ในช่วงฤดูร้อน ประเทศนี้มีอะไรต่ออะไรให้ทำเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากนักร้องที่มีชื่อเสียงเช่น Madonna หรือCeline Delon Tina Turner หรือใครก็แล้วแต่ ที่ เมืองลูเซิร์นเอง ก็มีงานคอนเสิร์ตแบบ open air บนฝั่งทะเลสาบแทบทุกวัน มีเวทีแบบถาวร ที่เขาใช้จัดการแสดง อาจจะเป็นเพลงประเภทป๊อบมิวสิคบ้าง ฮาร์ดร็อกบ้าง
หลายแห่งมีการฉายหนังแบบ open air ร้านอาหารและโรงแรมบางแห่งจะมีทั้งอาหารและไวน์ เรียกว่า dine and wine ซึ่งรวมไปถึงการชมภาพยนตร์ด้วย การฉายหนังจะทำกันค่อนข้างดึกสักหน่อย เพราะฤดูร้อนในประเทศยุโรป เช่นสวิส กว่าพระอาทิตย์จะตกดินสิ้นแสงก็เกือบๆจะสี่ทุ่มไปแล้ว ถ้าหากไม่มีฝนตกลงมา แบบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น หรือมีฟ้าฝนคะนอง การฉายหนังจะเกิดขึ้นแน่นอน เขามักจะมีโปรแกรมมาให้ดูก่อนล่วงหน้า ว่าจะดูหนังเรื่องไหนและประเภทไหน ภาษาอะไร ต่างมีให้เลือกตามอัธยาศัย ส่วนร้านอาหารที่มี dine และ wine นั้น จะเลือกไปดูหนังเฉยๆโดยไม่ต้องกินอาหารก็ได้ แต่ไม่มีสิทธิ์เลือกที่นั่งดูตามใจชอบ ส่วนแขกที่จองล่วงหน้าทั้งกินอาหารและทั้งดื่มจะได้สิทธิ์พิเศษ เพราะเขาจะจองที่นั่งที่ดีที่สุดไว้ให้ การแสดงเหล่านี้ได้รับความนิยมมากจากผู้คนในประเทศที่พัฒนา ระหว่างการรับประทานอาหาร จะมีไวน์แต่ละชนิดมาเสิรฟให้ชิมกันจนจุใจ เป็นไวน์ที่ส่วนใหญ่เจ้าของ vineyard แต่ละแห่งจะเป็นผู้นำมาแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ชนิดไหน ก็อร่อยมีรสชาติทั้งสิ้น
ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเห็นจะเป็น Jazz Festivalในแถบใต้ของประเทศสวิสที่ใช้ภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาท้องถิ่น คือเมือง Locarno Lugano และเมือง Ascona อยากจะเล่าว่าที่เมืองลูกาโน่ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกอีกเรื่องหนึ่งคือการประกวดภาพยนตร์ ที่เรียกว่า Lugano Film Festival ในเดือนสิงหาคม ซึ่งคล้ายคลึงกับการประกวดภาพยนตร์ที่เมือง Cannes (กันส์) ในประเทศฝรั่งเศส ดาราที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลกต่างก็มาปรากฏกายกันที่นี่ พร้อมกับผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆในด้านการแสดงทั้งโทรทัศน์และวิทยุ
พอรู้วันที่ที่แน่นอน ว่าจะมีการแสดงดนตรีแจ๊สที่แอสโคน่า เนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีวันเกิดของ Lionel Hampton หากเขายังมีชีวิตอยู่ เราก็นัดเพื่อนๆอีกสี่ห้าคนไปดูคอนเสิร์ทกัน เพราะเพื่อนในกลุ่มนี้ต่างก็ชอบดนตรีแจ๊สเช่นเดียวกัน วันนั้นตื่นตั้งแต่ไก่โห่ โชคดีเป็นในฤดูร้อนที่พอตีห้าก็สว่างแล้ว เป็นเวลาที่ กลางคืนสั้น กลางวันยาว เรานั่งรถบัสจากบ้านไปสถานีรถไฟ แล้วนั่งรถไฟต่อไปถึงเมือง Locarno ที่อยู่ทางใต้ของประเทศ การที่ใช้รถไฟ แทนรถยนต์ก็เพราะการไปรถไฟในประเทศนี้แสนจะสะดวกสบาย ถ้าไปรถยนต์อาจจะต้อง ไปรอคิวเป็นชั่วโมงที่อุโมงค์ Gotthard ก็ได้ และอุโมงค์นี้มีความยาวถึงสิบเจ็ดกิโลเมตรซึ่งเคยเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในโลก เปิดให้ใช้ตั้งแต่ปี ๑๙๘๐ แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าจะมีอุโมงค์ในประเทศญี่ปุ่นยาวกว่าเสียแล้ว แม้ว่าจะมีการให้ความปลอดภัยจากมลพิษอย่างเข้มงวด แต่การไปติดอยู่ภายในอุโมงค์นานๆก็ไม่ใช่เรื่องที่สนุกเลย การที่จะไปให้ถึงทางใต้ของประเทศ จำเป็นต้องลอดอุโมงค์นี้ไป ไม่เช่นนั้นก็จะต้องขับรถขึ้นไปบนภูเขา แล้วไปลงอีกทางหนึ่ง
