ระหว่างทางนายโอกี้เล่าอะไรต่ออะไรที่น่าสนใจไปเรื่อยๆ “ประเทศบัลแกเรียมีประชาชนเกือบแปดล้านคน เกือบ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือกรุงโซเฟีย และเมืองใหญ่อื่นๆ ประเทศมีประชาชนเหลือน้อยเข้าทุกที เพราะหนุ่มๆสาวๆที่มีการศึกษาดีหนีไปอยู่ประเทศอื่นๆกันเสียเยอะแยะ เพราะเชื่อว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในประเทศของตน อีกประการหนึ่งก็คือสถิติการเกิดใหม่ของเด็กต่ำมาก เพราะคุมกำเนิดและทำแท้งกันได้ง่ายๆ แม้แต่ในสมัยที่ประเทศยังอยู่ใต้ระบบคอมมิวนิสต์รัฐบาลก็ไม่มีอะไรจูงใจให้ผัวเมียอยากมีลูกพอมาถึงสมัยประชาธิปไตยระบบนายทุน ผู้คนต่างก็เฮโลเข้าไปหางานทำในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ พอมีงานทำเงินเดือนดี เขาก็ไม่อยากมีครอบครัวใหญ่ให้เป็นภาระหนัก”
เพ็ญเดาว่านายโอกี้ไม่ค่อยจะชอบระบบนายทุนนัก “ชาวบัลแกเรียประมาณ ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นชาว ‘สลาฟ’ ที่อพยพมาจากทะเลบอลติกและเทือกเขาคาร์ปาเตียน และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๕ พวกนี้เป็นชาวไร่ชาวนาที่รักสงบ ภายหลังรวมตัวกลมกลืนเข้ากับชาวบุลการ์ (Bulgars) ชนส่วนน้อยที่ใหญ่ที่สุดเป็นชาวเติร์ก มีประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็เป็นชาวยิปซี ชาวอาร์เมเนีย และชาวรัสเซีย” นายโอกี้เล่าต่อ ทุกคนเงียบตั้งใจฟังภาษาเยอรมันของแกมีเสียงสูงๆต่ำๆฟังแล้วเพลินดี “ชาวรัสเซียเข้ามาอยู่ในประเทศตั้งแต่สมัยระบบลัทธิคอมมิวนิสต์ยังเฟื่องฟู แล้วก็เลยตั้งหลักแหล่งอยู่เลย ในปี ๑๙๘๕ รัฐบาลคอมมิวนิสต์บังคับชาวเติร์กให้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบัลแกเรียน ห้ามใช้ภาษาเติร์กในที่สาธารณะห้ามแต่งกายพื้นเมืองของตน มัสยิดทุกแห่งถูกปิดหมด จนเกิดการประท้วงหลายแห่ง ชาวเติร์กที่มีสัญชาติบัลแกเรียหลายคนหนีกลับไปอยู่ประเทศตุรกี แต่ก็กลับมาใหม่หลังจากเหตุการณ์สงบเรียบร้อยเป็นปกติดีแล้ว ชาวเติร์กส่วนใหญ่เป็นกสิกรที่มีประสบการณ์ พอไม่มีพวกเขาไร่นาก็ถูกทิ้งร้าง เกิดความเสียหายต่อกสิกรรมของประเทศ”
“ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชาวยิวอยู่ในประเทศประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน แต่ดีอย่างที่ไม่มีใครถูกส่งไปเข้าค่ายกักกันนาซี แม้ว่าบัลแกเรียจะมีสัญญาเป็นมิตรกับเยอรมันก็ตามพวกเขาถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันที่กันดารแทนหลังสงคราม ชาวยิวส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ประเทศอิสราเอล เหลืออยู่ในประเทศเพียงไม่กี่พัน ในระหว่างสงครามบอลข่าน มีชาวเมซิโดเนียนหนีสงครามมาอยู่กันมากเหมือนกัน”
