ายังต้องไปเข้าคิวยาว รอซื้ออาหารจำพวกเนื้อสัตว์ซึ่งมีอยู่จำกัด หลังจากที่จอดรถเรียบร้อยแล้ว เธอพาเราเดินไปตามถนนที่เราผ่านเมื่อวันวานจนถึง Radziwill Palace ซึ่งภายนอกวังประดับด้วย สิงห์โตหินสี่ตัว มีอนุสาวรีย์ของ Prince Ksazi Jozef Poniatowski ประทับอยู่บนหลังม้า เจ้าชายองค์นี้เป็นหลานชายของพระเจ้า Stanislaw August Poniatowski ซึ่ง เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของโปแลนด์ เจ้าชายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพที่สร้างขึ้นโดย นโปเลียน ปัจจุบันวังแห่งนี้เป็นทำเนียบและที่ทำการของประธานาธิบดีของโปแลนด์
เมืองเก่าของกรุงวอร์ซอ หรือ Stare Miastro เป็นส่วนที่งดงามที่สุด สำหรับคนที่ชอบสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ คงจะชอบ ตึกรามแถวนี้ เพราะประกอบด้วยตึกสูง อันเป็นสถาปัตยกรรมแบบ เรเนซองส์และบาโร้ค ผสมด้วยโกธิคและ neoclassic นอกเหนือไปจากส่วนหน้าของตึกเบอร์ ๓๔ และ ๓๖ ซึ่งยังเป็นของดั้งเดิมแล้ว สิ่งก่อสร้างที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองทั้งสิ้น
เราเดินผ่านจัตุรัสที่ใช้เป็นตลาดสด Market Square มีรูปปั้นนางเงือก อันเป็นสัญลักษณ์ของวอร์ซอ ผ่านโบสถ์เซ็นต์จอห์นเก่าแก่ ซึ่งกษัตริย์องค์สุดท้ายของโปแลนด์ คือ พระเจ้า Stanislaw August ได้รับการสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ พร้อมกับเป็นหลุมฝังศพของพระองค์อีกต่างหาก สิ่งที่สะดุดตาและเป็นที่ๆนักท่องเที่ยวถ่ายรูปมากที่สุดเห็นจะเป็น เสาหินสูงถึง ๒๒ เมตร อันมีรูปปั้นของกษัตริย์ Sigismund III ประดับอยู่บนยอด กษัตริย์องค์นี้เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงของโปแลนด์จากเมือง Krakov มาวอร์ซอ พระโอรสของพระองค์เป็นผู้บัญชาให้สร้างเสาหินนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระบิดา อย่างไรก็ดี เสาที่เห็นเดี๋ยวนี้เป็นของใหม่ สร้างหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะของเก่าถูกทำลายจนหมดสิ้น ยกเว้นแต่รูปปั้นที่ไม่ได้พังไป ส่วนซากของเสาหินบางส่วนยังวางให้เห็นอยู่ที่ด้านข้างของกำแพงเมืองของวัง Royal Castle
ภายนอกเมืองเก่าออกมาเล็กน้อย จะเห็นสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐสีแดงเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งเคยเป็นป้อมปราการ สำหรับป้องกันเมือง เรียกว่า barbican ส่วนยอดสร้างในแบบเรเนซองส์ แลดูหมดจดใหม่เอี่ยม เพระสร้างขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน บาร์บีคานประเภทนี้ยังคงเหลือเพียงสามแห่งเท่านั้น สองแห่งในโปแลนด์ และอีกแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส
เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว จะไม่กล่าวถึงบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งของโลกก็จะดูกระไร บ้านเลขที่ ๕ เป็นบ้านเกิดของมาดาม Marie Curie (๑๘๖๗–๑๙๓๔) แต่เดี๋ยวนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ Marie Curieได้แยกแยะสารเรเดียม ที่นำไปสู่การค้นพบวิธีการบำบัดและรักษามะเร็งในระยะต่อมา เธอเป็นหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้ง Marie Curie หรือ Maria Sklodowska เกิดในกรุงวอร์ซอจากพ่อแม่ที่เป็นครู เธอใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงจนมีอายุได้ ๒๔ ปี จึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ในด้านวิทยาศาสตร์ จนได้รับปริญญาสาขาฟิสิกซ์และคณิตศาสตร์ แต่งงานกับชาวฝรั่งเศส จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก Maria Sklodowska มาเป็น Marie Curie ทั้งคู่ต่างก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าจะมีเพียงโรงนาเล็กๆเป็นห้องทดลองและวิจัย แต่เขาก็สามารถค้นพบสาร polonium และ radium จนได้รับรางวัลโนเบลร่วมกัน สาร polonium ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่บ้านเกิดของ Marie Curie คำว่า polo มาจาก Polandเมื่อสามีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เธอก็ยังทำการค้นคว้าและวิจัยต่อไป โดยแยกแยะสารเรเดียม จนได้รับรางวัลโนเบลเป็นครั้งที่สองแต่เพียงผู้เดียวในสาขาเคมี ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนในกรุงวอร์ซอ จะเห็นโมโนแกรม อักษรตัว P อยู่เหนืออักษร W ในรูปของสมอเรือประดับอยู่เหนือรูปปั้น อนุสาวรีย์ และแม้แต่รูปภาพ อักษรสองตัวนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อในศาสนาคาทอลิก โมโนแกรม PW (Polska Walczy) ซึ่งแปลว่า Poland Fight ก็เป็นสัญลักษณ์ของทหารโปแลนด์หน่วยที่ต่อต้านเยอรมันนาซีเช่นกัน บังเอิญไปตรงกับคำว่า Powstanie Warszawskie อันหมายถึง Warsaw Uprising ในปี ๑๙๔๔ ที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วข้างต้น โมโนแกรมนี้จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์อันเศร้าสลดแต่ก็หมายถึงความกล้าหาญของชาววอร์ซอด้วย
ข้างหน้าพิพิธภัณฑ์ Museum of Independence จะเห็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นรูปปั้นหมู่ของเหล่าทหารหาญที่ยืนหยัดต่อสู้ในระหว่าง Warsaw Uprising
ไกด์ได้ ชี้ให้ดูท่อระบายน้ำซึ่งชาววอร์ซอใช้เป็นที่หลบหนีเยอรมันนาซีระหว่างสงคราม พร้อมทั้งแผนที่ประกอบ เราเดินต่อ ไปถึงปาร์คอันกว้างใหญ่ ดูแล้วเหมือนปาร์คของวังแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีวังให้เห็น เพราะวัง Saxon Palace ที่ เคยตั้งอยู่ที่นี่ และสร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบแปดได้ถูกทำลายเสียหายไปหมดแล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ยังเหลือแต่โครงสร้างหินรูปโค้งสามอันซึ่งได้กลายเป็นสุสานของทหารนิรนามมา ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๕ มีทหารรักษาการณ์คอยเปลี่ยนเวรทุกชั่วโมง ในขณะที่ทหารเป็นกลุ่มเดินสวนสนามไปมาระหว่างวัง Radziwill Palace อันเป็นทำเนียบของประธานาธิบดีโปแลนด์และจัตุรัสแห่งนี้
