Coimbra ชาวโรมันเป็นผู้ก่อตั้งเมืองโคอิมบรา เพราะอยู่ในระยะสูงยากต่อการโจมตีของศตรู จะเห็นหลักฐานได้จากอ่างอาบน้ำแบบโรมัน ท่อน้ำ (Aqueduct) หินแกะสลัก และสิ่งของแบบโรมันอื่นๆ ที่นักโบราณคดีได้ค้นพบ เมืองโคอิมบราได้เจริญและพัฒนาภายใต้การปกครองของชาวมัวร์ แต่ชาวคริสต์ก็ได้มาขับไล่พวกแขกออกไปในศตวรรษที่ ๑๒ โคอิมบราได้รับเเลือกให้เป็นเมืองหลวงของปอร์ตุเกสในปี ๑๑๔๕ แต่อีกหนึ่งร้อยปีต่อมาพระเจ้า Afonso III ทรงตัดสินพระทัยสถาปนาลิสบอนให้เป็นเมืองหลวงแทน ในปัจจุบันโคอิมบราเป็นเมืองใหญ่ที่สาม รองลงมาจากลิสบอน และ พอร์โต (Porto) ตั้งอยู่ระหว่างเมืองทั้งสองบนฝั่งแม่น้ำ มอนเดโก Rio Mondego
นอกเหนือจากโบสถ์และวิหารแบบโรมันเนสค์ Romanesque Se Velha (Old Cathedral) และ Baroque Se Nova (New Cathedral) แล้ว สถานที่ที่น่าสนใจที่สุดของเมืองก็คือ มหาวิทยาลัย Universidade de Coimbra ซึ่ง เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในลิสบอน เมื่อค.ศ. ๑๒๙๐ โดย Dom Dinis แล้วย้ายมาอยู่ที่เมืองโคอิมบราในปีค.ศ. ๑๕๓๗ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ดึงดูดอาจารย์ นักศึกษา และศิลปินจากทั่วยุโรปให้เดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย
Universidade de Coimbra ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง เห็นได้ว่าเป็นตึกรามที่สร้างขึ้นในระหว่างศตวรรษที่สิบหกและสิบแปด มีความสวยและสง่างามของการก่อสร้างในสมัยนั้น มองจากโรงแรมขึ้นไปแล้ว ท้อใจว่าจะขึ้นไปได้อย่างไรโดยไม่เหนื่อยขาดใจตายเสียก่อน อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องการพลาดการไปชมมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะเป็นที่กล่าวถึงกันมาก แม้แต่บริษัทท่องเที่ยวที่จองการเดินทางให้ ก็ย้ำนักหนาว่าต้องไปดูให้ได้ เราจึงค่อยๆเดินไปตามถนนที่สูงชันขึ้นเรื่อยๆ พอขึ้นไปได้ระยะหนึ่ง ก็มาถึงลิฟท์ที่ใช้สำหรับโดยสารขึ้นไปข้างบน แต่หลังจากที่ลงจากลิฟท์แล้ว เรายังต้องเดินขึ้นไปตามถนนที่ชันขึ้นไปอีกกว่าจะมาถึงหน้ามหาวิทยาลัยที่มีรูปปั้นของ Joao III พระเจ้าจอห์นที่สามตั้งอยู่ อนุสาวรีย์หันหลังให้เมืองโคอิมบรา พระเจ้าจอห์นที่สาม ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ในโคอิมบราในปีค.ศ ๑๕๓๗ และทรงเชื้อเชิญให้เหล่าผู้คงแก่เรียนมาเป็นอาจารย์สอนที่ที่นี่ บนจตุรัสของมหาวิทยาลัยมีหอนาฬิกา clock tower ที่ได้รับฉายาว่า a cabra (the goat) เนื่องจากในสมัยก่อน เวลานาฬิกาตีบอกเวลาเลิกเรียน นักศึกษาพี่ๆ จะกระโดดเข้าไปแกล้งนักศึกษาน้องๆอย่างไม่ปราณี จนต้องวิ่งหนีลงจากเขาแทบไม่ทันแบบที่พวกแพะ กระโจนวิ่งหนีศัตรู
ใกล้หอนาฬิกาเป็นโบสถ์เล็กๆ หรือ chapel (Capela de Sao Miguel) ที่สร้างในแบบบาโรค บนเพดานทาสีสดใส มีออร์แกนแบบบาโรคตั้งอยู่ด้วย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในนี้แม้ว่าจะสวยงาม ก็แทบจะไม่มีความหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับห้องสมุดเก่าแก่ Biblioteca Joanina หรือห้องสมุด Joao V ที่มีหนังสืออันหาค่ามิได้ถึง หนึ่งแสนห้าหมื่นเล่ม รวมทั้งต้นฉบับก็อาจจะมีถึงสามแสนเล่ม ซึ่งเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่พระเจ้าจอห์นที่ห้าประทานให้มหาวิทยาลัย คนที่รักการอ่านมีหรือจะพลาดการไปเยือน ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบอ่านแต่เมื่อได้มาเห็นห้องสมุด