พอเข้าเขตเมือง “เวลิโก ทาร์โนโว” (Veliko Tarnovo) ที่คณะจะไปพัก สิ่งแรกที่ปรากฏแก่สายตาก็คือโบสถ์รกร้างที่ตั้งอยู่โดดเด่นบนเนินเขา “ซาร์เรเว็ท” (Tsarevets) ไม่ไกลออกไปเป็นเนินเขา “ทราเปซิทซ่า” (Trapezitsa) อันเคยเป็นที่พักของพวกขุนน้ำขุนนางในสมัยก่อน ระหว่างหุบเขาเรียกว่า “อาสิโนวา” (Asenova) เคยเป็นแหล่งที่อาศัยของพ่อค้าวาณิชและช่างฝีมือ ตัวอาคารแซมด้วยโบสถ์ที่สร้างในสมัยกลางที่ถูกทิ้งร้างตั้งอยู่ที่นั่นและที่นี่ เพ็ญดีใจที่ได้มาเยือน เพราะเป็นเมืองในสมัยกลางที่สะสวยเหมือนรูปวาด เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด เพราะงามจริงๆอีกทั้งที่ตั้งของเมืองก็แสนจะเยี่ยม เนื่องด้วยตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ “ยันตรา” (Yantra) ที่ไหลผ่านช่องแคบของหุบเขาที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนสีสดสวยสร้างขึ้นในสมัยกลาง สมกับที่เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรบัลแกเรีย ในระยะที่ ๒ คือในราวปี ๑๑๘๕ ถึง ๑๓๙๖ และรุ่งเรืองมาตลอดเวลา ๒๐๐ ปี ด้วยการปกครองที่สามารถของพี่น้อง ๒ คน คือ “เอเซ่น” และ “ปีตาร์” (Asen และ Petar)
ทาร์โนโวมีประวัติความเป็นมายืดยาวเคยอยู่ใต้อำนาจของโรม จึงมีกำแพงเมืองที่สร้างโดยชาวโรม ต่อมาถูกทำลายโดยชาวเติร์ก เพราะเป็นกฎของพวกเขาที่ถือว่าหากศัตรูไม่ทำการต่อสู้ก็จะยึดเอาทุกสิ่ง หากต่อสู้ก็จะทำลายทุกอย่างแต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเมืองทาร์โนโวได้รับเลือกให้เป็นสถานที่เขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในปี ๑๘๗๙ และภาษาท้องถิ่นก็ได้รับเลือกให้เป็นภาษาทางการของประเทศแต่นั้นมา
หลังจากที่ได้เช็คอินเข้าโรงแรมแกรนด์และอาบน้ำอาบท่าเรียบร้อยแล้ว คณะเดินขึ้นบันไดหินไปกินอาหารเย็นที่ร้านอาหาร “เกอร์โค่” (The Gurko) ซึ่งเป็นทั้งเกสท์เฮ้าส์ด้วย เป็นร้านเล็กๆ แต่ก็ตกแต่งอย่างน่ารัก เพดานและฝ้าเป็นไม้ทั้งหมด ตามฝาผนังประดับด้วยเครื่องทอที่ทำขึ้นจากในละแวกนี้ ผ้ารองจานและผ้าเช็ดมือสีแดงสดเข้ากัน วางเป็นระเบียบบนโต๊ะ สีสดสวยของมันทำให้เพ็ญนึกผ้าฝ้ายทอของภาคอีสานของไทย
เย็นวันนั้นมีฝนพรำๆ อากาศเย็นลงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้บรรยากาศยิ่งโรแมนติกขึ้นไปอีก มองจากหน้าต่างออกไปเห็นแสงไฟวับแวมอยู่อีกฟากหนึ่งของเนินเขา อนุสาวรีย์ทหารหาญตั้งอยู่โดดเด่น ฮันส์ทำท่าจะสั่งไวน์อีกตามเคย แต่เจ้าของร้านบอกว่ามีไวน์รวมอยู่ด้วยแล้ว แต่ละคนได้รับแจกไวน์แดงกันคนละเหยือกเล็กๆ เย็นวันนั้นอาหารอร่อยถูกปากชาวคณะสลัดที่เสิร์ฟมาก็สดกรอบ เพ็ญดีใจมาก เพราะคิดถึงสลัดมาหลายวันแล้ว อยู่บ้านต้องทำสลัดกินทุกวัน น้ำเดรสซิ่งก็ทำเองสดๆทุกครั้ง ไม่เคยใช้แบบสำเร็จรูปเลย ทุกคนติดใจสลัดของเพ็ญแม้แต่เด็กที่เกลียดผัก พอล้างผักเสร็จ เพ็ญต้องสลัดน้ำออกจนหมดแล้วใส่ถุงเก็บไว้ในตู้เย็นมันจะกรอบอร่อย เรื่องที่จะล้างผัก สลัดน้ำ ๒-๓ ที แล้วคลุกน้ำเดรสซิ่งเลยนั้น ไม่มีในพจนานุกรมของเพ็ญ เพราะมันจะทำให้สลัดแฉะและไม่น่ากิน