เมือง Locarno ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบ Maggiore เช่นเดียวกับเมืองLugano ซึ่งอยู่ในแคนตอน Tessin หรือ Ticino หลังจากแวะกินกาแฟแล้ว ก็นั่งรถ Post auto ไปจนถึงเมือง Ascona ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Locarno ไปไม่ไกลนัก รถพามาถึงเมืองในราวสิบเอ็ดโมง ลงจากรถแล้ว เราก็เดินเข้าไปในตัวเมือง ร้านอาหาร Ristorante Ambrosoli เป็นจุดหมาย เพราะเป็นที่ๆวงดนตรีแจ๊ส Barrelhouse Jazz bandจะมาเล่น เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาเที่ยง เราจึงสามารถเลือกโต๊ะนั่งได้ตามสบาย เลือกได้โต๊ะหลังๆ แต่สามารถเห็นและฟังการเล่นดนตรีได้อย่างชัดเจน สั่งอาหารกลางวันมารับประทานพร้อมไวน์แดง พวกเราส่วนใหญ่สั่งอาหารจำพวกสลัดและพาสต้า พอได้เวลาเที่ยงตรงนักดนตรีต่างก็ทยอยกันเข้ามา แต่ละคนนุ่งกางเกงขายาวสีขาว ใส่เสื้อเชิร์ตฮาวายสีต่างๆกันมีแต่นักเล่นปีอาโนเท่านั้นที่สรวมหมวกปานาม่า
หลังจากที่หัวหน้าวงได้แนะนำตนเองและเหล่านักดนตรีทั้งเจ็ดคนแล้ววงดนตรีก็เริ่มบรรเลง ในขณะเดียวกันแขกต่างก็เริ่มเข้ามานั่งกันจนเต็มหมดทุกโต๊ะ แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาปรอยๆ แต่โต๊ะที่จัดวางไว้ข้างนอกก็มีแขกเข้ามานั่งจับจองกันจนเต็ม ทางร้านได้มีมาตรการล่วงหน้าพร้อม จึงได้จัดให้มีผ้าใบคลุมหลังคาเป็นการป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า
แจ๊สวงนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๑๙๕๓ ที่ประเทศเยอรมันนี ในช่วงระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้มีผลงานออกมามากมาย มีอัลบั้มเพลงที่แต่งไว้ถึงสามสิบอัลบั้ม ได้รับรางวัลมานับไม่ถ้วน เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก Barrelhouse Jazz band เป็นวงดนตรีแจ๊ สจากยุโรปวงแรกที่ได้รับเกียรติให้ถือสัญชาติกิติมศักดิ์ของเมือง New Orleans ซึ่งหมายถึงการยอมรับนับถือในคุณภาพแห่งความเป็นศิลปินของพวกเขา หัวหน้าวงแจ๊สวงนี้คือนาย Reimer von Essen เป็นชาวเยอรมัน นักดนตรีในวงของเขานับด้วยกันทั้งหมดเจ็ดชีวิตรวมถึงตัวเขาเองด้วย เขาเป็น conductor ของวง นาย ไรเมอร์ เองเล่น clarinet เขาเป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด แต่อาศัยที่เคยอยู่สหรัฐอเมริกามานาน และใช้ชีวิตในการเล่นดนตรีในประเทศต่างๆหลายประเทศ จึงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้โดยไม่ขัดเขิน ภาษาที่ใช้ในวันนั้นจึงเป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะอยู่ในประเทศสวิสในเขตที่พูดภาษาอิตาเลียนก็ตาม
