ตามรอยชนเผ่าอินค่า (ตอนที่ ๒)

ฝนตกปรอยๆเมื่อเพ็ญและฮันส์บินไปถึงลีมา (Lima) ตอนกลางดึก โรงแรมที่พักอยู่ในตำบลมิราฟลอเรส (Miraflolres) ซึ่งเป็นเขตค่อนข้างใหม่ อยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค ซีซ่า ไกด์ชาวลีมา พาไปดูตึกสูงระฟ้า ซึ่งเป็นอพาร์ทเมนต์ของผู้มีอันจะกินบนฝั่งมหาสมุทรในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น เพ็ญรู้สึกแปลกตากับวิวที่เห็นอยู่ข้างหน้า ทุกหนทุกแห่งครอบคลุมไปด้วยหมอก ซีซาร์อธิบายว่าเมืองลีมามีหมอกคลุมโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคมซึ่งเป็นฤดูหนาว ชาวลิเมโยส limenos เรียกหมอกนี้ว่า garua แต่เมื่อฤดูร้อนมาถึงก็จะมีแสงแดดแจ่มใส เขาอธิบายต่อไปว่า ฝนไม่เคยตกในลีมาเลย ความชุ่มชื้นที่มีเกิดจากละอองน้ำที่กลั่นออกมาจากหมอก ลีมาจึงค่อนข้างแห้งแล้งเสียเป็นส่วนใหญ่ทั้งๆที่ตั้งอยู่ในหุบเขาของแม่น้ำ “รีมัค” Rimac ติดกับฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค ในระหว่างเชิงเขาของเทือกเขาแอนเดส น้ำที่ใช้ไหลมาจากภูเขาและแม่น้ำ ลมเย็นในฤดูร้อนพัดมาจากมหาสมุทร

ขณะที่นั่งรถผ่านไปตามสถานที่ต่างๆเพ็ญสังเกตว่า ถ้าเห็นต้นไม้และปาร์คที่ใด ก็แปลว่าเป็นสถานที่อยู่ของผู้มีอันจะกิน มีเงินพอที่จะซื้อน้ำมาใช้รดสวนและต้นไม้ของตนเองได้

ลีมามีพลเมืองแน่นหนาจนเกือบจะถึงแปดล้านคนแล้ว แต่ตัวเมืองต้องขยายไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีผู้คนจากต่างจังหวัดอพยพเข้ามาหางานในเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก เพราะความกันดารในชนบท บริเวณที่ขยายออกไปมีสาธารณูประโภคไม่เพียงพอเช่นน้ำประปา ส้วม ไฟฟ้าหรือถนนหนทางจึงกลายเป็สลัมขนาดใหญ่ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า บาร์ฮีอาดาส (Barriadas) หรือเรียกให้เพราะขึ้นมาหน่อยในปัจจุบันว่า เมืองใหม่ Pueblos Jovenes รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะไปพัฒนาถิ่นกันดาร คาดว่างบประมาณคงจะมีพอ หากว่าจะมีการคอรรัปชั่นให้น้อยกว่านี้สักหน่อย เป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าประเทศลาตินอเมริกา คอรรัปชั่นกันมโหฬารขนาดไหน ทั้งๆที่ประเทศร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สามารถให้ความอยู่ดีกินดีกับประชาชนได้อย่างสบาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยากจน เพราะนักการเมืองและผู้บริหารประเทศ“จัดการ” เงินเข้ากระเป๋าตัวเอง มากกว่าจะสนใจประชาชนของตนเอง

หลังจากที่ซีซาร์ได้พานั่งรถไปชมแหล่งที่อยู่อาศัยของชาว “ลีเมโยส” ฐานะต่างๆแล้ว ก็พาไปชมจตุรัส Plaza Mayor มีน้ำพุทำด้วยบรอนซ์สร้างขึ้นในปี ๑๖๕๐ อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบจตุรัสซึ่งเป็นศูนย์กลางของตัวเมือง ก็คล้ายคลึงกับเมืองหลวงอื่นๆในอเมริกาใต้ คือมีวังของประธานาธิบดี วังของพระสังฆราช มีโบสถ์ และพิพิธภัณฑ์ สังเกตได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงแห่งใดในอเมริกาใต้ กลางใจเมืองมักจะมีจะมีจตุรัสสร้างไว้เสมอในแบบของประเทศสเปนในยุคนั้น ที่จตุรัสมีทหารและตำรวจรักษาการณ์อยู่ทั่วไป ซีซาร์บอกว่ามักจะมีการสไตรค์หรือประท้วงแทบจะทุกวันในเขตนี้ และบางทีรุนแรงถึงกับมีการประทะกันระหว่างผู้รักษาความสงบและประชาชนที่เดินขบวนประท้วง ซีซาร์จึงไม่ต้องการให้อยู่อ้อยอิ่งนานนัก จะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีผู้คนมานั่งเล่นหรือเดินเล่นเลยในแถบนี้ โรงแรมห้าดาวที่อยู่ติดกับจตุรัสก็เงียบเหงาปราศจากนักท่องเที่ยว

ที่มุมด้านหนึ่งของจตุรัส มีอนุสาวรีย์ของ “ฟรานซิสโก พิซซาร์โร่” Francisco Pizzaro บนหลังม้าตัวใหญ่ ฟรานซิสโกเป็นชาวสเปนคนแรกที่ค้นพบอาณาจักรอันรุ่งโรจน์และร่ำรวยของเผ่าอินค่าในปี ๑๕๒๖ ตามบริเวณฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคมีบ้านช่องแหล่งที่อยู่ของชาวอินค่าอยู่ทั่วไป เขาจึงได้กลับไปประเทศสเปนเพื่อหาเงินและกำลังผู้คนมาสนับสนุนความปรารถนาที่จะเข้ายึดครองอาณาจักรของเผ่าอินค่า เขากลับมาอีกครั้งหนึ่งในอีกหกปีต่อมาด้วยกำลังเงินและผู้คน และได้เข้าบุกยึดหลักแหล่งของเผ่าอินค่าณบริเวณฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคทางตอนเหนือซึ่งเป็นประเทศเอเควดอร์ในสมัยนี้ เขาจับหัวหน้าของเผ่าอินค่าสำหรับเรียกค่าไถ่เป็นทองแท่งที่บรรจุเต็มหลายห้อง พอได้ทองแล้วแทนที่จะปล่อยตัวไป ฟรานซิสโกกลับฆ่าหัวหน้าเผ่าทิ้งเสีย แล้วถือโอกาสในขณะที่เผ่าอินค่ารบกันเอง เข้ายึดเมืองคุซโค่ซึ่งเป็นหัวใจของเผ่าอินค่าไว้ ประกาศตนเป็นผู้ชนะ มีการต่อสู้บ้างประปรายจากเผ่าอินค่า แต่ก็เป็นการต่อสู้ที่ล้าเต็มที จนในที่สุดเจ้าของดินแดนยอมแพ้ ต้องหนีไปหลบอยุ่ตามป่าเขา อาณาจักอินค่าที่เคยรุ่งโรจน์มาครั้งหนึ่งก็ต้องถึงกาลอวสารด้วยน้ำมือของพวกล่าอาณานิคมและด้วยสงครามกลางเมืองระหว่างพี่น้องที่แย่งชิงบัลลังค์กันเอง

ในปี ๑๕๓๕ ฟรานซิสโกยกฐานะลีมาให้เป็นเมือง ต่อมาตัวเขาถูกเชือดคอตายด้วยน้ำมือของพวก conquistador ด้วยกันเองในปี ๑๕๔๑ หลุมฝังศพของเขาตั้งอยู่หลังประตูวิหารของลีมา

เพ็ญสังเกตเห็นอนุสาวรีย์สตรีแห่งหนึ่งในจตุรัส “ซังมาร์แตง” (Plaza San Martin) มีรูปปั้นตัวยาม่าซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของเปรูอยู่บนหัว หากไม่สังเกตให้ดีก็คงจะเดินผ่านไป เพราะอนุสาวรีย์ของซังมาร์แตงบังอยู่ ซังมาร์แตงเป็นวีระบุรุษอีกคนหนึ่งที่ช่วยปลดแอกให้ชาวเปรู ซีซาร์อธิบายว่า เป็นอนุสาวรีย์ของ พระแม่พาเทรีย Madre Patria เจ้าหน้าที่ของลีมาได้รับบงการจากสเปนให้สร้างมงกุฎกองไฟรอบหัวของพระแม่พาเทรีย แต่คำว่า llama ในภาษาสเปนซึ่งแปลว่าไฟ ก็หมายถึงตัว “ยาม่า” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงในประเทศเปรูเช่นเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในใจกลางเมืองลีมาคือวังและบ้านที่มีระเบียงไม้สลักเสลาอ่อนช้อยสวยงาม ซึ่งเป็นแบบโดยเฉพาะที่พวกล่าอาณานิคมชาวสเปนเลียนแบบจากประเทศของตนเอามาสร้างที่ลีมา โดยดัดแปลงมาจากศิลปะแบบอันดาลูเซียบ้าง จากแขกมัวร์บ้าง และจากชาวครีโอลบ้าง

ซีซ่าร์สนใจที่จะคุยเรื่องการเมืองและความเป็นอยู่ในประเทศของตนมากกว่าไกด์ส่วนใหญ่ที่เคยพบมา ทำให้เพ็ญสามารถซักถามและแสดงความคิดเห็นกับเขาได้ในเรื่องการเมือง อาจจะเป็นเพราะซีซาร์อยู่ในวัยกลางคน มีประสบการณ์จากการพบปะผู้คนและการเป็นไกด์มายาวนานก็ได้ ทำให้เขา “ดู” คนออก เพ็ญมารู้ภายหลังว่าซีซาร์เคยถูกจับยัดเข้าคุกที่ประเทศพาราไกว Paraguay เมื่อสมัยยังเป็นหนุ่ม ด้วยข้อหาว่าเป็นสะปายให้ผู้ก่อการร้าย guerrilla หรือพวกกลุ่ม Maoist ที่เรียกตนเองว่า Shining Path (หนทางสว่าง) หรือ Sendero Luminoso ในภาษาสเปน ในสมัยนั้นรัฐบาลเปรูถูกก่อกวนโจมตีด้วยพวกก่อการร้ายไม่เว้นแต่ละวัน ประเทศพาราไกวซึ่งเป็นประเทศเผด็จการกรงว่าจะลุกลามเข้าไปในประเทศของตนจึงเหวี่ยงแหจับผู้ต้องสงสัย และซีซาร์ก็เป็นคนหนึ่ง ในช่วงที่มีการจับกุมและปราบปราม มีผู้คนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย “หาย” ไปโดยไม่มีร่องรอยประมาณสี่หมื่นถึงหกหมื่นคน โดยเฉพาะในตอนกลางของเทือกเขาแอนเดส รัฐบาลใช้เวลาหลายปีกว่าจะจับตัวหัวหน้าได้และจำกัดผู้ก่อการร้ายไปจนหมดสิ้น