ต่างจะต้องอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า ใครจะไปมีสมาธิอ่านหนังสือในห้องนี้ได้ เพราะงดงามโก้เก๋ไปด้วยไม้แดง มีเพดานที่เป็นเฟรสโก โต๊ะที่ทำจากไม้ตะโกสีดำ ส่วนชั้นหนังสือที่สูงตั้งแต่เพดานจดพื้น มีลวดลายแบบจีน หนังสือที่วางอยู่หุ้มด้วยหนัง มีหนังสือหลายชนิด ทั้งที่ว่าด้วยกฎหมาย ปรัชญา รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลห้องสมุดจะอนุญาตให้เข้าไปชมได้ทีละกลุ่มเล็กๆเท่านั้น เมื่อเข้าไปแล้วเขาก็จะปิดประตูล็อคกุญแจ ถ้าไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ก็จะไม่รู้ว่าเป็นห้องสมุด และอาจจะเข้าใจผิดว่าไม่มีอะไร ทางที่ดีที่สุดถ้าไปกันเป็นการส่วนตัวก็ ควรจะเขียนอีเมล์ไปขออนุญาตล่วงหน้าเละ แจ้งวันและเวลาที่ต้องการจะไป
หลังจากที่ได้ชมมหาวิทยาลัยแล้ว เราก็เดินลงบันไดไปทางด้านหลัง ที่จะพาเราไปยังใจกลางของเมืองเก่า การไปเที่ยวเมืองโคอิมบราหรือเมืองอะไรก็แล้วแต่ที่น่าสนใจในประเทศปอร์ตุเกส ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเดิน เมืองเก่าของโคอิมบรามีตึกเก่าๆที่ยังคงได้รับการดูแลสนใจจากทางการเป็นอย่างดี แต่จะขอเล่าเพียงตึกเก่าตึกเดียวที่ในปัจจุบันได้กลายเป็นโรงแรมหรูไปเสียแล้ว นั่นคือ Quinta das Lagrimras มองจากหน้าต่างโรงแรมออกไปจะเป็นสวน ที่ดอนย่า Ines de Castro พระชายาของ Pedro I ถูกประหารชีวิตจากคำบัญชาของพระเจ้า Afonso IV เพราะพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบกับการที่เพโดรพระโอรสไปมีความสัมพันธ์กับดอนย่าอีเนส ดังที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วตอนที่ได้ไปเยี่ยมชมแท่นที่ฝังศพของทั้งสองคนในโบสถ์ Royal Abbey of Santa Maria ที่เมือง Alcobaca อยากจะเพิ่มเติมนิดหน่อยว่าใครที่พลาดการไปฟังเพลงพื้นเมือง Fado ในลิสบอนที่เล่าให้ฟังแล้ว ก็อาจจะมาฟังได้ที่เมืองนี้ เพียงแต่วาการแสดงความรู้สึกในการร้องอาจจะแตกต่างไปจากกรุงลิสบอนบ้างเท่านั้น
Porto เป็นเมืองใหญ่เป็นที่สองรองลงมาจากลิสบอน ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ ดูโร (Douro) ที่ไหลไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติค ทั้งสองเมืองต่างเป็นคู่แข่งที่จะเป็นเมืองหลวงเศรษฐกิจของประเทศ และในเรื่องความสวยที่สุด ทางองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เมืองเก่าพอร์โตเป็นมรดกโลกในปีค.ศ. ๑๙๙๗ ชาวพอร์โตจึงเชื่อว่าเมืองของเขางดงามที่สุดในประเทศ ความจริงชื่อของประเทศปอร์ตุเกส เอามาจากคำว่า Portucale ซึ่งได้มาจากชุมชนสองแห่งที่ตั้งอยู่สองฟากของฝั่งแม่น้ำ ดูโร คือ Portus และ Cale และได้กลายเป็น Portugal เมื่อ Teresa พระธิดาของแคว้น Leon เข้าพิธีสมรสกับพระเจ้า Henry of Burgandy ของอังกฤษ และให้กำเนิดพระเจ้า Afonso Henriques ซึ่งได้เป็นกษัตริย์องค์แรกของปอร์ตุเกสในปีค.ศ. ๑๑๔๓
แม้ว่าความสำคัญของเมืองปอร์โตจะถูกบดบังจากรัศมีของลิสบอน แต่เมืองพอร์โตก็มีความสำคัญในด้านการก่อสร้างเรือที่ใช้เป็นพาหนะพาเอานักเดินเรือค้นคว้าผู้เกรียงไกรเดินทางโดยสารไปยังทวีปอันไกลโพ้นเช่น Prince Henry the Navigator ผู้ทรงประสูติในเมืองนี้ พระบิดาและมารดาคือ Dom Joao I และ Philippa of Lancaster คุณผู้อ่านคงจะจำอนุสาวรีย์ Monument to the Discoveries ใน Belem นอกกรุงลิสบอนได้นะคะ ตำนานเล่าว่า ก่อนที่ เจ้าชาย Henry จะออกเดินทางไปยังประเทศมอร็อคโค เจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้ชาวปอร์โตฆ่าวัวทั้งหมดในละแวก ็ เพื่อให้เจ้าชายตุนไว้กินในระหว่างการเดินทาง เจ้าของวัวได้รับอนุญาตให้เก็บเฉพาะเครื่องในวัวเอาไว้ได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การปรุงอาหารที่ทำจากเครื่องในวัวที่เรียกว่า tripas a la portena จึงได้กลายเป็นอาหารพื้นเมืองจานพิเศษของเมืองพอร์โต และคิดว่าทั่วทั้งประเทศ เพราะได้กลายเป็นอาหารประจำชาติของปอร์ตุเกสมาตั้งแต่นั้น ด้วยเหตุนี้ ใครๆจึงเรียกชาวเมืองปอร์โตว่า tripeiros หรือ tripe eater แปลว่าผู้กินเครื่องในวัว
โรงแรม Infante de Sagres (the King’s Son) ที่เราเช็คอิน อยู่กลางใจเมืองใกล้กับตึกหลายหลังที่ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ของเมือง คือ Palacio da Bolsa ซึ่งได้กลายเป็นตึกที่ทำการของ Stock Exchange ตามด้วย St. Francis Church ที่ภายในตกแต่งด้วยไม้แกะสลักอันสวยงาม และ Clerigos Church ที่มีหอคอยสูงโดดเด่นเป็นสัญญลักษณ์ โรงแรม Infante de Sagres เป็นโรงแรมที่ถูกใจที่สุด เพราะมีบรรยากาศเก่าๆของโรงแรมสมัยก่อนเช่น Raffles ของสิงค์โปร์ และ East Orientalของปีนังห้องที่เราอยู่เป็นสวีทกว้างขวาง มีสองห้องน้ำ พื้นห้องเป็นปาร์เกต์ ชั้นล่างของโรงแรมมีบาร์เล็กๆแต่น่านั่งพักผ่อนเป็นที่สุด บนเพดานมีโคมไฟคริสตัลห้อยติดไว้สวยงาม
ในระหว่างอาหารเช้ามีโต๊ะที่จัดไว้โดยเฉพาะเพื่อวางขวดแชมเปญใส่ในกระถางน้ำแข็งด้วย ที่เล่าเรื่องนี้ ก็เพราะโดยปกติ โรงแรมอื่นๆมักจะมีอาหารเช้าแบบธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ บ๋อยที่มีอยู่จะก้มหน้าก้มตาเก็บจานชามบนโต๊ะอย่างเดียว ไม่สนใจว่าแขกจะต้องการอะไรอื่นนอกเหนือไปจากที่วางไว้บนโต๊ะบุฟเฟ่ต์หรือไม่ อีกประการหนี่งเท่าที่ทราบ ชาวปอร์ตุเกสมักจะไม่ถือว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน มีเฉพาะกาแฟเท่านั้นที่น่าดื่มช่วยทำให้อาหารเช้าน่าตื่นเต้นขึ้นบ้าง
ที่เมืองปอร์โต เราว่าจ้างรถและไกด์เป็นพิเศษ เพราะเป็นเมืองใหญ่ ไม่สามารถจะเดินดูได้อย่างเดียว จำต้องมีคนอธิบายความเป็นไปและเป็นมาของเมืองด้วย ต้องขอเล่าในที่นี้เป็นความรู้พิเศษว่า ถึงแม้จะมีประสบการณ์ในการขับรถมาแล้วหลายประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าการขับรถของชาวปอร์ตุเกสไม่ว่าหญิงหรือชาย เต็มไปด้วยความเร่งร้อนดุเดือดมาก เล่นเอาเราขยาดที่จะขับรถไปบนถนนที่จอแจ และดูอะไรต่ออะไรไปด้วยในขณะเดียวกัน
ฟรานซิสโก ไกด์ชาว Tripeiros (tripe eater) แท้ๆ มารับที่โรงแรมหลังเที่ยง หลังจากที่อธิบายสิ่งก่อสร้างที่น่าดูใกล้โรงแรมที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังไปแล้วข้างต้น เขาพาเราไปชมสถานีรถไฟของเมืองพอร์โตเป็นแห่งแรก ซึ่งไม่ควรจะมีใครพลาดโอกาสที่จะเข้าไปดู The Sao Bento Station อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมมากนัก ใกล้จัตุรัสของพระเจ้า เพโดรที่สี่ Pedro IV ซึ่งประทับเป็นสง่าอยู่บนหลังม้า สถานีรถไฟ แซวเบนโตสร้างขึ้นในปีค.ศ ๑๙๑๐ ตัวตึกภายในประดับด้วยกระเบื้องสีขาวและสีฟ้า เล่าถึงประวัติความเป็นมาของเมืองปอร์โตและประวัติของพระเจ้าจอห์นที่หนึ่ง ตลอดจนถึงการขนส่งในสมัยโบราณ