ฮันส์กับเพ็ญและผู้ร่วมโต๊ะลุกขึ้นกล่าวอำลาเจ้าของร้านเป็นโต๊ะสุดท้าย เพราะมัวคุยกันอย่างออกรส นายโอกี้และคริสเตียนมานั่งร่วมโต๊ะด้วยตั้งแต่เริ่มกินอาหาร เพ็ญบอกว่า เมืองทาร์โนโวเตือนให้ระลึกถึงเมือง “อัมมาน” ในประเทศจอร์แดน แล้วก็เลยคุยกันต่อถึงประเทศทางตะวันออกกลางที่ฮันส์และเพ็ญเคยอยู่ถึง ๙ ปีเต็ม นายโอกี้เล่าว่า เขาเคยไปอยู่อิรักนาน ๒ ปี และอยู่สหรัฐฯ ถึง ๔ ปี ที่เมืองชิคาโกครั้งแรกเขาคิดว่าจะไปสร้างชีวิตใหม่ที่อเมริกาอย่างที่ชาวบัลแกเรียหลายคนปฏิบัติ แต่พบว่าชีวิตที่นั่นไม่ได้เป็นอย่างที่วาดภาพไว้ เขาทนไม่ได้กับชีวิตที่หายใจเป็นงานเป็นการ ต้องทนกับการเหยียดผิว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คิดว่าเขาเป็นชาวเติร์กหรือชาวกรีก เขามีความเห็นว่า สถานที่ ที่เขาอยู่และสิ่งแวดล้อมในอเมริกา ก็ไม่ได้ดีไปกว่าประเทศบัลแกเรีย เขาจึงตัดสินใจกลับประเทศ เพราะถึงแม้จะ “จน” ด้วยทรัพย์ แต่ก็มีที่อยู่อาศัย เขาเล่าว่าชาวบัลแกเรีย ๙๕ เปอร์เซ็นต์ มีที่อยู่เป็นของตนเอง ทำให้สภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไปไม่แร้นแค้นอย่างที่ควรจะเป็น
ฮันส์พูดว่า “หากไม่พูดถึงเงินในประเป๋าและถ้าชาวบัลแกเรียถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างที่คุณพูด พวกคุณก็รวยกว่าชาวสวิสเสียอีก เพราะชาวสวิสส่วนใหญ่ไม่มีสมบัติ มีเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีที่อยู่เป็นของตนเอง อีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องเช่าเขาอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย มีแต่เงินเดือนและอาจจะมีเงินที่เก็บสะสมไว้บ้างเท่านั้น”
นายโอกี้ฟังอ้าปากค้างไม่ยอมเชื่อ จนคริสเตียนต้องย้ำอีกคนหนึ่งว่า ในยุโรปชาวสวิสได้ชื่อว่า “เป็นชาติผู้เช่าอาศัย” ไม่เพียงแต่นายโอกี้เท่านั้นที่ฟังแล้วไม่เชื่อ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมเชื่อเช่นกัน เพราะใครๆก็เห็นว่าประเทศสวิสร่ำรวย ทุกคนน่าจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตั้งแต่เย็นวันนั้นเป็นต้นมา หากมีโอกาสและจังหวะเมื่อไร นายโอกี้ก็มักจะมานั่งร่วมวงคุยกับฮันส์และเพ็ญเสมอ ส่วนคริสเตียนแม้จะอยากมาร่วมวงด้วย แต่ก็ติดขัด ต้องดูแลแขกคนอื่นๆในฐานะเจ้าของบริษัท
วันรุ่งขึ้น ท้องฟ้ามืดครึ้มฝนตกพรำๆตลอดเวลา น้ำในแม่น้ำยันตราที่เมืองทาร์โนโวตั้งอยู่ ๒ ฟากฝั่ง มีสีขุ่นๆและไหลแรงสมความหมายของชื่อ “ยันตรา” แปลว่า “ไหลเชี่ยว” นายโอกี้พาคณะไปหยุดบนเนินเขาเพื่อดูวิวกำแพงเมืองและป้อมปราการ พร้อมทั้งวังของราชาคณะชื่อ “เอฟฟิมมิจ” (Evfimij) ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อต้านชาวเติร์กที่มารุกราน แต่น่าเสียดายที่ถ่ายรูปไม่ได้ เพราะอากาศไม่เป็นใจเพ็ญติดใจเมืองและบ้านสวยๆที่มีระเบียงทำเป็นพิเศษ แต่ละแห่งมีลักษณะไม่เหมือนกันเลยบอกฮันส์ว่าอยากอยู่ต่ออีกสัก ๑ วัน เพราะมีอะไรให้ดูอีกเยอะแยะ บังเอิญฮันส์อารมณ์ดีในวันนั้น เลยไม่ได้ดุเพ็ญว่า “บอกแล้วไง ไปเที่ยวกับทัวร์ก็เป็นอย่างนี้แหละ”