ซีซาร์พูดแบบปลงๆนิดหน่อยว่า ประเทศของเขาถึงจะเปลี่ยนประธานาธิบดีกี่คนๆ ก็ไม่ดีกว่าที่เป็นอยู่ มีเพียงสองสามปีแรกเท่านั้นที่ประเทศมีฐานะดีขึ้นบ้าง คือสมัยที่นายอัลเบิร์ตโต ฟูจิโมริ ประธานาธิบดีเชื้อสายญี่ปุ่นได้รับการเลือกตั้งใหม่ๆในปี ๑๙๙๐ เขาสามารถลดการเฟ้อของเงินในประเทศได้มาก และพัฒนาประเทศจนมีเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศมากขึ้น

เพ็ญจึงถามว่าถ้าเช่นนั้นทำไมประชาชนจึงขับไล่เขาไปเสีย ซีซาร์บอกว่า นายฟูจิโมริปกครองประเทศแบบเผด็จการ แทบจะไม่ยอมให้ใครมีเสียงโต้แย้งได้เลย เพ็ญอดไม่ได้ที่จะพูดว่า “บางครั้งประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ก็ต้องการการปกครองแบบเผด็จการ ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งคุมบังเหียนของประเทศให้ไปในทางที่ถูกต้อง แต่จะต้องเป็นผู้บริหารที่มือสะอาด”

“นั่นแหละที่เป็นปัญหา” ซีซาร์บอก “หัวหน้าอาจจะมือสะอาด แต่ลูกน้องคนสนิทของประธานาธิบดี คอรรัปชั่นกันมโหฬาร ถูกจับได้คาหนังคาเขา ถึงกับมีรูปถ่ายจากล้องวีดีโอมายืนยัน แม้ว่าตนเองจะปฏิเสธไม่มีส่วนร่วม แต่ในที่สุดเมื่อลูกน้องถูกจับ ตนเองก็ยอมลาออกในช่วงที่หยุดพักฮอลลีเดย์ในอาเซีย แล้วขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากอยู่ในตำแหน่งสิบปี”

ประธานาธิบดีคนต่อมาคือนายโทเลโดที่ได้รับเลือกตั้งในปี ๒๐๐๑ ก็ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ เขาได้รับเลือกตั้งก็เพราะมีเชื้อสายชาวอินเดียน (แดง) พื้นเมือง อยู่เต็มตัว จากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีเลือดเนื้อชาวอินเดียนเช่นกัน เขาเข้ามาปกครองในขณะที่ประเทศกำลังผจญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ในปี ๒๐๐๓ มีการตกงานอีกเป็นครั้งใหญ่ในระยะรอบสิบปี เงินเดือนคงอยู่กับที่ แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลงอีก ประเทศจึงต้องประสบปัญหาการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล เรียกร้องเงินเพิ่ม ไม่เว้นแต่ละวันแม้แต่ในวันที่อยู่ในลีมาเพ็ญก็ได้ยินเสียงรถหวอของตำรวจดังอยู่ไม่ขาด

เพ็ญรู้สึกเสียดายแทนชาวเปรู ที่ไม่ใช้วิธี “อลุ่มอล่วย” แทนที่จะเป็นกบเลือก “นาย” จึงบอกซีซาร์ไปว่า ประเทศสวิสเอง แม้จะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรง แต่บางครั้ง คนสวิสเองก็ควรจะมีผู้นำที่เข้มแข็งดำเนินนโยบายอย่างมีจุดมุ่งหมาย ควรจะมีพรรคการเมืองให้น้อยลง เพื่อว่าโครงการต่างๆที่เสนอออกไปปรับปรุงประเทศ จะได้รุดหน้ารวดเร็วไปกว่านี้ แต่เนื่องจากมีพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยหลายพรรค มีการถกเถียงปัญหากันไม่สิ้นสุด โครงการแต่ละอย่างที่วางไว้กว่าจะคลอดออกมาได้ ก็ใช้เวลาเป็นสิบๆปี ทำให้เสียเวลาและเสียเงินงบประมาณของชาติไปโดยใช่เหตุ ส่วนบางประเทศก็มีนักวิชาการออกมาร้องคัดค้านเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ทั้งๆที่ไม่เคยบริหารอะไรสักอย่างแม้แต่บริษัทของตนเอง รู้แต่ทฤษฎีในตำราแล้วออกมาฟุ้งขัดคอเพราะความอยากดัง ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน น่าจะเอานโยบายบางอย่างของประเทศจีนมาใช้บ้าง

เพ็ญเคยกินอาหารของชาวเปรูเป็นครั้งแรกที่ประเทศสเปนหลายปีมาแล้ว ยังติดใจมาจนทุกวันนี้ ด้วยมีรสชาดจัดจ้านคล้ายอาหารไทย เมื่อไปเที่ยวลีมาจึงไปเสาะหาร้านอาหารประจำชาติของเขาแทนที่จะกินอาหารสบายๆอยู่ในโรงแรม แล้วก็ไม่ผิดหวัง อาหารเปรูได้รับอิทธิพลมาจากชนชาติต่างๆที่มีสีสัน เช่นสเปน แอฟริกา และอาเซียเป็นต้น เมื่ออาหารมาถึงเปรู เขาก็ดัดแปลงให้มีรสชาดเป็นที่ถูกปากของคนในชาติ แม้แต่อาหารจีนก็ได้ถูกอิทธิพลของชาวเปรูเข้าครอบงำจนร้านอาหารถูกเรียกว่า “ชีฟา” Chifa แทน China

อาหารที่ขึ้นชื่อของประเทศคือ เซบิเช่ Cebiche เป็นอาหารที่ประกอบด้วยปลาหรืออาหารทะเลซึ่งหาได้ในแถบนั้น หมักด้วยเกลือ น้ำมะนาว หัวหอมหั่น และพริก พักทิ้งไว้จนน้ำมะนาวซึมเข้าไปในเนื้อทำให้มีรสเปรี้ยวอร่อย แล้วจึงเผาหรือทอดด้วยไฟอ่อนๆจนสุกดี

แต่มีอาหารขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งซึ่งเพ็ญรับไม่ได้ก็คือหนูตะเภายัดไส้ด้วยสมุนไพรแล้วเอาไปย่างหรือทอด ไม่ก็หมกด้วยเมล็ดข้าวโพดบดแล้วทอดโดยเอาก้อนหินทับ เขาบอกว่าวิธีนี้จะทำให้ทั้งเนื้อและกระดูกสุกกรอบไปทั้งตัว

อาหารจานนี้เป็นอาหารจานโปรดของชาวเอเควดอร์เช่นกัน อีสซาเอลไกด์เมืองคีโต้พาไปดูบ้านของชาวเอเควดอร์ครอบครัวหนึ่ง ภายในครัวเลี้ยงหนูตะเภาสีน้ำตาลตัวอ้วนไว้หลายสิบตัวกำลังและเล็มกินผักกันอยู่อย่างเอร็ดอร่อย ใต้หลังคามีข้าวโพดตากแห้งแขวนเอาไว้หลายฝัก มีเตาแก๊สสกปรกวางอยู่ใกล้ๆกัน ตอนแรกเพ็ญคิดว่าเขาเก็บข้าวโพดเอาไว้แขวนประดับบ้าน ส่วนหนูตะเภานั้นคงจะเลี้ยงเอาไว้เป็น pet มารู้จากอิสซาเอลว่าเขาเลี้ยงไว้กิน เพ็ญแทบจะขาดใจตายให้ได้

เครื่องดื่มค๊อกเทลประจำชาติที่ขึ้นชื่อของเปรูคือ พิสโค่ ซาวเออร์ Pisco Sour อร่อยชื่นใจมาก ตอนอยู่เปรูเพ็ญต้องดื่มครั้งละสองแก้วเสมอก่อนอาหาร ทำได้ไม่ยากนัก หากมีบรั่นดี่ที่ทำจากน้ำอ้อย ผสมด้วยน้ำมะนาวเปรี้ยวแบบของไทย และไข่ขาว แล้วเขย่าแรงๆกับน้ำแข็งให้เข้ากัน ที่เรียกว่าบรั่นดีพิสโค่ก็เพราะในสมัยก่อนชาวสเปนใช้ไหอิฐที่เผาใกล้เมืองพิสโค่หมักบรั่นดีของตนเอง บรั่นดีของสเปนในสมัยนั้นทำจากองุ่นขาวจากทางตอนใต้ของสเปนที่เอามาปลูกในเปรู แต่คุณภาพขององุ่นไม่ดีพอที่จะทำไวน์ชั้นดีได้ เขาจึงทำบรั่นดีแทน

ในลีมามีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่เพ็ญเลือกไปเพียงสองแห่งเท่านั้น คือพิพิธภัณฑ์ที่แสดงวัตถุที่ทำด้วยทอง ตั้งแต่เสื้อคลุมพอนโชไปจนถึงตุ้มหูทองคำที่พอเห็นแล้วก็รู้สึกปวดหูเป็นกำลังเพราะความใหญ่ของมัน ที่เพ็๋ญอยากเข้าไปดูก็เพราะเคยมีข่าวว่าทองที่ตั้งโชว์ส่วนใหญ่เก๊ทั้งนั้น ดูแล้วก็ยังไม่รู้อยู่อีกนั่นแหละว่าดูของจริงหรือของปลอมกันแน่