ไกด์พาเราไปชมมหาวิหาร Porto Cathedral สร้างในศตวรรษที่สิบสอง ซึ่งรอบล้อมด้วยชุมชนเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ มหาวิหาร หรือ Se มีลักษณะคล้ายป้อมปราการเช่นเดียวกับโบสถ์และวิหารหลายแห่งที่ได้เห็นมาในปอร์ตุเกส เนื่องจากได้มีการปรับปรุงบูรณะหลายครั้งหลายหน จึงมีสไตล์หลายแบบผสมผสานกัน ความจริงมีโบสถ์สวยงามที่น่าชมอีกหลายแห่ง แต่เป็นการสุดวิสัยที่จะไปดูได้หมด ฟรานซิสโกจึงขับรถพาเราไปยังสถานที่ต่างๆ ผ่าน Praca da Liberdade สถานีรถไฟ แซวเบนโต ที่เราไปมาเมื่อไม่นานมานี้ ผ่าน City Hall ที่มีหอนาฬิกาสูงเสียบฟ้า ตึกที่ทำการเทศบาลมีมาตั้งแต่ค.ศ. ๑๙๒๐ มีถนนเชื่อมกับ Liberty Square ผ่านศูนย์ช็อปปิ้งสำหรับคนชั้นกลาง สังเกตมีห้างชั้นดีหลายแห่ง คึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายสินค้า ผ่านตลาด Mercado do Bolhao ไปจนถึงถนนคนเดิน Santa Catarina มีร้านอาหารที่ขายอาหารจานพิเศษคือเครื่องในวัว ห่างออกไปจากใจกลางเมืองแลเห็น Church of Santo Illdefonso ซึ่งเป็นแบบบาโรค มีหอคอยขนาบอยู่ทั้งสองข้าง บนฝาผนังประดับด้วยกระเบื้องสีฟ้า ขาว แสดงภาพประวัติชีวิตของนักบุญ อิลดีเฟ็นโซ ผ่านร้านกาแฟเก่าแก่ Majestic Cafe ที่ประดับด้วยกระเบื้องหลากสี ตึกรามส่วนใหญ่ในเมือง มักจะใช้กระเบื้องประดับฝาผนัง เพราะนอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังป้องกันตึกให้อยู่ในสภาพที่ดีอีกด้วย เมื่อไรที่กระเบื้องเก่าหรือแตกหัก ก็เอากระเบื้องใหม่มาเปลี่ยน
นอกเหนือไปจากอนุสาวรีย์ต่างๆที่ตั้งอยู่ในเมืองปอร์โตแล้ว ยังมีสะพานทอดข้ามแม่น้ำดูโร อีกถึงหกสะพานด้วยกัน ล้วนแต่มีความสำคัญพอๆกัน เพราะนอกจากจะเชื่อมทั้งสองฝั่งเข้าหากันแล้ว ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ฟรานซิสโกขับพาเราขึ้นสะพาน Ponte de Dom Luis I ซึ่งเชื่อมใจกลางของเมืองเข้ากับเมือง Vila Nova de Gaia หรือ กายาซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำดูโร ในขณะที่เมืองปอร์โตอยู่บนฝั่งขวา ห่างจากปากแม่น้ำดูโรประมาณห้ากิโลเมตร มีศูนย์กลางเรียกว่า Aliados ซึ่งรวมเอาสถานที่ๆเล่าให้ฟังแล้วข้างต้นไว้ด้วยกัน ทางใต้ของ อาลีอาโดส บนฝั่งแม่น้ำดูโรทั้งสองข้างเป็นเขตที่เรียกว่า Ribeira District ในขณะที่เมืองใหม่ของพอร์โต ขยายไปทางตะวันตกจนถึงทะเล เป็นเขตที่ทันสมัยมั่งคั่งและร่ำรวยที่สุด ฟรานซิสโกเล่าว่าในเขตนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกเศรษฐีมีสตางค์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง ตลอดจน โค้ช และผู้จัดการทีม ต่างก็มีคฤหาสถ์ หรือคอนโดมิเนียมหรูหราอยู่ในเขตนี้
ขณะที่ข้ามสะพาน Dom Luis I มองลงไป แลเห็นเรือแล่นอยู่ในแม่น้ำหลายลำเรียกว่า barcos rabelos (traditional boats) ซึ่งเป็นเรือท้องแบน ประกอบด้วยไม้พายสองข้างและมีใบอยู่ตรงกลางลำเรือ ใช้บรรทุกถังไม้ที่บรรจุพอร์ทไวน์ ไปตามท้องแม่น้ำ ดูโรถึงแม้ว่าในปัจจุบัน มีเรือที่ทันสมัยกว่ามาใช้เพื่อการนี้ แต่เรือ Rabelos ก็ยังคงแล่นไปมาทั่วท้องแม่น้ำดูโรอย่างที่เห็น
ฟรานซิสโกพาเราไปจนถึงปากแม่น้ำดูโร ซึ่งไหลไปลงมหาสมุทรแอตแลนติค มีความยาวนับจากพรมแดนของประเทศสเปนถึง ๘๙๘ กิโลเมตร เคยไหลเชี่ยวกราก แต่มาในปัจจุบันกลับสงบนิ่ง เพราะทางการได้สร้างเขื่อนเอาไว้กั้นน้ำหลายแห่ง
