วิหารไรล่าอยู่ห่างจากกรุงโซเฟียไม่มากนัก แต่เนื่องจากคณะเดินทางมาตั้งแต่เช้าตรู่จากเมือง “พลอฟดีฟ” ต้องไต่ขึ้นเขาซึ่งแคบและคดเคี้ยวด้วยรถบัสคันมหึมาถนนบางสายก็เป็นหลุมเป็นบ่อจึงทำให้รู้สึกว่าระยะทาง ๔๐๐ กิโลเมตร ไกลกว่าที่ควรรถวิ่งผ่านทะเลสาบ “อิสคาร์” เมืองหลวงของประเทศบัลแกเรียใช้น้ำที่มาจากทะเลสาบที่ขุดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์แห่งนี้ ผ่านป่าสงวนหลายแห่งที่มีสัตว์หายากต่างๆ เช่น หมี กวาง หมาป่า และแพะป่า เป็นต้น บางแห่งก็ขึ้นบัญชีขององค์การยูเนสโกเอาไว้ เช่นค้างคาว เพื่อป้องกันการลักลอบฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายจากนักล่าสัตว์ หลายแห่งอนุญาตให้ล่าสัตว์ได้ สถิติบอกว่าประเทศโรมาเนียและบัลแกเรียมีพลเมืองหมีมากที่สุดในยุโรป
นายโอกี้เล่าว่า รถยนต์ที่เห็นวิ่งทั่วไปมาจากต่างประเทศถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ และเป็นรถมือสอง ส่วนใหญ่มีอายุในราว ๒๐ ปี รถจากต่างประเทศมือหนึ่งแพงเกินกว่ากำลังซื้อของประชาชน ส่วนรถใหม่เป็นรถที่ทำขึ้นเองในประเทศ เป็นรถเล็กๆ ดังนั้น ตลอดระยะทางที่ผ่านจะเห็นรถที่วิ่งช้าปล่อยควันดำโขมง จะแซงก็ไม่ได้เพราะถนนส่วนใหญ่แคบ บางแห่งก็มีรถม้าวิ่งกุกกักบ้าง รถเทียมเกวียนบ้าง เพ็ญเลยสรุปว่าคิดถูกแล้วที่ไม่ขับรถกันมาเอง เพราะบางครั้งป้ายถนนก็ไม่ถูกต้องเสมอไป และหากจะถูกก็เขียนด้วยตัวอักขระ “ซีริลลิก” (Cyrillic) อีกต่างหาก ถ้ามีรถตามมาข้างหลังก็คงจะไม่มีเวลาเช็คตัวอักษรเป็นแน่ แม้จะเอาดิกชันนารีติดมือมาด้วยก็ตาม เพราฉะนั้นคริสเตียนจึงต้องจ้างไกด์ในประเทศให้ช่วยบอกทาง พร้อมอธิบายประวัติศาสตร์และความเป็นอยู่ของบ้านเมืองด้วย
ภาษาเยอรมันของนายโอกี้ผ่านไมโครโฟนเข้ามาในโสตประสาท “โซเฟียมีประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคน เป็นเมืองหลวงที่สูงที่สุดในยุโรป เพราะตั้งอยู่ในระดับ ๕๓๕ เมตรเหนือน้ำทะเล เป็นเมืองหลวงที่ไม่แก่ไปตามเวลา มีแต่จะโตขึ้น โดยเฉพาะในระยะหลังๆนี้ โซเฟียได้รับผลจากการช่วยเหลือของสหพันธรัฐยุโรปในโครงการที่ชื่อว่า ‘ทำประเทศบัลแกเรียให้สวยงาม’ (Beautiful Bulgaria Project) เพราะฉะนั้นประเทศจึงมีงบประมาณสำหรับการบูรณะและฟื้นฟูสถานที่ประวัติศาสตร์หลายแห่ง ประเทศสวิสก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีส่วนช่วยในบางโครงการ” นายโอกี้สรุปตอนท้ายเอาใจลูกทัวร์สวิส