แม้ว่าจะ “ตกหลุมรัก” ทั้งในความเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงสไตล์ การสวิง ตลอดจนถึงดนตรีบลู และประเพณีการปฏิบัติของวงดนตรีแจ๊ส New Orleans แต่ Barrelhouse Jazz Band ก็สามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่อง การแต่งเพลง มาระยะหลังๆ วงดนตรีแจ๊สวง นี้ได้เริ่มแต่งเพลงประเภท boogie woogie โดยได้รัป อิทธิพลจาก Creole และ Caribbean
ในปี ๒๐๐๓ Barrelhouse ได้ฉลองการก่อตั้งห้าสิบปีของวงดนตรี แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วถึงครึ่งศตวรรษ วงดนตรีและสมาชิกนักดนตรีทั้งเจ็ดคน ก็ยังไม่เหน็ดเหนื่อยต่อการแสดง ตรงกันข้ามยังเล่นดนตรีกันอย่างต่อเนื่องในประเทศต่างๆโดยไม่หยุดยั้ง ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาวงดนตรีแจ๊สวงนี้ ได้มีการแสดงมาแล้วทั้งหมดถึงห้าสิบประเทศ มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกร่วมอยู่ด้วย เช่น Clark Terry, Joe Newman และHarry “Sweets” Edison เป็นต้น
ในงานฉลองครบรอบสี่สิบปีหลังการก่อตั้ง วงดนตรี นี้ได้เคยแสดงมาแล้วกับ Lionel Hampton Orchestra
ชื่อเสียงของนาย Lionel Hampton เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในหมู่คนที่ชอบและรักดนตรีแจ๊ส ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น นายไรเมอร์ได้ประกาศว่า จะเล่นเพลงชื่อ Red Beans & Rice ซึ่งแต่งโดยนาย John Dass ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่นำดนตรีแจ๊สเข้ามาในยุโรป นาย John Dassได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสองเดือนก่อน (ขณะที่เขียนสารคดีชิ้นนี้ก็เป็นเวลาประมาณสี่เดือนพอดี และเพลงสุดท้ายที่เขาแต่งก่อนเสียชีวิตคือ Red Onion Blues นักดนตรีทุกคนเล่นเพลงกันอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นปีอาโน saxophone clarinet หรือกลอง แขกทุกคนต่างได้รับความรื่นรมย์จากการ แสดงโดยถ้วนหน้า พร้อมกับการตบมือให้จังหวะในบางครั้ง และเป็นการแสดงความชื่นชมในบางครั้งเช่นเดียวกัน
หลังจากนั่นเราตามไปดูการแสดงดนตรีของวง New Orleans Brass Connection ที่เริ่มขึ้นในราวบ่ายสองโมงครึ่ง แต่เนื่องด้วยฝนตกลงมาตลอดทั้งบ่าย การแสดงดนตรีบนเวทีริมฝั่งทะเลสาบ Lago Maggiore จึงจำเป็นต้องเลิกไปอย่างน่าเสียดาย เวทีที่จัดไว้อย่างดีแลดูว่างเปล่าเงียบเหงา เพราะไร้ผู้คน
ความจริงนอกจากการแสดงแจ๊สประจำปีแล้ว เขายังจัดงานพิเศษขึ้นในปีนี้ เพื่อให้รางวัลแก่นาย Donald Harrison ซึ่งเป็น saxophonist ที่มีชื่อเสียง เขาได้รับการยกย่องนับถือจนได้รับการเสนอให้ได้รับรางวัล Ascona Jazz Award 2008 ซึ่งเป็นการยอมรับในความชื่นชอบที่เขามีต่อดนตรีแจ๊ส การทุ่มเทชีวิตและจิตใจที่เขาได้ให้ต่อ Mardi Gras Indians ในเมือง New Orleans และท้ายที่สุดแต่สำคัญที่สุดก็คือ เขาได้เอาประเพณีการแต่งกายและจังหวะเพลงของชาวแอฟโฟรอเมริกัน (Afroamerican) กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ในงานคาร์นิวัลที่ถือกำเนิดจากคนผิวดำที่เคยเป็นทาสในเมืองหลุยเซียน่า (Louisiana)