ขณะที่นั่งรถกลับเข้าเมือง เห็นชายฉกรรจ์หลายคนแต่งชุดแบบเต็มยศของชาวสก็อต คือ Kilt ท่อนบนประดับด้วยเหรียญตรา บ้างก็เดินกันมาเป็นกลุ่มเล็กๆ ในขณะที่บางคนมากันเป็นกลุ่มใหญ่ บางกลุ่มก็เล่นดนตรี เป่าปี่ Bagpipe สอบถามได้ความว่า พวกเขาบินมาจากอังกฤษโดยเฉพาะ เพื่อเฉลิมฉลองวันที่ชาวอังกฤษและชาวปอร์ตุเกสได้ร่วมกองทัพกันขับไล่กองทัพฝรั่งเศสให้พ้นไปจากปอร์ตุเกส เป็นที่รู้มานานแล้วว่า ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษไม่เคยลงรอยกันมาแต่ไหนแต่ไร ในอดีตพ่อค้าชาวอังกฤษถูกห้ามไม่ให้มีการค้าขายติดต่อกับฝรั่งเศส พวกเขาจึงมาตั้งรกรากค้าขายในปอร์ตุเกส ตั้งแต่นั้นมา ตกมาในสมัยนี้ ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศอิหร่านกำลังตึงเครียดและมีการจับเจ้าหน้าที่สถานทูตของอังกฤษไป โดยข้อหาว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดมีการชุมนุมประท้วงขึ้นในอิหร่าน ทั้งนายกอร์ดอน บราวน์ และนาย นิโคไล ซาโกซี่ ได้จับมือกันประณามการกระทำอันนั้น
อันที่จริง ประเทศปอร์ตุเกสและประเทศอังกฤษเป็นมิตรกันมาเนิ่นนานแล้ว แม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะบ่งบอกว่า ทหารชาวโรมันเป็นผู้ปลูกต้นองุ่นเป็นครั้งแรกในแถบหุบเขาของแม่น้ำดูโรเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว แต่มันก็ได้กลายเป็นประเพณีไปเสียแล้วที่ชาวปอร์ตุเกสจะให้เครดิตในการผลิต พอร์ตไวน์ port wine แก่พ่อค้าชาวอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด ไวน์ที่ทำจากองุ่นที่ปลูกในแถบแม่น้ำดูโรแม้ว่าจะผลิตได้มาก แต่ก็ เป็นไวน์สีคล้ำและติดจะขม ตำนานเล่าว่า ชาวอังกฤษเลยเอาบรั่นดี และน้ำองุ่นใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อกำจัดรสขมของไวน์ และถนอมไว้เพื่อจะได้ลงเรือกลับอังกฤษ ผลที่ได้รับคือพอร์ตไวน์ อย่างที่มีในปัจจุบัน อาจจะเป็นได้ว่า ผู้คนในแถบนี้ได้เคยทำมาก่อน แต่ไม่ถูกรสนิยมในการดื่มของตน จึงไม่ได้ทำอะไรต่อไป ในขณะที่ชาวอังกฤษชอบรสชาติของมัน จึงได้กลายเป็นเหล้า Port ที่ใช้ดื่มก่อนหรือหลังอาหารมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ
ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกและเป็นหลักฐานว่าชาวอังกฤษได้มาทำการค้าขายที่นี่นานมาแล้ว คือยี่ห้อ Taylor’s – Graham’s และ Cockburn’s (อ่านว่า โค เบิร์น) ฟรานซิสโกพาไปชมโรงกลั่นพอร์ตของ Graham ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๘๘๒ และตกทอดกันมาถึงห้ารุ่นแล้ว ในปัจจุบันไม่ได้ใช้ชื่อว่า แกรห์ม อีกต่อไป แต่มีชื่อว่า Symington เมื่อไปถึงโรงกลั่น มุสตาฟา ชาว Tripeiros แท้ๆได้ออกมาต้อนรับ พาไปชมโรงกลั่นและห้องที่เก็บถังพอร์ต ภายในมีถังไวน์วางอยู่นับไม่ถ้วน มีบางชนิดที่เก็บไว้ในห้องที่อยู่หลังกรงเหล็กใส่กุญแจปิดแน่นหนา มุสตาฟาเป็นเพียงผู้เดียวที่มีกุญแจสำหรับไขเข้าไปได้ เขาเล่าว่าพอร์ตที่เก็บไว้นี้ มีอายุและราคาแพงมาก เวลามีคนสั่งจึงจะเปิดไขออกมา
หลังจากที่ได้ไปเที่ยวชมโรงกลั่นแล้ว ก็ถึงเวลาที่แขกชอบใจเป็นที่สุดคือการได้นั่งจิบพอร์ตชนิดต่างๆ มีเนยแข็ง ถั่ว และผลไม้แห้งต่างๆเป็นเครื่องแกล้ม อันที่จริงเป็นการง่ายมากที่ใครๆจะชอบดื่มพอร์ต โดยเฉพาะสุภาพสตรี เพราะมีกลิ่นหวานหอม นุ่มนวลเหมือนเส้นไหม แม้แต่คนที่ไม่เชี่ยวชาญก็สามารถบอกได้ถึงความแตกต่างของพอร์ตไวน์ที่เพิ่งกลั่นหรือว่ากลั่นเก็บไว้ในขวดนานแล้ว สีของพอร์ตไวน์โดยทั่วไปจะมีสีเหลืองออกน้ำตาล หรือที่เรียกว่าสี tawny นอกจากนั้นก็มีสีทับทิมแก่ รสชาติออกจะมันๆคล้ายถั่ว ไวน์ที่เป็น Vintage มักจะทำจากองุ่นที่มีคุณภาพดีที่สุดและได้รับการคัดเลือกอย่างดีหมัก ใส่ไว้ในถังเป็นเวลาสองปี แล้วถ่ายใส่ขวดเก็บไว้อย่างน้อยสิบปีจนถึงร้อยปีหรือมากกว่านั้น จะมีรสชาติที่หอมหวานละมุนละไม นุ่มนวลยิ่งกว่าชนิดอื่นๆ นั่นเป็นพอร์ตไวน์ที่เก็บรักษาไว้ในห้องกรงเหล็กที่มุสตาฟาเพียงผู้เดียวที่มีกุญแจไข แต่ไม่ว่าจะเป็นไวน์ชนิดใด การหมักและกลั่นก็เหมือนกัน