อีกแห่งหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล Museo Larco วัตถุที่สะสมเป็นเครื่องใช้ไม้สอยส่วนตัวที่ทำจากหินเซรามิค ทองและเงิน เสื้อผ้าที่ทำจากขนนก ฯลฯ ตั้งซ้อนกันบนชั้นที่เรียงไว้ตั้งแต่พื้นจนจดเพดานหลายหมื่นรายการ เป็นการรวมสมบัติส่วนบุคคลที่ได้รับการบันทึกว่ายิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในโลก แต่ที่เพ็ญชวนฮันส์เข้าไปดู ไม่ใช่เพราะอยากดูสมบัติพวกนี้ เพราะดูมาแยะหลายประเทศแล้ว แต่ได้ข่าวว่า เครื่องปั้นส่วนใหญ่หลายชิ้นแสดง “กามสูตร” ของหญิง ชาย และสัตว์เดรฉานของชาวเปรูในสมัยโบราณอย่างโจ๋งครึ่ม เข้าไปดูแล้วก็ยังงั้นๆ กลับไปนึกถึงรูปภาพแกะสลักของเมือง “กาจูราโฮ่” ในอินเดีย ที่มีการแสดง “กามสูตร” ของชาวอินเดียนกันอย่างจะแจ้ง มีทั้งท่าแบบของมิชชันน่ารี่ ทั้งท่ากลับหัวกลับหาง ทั้งหญิงกับหญิง ชายกับชาย กับสัตว์ ทั้งแบบคู่และแบบจับกลุ่ม ที่ไหนๆก็สู้ไม่ได้ ในประเทศจีนเองบนเครื่องลายครามสีฟ้าขาวประเภทถ้วยชามรามไห ตลับ กระถางใส่ต้นไม้ แจกัน ก็มีรูปภาพที่วาดแสดง “ความรัก”ในแบบต่างๆ คนจีนบอกเพ็ญว่า ในสมัยนั้นเขามีเอาไว้สอนคนรุ่นหลังให้รู้จักเรื่องเพศ เพ็ญกลับมีความเห็นว่าเรื่องเพศไม่ต้องสอนกันใครๆก็รู้ เพราะเป็นสัญชาติญาณทางธรรมชาติของมนุษย์ ที่สำคัญคือควรจะสอนให้หญิงชายมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะเจาะและที่ถูกที่ควรสมัยที่เพ็ญไปอยู่เซี่ยงไฮ้ใหม่ๆของพวกนี้ มีวางขายอยู่ทั่วไปในตลาด “จิ้งหรีด” สนนราคาก็ไม่แพง ทำให้ตายใจคิดว่ายังอยู่เมืองจีนอีกหลายปีมาซื้อเมื่อไรก็ได้ ปรากฎว่าไม่นานต่อมา ของพวกนี้อันตรธานไปหมด เพราะมีคนหัวแหลมซื้อไปสะสมเอาไว้แล้วเปิดพิพิธภัณฑ์ Sex Museum ในเซี่ยงไฮ้ ใครๆที่ไปดูมาแล้วบอกว่าดูเพื่อศิลปะ แต่เพ็ญดูเพราะความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าอย่างอื่น

สะดือของโลก

ตำนานเล่าว่าในศตวรรษที่สิบสอง ชาวเผ่าอินค่าคนแรกได้รับคำบัญชาให้ไปค้นหา จุดที่เป็น “สะดือของโลก” หรือ (Qosqo) ในภาษา “เคียวชัว” (Quechua) ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองในแถบนี้ นอกเหนือไปจากภาษาสเปน อินค่า “มังโค คาปั๊ค” (Manco Capac) หาจุดที่เขาเชื่อว่าเป็นสะดือของโลกจนพบ จึงได้สร้างเมือง Qosqo ขึ้น ในสมัยล่าอาณานิคม ชาวสเปนออกเสียงภาษาเคียวชัวไม่ได้ จึงเปลี่ยนชื่อเมืองจาก Qosqo เป็น Cuzco ในสมัยนี้โลกจึงได้รู้จักเมืองนี้ว่า คุซโค่

ใช้เวลาบินประมาณชั่วโมงเศษๆจากลีมาก็ถึงเมืองคุซโค่ซึ่งอยู่สูง ๓๔๒๖ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ขณะที่นั่งรอเข้าห้องพัก สิ่งแรกที่โรงแรมจัดมาต้อนรับคือ “มัทเท่ ที” Mate Tea ซึ่งเป็นน้ำชาที่ทำจากใบ “โคค่า”ปลูกอยู่ทั่วไปในประเทศเอเควดอร์ เปรู และโบลีเวีย เมื่อต้มใบโคค่ากับน้ำเดือดแล้วดื่ม สารที่ออกจากใบโคค่า จะไปช่วยย่อยอาหาร หากเคี้ยว ใบของมันจะไปตุ้นกำลัง ขจัดความเหนื่อยอ่อน ต่อต้านไข้หวัด ช่วยไม่ให้ “เมา””ความสูง และขจัดความหิวโหย จุดประสงค์ที่ทางโรงแรมจัดชามาให้แขกดื่มในทันทีที่มาถึง ก็เพื่อช่วยไม่ให้ “เมา” ความสูงนั่นเอง

ชาวเผ่าอินค่าได้ปลูกต้นโคค่ามาเนิ่นนานเป็นพันๆปีแล้ว แม้แต่ในปัจจุบันการเคี้ยวใบ โคค่าก็เป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งของชนชาติในประเทศแถบนี้ อันที่จริง หากใช้คำว่าเคี้ยวก็คงจะผิดความจริง เพราะเขาไม่ได้เคี้ยวแต่ใช้ปูนทาใบโคค่าแล้วจุกเอาไว้ในกระพุ้งแก้ม หลังจากนั่นสักสองชั่วโมงเมื่อหมดรสแล้วเขาก็คายทิ้งแล้วใส่ใบโคค่าใหม่เข้าไปใหม่ แบบเดียวกับที่คนไทยสมัยก่อนกินหมากและพลูนั่นเอง ในยุโรปและสหรัฐฯถือว่าการเคี้ยวใบโคค่าเป็นความล้าหลังของชาวพื้นเมืองเผ่าอินเดียน (แดง) พวกทำเหมืองเงินในประเทศโบลีเวียใช้ใบโคค่ากันมากที่สุดเพื่อขจัดความเหนื่อยอ่อน

เมื่อมีการปลูกต้นโคค่ากันเป็นจำนวนมาก ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปัญหาใหญ่ในส่วนนี้ของโลกเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว เช่นเดียวกับการปลูกฝิ่นของชาวเขาของไทยในสมัยก่อน พวกผลิตยาเสพติดบดใบโคค่าจนละเอียดเป็นแป้งเปียก สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโคคาอิน การเคี้ยวใบโคค่าเฉยๆไม่มีผลเท่ากับเสพยาเสพติดสำเร็จรูป เพราะจะต้องเคี้ยวใบโคค่าเป็นจำนวนมากกว่าจะได้ผลเช่นเดียวกัน

ในปี ๑๙๗๐ มีสงครามแย่งชิงกันค้าโคคาอินในประเทศโคลัมเบีย เพื่อส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ จนรัฐบาลตัดสินใจที่จะทำสงครามกับพวกผลิตยาเสพติดแบบถอนรากถอนโคน โดยสั่งให้ทำลายทุ่งโคค่าจนหมดสิ้น ทั้งทหารและตำรวจถูกสั่งให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ขจัดยาเสพติดของสหรัฐฯ หากรู้ว่ามีใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดก็ให้จับส่งสหรัฐฯ เจ้าพ่อยาเสพติดของโคลัมเบีย “พาบโล เอสโคบาร์” (Pablo Escobar) ขู่จะทำการวินาศกรรมหากมีการจับกุมเกิดขึ้น แล้วสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นจริงๆเมื่อตำรวจสั่งกวาดล้างยาเสพติด ตำรวจล้มตายไปมาก ตัวเจ้าพ่อเองถูกยิงตายขณะกำลังจะหนีจากคุก อาณาจักของเขาจึงสลายตัวไป แต่ไม่นานก็เริ่มมีเจ้าพ่อใหม่ๆเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะในประเทศที่มีเขตแดนใกล้เคียงกับสหรัฐฯ เช่นบราซิล เอเควดอร์ และเม็กซิโก

แม้แต่นักเขียนก้องโลกเช่น เซอร์ อาร์เธอร์ คอนัน ดอยล์ ที่แต่งเรื่องนักสืบ เชอร์ล๊อกโฮลม์ ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของใบโคค่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะยืนยันว่าการเคี้ยวใบโคค่าไม่มีอันตรายก็จริง แต่การลักลอบเอาใบโคค่าหรือแม้แต่ถุงน้ำชาที่ทำจากใบโคค่าเข้าหรือออกนอกประเทศถือว่าผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการลักลอบนำเข้าและออกโคคาอิน หรือเฮโรอินเช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน พวกที่ค้ายาเสพติดมีวิธี “ฟอก” เงินด้วยวิธีต่างๆ เช่น สร้างโรงแรม ธนาคาร ตึกระฟ้า เปิดแกลลอรี่ขายของเก่า โดยใช้เงินอย่างไม่อั้นติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้ความสะดวกในกิจการต่างๆ

คุซโค่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาโดยตลอดตั้งแต่สร้างเมือง ชาวเมืองมีบรรพบุรุษเป็นชาวเผ่าอินค่า พูดภาษาเคียวชัว ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง ไกด์ของเพ็ญเป็นชาวคุซโค่แท้ๆและภูมิใจในบรรพบุรุษของเขามาก “อาเบลาร์โด” Abelardo มีผิวสีดำแดงแบบชาวอินเดียนแดง อายุอยู่ในราวสี่สิบต้นๆ เขามีเรื่องราวเกี่ยวกับเผ่าอินค่ามาเล่าให้ฟังมากมาย

“พอฟรานซิสโก พิซซาร์โร่ มาถึงคุซโค่ในปี ๑๕๓๔ เขาก็จัดการแบ่งที่ดินให้กับพรรคพวก Conquistador ด้วยกัน เริ่มด้วยการแบ่งที่ดินสำหรับสร้างวัดก่อน” อาเบลาร์โด เล่าช้าๆด้วยภาษาอังกฤษที่เขาระวังทั้งการออกเสียงและไวยากรณ์ “แรกๆก็สร้างทับไปบนกำแพงหินที่สร้างโดยเผ่าอินค่า คุณคงจะสังเกตแล้วว่า แม้แต่โรงแรมที่คุณพัก ก็สร้างทับไปบนกำแพง เพราะในสมัยก่อนโรงแรมเคยเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์คาธอลิค”