เมือง “วาร์น่า” (Varna) ที่คณะไปถึงในตอนบ่ายตั้งอยู่บนฝั่งทะเลดำ (Black Sea Coast) เป็นเมืองใหญ่เป็นที่ ๓ ของประเทศ สิ่งที่น่าสนใจเมืองก็คือ สระอาบน้ำของชาวโรมัน (Roman Thermae) ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ และใหญ่เป็นที่ ๓ ของยุโรปแต่ยังได้รับการดูแลรักษาให้คงสภาพเดิมมากที่สุด สร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๒ โดยชาวโรมันและถูกทิ้งร้างอีกร้อยปีต่อมา เมื่ออาณาจักรโรมันเริ่มล่มสลาย ที่เรียกว่า “Thermae” เพราะเป็นภาษาละติน จะได้แตกต่างไปจาก “Roman Bath” ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๔ ซึ่งไม่เก่าเท่าและไม่สะดุดตาเท่าของเดิมที่สร้างขึ้นก่อน สิ่งปรักพังยังมีเหลือให้กระจัดกระจายทั่วไป
ท่ามกลางสายฝนพรำๆ นายโอกี้พาชาวคณะเดินไปชมโบสถ์ “พระแม่บริสุทธิ์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์” (Cathedral of the Assumption of the Virgin) เป็นโบสถ์ที่สร้างขึ้นในปี ๑๘๘๐ ถึง ๑๘๘๖ มีภาพประดับผนังแบบ “มูราล” สีสด มีหน้าต่างกระจกสีสวยที่เห็นในโบสถ์ทั่วไป สิ่งที่สะดุดตาก็คือ รูปของนักบุญหลายองค์ และบัลลังก์ที่สลักด้วยไม้แบบ “ไอคอน” (Icon) การสลักแบบนี้มีชื่อเสียงมากในแถบนี้ ซึ่งเป็นลักษณะโดยเฉพาะของชาวคริสเตียนออร์โธด๊อกซ์ โดยมากจะสลักเป็นรูปของบุคคลสำคัญๆในศาสนาคริสต์ เช่นพระเยซู พระแม่มารี สาวกของพระเยซู และนักบุญต่างๆ หรือไม่ก็ฉากการทำศีลล้างบาป (Baptism) ของนักบุญเซนต์จอห์น อาจจะสลักจากไม้บ้าง จากกระเบื้องบ้าง จากหินบ้าง หรือบางทีก็สลักจากขี้ผึ้ง เชื่อกันว่าการสลักรูปแบบ “ไอคอน” เริ่มขึ้นจากประเทศบัลแกเรียในศตวรรษที่ ๑๐ แต่ของเดิมมีเหลืออยู่ไม่มากนักเพราะถูกชาวเติร์กทำลายไปมากต่อมาก มาในสมัยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจึงได้เห็นรูปสลักที่ระลึกวางขายอยู่เกลื่อนกลาดในประเทศ
หินสลักรูปอัศวินขี่ม้า “แมเดร่า” (Madara Horseman) อยู่นอกเมือง “ชูเมน” (Shumen) โดยสลักลงบนหน้าผาที่สูงถึง ๒๓ เมตร เป็นรูปสลักอัศวินควบม้าในมือมีหอกกำลังแทงสิงโต มีหมาวิ่งตามติด สลักขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ ๘ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในสงครามของกษัตริย์แห่งอาณาจักรบัลแกเรีย สมัยที่ ๑ หินสลัก “แมเดร่า” เป็นหินสลักแห่งเดียวในสมัยกลางของบัลแกเรีย จึงได้รับความคุ้มครองให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก
ถ้าทำได้อีกครั้งหนึ่ง เพ็ญจะไม่ไต่บันไดสูงชันขึ้นไปจนถึงแผ่นหินสลักให้เหนื่อยและเมื่อยเพราะที่นั่นมี “โครงไม้” (Scaffolding) บังอยู่ยิ่งไต่สูงขึ้นไป โครงไม้ก็จะบังรูปสลักมากขึ้น สู้ยืนดูอยู่ข้างล่างไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาสร้างโครงไม้ไว้ทำไมแต่เพ็ญก็ได้เห็นและได้ยินชายชราในเครื่องแต่งกายแบบพื้นเมืองเป่า “ปี่” ที่มีถุงทำด้วยหนังแพะเรียกว่า “เกด้า” (Gayda)
