ประชาชน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่รวยที่สุดประเทศหนึ่งในโลกเช่น สวิสเซอร์แลนด์ นอกเหนือไปจากปัจจัยทั้งสี่ประชาชนให้ความสำคัญในด้านการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กันมาก ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจตามสถานที่ต่างๆ หรือว่าทำงานอดิเรกอย่างอื่น เช่น การเล่นกีฬาหรือดนตรี เรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ฯลฯ
ตามกฎหมายแรงงานของประเทศนี้ประชาชนทุกคนที่ทำงานทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ต่างก็มีสิทธิ์ที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีกันเป็นเวลาสี่สัปดาห์ต่อปีเป็นอย่างน้อย ส่วนใครจะได้มากขึ้นไปกว่านั้นก็แล้วแต่การตกลงกันระหว่างบริษัทและส่วนบุคคล หรือแล้วแต่ตำแหน่งหน้าที่ที่ทำอยู่ ในแต่ละสัปดาห์ทุกคนมีสิทธ์ได้หยุดพักผ่อนกันคนละสองวัน ไม่ว่าจะเป็นคนงานก่อสร้างแบกหามหรือผู้จัดการบริษัท แต่ตามหลักแห่งความเป็นจริงและปฏิบัติ พวกที่ทำงานตอบบัตรเข้าออกมีเวลาทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทางบริษัทได้ตั้งเอาไว้ ถ้าหากเกินไปกว่านั้นก็จะได้รับการชดเชยเป็นเงินค่าล่วงเวลาหรือไม่ก็เป็นวันหยุดตอบแทน
ส่วนพวกบริหารระดับสูงๆไม่มีสิทธิ์เพราะเขาถือว่าได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนสูงเพียงพอแล้ว แม้จะต้องหอบเอางานกลับมาทำที่บ้านในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ทางบริษัทก็มาสน ถือว่าเป็นความรับผิดชอบในด้านการงานของคนนั้น ยิ่งมีตำแหน่งสูงมากเท่าไร แทนที่จะทำงานน้อยลงกลับตรงกันข้าม ไปทำงานก็ต้องไปแต่เช้าก่อนเลขาฯหรือเสมียนคนอื่นๆคิดจะไปซ้อมตีกอล์ฟเล่นสักนิดหน่อยก่อนไปทำงานนั้นอย่าพึงหวัง
นอกจากนั้นนายจ้างยังให้ความสำคัญและเอาอกเอาใจคนงานชั้นผู้น้อยเป็นอย่างมาก เธอลองทายซิว่า ในโรงเรียนที่ฉันสอนอยู่ ใครเป็นคนสำคัญที่สุด เธอคงทายว่าครูใหญ่หรือผู้อำนวยการโรงเรียน ผิดจ๊ะ จะมีใครเสียอีกถ้าไม่ใช่คนงานทำความสะอาด หรือภารโรงของโรงเรียนนั่นเอง เขามีสิทธิ์บงการให้ทั้งครูและนักเรียนปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน ถ้าหากใครทำอะไรเลอะเทอะหรือวางของอะไรไว้ไม่เป็นที่เขามีสิทธิ์จะว่ากล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเก็บเอาไปฟ้องพวกครูให้เมื่อยปาก
แม้แต่ครูเองก็ยังเคยโดนบ่อยๆถ้าหากว่าหลังจากเลิกเรียนแล้วไม่เช็ดกระดานดำให้สะอาดหมดจด หรือว่านักเรียนลุกออกจากห้องไปโดยไม่เก็บเก้าอี้หรือโต๊ะให้เรียบร้อยเสียก่อน เรียบร้อยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโต๊ะไปทางเก้าอี้ไปทาง แต่หมายถึงตั้งโต๊ะและเก้าอี้ไม่ตรงกันเป๊ะอย่างที่เขาต้องการจะให้เป็น หรือว่าไม่ปิดหน้าต่างด้านนอกในยามที่มีแสงแดดส่องจัดๆในหน้าร้อน