คริสเตียนนำรถไปจอดที่ลานจอดในบริเวณที่กว้างขวางหน้าโบสถ์ “อเล็กซานเดอร์เนฟสกี้” (Aleksander Nevski) ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในแหลมบอลข่าน สร้างขึ้นในระหว่างปี ๑๘๙๒ และ ๑๙๑๒ โดยสถาปนิกชาวรัสเซีย เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับทหารรัสเซียจำนวนสองแสนคนที่สละชีพป้องกันอิสรภาพของประเทศบัลแกเรียในสงครามรัสเซียและตุรกีในปี ๑๘๗๗ ถึง ๑๘๗๘
นระหว่างที่นายโอกี้พาคณะไปเดินชมเมือง คริสเตียนจะขับรถเอาสัมภาระไปไว้ที่โรงแรมก่อน พอดูเมืองเสร็จแล้วนายโอกี้จะพาคณะนั่งรถรางไปเช็คอินที่โรงแรม “พริ้นเซส” ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คมากกว่าจะเป็นโรงแรมทั่วไปเพราะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟและรถราง
โบสถ์อเล็กซานเดอร์ ใหญ่โตเห็นได้แต่ไกล มียอดโดมกลมหลายยอดหุ้มทองหนักถึง ๘ กิโล ระฆังหลายระฆังสามารถส่งเสียงสะท้อนไปได้ไกลถึง ๓๐ กิโลเมตร ด้านหน้าประตูทางเข้าโบสถ์เป็นหินอ่อน ภายในมีหน้าต่างกระจกสี มีจิตรกรรมฝาผนัง มีบัลลังก์ที่ทำด้วยอาลาบาสเตอร์และออนนิกซ์ มีพิพิธภัณฑ์รวบรวม “ไอคอน” เก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
เพ็ญสะดุดตากับโบสถ์ “เซนต์นิโคลัยรัสเซียน” (St. Nikolai Russian Church) ที่โผล่เหนือแมกไม้ กางเขนทองที่ติดอยู่บนยอดโดมสะท้อนกับแดดอ่อนยามเย็นแลดูเป็นประกาย ดีไปอย่างที่อาคารสถานที่ต่างๆในโซเฟียอยู่ไม่ไกลจากกันนัก สามารถเดินติดต่อถึงกันได้สะดวกโดยไม่ต้องอาศัยยานพาหนะข้างหลังโรงแรมเชอราตันเป็นโบสถ์กลมของ “เซนต์จอร์จ” (St. George’s Rotunda) ซึ่งถือกันว่าเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโซเฟีย สร้างโดยชาวโรมันในศตวรรษที่ ๒ หรือ ๓ เพ็ญเห็นชาวเมืองทั้งชายและหญิงนั่งพักผ่อนบนม้ายาวในปาร์ค ผู้ชายส่วนใหญ่นั่งโขกหมากรุกอย่างไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น หน้าโรงละครแห่งชาติมีอนุสาวรีย์และน้ำพุ ไม่ไกลออกไปเป็นกระทรวงทบวง กรมต่างๆ มีอาคารรัฐสภา และที่ทำการของประธานาธิบดี มีทหารยามยืนเฝ้าไม่กระดุกกระดิบ เพ็ญเดินเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆใจคอไม่ค่อยดีกลัวจะถูกยิง แต่คนอื่นๆก็ทำเช่นเดียวกัน ตลอดทางที่เดินผ่าน เพ็ญเห็นร้านกาแฟทางเท้าหลายแห่ง จัดไว้อย่างมีระเบียบและสวยงาม หากไม่เกรงใจนายโอกี้แล้ว เพ็ญกับฮันส์ก็คงจะถือโอกาส “แวบ” ไปนั่งลอยหน้ากับชาวพื้นเมืองคนอื่นเช่นกัน รถรางที่พากลับโรงแรมแน่นพอสมควร เพราะเป็นเวลาที่งานเลิกแต่รถวิ่งไปเพียง ๒ สถานีเท่านั้นก็ถึงโรงแรม “พริ้นเซส”