เพ็ญสังเกตตั้งแต่มาถึงแล้วว่า มีกำแพงหินเตี้ยๆอยู่ทั่วไปในเมือง สร้างขึ้นด้วยก้อนหินมหึมาแข็งแรง ซ้อนทับกันโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งไรเชื่อมเลย แม้แต่แผ่นดินไหวก็ไม่อาจจะทำลายได้ สิ่งก่อสร้างทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ หรือ วังที่สร้างในสมัยล่าอาณานิคม และโรงแรมชั้นดี หรือสถานที่ราชการ ก็สร้างทับไปบนกำแพงที่สร้างโดยเผ่าอินค่าด้วยกันทั้งสิ้น พื้นถนนและบริเวณที่ล้อมรอบเป็นหิน cobbled stone ขรุขระ เต็มไปด้วยขั้นบันไดแคบๆ ต้องคอยระวังเวลาเดิน ต้องใส่รองเท้าชั้นดีที่มียางพิเศษสำหรับยึดพื้น

“แม้ว่าคุซโค่จะได้รับเอกราชมาเนิ่นนานแล้วก็จริง แต่เวลาที่ผ่านไปสภาพของเมืองคุซโค่ก็ไม่แตกต่างไปจากสมัยที่เคยอยู่ใต้อำนาจของสเปนเท่าไรนัก เพราะเมืองคุซโค่ก็ยังตกอยู่ในกำมือของคนต่างชาติอยู่นั่นเอง” อาเบลาร์โดกล่าวต่อไป พอเพ็ญมองหน้าเขาอย่างสงสัย เขาก็ชี้แจงด้วยเสียงหัวเราะปร่าๆว่า “คุณไม่ได้สังเกตหรือว่าตึกรามทุกแห่งภายในบริเวณนี้ใช้เป็นโรงแรมบ้าง เป็นร้านอาหารบ้าง เป็นร้านค้าบ้าง เพราะเศรษฐกิจของเมืองขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งนั้น”

เพ็ญหันไปมองรอบๆจตุรัสใหญ่ซึ่งเป็นหัวใจของคุซโค่ Plaza de Armas เป็นศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมต่างๆทั้งของคนพื้นเมืองที่พูดภาษาเคียวชัวเป็นภาษาหลักและของนักท่องเที่ยว ยิ่งในวันที่มีอากาศแจ่มใสเช่นบ่ายวันนี้ ทั่วบริเวณวุ่นวายไปด้วยผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและชาวพื้นเมือง นักเดินทางที่ดั้นด้นมาถึงคุซโค่ต่างก็มีจุดประสงค์ที่จะ “ตามรอย” ชาวเผ่าอินค่าไปยัง “เมืองสนธยา” Machu Picchu ที่สร้างขึ้นโดยเผ่าอินค่าเนิ่นนานมาแล้ว แต่ได้รอดสายตาของพวก conquistador ไปได้อย่างประหลาด เพิ่งจะมาถูกค้นพบเอาในปี ๑๙๑๑ โดยนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันโดยบังเอิญ

ตึกสไตล์สมัยล่าอาณานิคมสร้างล้อมรอบจตุรัส อาร์มาส์ แน่นอนย่อมต้องมีพิพิธภัณฑ์วัง โบสถ์และวิหารอันโอ่อ่ารวมอยู่ด้วย ต่างก็สร้างทับไปบนกำแพงของเผ่าอินค่า แม้ว่ากำแพงหินจะสร้างมาเนิ่นนานถึงแปดร้อยปีมาแล้ว แต่ก็ยังดูใหม่และแข็งแรงทนทาน ทั้งๆที่ไม่มีอะไรยึดเอาไว้ หน้าวิหารแห่งหนึ่งมีเรือนตึกย่อมๆใช้เป็นที่ทรมานนักโทษชาวพื้นเมืองในสมัยล่าอาณานิคม ไม่น่าเชื่อว่า ภายในมหาวิหารจะประดับประดาอย่างบรรเจิดด้วยทอง เงิน และบรอนซ์ที่ยึดไปจากเผ่าอินค่า แม้แต่หน้าต่างก็สร้างขึ้นอย่างมีศิลปะให้แสงแดดส่องเข้ามาล้อเล่นกับโลหะอันมีค่าจนเกิดประกายวิบวับจับตา ส่วนธรรมาส์ของพระสงฆ์นั้นเล่าก็สร้างอย่างวิจิตรด้วยไม้ชิ้นเดียวสลักเสลาอย่างงดงาม

“โบสถ์ ซานตาโดมิงโก (Santa Domingo) สร้างคร่อมทับไปบนบริเวณอันศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าอินค่า เรียกในภาษาเคียวชูว่า คอริคานช่า Coricancha แปลว่าลานทอง เนื่องจากว่าในสมัยที่อาณาจักรของเผ่าอินค่ายังรุ่งเรือง ผนังของวัดปูด้วยทองคำแท้ถึงเจ็ดร้อยผืน แต่ละผืนหนักถึงสองกิโลกรัม” อาเบลาร์โดอธิบาย

“มิน่า พวกล่าอาณานิคมจึงทนความยั่วยวนของกิเลศไม่ได้ จึงขโมยทองไปจนเรียบ เหลือไว้แต่กำแพงหินที่ก่อไว้อย่างแนบเนียนเป็นระเบียบจนแยกไม่ออกว่าก้อนไหนเริ่มที่ใดและไปจบเอาที่ใด” เพ็ญเสริม

“คอริคานช่าใช้เป็นที่ทำพิธีต่างๆของเผ่าอินค่า” อาเบลาร์โดพูดต่อคล้ายกับไม่ได้ยินเสียงเพ็ญ “ร่างมัมมี่ของเผ่าอินค่าถูกเก็บไว้ที่นี่ แต่ยกเอาออกมาผึ่งแดดทุกวัน เพื่อทำพิธีบวงสรวงด้วยอาหารและเครื่องดื่มแล้วก็เผาในที่สุด”

“คุณเห็นกำแพงหินนั่นไหม?” ไกด์ชาวคุซโค่ชี้ให้ดูกำแพงที่เขาบอกว่าหนาถึงหกเมตร “สร้างมั่นคงแข็งแรงจนปลอดภัยจากแผ่นดินไหวทุกครั้ง ส่วนอ่างน้ำมนต์รูปแปดเหลี่ยมที่ตั้งอยู่ที่ลานด้านในก็เคยมีทองหุ้มหนักถึงห้าสิบห้ากิโล”

ในบริเวณมีวัดของเผ่าอินค่าสร้างขนาบลานทั้งขวาและซ้าย ทางขวามือเป็นวัดใหญ่ซึ่งอาเบลาร์โดบอกว่าชาวอินค่าใช้เป็นที่ทำพิธีไหว้พระจันทร์และดวงดาว ทั้งสองวัดนี้เคยหุ้มด้วยเงินแท่งทั้งหมด

ในยามที่มีอากาศดี ท้องฟ้าสีครามสลับด้วยปุยเมฆสีขาวลอยฟ่อง เมืองที่ตั้งอยู่บนความสูง ๓๔๒๖ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเช่นคุซโค่ ซึ่งประกอบไปด้วยตึกรามสีอิฐในสไตล์บาโร้คแบบต่างๆ ช่างมีเสน่ห์เหลือเกิน สมควรแล้วที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองที่สวยที่สุดของประเทศเปรู

“เชื่อกันว่าเมืองคุซโค่สร้างขึ้นโดยเอาสิงห์โตภูเขา หรือ Puma เป็นแม่แบบ โดยมีกระดูกสันหลังอยู่ในใจกลางเมือง บนถนนแคบๆสร้างด้วยหินขรุขระ เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามกำแพงที่เราเดินอยู่นี่” อาเบลาร์โดเล่า “ส่วนหัวของมัน คุณจะได้เห็นตอนเราออกไปถึงกำแพง Sacsayhuaman แซคเซ่ฮัวมันที่อยู่นอกเมืองแล้ว”

แซคเซ่ฮัวมัน หรือที่เพ็ญชอบเรียกแบบสะดวกลิ้นว่า Sexy Woman เป็นซากปรักพังของเผ่าอินค่าซึ่งเคยเป็นอนุสาวรีย์สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบห้าสำหรับใช้ทำพิธีเฉลิมฉลองเมื่อชาวอินค่ารบได้ชัยชนะจากเผ่าอื่น ด้านหน้าเป็นลานกว้างขวาง ล้อมรอบด้วยกำแพงหินมหึมาตามแบบของอินค่า หินบางก้อนหนักกว่าสามร้อยตัน เอามาวางเรียงรายเป็นกำแพงแบบซิคแซ็คถึงยี่สิบสองด้านโดยไม่มีอะไรเชื่อมให้ติดกันเลยแม้แต่ดินเหนียว เชื่อกันว่ากำแพงส่วนนี้เป็นฟันของสิงห์โต

ถ้าไม่เห็นด้วยตาตนเองก็เป็นการยากที่จะเชื่อว่า ชาวอินค่าแบกเอาหินมหึมาหลายพันหลายหมื่นก้อนที่แต่ละก้อนมีขนาดหนักหลายตันพวกนี้ขึ้นมาสร้างกำแพงบนเนินได้อย่างไร แม้แต่จะเดินขึ้นเนินแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องแบกอะไรบนพื้นที่ที่มีความสูงสามสี่พันเมตรเหนือระดับน้ำทะเลที่มีอากาศเบาบางก็เหนื่อยแทบแย่แล้ว อย่าว่าแต่จะไปแบกอะไรเลย เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์ต่างดาวเคยได้มาอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ในสมัยโบราณ เพ็ญอยากรู้จริงๆ แต่ก็เป็นปริศนาที่ไม่มีใครขบได้แตก

เมืองสนธยา Machu Picchu

รถไฟเที่ยวแรกที่จะไป มาชู พิชชู่ เป็นรถไฟชั้นหนึ่ง มีกำหนดออกเวลาหกโมงตรงตอนเช้าตรู่ อากาศหนาว อุณหภูมิอยู่ในราวห้าองศา แต่เพ็ญก็สรวมเสื้อสเวตเตอร์กันหนาวแต่เพียงตัวเดียว เพราะรู้ว่าตกสายพระอาทิตย์ขึ้น จะร้อนจนอยากจะปาเครื่องหนาวทิ้ง