ในประเทศสวิส บ้านเรือนและอาคารส่วนใหญ่จะมีหน้าต่างกระจกสามชั้น อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ทริเปิลเกลซ (TRIPLE GLAZE) เพื่อเก็บความร้อนไม่ให้รั่วไหลออกไปในฤดูหนาว และให้ความเย็นสบายในวันที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งก็มีอยู่เพียงไม่กี่วันข้างนอกหน้าต่างกระจกจะมีหน้าต่างด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง ที่เรียกว่าชัตเตอร์ (SHUTTERS) สามารถจะหมุนขึ้นลงได้ด้วยมือหรือด้วยมอเตอร์ ชัตเตอร์นี้จะทำหน้าที่ป้องกันกระจก ช่วยเก็บพลังและป้องกันแสงแดดได้อีกทีหนึ่ง
ถ้าพวกเราไม่ทำตามที่เขาต้องการเขาจะว่าเอาอย่างไม่มีการเกรงใจกันละไม่ว่าครูหรือนักเรียน พวกครูงี้บางทีหน้าม้านไปเลย ขนาดที่ระวังตัวแจไม่อยากให้ใครก็ไม่รู้มาว่าเอา ฉันยังโดนเข้าทีหนึ่งจนได้ เข้าห้องน้ำแล้วเดินออกมาโดยไม่ปิดไฟ เพราะรู้ว่ายังมีคนอยู่ในห้องน้ำ พอเดินออกมา ภารโรงยืนอยู่หน้าห้องน้ำพอดี คล้ายๆกับว่าจะคอยดักจับผิดให้ได้สักครั้งหนึ่ง เพราะยังไม่เคยให้โอกาสเขาแสดงอำนาจอวดเลยสักที จริงดังคาด ไอ้หมอนี่ร้องตวาดฉันด้วยภาษาสวิสเยอรมันว่า “ลิคท์อั๊บเลิชเชิ่น” (LIECHTABLOESCHEN) แปลว่า “ปิดไฟซี่ (โว้ย)”
ขณะนั้นเป็นเวลาพักสิบนาที ลูกศิษย์นั่งกันอยู่แถวนั้นหลายคน เมื่อหลายปีก่อนเรายังอยู่ตึกเก่า ห้องโถงที่พักนักศึกษาอยู่หน้าห้องน้ำพอดี ฉันโมโหสุดขีด แล้วเวลาโมโหขึ้นมาก็มักจะเห็นช้างเท่าหมูเสมอ นับประสาอะไรกับไอ้หมาขี้เรื้อนตัวหนึ่ง เลยหันไปตวาดเป็นภาษาอังกฤษว่า “F…K OFF” พวกนักศึกษาที่นั่งอยู่หัวเราะกันครีน เพราะเป็นภาษาสากลที่ใครๆก็เข้าใจ ฉันไม่ได้หันกลับไปดูหน้าไอ้เจ้าภารโรงนั้นอีกเดินเข้าชั้นเรียนไป จึงบอกไม่ได้ว่าเขาตีสีหน้าอย่างไร แต่หลังจากนั้นมาอีกไม่นาน ทางโรงเรียนก็จำต้องให้เขาลาออกไป เพราะทั้งนักศึกษาและคณะครูบ่นกันมาก ภารโรงคนนี้เป็นชาวสวิส อายุในราวสักห้าสิบกว่า หน้าตาบูดบึ้งตลอดเวลา พูดจากระโชกโฮกฮาก ไม่รู้แกมีปัญหาอะไรจึงมาระบายอย่างกักขฬะแบบนี้กับพวกเราได้ทุกวี่ทุกวัน อย่างไรก็ดี ภารโรงคนนี้ก็เป็นข้อยกเว้นในเรื่องความหยาบคาย
ในที่สุดทางโรงเรียนก็ได้ภารโรงมาใหม่เป็นชาวอิตาเลียน มีภรรยามาช่วยทำความสะอาดด้วยทุกวันในตอนเย็นพาลูกผู้หญิงเล็กๆ น่ารักสองคนมาด้วยทุกครั้ง แม้ว่าภารโรงที่ฉันเล่าให้ฟังข้างต้นจะเป็นข้อยกเว้น พวกเขาก็มีอำนาจและมีสิทธิ์ไม่ใช่เล่น ทุกคนมักจะเกรงอกเกรงใจ ภารโรงส่วนใหญ่เป็นชาวสวิส ทำงานเรียบร้อยแทบไม่มีที่ติมีอะไรชำรุดสึกหรอก็จัดการซ่อมแซมโดยไม่ต้องรอให้ใครมาเตือนมาบอก แต่บางทีลืมตัวคิดว่าเป็นเจ้าของตึกหรือเจ้าของโรงเรียนเสียเอง