อาหารเย็นวันนั้นเป็นบุฟเฟ่ต์อีกเช่นเคย คริสเตียนและนายโอกี้มานั่งคุยด้วยคริสเตียนหนีบเอาไวน์แดงมา ๑ ขวด เพ็ญลุกขึ้นไปหยิบเอาแก้วไวน์ที่บาร์มาเอง ก่อนที่ผู้นั่งร่วมโต๊ะคนอื่นจะทันรู้ตัว เพราะไม่ทันใจกับการบริการของคนเสิร์ฟชาวเมืองหลวง
“ประเทศคุณได้เป็นสมาชิกของนาโต้แล้ว อีกไม่นานก็คงจะได้ร่วมเป็นสมาชิกสหพันธรัฐยุโรป (European Union)” ฮันส์กล่าวขึ้นตอนหนึ่งในระหว่างการสนทนา
“ประเทศเรายังไม่พร้อมหรอกครับยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก คิดว่าปี ๒๐๐๗ นี่เร็วเกินไปที่เขาจะรับเราเข้าไปสมาชิก แม้แต่ปี ๒๐๑๐ นี่ ก็ยังไม่รู้ว่าได้เป็นหรือเปล่า” นายโอกี้ตอบ
เท่าที่เพ็ญสังเกตตลอดระยะทางที่นั่งรถผ่าน รู้สึกว่าพื้นดินของประเทศกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชพันธุ์ต่างๆได้มากมายทุ่งสีเหลืองของดอกทานตะวันแลดูไกลสุดลูกหูลูกตา มีไร่ข้าวโพดชูช่อหนาแน่น ทุ่งมันฝรั่งก็ปลูกดูได้ผลดี ไม่รวมถึงผลไม้หลายชนิดที่คณะหยุดซื้อระหว่างทางอีกต่างหาก ไร่องุ่นที่ใช้ทำไวน์ก็มีอยู่ทั่วไป เพราะอากาศอำนวย แต่ก็มีที่ดินหลายแห่งเหมือนกันที่ถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย เพราะขาดเครื่องจักรมาช่วยแรงที่ดินบางแห่งยังคงพิพาทกันอยู่เรื่องกรรมสิทธิ์ด้วยความที่เป็นคนขยันไม่เคยอยู่นิ่งของเพ็ญ จึงมีความรู้สึกว่าหากประชาชนร่วมใจกันทำงานและเอาจริงอย่างในประเทศจีน ประเทศก็คงจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เพ็ญก็ต้องยอมรับว่าได้เห็นประเทศนี้แต่เพียงผิวเผิน จะไปรู้ดีกว่าคนที่อยู่ในประเทศและพูดภาษาพื้นเมืองได้อย่างไร
นายโอกี้เล่าต่อไปเหมือนกับจะเดาความคิดของเพ็ญออก “เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บัลแกเรียเป็นประเทศกสิกรรมแต่ละคนทำฟาร์มของตนเอง พอสงครามเลิกกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ดินก็ถูกแบ่งปันทำเป็นฟาร์มร่วมกัน เช่นเดียวกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ต่อมาก็ต้องเลิกไปเพราะไม่ได้ผล รัฐบาลพยายามคืนที่ดินให้เจ้าของโดยชอบธรรม แต่ก็ยาก ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่”