การจะขึ้นไปมาชู พิชชู่ ทำได้สองทางคือขึ้นรถไฟ กับเดินขึ้นซึ่งเรียกกันว่า The Inca Trail เดินตามรอยชาวอินค่าในสมัยก่อน ใช้เวลาประมาณสี่ห้าวันแล้วแต่กำลังขาของแต่ละคน แต่เพราะความยากในการเดินข้ามน้ำข้ามห้วย เขาจึงขนานนามเส้นทางสายนี้ว่า The Inca Trial ซึ่งแปลว่าเป็นความทรมานแบบชาวอินค่า ต้องเสียค่าธรรมเนียมห้าสิบเหรียญสหรัฐฯต่อคน ตามทางไม่มีโรงแรมที่พัก ต้องกางเต๊นท์นอนและจ้างลูกหาบแบบสัมภาระขึ้นไป ส่วนรถไฟใช้เวลาสี่ชั่วโมงสี่สิบห้านาที แล้วต่อด้วยรถบัสที่หมู่บ้าน Aqua Calientes ไปอีกสิบนาทีก็ถึง

ม้าเหล็กวิ่งหน้าถอยหลังตามรางซิ๊กแซ๊คที่เป็นรูปตัวเอ็น N และ W ต่อเนื่องกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เริ่มแล่นไปช้าๆ ตามลำแม่น้ำ Urubamba อูรูบัมบ้า ผ่านทุ่งหญ้า หนองบึง เกาะแก่ง และลำธาร ลอดอุโมงค์ ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ แลเห็นฝูงสัตว์เลี้ยงเช่นวัว ควาย แพะ แกะและม้าเล็มหญ้าอย่างสงบ พอใกล้จะถึงมาชชู พิชชู่ พืชพรรณป่าไม้ของดินแดนในแถบร้อนของอเมซอน เริ่มปรากฎแก่สายตา ดอกกล้วยไม้ป่าสีสวยงอกแขวนอยู่ตามลำต้นไม้ แต่ละต้นใหญ่โตมีรากแน่นหนาขึ้นอยู่ทั่วไป แม้รากจะไม่ใหญ่เท่ากับรากที่ซ่อนนครธม ในประเทศกัมพูชา แต่ก็ครึ้มจนซ่อนเมืองสนธยาให้รอดจากสายตาหื่นกระหายของมนุษย์สมัยล่าอาณานิคมได้พ้น จนกระทั่งถูกค้นพบโดยนักสำรวจชาวอเมริกัน นายฮิราม บิงแฮม Hiram Bingham เมื่อปี ๑๙๑๑ นายบิงแฮมไม่รู้จะเรียกเมืองว่าอย่างไรจึงขนานนามว่า “มาชชู พิชชู่” ตามชื่อของภูเขาในละแวกนั้น ซึ่งเป็นภาษาเคียวชู แปลว่า ภูเขาเก่าแก่

เพ็ญได้เห็นเมืองเก่าโบราณมาก็มากแล้ว แต่สิ่งที่ปรากฎแก่สายตาในวันนั้นยากที่จะลืม ในบริเวณกว้างสุดลูกหูลูกตา มีสิ่งก่อสร้างหลายหลัง นอกจากจะเป็นการก่อสร้างด้วยหินดำที่ได้จากภูเขาไฟใหญ่ (basalt) ก้อนมหึมาที่ซ้อนๆกันอันเป็นศิลปะยอดเยี่ยมโดยเฉพาะของชาวอินค่าแล้ว บริเวณที่ตั้งยังซ่อนตัวอยู่ในภูมิประเทศที่งดงามในหุบเขาระหว่างเทือกเขาแอนเดสและบริเวณป่าทึบของลุ่มแม่น้ำอเมซอนอีกต่างหาก เมืองร้างของเผ่าอินค่าประกอบไปด้วย วัด วัง แท่นบูชา จตุรัส ถนน ทางเดิน บ่อน้ำ และบ้านเรือนเล็กๆประมาณสองร้อยหลัง ซึ่งในสมัยก่อนคงจะใช้เป็นที่พักของเหล่าขุนน้ำขุนนาง พวกมียศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย พื้นที่ที่ยื่นออกไปนอกสิ่งก่อสร้างเป็นขั้นบันไดทอดเป็นชั้นๆยาวเหยียดสีเขียวใช้เป็นที่เพาะปลูก อาเบลาร์โดบอกว่าการใช้บริเวณเพาะปลูกแบบเทอเรสแบบนี้ได้ผลเเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการปลูกในที่ราบทั่วไป อันที่จริงเมืองสนธยาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นบริเวณกสิกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่พักอาศัยหรือเมือง

“การทำกสิกรรมของชาวอินค่าประกอบด้วยพิธีกรรมสลับซับซ้อนมากมาย ในขณะที่วิชาดาราศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ใช้ควบคู่ไปกับความเชื่อในทางศาสนา” อาเบลาร์โดเสริม “เพราะฉนั้น การก่อสร้างของชาวอินค่าที่เรียกว่า อินติฮัวตาน่า Intihuatana จึงเป็นการก่อสร้างโดยผสมผสานวิชาดาราศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เผ่าอินค่าอาศัยวิธีคำณวนอันชาญฉลาดจนแน่ใจว่าแสงแดดจะลอดเข้ามาระหว่างช่องภูเขาสองลูก และลอดเลยเข้ามาทางช่องหน้าต่างที่สร้างขึ้นอีกต่างหาก

กรรมพิธีบูชาพระอาทิตย์มักจะมีขึ้นในวันที่สั้นที่สุดของปีในฤดูหนาวซึ่งหมายถึงว่าวันต่อไปจะเริ่มยาวขึ้น จนกระทั่งถึงอีกฤดูหนึ่งคือฤดูแห่งการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ในขณะเดียวกันเขาก็ขอพรจากพระอาทิตย์ไม่ให้ทอดทิ้งพวกเขาเสีย ชาวอินค่าประกอบพิธีที่ว่าบนก้อนหินที่วางเรียงรายซ้อนกันในรูปปิรามิดที่คุณเห็นอยู่ข้างหน้า ซึ่งดูคล้ายกับว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา”

“ผมเคยเล่าแล้วว่าชาวอินค่าถือว่าตนเป็นลูกของพระอาทิตย์ เขาจึงมีวัดที่สร้างขึ้นบูชาพระอาทิตย์เป็นพิเศษอีกต่างหาก คุณจะเห็นว่ามีหน้าต่างเจาะเอาไว้สามช่อง สองช่องเพื่อให้แสงแดลอดเข้ามาจากภูเขาในวันที่ยาวที่สุดของปีคือวันที่ ๒๑ ธันวาคม ส่วนอีกช่องหนึ่งสำหรับวันที่สั้นที่สุดคือวันที่ ๒๑ มิถุนายน (หมายเหตุของผู้เขียน อเมริกาใต้อยู่ในทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตร ฤดูหนาวและร้อนจึงกลับกันกับประเทศที่อยู่ทางเหนือ)

โลกศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอินค่านับถือมีอยู่สามแห่งคือ โลกแห่งความตาย โลกแห่งการมีชีวิต และโลกของเทพ”

“ไม่มีใครยืนยันได้ว่าชาวอินค่าสร้าง มาชชู พิชชู่ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์อะไร แต่ที่แน่ๆก็คือ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของบุคคลพิเศษที่ได้รับเลือกแล้ว The Chosen ซึ่งส่วนใหญ่คงจะเป็นขุนนางและพระสงฆ์ แต่เพราะตั้งอยู่ในที่ลึกลับห่างไกลจากเมืองคุซโค่มากมาย จึงลอดสายตาของพวกล่าอาณานิคมไปได้ ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อสร้างแล้วทำไมชาวอินค่าจึงทอดทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า ทั้งๆที่เมืองนี้คงจะสำคัญสำหรับพวกเขามาก ตอนที่นายบิงแฮมทำการขุดค้น เขาพบทรากศพมนุษย์ถึง ๑๗๓ ร่าง เป็นผู้หญิงถึง ๑๕๐ ร่าง แต่ไม่มีมัมมี่เลย”

“นายบิงแฮมใช้ชาวพื้นเมืองซึ่งมีเชื้อสายชาวอินค่าเป็นผู้นำทางจนเกือบจะะเลิกล้มความพยายามอยู่แล้ว เพราะไม่พบอะไร มีแต่ป่าที่รกเรื้อเต็มไปด้วยงูพิษ แต่ละครั้งที่เผาป่า ก็จะเห็นทรากงูตายกลาดเกลื่อน” อาเบลาร์โดเล่า

“มาวันหนึ่งไกด์นำทางเชิญนายบิงแฮมให้ไปกินอาหารด้วยกันที่บ้าน สายตาอันแหลมคมของนักสำรวจแลเห็นถ้วยชามที่ผู้นำทางใช้บรรจุอาหารเป็นดินเผาทั้งหมด จึงถามว่าไปได้มาจากไหน เขาบอกว่าเก็บได้ในบริเวณไม่ไกลจากที่พักเท่าไรนัก นายบิงแฮมจึงแน่ใจว่าจะต้องมีเมืองร้างอยู่จริงตามข่าวลือ จึงระดมให้ชาวพื้นเมืองช่วยกันเผาและถางป่ากันอย่างขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่งในที่ที่เขาสงสัยว่าจะเคยเป็นเมืองร้าง ในที่สุดความพยายามของเขาก็เป็นผล ทำให้เราได้มรดกอันมีค่าของโลกเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากว่าไม่มีหลักฐานอะไรทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่าเคยมีสถานที่แห่งนี้อยู่จริง นายบิงแฮมจึงตั้งชื่อสถานที่ต่างๆตามลักษณะที่เขาสันนิฐานว่าคงจะมีการใช้สอยเช่นนั้น เขาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักสำรวจและวิจัยค้นคว้าคนอื่นๆมาประกอบทฤษฎีของเขาด้วย อีกต่างหาก”

วันรุ่งขึ้น อาเบลาร์โดมารับไปเที่ยวหุบเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าอินค่า Sacred Valley ที่รายล้อมด้วยเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะสูงประมาณสี่พันเมตร ระหว่างทางรถหยุดแวะให้ดูตลาดเล็กๆที่ชาวพื้นเมืองเอาของที่ทำเองมาวางขาย สีสันของสิ่งทอเจิดจ้าน่าซื้อเป็นที่ยิ่ง ทั้งสองข้างทางที่รถวิ่งผ่านแลดูเขียวชอุ่มด้วยพืชพรรณต่างๆที่ขึ้นงอกงามด้วยแหล่งน้ำของแม่น้ำอูรูบุมบ้าที่ไหลผ่าน ชาวเผ่าอินค่าถือว่าหุบเขานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะนักดาราศาสตร์และพระสงฆ์ของพวกเขาเชื่อว่าหุบเขาแห่งนี้เป็นส่วนที่เชื่อมโยงมาจากเส้นทางช้างเผือก เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่หลายประการเช่น ตัวยาม่า (llama) นกคอนดอร์ (condor) ที่เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่บินได้ตลอดระยะทางเป็นแหล่งกสิกรรมบนเทอเรสของเทือกเขาเป็นชั้นๆตามแบบที่เห็นที่เมืองสนธยามาชชู พิชชู่ รถผ่านหมู่บ้านพีซัค (Pisac) อันเป็นที่ตั้งอีกแห่งหนึ่งของตลาดพื้นเมือง เพ็ญซื้อโล่ที่ทำด้วยบรอนซ์แผ่นหนึ่งมาแขวนไว้ดูเล่นหน้าบ้าน เพราะมีของขลัง ของเผ่าอินค่าที่ประกอบด้วย นกคอนดอร์ พระอาทิตย์ กระดิ่ง ตัวยาม่า หน้ากากและต้นไม้