เมื่อไม่มีดนตรีให้ดู เราก็เลยเดินข้ามถนนเข้าไปข้างหลังร้านขายของและร้านอาหารที่อยู่ด้านหน้า เพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์ที่แสดงประวัติศาสตร์ของวงดนตรีแจ๊ส เมื่อเดินไปถึงด้านหน้า แลเห็นรูปขาวดำแสดงถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเมือง New Orleans เมื่อทอร์นาโดถล่มเมืองเมื่อสองสามปีก่อน มีนักแต่งเพลงแจ๊ส คนหนึ่ง เสียดายจำชื่อไม่ได้แล้ว ได้แต่งเพลงชื่อ Take us to the Marching Land ซึ่งเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่มีทอร์นาโด และเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้เสียชีวิตและความเสียหายอันใหญ่หลวงในครั้งนั้น การแต่งเพลงแจ๊สนี้ขึ้น เป็นการแสดงสปิริตแห่งความกล้าหาญ ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม แม้แต่ความพินาศ ก็ไม่อาจยับยั้งความรักในดนตรีแจ๊สได้ มันจะดำรงอยู่เสมอและตลอดไป but the music lives on forever
ดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งคือ Really the Blues รวมไปถึง Had to go to War และ Carry on the Torch ซึ่งมีท่วงทำนองที่ใช้ boogie woogie เป็นหลัก อีกเพลงหนึ่งที่สนุกก็คือ Mr Ha Ha
มีคนอยู่ในพิพิธภัณฑ์พอสมควร เพราะพวกเขาก็คงจะเป็นเช่นเรา คือมาร่วมงานฉลองแจ๊สแล้วเกิดฝนตกขึ้นมา ก็ต้องทำอะไรเพื่อเป็นการฆ่าเวลา พอฝนหยุดตก เราก็เดินออกมาที่ถนนด้านนอกซึ่งเลียบไปตามฝั่งทะเลสาบ มีวงดนตรีแจ๊สเดินเล่นดนตรีมาวงหนึ่ง อย่างไรก็ดี เนื่องจากที่อากาศไม่เป็นใจ เราจึงถือโอกาสกลับบ้านก่อนเพื่อนคนอื่นๆทั้งๆที่รู้ว่ายังจะมีการแสดงในเวลาหกโมงตอนเย็น ในtheme Criterion Brass Band with 2 Dancers
ตอนที่นั่งรถไฟขากลับ มีรถไฟด่วนสายตรงจาก Locarno ไปถึงลูเซิร์นเลย โดยหยุดแวะไม่กี่สถานีและไม่ต้องเปลี่ยน คิดว่าจะได้นั่งสบายๆ แต่ปรากฏว่าเย็นวันนั้นโชคไม่ดี กิ่งไม้ที่เกิดจากพายุฝนหล่นลงมาทับหัวจักร ทำให้วงจรไฟฟ้าเกิดช็อตหรือ อะไรเทือกนั้น ทำให้รถไม่สามารถแล่นต่อไปได้ เราจึงต้องเปลี่ยนไปรถไฟอีกขบวนหนึ่ง หลังจากนั้น ยังต้องไปเปลี่ยนรถอีกสองขบวน กว่าจะไปถึงลูเซิร์น เสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมง ความจริงก็ไม่มากนัก แต่สำหรับประเทศที่ทุกอย่างดำเนินไป อย่างมีระเบียบและตรงต่อเวลา หนึ่งชั่วโมงก็นานไม่น้อยเลย
การมี Jazz Festival ที่เมือง Ascona นับว่าเป็นความคิดที่ดี เพราะแอสโคน่าอยู่ในแคนตอน Tessin มีอากาศดีโดยถัวเฉลี่ย มีทิวทัศน์ที่สวยงาม เป็นเมืองที่ทันสมัย เหมาะแก่การไปพักผ่อน แถมยังเป็นเมืองที่ยังมีบ้านเรือนที่คงไว้ซึ่งลักษณะดั้งเดิม และสวยงาม เพชรน้ำหนึ่งของเมืองคือ Casa Serodino ที่ยังรักษาอาคารด้านนอกไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด มีคอร์ทยาร์ดสองชั้น ที่ยังมีเสาหลักของศตวรรษที่สิบหกอยู่ เมืองแอสโคน่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอิตาลีมากมาย เพราะฉะนั้นบรรยากาศสบายๆ จึงเป็นเมืองที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการจัดงาน Jazz Festival ทุกๆปี