“ตอนที่ยังใช้ระบบคอมมิวนิสต์บัลแกเรียได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมเครื่องจักร เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ และปุ๋ยซึ่งทำรายได้มากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ให้ประเทศรัฐเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมเอง ประชาชนมีงานทำ มีเงินเดือน จะทำบ้าง ไม่ทำบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่ระบบนายทุน การค้าส่วนใหญ่ก็ทำกับประเทศในเครือวอร์ซอด้วยกัน ‘Warsaw Pact’ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด เพราะไม่มีสมรรถภาพพอที่จะไปแข่งขันกับชาวโลกในระบบนายทุน ๕ ปี ในระยะหลังระบบคอมมิวนิสต์ประเทศเป็นหนี้มากมาย ระบบประชาธิปไตยแบบนายทุนทำให้คนตกงานและจนกว่าเดิม มีอาชญากรรมเกิดขึ้นเยอะแยะ” นายโอกี้รำพึง
ที่เพ็ญเดาตั้งแต่แรกว่านายโอกี้ไม่ชอบระบบนายทุนนั้นเพ็ญคิดถูก “เท่าที่รู้ชาวบัลแกเรียที่มีการศึกษาดีก็มีเยอะแยะ ไม่ใช่หรือคะ? เขาน่าจะช่วยได้มาก”
“ใช่ครับ แต่ผู้บริหารก็ทะเลาะกันไม่หยุด เพราะมีความเห็นไม่ตรงกันว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไรดี คิดว่าน่าจะเป็นแบบทำอย่างไรจึงจะคอรัปชั่นให้พอมากกว่า” นายโอกี้ตอบ
“ผมเคยได้ยินว่า ประเทศบัลแกเรียเป็นประเทศแรกที่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยแล้ว ได้เลือกพรรคคอมมิวนิสต์กลับเข้ามาครองประเทศใหม่ซึ่งเป็นเรื่องแปลก” คริสเตียนกล่าวขึ้นบ้าง
“คุณคงหมายถึงพรรคบัลแกเรียโซเชียลลิสต์ ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เก่าใช่ไหมครับ?”
“ใช่ครับ” คริสเตียนตอบ “เรื่องมันเป็นมาเป็นไปอย่างไรกันแน่ครับ?”
“หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐบาลด้อยสมรรถภาพ ประชาชนเดือดร้อนยิ่งไปกว่าเดิม เลยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วกษัตริย์ ‘ซีเมียน ที่ ๒’ (Simeon II) ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ไม่ได้อยู่ในประเทศในขณะนั้น และไม่ได้สมัครเลือกตั้ง แต่พรรคของเขาก็มีที่นั่งไม่พอที่จะเป็นรัฐบาลได้ต้องไปรวมเป็นรัฐบาลผสมกับพรรคขบวนการชาวเติร์ก ซึ่งเป็นพรรคเสียงส่วนน้อยในสภา” นายโอกี้อธิบาย
“ผมเคยอ่านเรื่องของกษัตริย์ซีเมียนน่าสนใจมาก คุณเคยอ่านไหมคริสเตียน?” ฮันส์ถาม “เขาเป็นโอรสของซาร์บอริส ที่ ๓ (Tsar Boris III) พออายุ ๖ ขวบ ก็ได้ขึ้นครองราชย์หลังพ่อตาย อีก ๓ ปีให้หลัง คือปี ๑๙๔๖ ครอบครัวพระราชวงศ์ทั้งหมดต้องหนีออกนอกประเทศ หลังจากที่บัลแกเรียถูกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ตอนแรกหนีไปอยู่อียิปต์ ตอนหลังย้ายไปกรุงแมดริดในสเปน แต่งงานกับหญิงชาวสเปน