รถวิ่งอีกประมาณหกสิบกิโลเมตรก็มาถึงหมู่บ้าน โอลันไททำโบ้ Ollantaytambo ที่เชิงเขามาชชู พิชชชู่“โอลันไททำโบ้ เป็นทั้งป้อมปราการและวัดของชาวอินค่า กว่าจะเก็บก้อนหินเหล่านี้มาได้พวกเขาต้องเดินไปที่เหมืองบ่อหินห่างไปถึงหกกิโลเมตร” อาเบลาร์โดอธิบายระหว่างที่เดินขึ้นบันไดสูงชันกว่าห้าร้อยขั้นไปจนถึงจุดสูงสุด “ชาวอินค่าไม่ชอบป่าร้อนอะเมซอน แต่ก็จำต้องผูกมิตรกับหัวหน้าเผ่าเอาไว้ เพราะอาหารที่ดีที่สุดได้มาจากลุ่มน้ำแห่งนั้น จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ไว้สำหรับรับรองหัวหน้าเผ่าอะเมซอนเพื่อการเจรจาในเรื่องต่างๆ ห้องหลายห้องที่เราเห็นใช้เป็นที่พักของนายทหาร คนสำคัญทางการเมืองและทางศาสนา ห้องพักของหญิงสาวที่ได้รับเลือกแล้ว รวมไปถึงห้องเก็บอาหารอีกด้วย”

เพ็ญเห็นแล้วว่าป้อมปราการสร้างขึ้นในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเยี่ยมยากที่จะมีใครมารุกรานได้ง่ายๆ แต่คำถามที่วนอยู่ในหัวของเพ็ญก็คือชาวอินค่าแบกหินมหึมาขึ้นมาได้อย่างไรเป็นพันๆหมื่นๆก้อน?

ในใจกลางหมู่บ้านเพ็ญทักทายกับหนุ่มสาวชาวอังกฤษกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่าเตรียมตัวพร้อมหน้ากันที่นี่เพื่อจะเดินขึ้นไป มาชชู พิชชู่ และกำลังรอผู้นำทาง และลูกหาบอยู่ เพ็ญบอกว่าอยากจะเดินขึ้นไปด้วยหากอายุน้อยกว่านี้สักสิบปี เด็กๆให้กำลังใจบอกว่า เพ็ญยังสาวอยู่ขึ้นได้สบายมาก ทำให้ใจของเพ็ญพองโตด้วยความสุข เด็กสาวคนหนึ่งกำถุงพลาสติคที่ใส่ใบโคค่าไว้จนเต็ม เพ็ญจึงล้อว่า ถ้าเขาเคี้ยวใบโคค่าที่ถืออยู่จนหมดละก็ เขาไม่จำเป็นต้องเดินแล้วคงจะได้บินไปแทนเป็นแน่ เด็กๆหัวเราะชอบใจ

ผิดหวัง

ตามหมายกำหนดเดิมที่เตรียมจากสวิส เพ็ญและฮันส์จะเดินทางไปเมืองพูโน่ (Puno) ในเช้าวันต่อไปด้วยรถไฟโอเรียนเต็ลเอ๊กซเพรสที่บุ๊คเอาไว้ล่วงหน้า ใช้เวลาเดินทางในราวเก้าถึงสิบชั่วโมงก็จะถึงเมืองพูโน่ที่ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบติติกาก้า (Titicaca) แล้วก็จะมีรถมารับไป ลาปาส (La Paz) เมืองหลวงของประเทศโบลีเวีย ในวันรุ่งขึ้น เพ็ญเฝ้ารอคอยวันที่จะไปเที่ยวเมืองหลวงที่อยู่สูงที่สุดในโลกด้วยใจจดใจจ่อ (๓๘๒๗ เมตร) แต่แล้วก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เพราะเกิดสไตรค์ทั้งทางรถไฟและรถยนต์ในช่วงนั้น นักท่องเที่ยวจากยุโรปกลุ่มหนึ่งติดอยู่ที่เมืองพูโน่ ด้วยไม่มียานพาหนะออกจากเมือง เพ็ญและฮันส์จึงต้องเลิกล้มกำหนดเดิม แล้วเปลี่ยนแผนใหม่อย่างกระทันหัน บินไปเมืองอารีคิปป้า (Arequipa) ที่อยู่ไปทางใต้เมืองหลวงของเปรูประมาณหนึ่งพันกิโลเมตรแทน ด้วยเหตุที่อารีคิปป้าอยู่สูง ๒๓๒๕ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่ยังต่ำกว่าเมืองคุซโค่ถึงพันกว่าเมตร จึงไม่ต้องปรับตัวในเรื่องความสูงเมื่อไปถึงที่นั่น

เมืองสีขาว

เมืองเก่าของอารีคิปป้าประกอบไปด้วยอาคารในแบบของสเปนสมัยศตวรรษที่สิบหก สีขาวของหินที่สร้างอาคารแลเห็นระยิบระยับล้อแสงแดดเป็นประกาย ตัวเมืองโอบล้อมด้วยภูเขาไฟลักษณะรูปกรวยที่อ่อนช้อยของ “แอลมิสตี้” (El Misti) ซึ่งสูง ๕๘๒๒ เมตร เห็นโดดเด่นอยู่เหนือวิหารใหญ่ของเมือง ขนาบด้านซ้ายด้วย “ชาชานี่” (Chachani) สูง ๖๐๗๕ เมตร และ “พิชู พิชู” (Pichu Pichu) สูง ๕๕๗๑ เมตรทางด้านขวา ภูเขาไฟที่ล้อมรอบมีทั้งที่ดับแล้วและยังตื่นตัวอยู่ อารีคิปป้าถูกขนานนามว่าเมืองสีขาว เนื่องจากหินส่วนใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นสีขาว หรือ sillar ที่ได้มาจากภูเขาไฟในบริเวณนั้น

อารีคิปป้าก็คล้ายกับเมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศเปรู จะผิดกันก็แต่หินที่ใช้ในการก่อสร้างเท่านั้น ในเมืองมีจตุรัสกว้างใหญ่แบบสเปน มีโบสถ์ วิหาร และอาคารต่างๆสร้างด้วยหินซิลล่าแทบทั้งหมด แทบจะไม่มีวัตถุอื่น เช่นไม้ให้เห็นเลย ความอ่อนช้อยของหินที่สลักเสลาเป็นรูปต่างๆทั้งภายนอกและภายในอาคารให้บรรยากาศที่มีเสน่ห์ในตัวของมันเองอีกแบบหนึ่ง

“ผมภูมิใจในเลือดชาวสเปนของผมมาก เพราะคุณปู่ของผมมาจากสเปน” ฟรานซิสโก ไกด์ของเพ็ญบอกอย่างเย่อหยิ่งนิดๆในทันทีหลังจากที่ได้แนะนำตนเองแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่มีใครถามเลยว่าเขามาจากไหน ฟรานซิสโกมีรูปร่างสูงกว่าชาวเปรูโดยทั่วไป ผิวสีขาวแบบชาวตะวันตก แต่งกายเรียบร้อย สรวมหมวกปานามาทำให้เขาดูคล้ายกับพวก Gaucho คาวบอยในประเทศอาร์เจนตินา

“แต่คุณเกิดและเติบโตในเปรูใช่ไหมคะ?” เพ็ญถาม หงุดหงิดขึ้นมาหน่อยๆเพราะตัวเพ็ญเองนั้น ตาบอดสีมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าใครจะมาจากไหนเพ็ญแลไม่เห็นสีผิวของเขา หากพูดกันรู้เรื่อง จะเห็นก็แต่ความเป็นมนุษย์เท่านั้น สำหรับเพ็ญแล้วผู้คนในโลกมีอยู่ชาติเดียวคือชาติ “มนุษย์”

“ถูกต้อง” ฟรานซิสโกตอบขยับหมวกไปข้างหลังนิดหน่อยเพื่อจะได้หันมามองเพ็ญได้เต็มตาจากเบาะหน้าของรถ

“ถ้าเช่นนั้นคุณก็เป็นชาวเปรูเหมือนคนอื่นๆเช่นกันสิคะ ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อสายอินเดียนแดงหรือชาวอินค่าที่พูดภาษาเคียวชัว” ฟรานซิสโกหน้าเสีย เพราะเห็นว่าเพ็ญไม่ได้อือออห่อหมกไปด้วยทำให้เพ็ญรู้สึกผิดที่ปากไวไปหน่อย

อาจจะเป็นเพราะเปรูเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปนมาก่อนก็ได้ ทำให้ฟรานซิสโกรู้สึกว่าเขาอยู่เหนือกว่าชาวพื้นเมืองคนอื่นๆ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เพ็ญต้องเตือนสติเขาว่าทุกคนที่ถือกำเนิดมาจากประเทศเดียวกัน ไม่ควรจะมีความรู้สึกแตกแยกแบ่งเชื้อชาติ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาฟรานซิสโกไม่เคยเอ่ยถึงชาติกำเนิดของเขาอีกเลย นอกเหนือไปจากนี้แล้วฟรานซิสโกเป็นไกด์ที่ดี มีความรู้ แม้ว่าจะอ่อนแออยู่บ้าง

พลเมืองของอเมริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวเมสติโซ่ (mestizo) ซึ่งเป็นเลือดผสมระหว่างชาวพื้นเมืองกับคนผิวขาวชาวยุโรป นอกจากนั้นก็มีชาวพื้นเมืองดั้งเดิมผิวคล้ำแบบชาวอินเดียนแดงซึ่งเรียกกันว่าชาวอินโด ที่มักจะแต่งกายแบบชาวพื้นเมืองด้วยสีสันฉูดฉาดของที่ราบสูงของเทือกเขาแอนเดส หรือด้วยชุดพื้นเมืองจากลุ่มแม่น้ำอะเมซอน รวมถึงพวกที่พูดภาษาเคียวชัวหรือภาษาพื้นเมืองอื่นๆของโบลีเวีย เอเควดอร์และเปรู ทั้งๆที่แต่ละเผ่ามีวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่และความเชื่อถือแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขาก็พยายามอยู่ร่วมกันโดยให้มีการขัดแย้งน้อยที่สุด ดนตรีเป็นสิ่งหนึ่งที่ผูกพันพวกเขาไว้อย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นแซมบ้า แลมบาด้า บ๊อสซาโนว่า แทงโก หรือซอลซ่า นี่ยังไม่รวมไปถึงดนตรีพื้นเมืองชนิดอื่นๆอีก โดยพื้นฐานชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้มีความเป็นมิตรต่อผู้คนแปลกหน้า แต่ก็ไม่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจจนเกินกว่าเหตุ เพราะบทเรียนที่ได้รับมาจากในอดีตที่เคยถูกกดขี่ข่มเหงมาแล้วอย่างทารุณจากคนผิวขาวในสมัยล่าอาณานิคม

“คอนแวนต์ซานตาคาตาลีน่า (Santa Catalina) สร้างขึ้นในปี ๑๕๗๙” ฟรานซิสโกสรวมวิญญาณไกด์ที่ดีอธิบายถึงประวัติของคอนแวนต์ตรงหน้า “ซานตาคาตาลีน่ามีเนื้อที่ถึงสองหมื่นตารางเมตรสร้างด้วยหินของภูเขาไฟตามรูปแบบของเมืองอารีคิปป้า ซึ่งมีโบสถ์และอาคารในแบบสเปนเป็นลักษณะเฉพาะตัว”

อาคารแต่ละหลังล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐสูงใหญ่สร้างเชื่อมต่อกันเพื่อค้ำกำแพงให้แข็งแรงดูคล้ายป้อมปราการ “แม่หม้ายมาเรีย เดอ กุซมาน Dona Maria de Guzman รวยมหาศาลแต่ไม่มีลูก จึงได้บริจาคเงินและทรัพย์สมบัติทั้งหมดสร้างคอนแวนต์ให้เป็นที่อยู่ของนักบวชหญิงชาวคาธอลิค (nun) พอสร้างเสร็จมาเรียก็เข้ามาอยู่ก่อนใครเพื่อนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่อธิการคนแรกของคอนแวนต์”

“สุภาพสตรีส่วนใหญ่ที่มาบวชมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย จึงสามารถสร้างห้องเป็นที่อยู่ส่วนตัวได้ แต่ละคนเอาสาวรับใช้มาอยู่ปรนนิบัติ จึงจำเป็นต้องสร้างห้องเพิ่มเติมให้สาวใช้ บางรายมีคนรับใช้หลายคน มีส่วนที่เป็นครัวและใช้ในการซักรีด คุณจะเห็นว่าลักษณะของแต่ละห้องบอกถึงฐานะของผู้ที่เข้ามาบวช ห้องบางแห่งยังมีชื่อของนักบวชติดเอาไว้หน้าประตู”

ตอนเดินผ่านไป เพ็ญเห็นครัวมหึมาและห้องอาหารใหญ่สำหรับใช้ในการรับประทานอาหารร่วมกัน มีห้องเก็บกองฟืนใหญ่ใช้ในการหุงต้ม มีลานหินซักผ้า มีบ่อน้ำ และห้องคนป่วย ส่วนแม่ชีมืดก็มีห้องต่างหาก สร้างแบบมีลวดเหล็กล้อมรอบ มีหน้าต่างเล็กๆสำหรับติดต่อกับผู้มาเยือน อาคารหลายแห่งมีภาพสลักเฟรสโกสวยงามบนฝาผนังล้วนแต่เป็นเรื่องต่างๆที่เล่าไว้ในพระคัมภีร์ การวางผังของซานคาตาลีน่าคล้ายกับผังเมืองในหมู่บ้านในประเทศสเปน ระหว่างตึกเป็นถนนตรงยาวเหยียดแคบๆ เหนือศีรษะเป็นโครงสร้างรูปโค้งยึดตัวตึกเข้าไว้ด้วยกัน

บางห้องรวมรูปภาพของนักวาดภาพที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย ส่วนใหญ่เป็นภาพที่เกี่ยวกับศาสนา ฟรานซิสโกบอกว่าที่คอนแวนต์นี้เป็นที่รวมของรูปภาพในแบบของเปรูที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนี้ก็มีถ้วยชามรามไหโบราณแบบอ่อนช้อยเก็บสะสมเอาไว้จากผู้ถือบวชที่ได้นำเข้ามาใช้สอยระหว่างที่พำนักอยู่ที่นี่อีกต่างหาก

“แต่แรกก็มีแต่สุภาพสตรีเชื้อสายชาวสเปนที่เกิดในประเทศเปรูหรือในประเทศอาณานิคมที่มีฐานะเท่านั้นที่เข้ามาบวช ไม่มีสุภาพสตรีที่เกิดในสเปนเลย เพิ่งจะเริ่มมีเป็นครั้งแรกในปี ๑๙๖๔ เท่านั้น และหญิงนักบวชเหล่านี้ก็มีชีวิตที่สุขสบายเพราะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ก่อนจะเข้ามาอยู่ได้ก็ต้องจ่ายเหรียญทองให้คอนแวนต์ถึงหนึ่งพันเปโซ เพราะฉนั้นชีวิตในนี้จึงมีลักษณะเหมือนอยู่กันในวังมากกว่าในคอนแวนต์ เพราะมีสิ่งปนเปรอให้ความสะดวกสบายอย่างล้นเหลือ เป็นธรรมดาที่ใดที่มีคนอยู่รวมกันมากๆก็ย่อมจะมีเรื่องนินทากันมากเช่นกันแม้แต่ในคอนแวนต์เอง เล่ากันว่ามีนักบวชคนหนึ่งอายุเพียงสิบหกปีเท่านั้นเข้ามาขอบวชเพราะถูกคนรักที่เป็นพ่อหม้ายทอดทิ้ง อยู่ได้ระยะหนึ่ง ซิสเตอร์ดอมิงโกก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตในคอนแวนต์ จะลาออกไปก็ไม่ได้ จึงใช้วิธีตบตาจัดการเผาตนเอง โดยเอาศพหญิงชาวอินเดียนมาวางไว้บนเตียงของตนแล้วเผาทิ้ง แม่ชีอธิการไม่ยอมเชื่อคำเล่าลือว่าซิสเตอร์ดอมิงโกไม่ได้เผาตนเองและหนีออกไปอยู่ภายนอกกำแพง จนกระทั่งเธอได้รับจดหมายจากซิสเตอร์ดอมิงโกขอของกำนัลคือเหรียญทองหนึ่งพันเปโซคืน เพราะฉนั้นใครก็ตามที่มาเที่ยวเมืองอารีคิปป้าต้องมาเที่ยวที่คอนแวนต์นี้ เพราะเป็นคอนแวนต์ที่ไม่เหมือนคอนแวนต์อื่นๆในโลก”

หุบเขาที่ลึกที่สุดในโลก

ระหว่างที่รถวิ่งไปบนไฮเวย์ ฟรานซิสโกชวนแขกคุย “ภูเขาไฟชาชานี่ที่เราเห็นอยู่ข้างหน้าเป็นภาษาเคียวชู แปลว่า คุณมีสามีแล้วหรือยัง?” แขกอมยิ้ม ไม่คิดว่าไกด์ผู้มีลักษณะเย่อหยิ่งตอนพบกันครั้งแรกจะมีอารมณ์ขัน “กว่าจะถึงเมืองชีเว่ (Chivay) ที่เราจะไปพักคืนนี้ คงจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพราะมีถนนดีเพียงหกสิบกิโลเมตรเท่านั้น อีกยี่สิบห้ากิโลเมตรที่เหลือเป็นถนนลูกรังมีแต่ก้อนหินปูพื้นถนนแต่อย่างเดียว รถวิ่งเร็วไม่ได้ แต่หลังจากนั้นไปอีกยี่สิบห้ากิโลเมตถนนก็จะดีไปจนถึงเมืองชีเว่”

ในตอนแรกๆ แม้ว่าถนนจะเรียบ รถก็วิ่งเร็วไม่ได้อยู่ดี เพราะสูงชันคดเคี้ยวไปตามความสูงของไหล่เขาบนเทือกเขาแอนเดส สองข้างทางเป็นหุบเหวลีก ในส่วนที่เป็นทะเลทรายและแห้งแล้งมีต้นแคคตัสขนาดต่างๆขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ฟรานซิสโกบอกว่าแหล่งนี้มีแคคตัสขึ้นมากที่สุดในเปรู ฟรานซิสโกชี้ให้ดูภูเขาไฟอัมพาโต้ Ampato ที่เป็นภูเขาไฟปกคลุมไปด้วยหิมะชั่วนาตาปี สูงถึง ๖๒๘๘ เมตร ตามซอกหินสองข้างทางมีกระต่ายป่าซ่อนตัวอยู่ชุกชุม บางครั้งก็วิ่งออกมาจากรูที่ซ่อนให้ได้ดูกันเป็นขวัญตา ยามใดที่มีป้ายบอกให้ระวังสัตว์ วิคตอร์ ฮูโก คนขับจะขับช้าๆ หาที่จอดให้ได้ดูสัตว์และถ่ายรูปกันเป็นระยะๆ บริเวณใดที่เป็นสีเขียวก็จะมีสัตว์สี่ขาเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหยุดเล็มหญ้าอยู่เป็นฝูงๆเช่น ยาม่า Illma อัลพาค่า Alpaca และ วิคูย่าVicuna เป็นต้น เพราะเทือกเขาแอนเดสในอเมริกาใต้มีสัตว์จำพวกนี้อยู่ชุกชุม เนื้อใช้กินได้ ส่วนขนก็ใช้ทำเสื้อขนสัตว์หรือผ้าคลุมพอนโช่ เสื้อหรือผ้าคลุมที่ทำจากตัววิคูย่ามีราคาแพงถึงตัวละสองพันเหรียญสหรัฐฯเป็นอย่างต่ำ สัตว์เหล่านี้มีลักษณะไม่แตกต่างจากกันนัก เพียงแต่ว่าตัวยาม่ามีคอยาวและสูงกว่าตัวอัลพาค่าและตัววิคูย่า