คืนนั้นคณะไปพักที่โรงแรม “อีวานา” (Ivana) ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่เพิ่งเปิด ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหาด “แสงแดดสดใส” (Sunny Beach) เท่าไรนัก “ซันนี่บีช” เป็นที่ตากอากาศบนฝั่งทะเลดำ (Black Sea) ผู้ที่ไปพักที่โรงแรมนี้ส่วนใหญ่เป็นกรู๊ปทัวร์ หรือไม่ก็เป็นครอบครัว หานักท่องเที่ยวส่วนตัวยาก ราคาห้องพักรวมอาหารเช้าและอาหารเย็นด้วยจึงสะดวกกับกรู๊ปทัวร์และครอบครัว ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงแรมสร้างใหม่ แต่เพ็ญก็จะไม่แนะนำให้ใครไปพัก เพราะไม่ใช่โรงแรมสวยหรูที่เห็นได้บนหาดในยางหรือหาดบางเทา หรือแม้แต่แถวหาดพันวาของภูเก็ต
อ่างอาบน้ำเตือนให้ฮันส์และเพ็ญคิดถึงโรงแรมที่เมือง “อาดานา” (Adana) ในประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของเมืองคืนนั้นแอร์ในโรงแรมเสีย อากาศร้อนจัด เพราะเป็นเดือนสิงหาคม จึงต้องลุกอาบน้ำกันแทบทุกชั่วโมง บังเอิญถังน้ำรั่ว น้ำไหลเจิ่งห้องน้ำทั้งคืนแต่นั่นมันเป็นประเทศซีเรียหลายปีมาแล้ว นี่เป็นยุโรป อ่างอาบน้ำในห้องน้ำที่โรงแรมใหม่เอี่ยมบนหาด “ซันนี่บีช” คงเกิดจากความสะเพร่าและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของช่างและสถาปนิกที่ปิดรอยต่อที่พื้นห้องน้ำไม่สนิท ฮันส์ต้องใช้ผ้าเช็ดตัว ๒ ผืนปิดรอยรั่วเอาไว้เวลาอาบน้ำ หากไปกันเองก็จะขอห้องใหม่ แต่อย่างว่า หากไปกันเองเพ็ญและฮันส์ก็คงจะไม่ไปพักที่โรงแรมเช่นนี้เป็นแน่
ตอนเย็นเป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ที่เพ็ญคิดในใจว่า อาหารที่เพ็ญเลี้ยงคนงานที่ก่อสร้างบ้านของเพ็ญที่ภูเก็ตยังดูดีกว่าเยอะ แต่เพ็ญก็ได้แต่คิดไม่กล้าพูดออกมาดังๆให้ใครได้ยินแม้แต่สามีเพราะได้สัญญาเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่บ่น
วันรุ่งขึ้นคริสเตียนขับรถเลียบฝั่งทะเลดำไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ก็ถึงเมือง “เนซีบาร์” (Nesebar) เนซีบาร์เป็นเมืองเล็กๆตั้งอยู่บนเกาะซึ่งเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ด้วยแหลมแคบๆที่สร้างขึ้นเพื่อสะดวกในการคมนาคม คล้ายกับจังหวัดสงขลาของไทย เนซีบาร์มีประชาชนอาศัยอยู่เพียง ๙,๕๐๐ คนเท่านั้น และได้รับการสถาปนาให้เป็นมรดกของโลกโดยองค์การยูเนสโก เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ “แมเดร่า” รถไปจอดรอนอกกำแพงเมือง ปล่อยให้นายโอกี้พาคณะลอดผ่านประตูเมืองเก่าแก่เข้าไปในตัวเมืองซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม
ดูเหมือนนักท่องเที่ยวที่ไปบัลแกเรียซึ่งปกติก็มีไม่มากนัก ได้มารวมตัวกันอยู่ที่เนซีบาร์ทั้งหมด ถึงแม้ว่าเนซีบาร์จะถูกยึดครองโดยชนชาติต่างๆ เช่นเดียวกับเมืองเก่าอื่นๆในแถบนี้ป้อมปราการ โบสถ์เก่าแก่ หอคอย รวมทั้งประตูเมือง ฯลฯ ก็ยังมีซากปรักหักพังเหลือร่องรอยความรุ่งโรจน์ในอดีตไว้ให้เห็น พอเมืองได้รับการสถาปนาให้เป็นมรดกโลก ก็มีงบประมาณสำหรับทำนุบำรุงสิ่งที่เคยปรักหักพังให้มีสภาพดีขึ้น