ทำธุรกิจจนได้รับความสำเร็จเป็นที่ยอมรับมีชื่อเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศบ้านเกิดทั้งๆที่ไม่เคยกลับประเทศของตนเลย เขายอมกลับประเทศในปี ๑๙๙๖ ตามคำอ้อนวอนของประชาชน เขาสัญญาว่าจะขอร้องให้ผู้มีความสามารถคนอื่นๆกลับด้วยจะได้มาช่วยกันทำนุบำรุงประเทศให้เจริญขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ เขายืนยันว่าไม่สนใจที่จะฟื้นฟูพระราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ ในที่สุดก็ยอมรับเป็นนายกอย่างเสียไม่ได้”
ทุกคนนั่งฟังอย่างสนใจเมื่อนายโอกี้พูดว่า “๕ เดือนให้หลัง นาย ‘พาร์วานอฟ’ (Parvanov) ซึ่งเคยแพ้การเลือกตั้งในสภาถึง ๒ สมัย และแพ้การเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งหนึ่ง ได้สมัยเป็นประธานาธิบดีอีก ในนามของรัฐบาลผสมของบัลแกเรียซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเขาชนะนาย ‘สโตยานอฟ’ ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่ง นายพาร์วานอฟเป็นหัวหน้าพรรคโซเชียลลิสต์ของบัลแกเรีย ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เก่า ที่คุณเคยได้ยินมาไงล่ะครัสเตียน เขายืนยันที่จะสนับสนุนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองให้บัลแกเรียได้รับเลือกเป็นสมาชิกของยูโรเปียนยูเนียนให้จนได้”
“หวังว่าเขาจะทำได้สำเร็จนะ พวกเราขอเอาใจช่วย” คริสเตียนพูดให้กำลังใจ
“แต่ทุกพรรคก็เกลียดพรรคโซเชียลลิสต์นะ” นายโอกี้พูดอย่างครุ่นคิด “นี่แหละที่ทำให้ผมเกรงว่าจะทำไม่สำเร็จ เพราะมัวแต่กัดกัน”
ไวน์ที่คริสเตียนเอามาหมดไปนานแล้วแต่ทุกคนก็ยังนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ เคยมีคนที่นึกหมั่นไส้เพ็ญที่ชอบคุยเรื่องการบ้านการเมืองมากกว่าจะคุยเรื่องช็อปปิ้งหรือเรื่องลูก ไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไร แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะการสนทนาเช่นนี้ทำให้เพ็ญมีชีวิตชีวาและนั่งคุยได้ทั้งคืนไม่เบื่อเลย เหมือนกับการเขียนหนังสือที่เพ็ญรักทั้งๆที่ภาษาไทยของเพ็ญคงมีกลิ่นนมและเนยมากพอสมควร แต่คิดว่าผู้อ่านคงจะยกโทษให้เพราะเพ็ญเรียนหนังสือต่างประเทศและใช้เวลาอยู่ในเมืองนอกนานหลายสิบปี
ทั้งๆที่เขานอนดึก แต่พอเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นทุกคนก็พร้อม โดยเฉพาะคริสเตียนเพราะเขาต้องตื่นมาดูความเรียบร้อยของรถโชคดีที่เขาไม่กินอาหารเช้า ดื่มแต่น้ำส้มแก้วเดียว จึงมีเวลานอนต่อได้นานกว่าคนอื่นในบริเวณรอบนอกของโซเฟีย เพ็ญเห็นฟาร์มกะหล่ำปลีขาวมีปลูกอยู่ทั่วไป นายโอกี้บอกว่าสำหรับใช้ทำ “ซาวเออร์เคราท์” (Sauerkraut) ส่วนน้ำกะหล่ำบีบออกมาใช้ดื่มแก้ปวดหัวที่เกิดจาก “แฮงค์โอเว่อร์” ดีนักไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เพราะไม่ได้ทดลอง