พอสิ้นสุดถนนดี ฟรานซิสโกก็บอกให้หยุดรถไปเข้าห้องน้ำและพักดื่มน้ำชา ชาช่าโคม่า Chachacoma ที่ทำจากใบโคค่าเช่นกัน เขาบอกว่าป้องกันการวิงเวียนศีระษะที่เกิดจากความสูง และใช้ระบายได้อีกต่างหาก ฮันส์ดื่มไปถึงสองถ้วยใหญ่ๆ มารู้รสความรุนแรงของมันเมื่อตอนไปเข้าห้องน้ำที่โรงแรมที่พัก

จริงอย่างที่ฟรานซิสโกบอกไว้ หลังจากถนนเรียบแล้ว ก็มาถึงถนนที่ขรุขระไปด้วยก้อนหิน จะเรียกว่าเป็นถนนก็คงจะไม่ถูกต้องนัก ควรจะเรียกว่าทางวิบากจะเหมาะกว่า เห็นได้ว่าวิคเตอร์ ฮูโกโชเฟอร์คุ้นเคยกับถนนสายนี้เป็นอย่างดี เขาบอกว่าขับไปขับมาอาทิตย์ละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย ส่วนใดที่เขารู้ว่าจะเป็นหลุมเป็นบ่อลึกๆก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงเพื่อให้แขกทรมานน้อยที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นรถก็ยังกระเด้งไปกระเด้งมาอยู่ตลอดเส้นทาง เขาบอกว่าอีกสักหนึ่งปีข้างหน้าถนนสายนี้ก็คงจะแล้วเสร็จ เพราะได้รับงบประมาณมาแล้วจากรัฐบาลกลาง

“นั่นเป็นอะไรคะ?” เพ็ญชี้มือไปยังก้อนหินเล็กๆก่อเป็นรูปปิรามิดขนาดเล็กทั่วไปตามทางที่ผ่าน “เป็นการก่อสร้างของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในถิ่นนี้ เรียกว่า อาปาเช็ตต้า apachetas ซึ่งเป็นการบูชาภูเขาหรือ Apus ตามความเชื่อแบบโบราณในศาสนาของชาวเขาแถบแอนเดส” ฟรานซิสโกตอบ

รถวิ่งไปจนถึงจุดยอดสุดของเทือกเขาซึ่งสูงประมาณ ๔๘๐๐ เมตร แล้วก็เริ่มไต่ลงไปเมืองชีเว่ที่อยู่ในหุบเขา คอลค่า Colca Valley เพ็ญรู้สึกถึงความมีโชคของตนเองที่มีโอกาสดั้นด้นมาจนถึงใจกลางของเทือกเขาแอนเดสทั้งๆที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าจากสวิสมาก่อนเลย โรงแรมที่พักเป็นกระท่อมเล็กๆหลายหลัง แต่ก็ให้ความสะดวกสบายพอสมควรในระยะชั่วคืน มีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นไว้บริการ มีเตาผิงใช้ฟืนในห้องรับแขกให้ความอบอุ่นในยามค่ำคืน มีห้องอาหารที่จะรับประทานกันในคืนนั้นในราวสี่โมงเย็น ฟรานซิสโกพาไปอาบน้ำที่บ่อน้ำร้อนห่างจากตัวเมืองชีเว่ไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร น้ำร้อนใช้ต้มไข่ได้สุก บรรจุแร่ซึ่งเป็นยากำจัดโรคภัยหลายชนิด เพ็ญเคยไปอาบน้ำแร่ในประเทศต่างๆมาแล้วรวมทั้งที่ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศอิสราเอล แต่การได้มาอาบน้ำแร่ท่ามกลางบรรยากาศที่เปล่าเปลี่ยวล้อมรอบด้วยภูเขาไฟ มีหนทางเดินและแหล่งเพาะปลูกที่เผ่าอินค่าเคยใช้ในสมัยโบราณ ในอากาศที่ค่อนข้างเยือกเย็นของเทือกเขาแอนเดสเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืม

เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ฟรานซิสโกมารับไปดูนกคอนดอร์ condor ใช้เวลาเดินทางข้ามแม่น้ำที่แห้งแล้งประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ถึง ครูซ เดล คอนดอร์ Cruz del Condor ตรงจุดที่มีความลึกถึง ๑๔๐๐ เมตร ซึ่งฟรานซิสโกบอกว่าหากโชคดี จะมีนกคอนดอร์ออกมาบินให้ดูเล่นในยามสายๆที่มีอากาศอบอุ่นขึ้นอีกนิดหน่อย

“แม่น้ำคอลค่าถือกำเนิดมาจากเทือกเขาสูงทางตอนใต้ของเปรูซึ่งสูง ๕๐๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล หลังจากที่ไหลผ่านหุบเขาต่างๆเป็นระยะทางถึง ๔๕๐ กิโลเมตรแล้วก็ไปไหลลงในมหาสมุทรแปซิฟิค หุบเขาตอนที่ลึกที่สุดที่แม่น้ำคอลค่าไหลผ่านลึกประมาณ ๓๐๐๐ เมตร ทำให้หุบเขาคอลโค่ได้ชื่อว่าเป็นหุบเขาที่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีความยาวถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตรอีกต่างหาก” ฟรานซิสโกอธิบาย

เพ็ญห่อตัวด้วยความหนาว เพราะฟ้ายังไม่เปิด และเพ็ญก็ขี้เกียจเอาเสื้อหนาวขนาดใหญ่ติดตัวมาให้รุ่มร่าม เพราะรู้ว่าตกสายมีแสงแดด อากาศก็จะร้อน

“นกคอนดอร์ทำรังอยู่ในตอนกลางของหุบเขาที่เป็นโขดหิน มันจะบินออกมาก็ต่อเมื่อมีแสงแดดเท่านั้น เพราะมันไม่ชอบอากาศหนาว” ฟรานซิสโกอธิบาย ในขณะที่ วิคเตอร์ ฮิวโกงัดเอากล้องออกมาให้เพ็ญส่องไปรอบๆบริเวณ “คอนดอร์เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่บินได้ เวลากางปีกออกนกตัวโตๆวัดได้ถึงสามเมตร”

“มันกินอะไรเป็นอาหารคะ?” เพ็ญถาม “แถวนี้ไม่เห็นมีสัตว์อะไรให้จับกินได้เลย”

“นกคอนดอร์ไม่จับสัตว์เป็นๆกินหรอกครับ” ฟรานซิสโกตอบ “มันกินแต่ทรากศพเน่าเปื่อยของสัตว์ที่ตายแล้ว เวลาเห็นศพมันจะกางปีกออกบินโฉบลงไปพร้อมกับขยายอุ้งตีนออกเต็มที่เพื่อจับเอาอาหารขึ้นมา คล้ายอีแร้งเหมือนกัน”

“เรารออยู่ตั้งสองชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นมันบินออกมาให้เห็นเลยสักตัว แดดก็ออกแล้ว” เพ็ญบ่น

“ผมได้ยินว่าวันก่อนมีวีไอพีมาเที่ยวที่นี่ เขาฆ่าแพะถึงสองสามตัว เพื่อล่อให้นกมันออกมาจากรัง เห็นเขาว่า มันบินออกมาตั้งสามสิบกว่าตัวแน่ะ” วิคเตอร์ ฮิวโกเสริมขึ้นบ้าง

“เราน่าจะจับแพะมาฆ่าล่อมันสักตัวนะ” ฮันส์ติดตลก

พูดยังไม่ทันขาดคำ คอนดอร์ตัวหนึ่งก็บินเลี้ยวมาจากโหดขินด้านตรงกันข้าม เห็นได้แต่ไกล ฮันส์พยายามจะถ่ายรูปแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมันบินเร็วมาก บินมาแล้วก็เลยไป แต่รออีกไม่นานอีกตัวก็บินโฉบมา ตามด้วยตัวที่สองที่สามและที่สี่ คอนดอร์ฝูงนี้ดูจะเชื่อง เพราะมันบินโฉบมาจนใกล้ ปีกกว้างของมันกระพือลมร้อนที่พัดอยู่ข้างใต้ขึ้นมา จนเพ็ญเกรงว่ามันจะพัดพาคณะตกลงไปในเหว หรือไม่ก็โฉบลงมาเกาะบนหัวจนคอหักตาย “พวกคุณโชคดีจริงๆ” วิคเตอร์ ฮิวโกร้องบอกอย่างตื่นเต้น “เราเห็นคอนดอร์บินมาคราวเดียวกันถึงสี่ตัว มันคงจะเป็นฝูงครอบครัว ที่มีรังอยู่ใกล้ๆ จึงบินออกมาให้เราดูเล่น ก่อนจะบินไปหาอาหารกินที่อื่น”

“แล้วนกอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่านก อัลบาทรอส (Albatross) ล่ะคะ มันใหญ่กว่านกคอนดอร์ไหมคะ?” เพ็ญเพิ่งนึกขึ้นได้ เพราะบางครั้งที่จะไปไหนใกล้ๆภายในเอเซียก็ใช้บริการบริษัทท่องเที่ยวที่ภูเก็ตที่เจ้าของชาวฮอลแลนด์ใช้ชื่อนก “อัลบาทรอส” เป็นชื่อบริษัท

“ผมเคยได้ยินเหมือนกันว่ามันเป็นนกที่บินได้ขนาดใหญ่ แต่จะใหญ่กว่านกคอนดอร์หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ” ฟรานซิสโกเกาหัว “อาจจะใหญ่กว่าก็ได้นะ แต่ใครๆก็บอกว่านกคอนดอร์ใหญ่ที่สุด”

ท่ามกลางความเวิ้งว้างเปล่าเปลี่ยวเงียบสงัดในดินแดนที่ห่างไกลจากโลกศิวิไลซ์ทั้งสิ้นทั้งปวง เพ็ญมีโชคมหาศาลที่ได้เห็นนกคอนดอร์ในถิ่นที่กำเนิดและที่อยู่อาศัยของมันเอง ทำให้เพ็ญดีใจที่เลือกมาที่นี่แทนที่จะไปที่อื่น และเกือบจะลืมความผิดหวังที่พลาดไม่ได้ไปเที่ยวประเทศโบลีเวีย แต่ก็หมายใจไว้ว่าวันหนึ่งคงจะได้ไปเมื่อสถานะการณ์ทางการเมืองของประเทศนั้นดีขึ้น