เราผ่านกำแพงเก่าที่เคยเป็นสถานที่ๆเยอรมันนาซีได้กำหนดให้เป็นที่พำนักของ ชาว ยิว จำนวนสามแสนแปดหมื่นคน ซึ่งเป็น ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของชาวกรุงวอร์ซอทั้งหมด เรียกว่า Warsaw Jewish Ghetto ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ชาว ยิวที่ว่านี้อาศัยอยู่ในวอร์ซอเป็นจำนวนมากกว่า เมืองอื่นใดในโลกยกเว้นนิวยอร์ค ในปี ๑๙๔๐ เยอรมันนาซี ได้สร้างกำแพงอิฐสูงสามเมตรทางตะวันตกของวอร์ซอเป็นที่กักกัน หรือ ที่เรียกว่า ghetto แล้วส่งชาว ยิว จำนวนสี่แสนห้าหมื่นคนทั้งในเมืองหลวงและปริมณฑลเข้าไปอยู่ ซึ่งทำให้ที่พำนักแห่งนี้เป็น เก็ตโต ที่แออัดและใหญ่ที่สุดในยุโรป พอถึงกลางปี ๑๙๔๒ ชาวยิวจำนวนถึงหนึ่งแสนคน ก็ได้ตายลงจากความอดอยาก และด้วยโรคระบาดก่อนที่จะถูกส่งไปยังค่ายกักกัน ในส่วนอื่นของประเทศด้วยซ้ำไป ส่วนใหญ่เป็นคนเจ็บ คนชรา หญิงมีครรภ์และเด็ก ระหว่างฤดูร้อนในปีเดียวกัน ชาว ยิวจำนวนอีกสามแสนคนก็ถูกส่งไปยังค่ายกักกัน Concentration Camp ที่เมือง Treblinka เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในปี ๑๙๔๓ พวกนาซีก็เริ่มทำลาย ยิวในเก็ตโตที่เหลือ เป็นช่วงสุดท้าย พวกเขาจำนวนห้าหมื่นคนจึงได้ลุกขึ้นต่อสู้อย่างจนตรอก ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีทางชนะได้เลย เยอรมันนาซีทิ้งลูกระเบิด ลูกแล้วลูกเล่าจนทำให้บริเวณทั้งหมดลุกไหม้เป็นจุลย์ หลังจากนั่นก็เข้าล้อมบังเกอร์ของชาว ยิวที่เป็นผู้บังคับบัญชาการต่อสู้ สุดท้ายทิ้งระเบิดแก๊สลงไปจนไม่เหลือเถ้าถ่าน
ในครั้งนั้นมีชาว ยิว ตายถึงเจ็ดพันคนระหว่างการต่อสู้ อีกหกพันคนถูกฆ่าตายด้วยระเบิดและเสียชีวิตในกองไฟ เก็ตโตถูกทำลายจนย่อยยับ เหลือไว้แต่ซากกำแพงที่เรามาเห็นในวันนี้ พร้อมทั้งสุสาน Umschlagplatz ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ระลึกถึงเหตุการณ์ Killing Fields อันน่าอัปยศ และเพื่อไว้อาลัยผู้กล้าหาญที่เสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนั้น
เราขอให้ไกด์พา ไปส่งที่พิพิธภัณฑ์ Warsaw Uprising ซึ่งใหญ่โตมาก มีหลายชั้น แต่ละชั้น แต่ละห้องแสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ดูแล้วก็ได้แต่สะเทือนอยู่ในอก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Holocaust ในครั้งนั้นโหดร้ายอำมหิตเหลือที่จะกล่าว เป็นบทเรียนอันเจ็บปวด จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก ทว่า คุณผู้อ่านคงจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบอลข่านเมื่อไม่นานมานี้ได้ ว่าได้ มีเหยื่อของสงครามแบ่งประเทศในทวีปที่ผู้คนควรจะพัฒนาแล้ว ตายกันกี่พันกี่หมื่น ศพนับไม่ถ้วน ศพที่ทำลายไม่ไหวได้ถูกนำไปฝังไว้ในหลุมมหึมากี่หลุม อะไรเกิดขึ้นบ้างระหว่างสงคราม เวียตนาม? ผู้คนกี่แสนกี่ล้านที่ต้องถูกสังเวยจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา? อยากจะตะโกนถามให้ก้องโลกว่า มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์บ้างเทียวหรือ?