“การถักทอและแกะสลักไม้ขึ้นชื่อมากในบัลแกเรีย” นายโอกี้เล่า “โดยมากผู้หญิงมักจะถักหรือทอลูกไม้ ถือเป็นโอกาสสังสรรค์ไปด้วยในตัว ในขณะที่ผู้ชายแกะสลัก ซึ่งพวกคุณคงจะได้เห็นวางขายในที่ต่างๆแล้ว ส่วนช่างมีฝีมือก็จะแกะสลักรูปบนเพดานบ้าง สลักรูปไอคอนในโบสถ์บ้าง พวกเราชาวบัลแกเรียชอบสนุกและจะหาเรื่องดื่มฉลองกันในทุกโอกาสไม่มีงานสนุกอะไรที่ไม่มีการดื่มไวน์ เบียร์ หรือ ชนัพส์” เพ็ญอดคิดถึงงานฉลองของไทยตามชนบทไม่ได้ที่ต้องมีแม่โขงเป็นประจำ ด้วยความรักสนุกนี่เอง ที่ทำให้หลายคนถามเพ็ญว่า “อยู่เมืองนอกสนุกไหม?” ซึ่งเพ็ญเองก็ตอบไม่ถูก
นายโอกี้กล่าวอำลาชาวคณะกลับโซเฟียที่ด่าน “วีดีน” (Vidin) ตอนประมาณสิบเอ็ดโมงครึ่ง เพ็ญรู้สึกใจหายนิดหน่อยเพราะเดินทางด้วยกันมาหลายวัน และเขาก็ให้ความรู้แก่เพ็ญมากพอสมควร เรือเฟอร์รี่ที่จะบรรทุกรถข้ามแม่น้ำดานูบไปด่าน “คาลาฟัท” (Calafat) ในประเทศโรมาเนียใช้เวลาเพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น แต่หลังจากที่ผ่านกรมตรวจคนเข้าเมืองแล้วคณะยังต้องรอจนถึงบ่ายสี่โมงสามสิบห้ากว่าจะไปอีกฝั่งหนึ่งได้ เพ็ญเห็นเรือที่จะข้ามอยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ไกลนัก สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่าเรือยังบรรทุกรถไม่เต็มลำจึงยังมารับรถอีกฝั่งหนึ่งยังไม่ได้ โทษว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ทางฝั่งโรมาเนีย เพราะอย่างที่เล่าตอนต้นแล้วว่าทั้ง ๒ ประเทศไม่กินเส้นกัน
เพ็ญกับฮันส์คุยกับเจ้าหน้าที่ชาวบัลแกเรียอยู่พักหนึ่ง เขาบ่นอะไรต่ออะไรมากมายเกี่ยวกับการบริหารในประเทศของตนเล่าแถมให้ฟังว่าพี่สาวคนหนึ่งของเขาอพยพไปอยู่อเมริกา มีเงินใช้ มีความสุข เขาก็อยากไปบ้าง จนฮันส์ต้องรีบห้าม เพราะเกรงว่าจะไปมีประสบการณ์เช่นนายโอกี้
ได้ข่าวว่าทางการกำลังก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำดานูบในส่วนนี้ คือจากฝั่ง “วีดีน” ในบัลแกเรียไปฝั่ง “คาลาฟัท” ในโรมาเนีย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี ๒๐๐๕ แต่เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ของบัลแกเรียดู เขาไม่ค่อยแน่ใจว่าสะพานจะสร้างเสร็จหรือไม่ และเมื่อเสร็จแล้วทั้ง ๒ ประเทศ จะมีปฏิกิริยาเป็นปรปักษ์ต่อกันเหมือนสะพาน “มิตรภาพ” ที่ข้ามแม่น้ำดานูบจากฝั่ง “จูจู้” (Guirgiu) ในโรมาเนียไปฝั่ง “รูส” (Ruse) ในบัลแกเรียหรือไม่ ถ้าหากสร้างเสร็จและใช้การได้ ก็จะย่นระยะเวลาการเดินทางไปหลายชั่วโมง