หลังจากที่เก็บองุ่นมาจากต้นในฤดูใบไม้ร่วงแล้ว องุ่นจะต้องถูกนำไปบดทันที องุ่นจะถูกเก็บรวบรวมเป็นกองใส่ถังใหญ่ มีคนงานเดินเรียงหน้ากระดานห้าหกคน เอาสองมือพาดไหล่กันไว้ ลงไปในถัง และจะใช้เท้าย่ำไปมาหลายชั่วโมงจนละเอียดโดยจะมีคนงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เมื่อองุ่นละเอียดแล้วก็ถูกหมักไว้จนได้อัลกอฮอล์ถึงเจ็ดเปอร์เซ็นต์ แล้วจึงเทส่วนผสมของบรั่นดีเข้าไปหนึ่งส่วนต่อไวน์ห้าส่วน เมื่อมาถึงตอนนี้การหมักจะหยุดทันที เหลือไว้แต่น้ำตาลหวานจากองุ่น ซึ่งกลายเป็นพอร์ตไวน์ ที่รู้จักกัน
หลังจากที่ได้ไปชมเมืองกับฟรานซิสโกแล้ว เราก็ข้ามไปเดินเล่นตามชายฝั่งที่ทำไว้สำหรับให้คนเดิน ในที่สุดตัดสินใจนั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำดูโร เพื่อชมเมืองที่ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะไปกินอาหารเย็นในภัตตาคารที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในละแวกนั้น อาหารเย็นเป็นปลาเช่นเคย มีชาว Tripeiros สามีภรรยาคู่หนึ่งนั่งโต๊ะติดๆกัน แม้ว่าเขาจะพูดภาษาอังกฤษได้ไม่กี่คำ และเราก็พูดภาษาปอร์ตุเกสไม่ได้ แต่สามารถสื่อสารกันได้อย่างมีไมตรีจิตต่อกัน เช่นเคยเขาคิดว่าเราเป็นชาวคะเนเดียน
Braga เป็นเมืองที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งในทางศาสนา เพราะเป็นอาณาจักรของพระสังฆราชนิกายโรมันคาธอลิคในศตวรรษที่สิบเอ็ด จึงได้ชื่อว่าเป็นกรุงโรมของปอร์ตุเกส ในสมัยนั้น เพราะฉนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เทศกาลฉลองอีสเตอร์ที่เมืองนี้จะยิ่งใหญ่จนสามารถดึงดูดให้นัก
ท่องเที่ยวแห่กันมาในช่วงนั้นกันมาก และก็ไม่แปลกอะไรอีกเหมือนกันที่เมืองบราก้าจะมีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรูปแบบของมหาวิหาร Cathedral หรือ Se ในภาษาปอร์ตุเกส ซึ่งเป็นมหาวิหารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ในเมื่อมหาวิหารได้รับการบงการให้ก่อสร้างโดย Henry of Burgandy และ มเหษีคือพระนาง Teresa ภายในวิหารจึงบรรจุแท่นหลุมฝังศพของทั้งสองเอาไว้ด้วย รวมถึงแท่นฝังศพของพระสังฆราช Lourenco Vicente ฮีโร่อีกคนหนึ่งในการต่อสู้กับสเปนในสงคราม Aljubarrota เมื่อปีค.ศ ๑๓๘๕ ที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วตอนที่ไปเที่ยวเมือง Batalha ภายนอกมหาวิหารมีหอคอยในแบบแมนูแอลแนบอยู่กับหลังคาทั้งสองข้างซึ่งเป็นผลงานแรกเริ่มของสถาปนิกชาวปอร์ตุเกส คือนาย Joao de Castilho ที่หลังจากนั้นก็ไปออกแบบสร้าง Jeronimos Monastery ในเมือง Belem นอกกรุงลิสบอนที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้ว
อีกซีกหนึ่งของมหาวิหาร เป็นตึกที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่คล้ายๆพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็นหลายชั้น แต่ละชั้นมีห้องแสดงเข้าของเครื่องใช้ ตลอดจน เสื้อผ้าที่พระสังฆราชใช้ในพิธีต่างๆ แต่ละชุดปักสวยงามด้วยทองและเงิน แม้แต่ถุงมือก็หรูหรามีแม้แต่รองเท้าส้นสูง ลวดลายดอกไม้ สูงถึง ๑๐ เซ็นติเมตร ทำเป็นพิเศษให้พระสังฆราชรูปร่างแคระแกรนองค์หนึ่ง รวมไปถึงไม้กางเขนเหล็กใช้ในปีค.ศ. ๑๕๐๐ ระหว่างการประกอบมิสซาเป็นครั้งแรกในประเทศบราซิล สมบัติที่วางโชว์อยู่ในตู้กระจกปิดกุญแจมีสัญญาณภัยติดไว้จึงน่าจะมีค่ามหาศาล สมแล้วที่พิพิธภัณฑ์นี้มีชื่อว่า Treasury