ขณะที่รอเรือข้าม เพ็ญไปยืนคุยกับคริสเตียนซึ่งนั่งอยู่บนที่นั่งคนขับตอนหน้าสังเกตว่ามีรถเก๋งยี่ห้อ “ฮุนได” (Hyundai) สีเงินคันหนึ่ง ติดป้ายนักการทูตจากกรุงบูคาเรสต์ ชายคนที่ยืนอยู่ข้างรถมีหน้าตาเหมือนชาวเกาหลี เขามากับครอบครัวคือลูกชาย ๒ คน และภรรยา สองคนพี่น้องคงจะเบื่อที่ต้องรอเรือและไม่มีอะไรทำ จึงเล่นเปิดๆปิดๆประตูอยู่ด้านหลังรถ ส่วนภรรยาไม่อยากออกมาสู้แดดตอนเที่ยงจึงนั่งคอยอยู่ในตอนหน้า เพ็ญเห็นชายคนนี้มองตนหลายครั้ง จึงเดินไปทักทายแลกเปลี่ยนคำถามคำตอบซึ่งกันและกันว่ามาจากไหนและกำลังจะไปไหน เขาดีใจมากที่มีเพื่อนคุย พอดีฮันส์เดินมาสมทบ เพ็ญจึงแนะนำ ชายเกาหลีบอกว่าเขาชื่อ “ปัค” เขียนในภาษาอังกฤษว่า Park เป็นทูตพาณิชย์อยู่ที่สถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงบูคาเรสต์มาเกือบ ๔ ปีแล้ว ฮันส์ถามเขาว่า ค่าแรงงานที่ไหนถูกกว่ากัน ที่ประเทศจีนหรือที่โรมาเนียและบัลแกเรีย เขาบอกว่าที่เมืองจีนยังถูกกว่า แต่ก็มีบริษัทในยุโรปตะวันตกหลายแห่งที่มาลงทุนใน ๒ ประเทศนี้ ทั้งๆที่มีค่าแรงสูงกว่าจีน ก่อนจะลาจากกัน ทั้ง ๒ ฝ่ายได้แลกนามบัตรตามธรรมเนียม ฮันส์พูดว่าคงจะได้มีโอกาสพบนายปัคสักวันหนึ่งที่สวิสถ้าเขาย้ายไปอยู่ที่นั่น
เพื่อนร่วมทางชาวสวิสต่างแปลกใจใคร่รู้ว่าคนที่คุยด้วยเป็นตุเป็นตะนั่นเป็นใครเพราะพวกเขาไม่คุ้นกับการสนทนากับคนแปลกหน้า แถมยังต่างชาติและต่างภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพ็ญซึ่งไม่เคยพูดกับผู้ร่วมทางส่วนใหญ่มากไปกว่า “สวัสดี” “ขอบคุณ” และ “ราตรีสวัสดิ์”
หลังจากที่คอยอยู่ถึง ๕ ชั่วโมงเต็มเรือเฟอร์รี่ก็มาถึง ใช้เวลาเพียง ๑๕ นาทีคณะก็ข้ามไปถึงด่าน “คาลาฟัท” วิลลี่ไกด์หนุ่มนักศึกษาชาวโรมาเนียซึ่งลาจากไปเมื่อ ๕-๖ วันก่อนได้มารออยู่แล้วที่ด่านถึง ๙ ชั่วโมง
พอรถออกวิ่งไปได้สักครึ่งชั่วโมงตำรวจในรถตรวจการก็โบกมือให้หยุด และขอดูเอกสารเดินรถ เพราะต้องการรู้ว่าคริสเตียนใช้ถนนเข้าออกสายเดียวกับที่แจ้งไว้ในเอกสารหรือไม่ วิลลี่ต้องเป็นล่ามอธิบายว่าได้ใช้ด่านที่ไหนบ้าง ทั้งๆที่มีแจ้งอยู่แล้วอย่างชัดเจนในเอกสาร อีกพักหนึ่งตำรวจก็ปล่อยให้ไป เหตุการณ์คราวนี้สอนบทเรียนที่มีค่าให้เพ็ญอีกบทหนึ่ง