มีอีกห้องหนึ่งซึ่งฉันติดใจมากเพราะไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่ในโบสถ์ไหน และในประเทศใดในโลก นั่นคือ รูปปั้นที่น่ารักมากของพระเยซูถูกโอบอุ้มอยู่ในอ้อมแขนของพระมารดาคือพระแม่มารีอาที่กำลังเปิดถันให้นมแก่ทารกพระเยซู รูปปั้นถูกวางอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง Nossa Senhora do Leitre เป็นผลงานปั้นของนักปั้นฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในประเทศปอร์ตุเกส ในศตวรรษที่สิบหก คือนาย Nicolas Chanterene
เดินผ่านสวนออกไปทางตะวันตกจะเห็นโบสถ์เล็กๆโบสถ์หนึ่ง ตกแต่งด้วยกระเบื้องทำด้วยมือ เรียกว่า azulejos มีรูปวาดเล่าประวัติของพระสังฆราชองค์แรกของเมืองบราก้า ในใจกลางเมืองเก่ามีน้ำพุ Praca da Republica ล้อมรอบด้วยตึกสร้างแบบบาโรคหลายแห่ง รอบน้ำพุมีม้านั่งพักผ่อน เสียดายที่ตอนไปถึงยังคงเช้าอยู่จึงไม่มีใครออกมานั่งเล่น คาดว่าถ้าเป็นตอนสายอีกสักหน่อยคงจะมีชาวเมืองออกมานั่งพักผ่อนกินกาแฟในหรือนอกร้านที่ทันสมัยหลายแห่ง มีดอกไม้หลากสีปลูกเป็นแถวยาวเหยียดอยู่กลางถนนคนเดินให้ดูเล่นเพลินตาอีกต่างหาก
Guimaraes ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของประเทศปอร์ตุเกส เพราะ พระเจ้า Afonso Henriques กษัตริย์องค์แรกของประเทศปอร์ตุเกส ทรงประสูติที่วัง Vimaranes ดังนั้นชื่อของเมืองจึงได้แผลงมาจากชื่อของปราสาท
เราจอดรถแล้วเดินขึ้นบันไดไปยังตัวปราสาทที่ยังคงรักษาสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมเอาไว้ ผ่านโบสถ์เล็กๆ Hermitage of Sao Miguel ซึ่งพระเจ้า Afonso Henriques ทรงได้รับศีลล้างบาป Baptism โดยพระสงฆ์เอาพระเศียรจุ่มลงในน้ำ ตรงกันข้ามเป็นปราสาทใหญ่โตซึ่งเป็นวังของดยุ๊คแห่งบรากานซ่า Palace of the Dukes of Braganca เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของสไตล์โกธิคในแบบของปอร์ตุเกส ในตัวเมืองเองมีถนนและซอกซอย ปูด้วยหิน cobblestone ที่เห็นได้ในเมืองเก่าๆของยุโรปทุกเมือง กลิ่นดอกไม้ที่บรรจงปลูกไว้หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ
Peso da Regua เป็นเมืองที่เติบโตขึ้นมาในศตวรรษที่สิบแปด ด้วยเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำดูโร และเป็นแหล่งที่ปลูกไวน์มากที่สุดของประเทศ ยิ่งมีแม่น้ำไว้สำหรับขนส่งทางเรือด้วยแล้ว เรกัว ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ตัวเมืองเองไม่มีอะไรที่น่าสนใจให้ดูเท่าไรนัก โรงแรมที่พักเป็นโรงแรมใหม่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ จึงมีวิวที่สวยมาก ทั้งของแม่น้ำ และของไร่องุ่นที่ยู่ฝังตรงกันข้าม มีสะพานสูงเหนือแม่น้ำทอดข้ามไปยัง Vila Real นักธุรกิจส่วนใหญ่มาพักที่โรงแรมนี้
พบนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ได้สนทนากัน ได้ความว่าพวกเขามีทั้งหมดสิบสองคน บินตรงมาจากอังกฤษ เพื่อจะมา “เดิน” hiking tour มีทัวร์ลีดเดอร์สองคน และจะพักอยู่หนึ่งอาทิตย์ ในแต่ละวันเขาจะเดินเป็นระยะทางประมาณสิบห้ากิโลเมตร แม้ว่าจะเป็นระยะทางที่ไม่มากเกินไปนัก แต่พอตกเย็นพวกเขาก็เหน็ดเหนื่อยหลับกันเป็นตาย เมื่อได้เห็นภูมิประเทศแล้ว จะเข้าใจได้ว่าเหตุไรระยะทางเพียงเท่านี้ จึงทำให้เหนื่อยถึงขนาดนั้นได้
เราขึ้นรถไฟ Corgo Railway ที่มีสถานีไม่ไกลจากโรงแรมนัก เป็นรถไฟพ่วงแบบเปิดสองข้าง มีหลังคา แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลยในวันนั้น รถไฟพาผู้โดยสารข้ามสะพานเหนือแม่น้ำดูโร ไต่ขึ้นไปบนเนินเขาที่เห็นอยู่ตรงกันข้ามโรงแรม ภูมิภาพที่เห็นในขณะที่รถไฟแล่นผ่านวกไปเวียนมาเป็นภูมิภาพที่ได้รับการบรรจงปั้นแต่งมาแล้วถึงสองพันปีด้วยการปลูกไร่องุ่น เท่าที่สายตาจะแลเห็นได้ เต็มไปด้วยไร่องุ่นและไร่องุ่นที่ปลูกเกาะแนบไปตามไหล่เขา บ้านเรือนที่ปลูกอยู่ในละแวกนั้นแม้จะไม่ใช่บ้านหรือคฤหาสน์ใหญ่โต แต่สร้างขึ้นอย่างสวยงามมีรสนิยม เป็นบ้านของเจ้าของไร่องุ่นเอง อยากจะพูดว่าทิวทัศน์แห่งนี้เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่เคยเห็นมา Alto Douro แหล่งปลูกองุ่นแห่งนี้จึงได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งในปีค.ศ. ๒๐๐๑ รถไฟพาเราไต่ขึ้นสูงจนถึงห้าร้อยห้าสิบเมตร เป็นระยะทางไปกลับสิบสามกิโลเมตร มิน่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถึงได้เหนื่อยและเมื่อยหนักหนาในแต่ละวัน
Lamego อยู่ห่างจาก เรกัว ไปประมาณสิบกิโลเมตร และอยู่ในเขตของแม่น้ำดูโรเช่นกัน เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่เราต้องขับรถกลับกรุงลิสบอน เพื่อค้างที่นั่นอีกหนึ่งคืนก่อนบินกลับสวิส เราจึงไปแวะที่เมืองลาเมโก ซึ่งเป็นเมืองที่มี่ชื่อเสียงอีกเมืองหนึ่งในการผลิตไวน์ขาว Rapo seira บริเวณนี้เป็นบริเวณที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง หมู่บ้านที่ผ่านไปได้รับการดูแลรักษาอย่างดี รู้ได้ว่ามีฐานะจากการมีอาชีพปลูกองุ่นและทำไวน์ หากคุณผู้อ่านคนใดที่ชอบดื่มไวน์ก็อยากจะแนะนำให้ไปเที่ยว และถึงแม้จะไม่ชอบดื่มแต่การได้ไปเยือนก็เกินคุ้มแล้วเพราะสวยมาก ไม่ว่าจะเลือกเดินทางโดยทางรถหรือทางเรือ
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวที่นี่ มักจะไม่พลาดที่จะไปเดินไต่บันไดแบบบาโรค ที่คดเคี้ยววนเวียนขึ้นไปจนถึงโบสถ์ที่สวยงามของพระแม่มารีอา Nossa Senhora dos Remedios ที่ตั้งเด่นอยู่บนเนินเขาเหนือเมืองลาเมโก เป็นโบสถ์ที่หลายคนไป
แสวงบุญ แม้ว่าภายในโบสถ์จะตกแต่งด้วยกระเบื้องฟ้าขาว คล้ายคลึงกับกระเบื้อง Wedgewood ของอังกฤษ แต่ความสวยงามนี้ถูกบดบังด้วยความสวยของบันไดกว่าหกร้อยขั้นที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังเมื่อสักครู่ เราไม่ได้เดินขึ้นไป แต่ขับรถขึ้นไปแทน จึงได้เห็นแต่เพียงนิดหน่อยจากบันไดชั้นบนคือ น้ำพุ อ่าง รูปปั้น และบันไดบางขั้นที่ทำด้วยกระเบื้อง azulejos อันอ่อนช้อยของชาวปอร์ตุเกส
วันสุดท้ายที่ขับรถกลับลิสบอนเป็นวันเดียวที่ฝนตกหนักลงมาทั้งวัน เป็นฝนแบบฤดูร้อนในเขตมรสุมของเมืองไทย ประเทศปอร์ตุเกสในสมัยนี้ผิดกันไกลกับในสมัยก่อน หลังจากที่ได้ร่วมเป็นประเทศในเครือ European Union ในปีค.ศ. ๑๙๘๖ แล้ว ประเทศปอร์ตุเกสก็เจริญก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง จากเงินอุดหนุนของ EU ปอร์ตุเกสสามารถปรับปรุงบูรณะถนนไฮเวย์ สะพาน และสาธารณูประโภคต่างๆ จนเทียบเท่าได้กับประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้วในยุโรปตะวันตก ในปีค.ศ ๑๙๙๘ ได้มีงานเอ็กซ์โป และ ปี ๒๐๐๑ เมือง Porto ก็ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนะธรรมของยุโรป นอกจากนั้นปอร์ตุเกสยังได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ถ้วยยุโรปในปีค.ศ. ๒๐๐๔ อีกต่างหาก น่าภูมิใจแทนชาวปอร์ตุเกสเสียนี่กระไร ประเทศได้กลายเป็นสาธารณะรัฐ Republic เมื่อปีค.ศ. ๑๙๑๐ และเพิ่งได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการอยู่ใต้เงื้อมมือของเผด็จการ Salazar เมื่อปีค.ศ. ๑๙๗๔ มานี่เอง แต่ประเทศก็พัฒนาไปได้ไกลจนไม่เห็นฝุ่นของในอดีต