ก่อนที่จะมาเป็นภารโรง พวกเขาต้องไปเข้าโรงเรียนสอนฝึกอาชีพภารโรงมากันก่อนแล้วคนละสองสามปี เรียกอาชีพนี้ในภาษาสวิสเยอรมันว่า “อั๊บวาร์ท” (ABWART) นอกจากนั้นก็ยังมีสมาคม “ภารโรง” อีกด้วย ส่วนชาวต่างชาติที่มาทำงานทำความสะอาดทั่วไปนั้นไม่ใช่ “ภารโรง” ในลักษณะที่ฉันกล่าวถึง พวกนี้มาทำเพื่อหารายได้พิเศษ เพราะเป็นรายได้ดี นอกเหนือไปจากงานประจำวันไม่ได้มีการฝึกอาชีพมา คนสวิสมักจะไม่ชอบทำงานประเภทนี้ ปล่อยให้เป็นภาระของคนต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่
แม้แต่คนทำงานในตำแหน่งเสมียนเล็กๆ เขาก็จะถือสิทธิ์ของเขากันมากมักจะมาทำงานตรงเวลา แต่เมื่อถึงเวลาเขาก็จะกลับตรงเวลาเหมือนกัน พองานเลิก จะขอให้เขาชงกาแฟให้อีกสักถ้วยหรือว่าเป็นถ้วยกาแฟที่ตั้งอยู่ไปล้างเสียก่อนกลับบ้านนั้น จะถูกค้อนหลายตลบทีเดียว (ถ้าแหม่มค้อนเป็น) จะไล่ใครออกจากงานจะทำกันไม่ได้ง่ายๆ นอกจากจะเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงเป็นผลเสียหายเห็นได้ชัดเจนทันที ถ้าเป็นในลักษณะเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่น การขาดความจงรักภักดีต่อบริษัท (DISLOYAL) จะเชิญให้เขาออกก็ต้องให้ฝ่ายบุคคลร่างจดหมายอย่างระมัดระวังเพราะดีไม่ดีอาจจะถูกฟ้องเอาได้ในภายหลัง
เคย เล่าให้ฟังแล้วว่าคนสวิสโดยเฉพาะคนสวิสเยอรมันที่อาศัยอยู่ในใจกลางของประเทศเป็นคนซีเรียสทำอะไรก็ทำกันจริงจัง ไม่เหลาะแหละแม้แต่การเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเล่นกีฬาชนิดใดก็ถือเป็นงานเป็นการไปเสียหมด จะต้องมีสมาคมสำหรับกีฬาประเภทนั้นๆเมื่อมีสมาคมก็จำเป็นจะต้องมีนายกฯมีรองนายกฯ มีแคชเชียร์ หน้าที่นี้สำคัญมาก มีเลขาฯคอยจดบันทึกการประชุมหรือเรียกประชุม ฯลฯ เมื่อมีกีฬาหลายประเภท เธอก็คงจะวาดภาพออกว่าจะต้องมีสมาคมมากมาย แม้แต่ในหมู่บ้านที่ฉันอยู่ก็มีเกือบ 40 สมาคมได้
คนสวิสถือว่าประชาธิปไตยเริ่มมาจากคนกลุ่มน้อยก่อน แล้วค่อยขยายออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ มีสมาคมก็ต้องมีการเลือกตั้ง มีการโหวตเลือกกรรมการอยู่ๆ จะไปตั้งตัวเองเป็นนายกฯหรือกรรมการของสมาคมไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการเล่นกีฬากันสนุกๆก็ตาม คนสวิสในแถบนี้ส่วนใหญ่ไม่มีการสมาคมหรือปาร์ตี้กันในแบบที่เธอเข้าใจ ถ้าพบกันก็เป็นการพบปะเพื่อกิจการของสมาคมที่ตนเองเป็นสมาชิกหรือเป็นกรรมการอยู่ และก็มักจะใช้สมาคมเป็นสถานที่พบปะ จะไม่เชิญให้ไปบ้าน คนสวิสถือว่าที่พักอาศัยของเขาเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ค่อยเชิญให้ใครไปบ้านง่ายๆ
บางครั้งฉันเห็นแม่บ้านชาวสวิสยืนคุยกันบนถนนหน้าบ้านของตนเองเป็นเวลานานๆ แม้ว่าหิมะจะตกหรือฝนจะตกแต่ก็ไม่มีใครเอ่ยปากให้คู่สนทนาอีกคนหนึ่งไปดื่มกาแฟคุยกันที่บ้าน แทนที่จะยืนคุยกันให้เมื่อยบนถนน ซึ่งบางครั้งหนาวก็หนาว เปียกก็เปียก เพราะฉันเข้าใจคนสวิสดี จึงรู้ว่านอกจากจะถือว่าบ้านของตนเป็นสถานที่โฮลี่อ๊อฟโฮลี่ส์ (HOLY OF HOLIES) ที่ไม่กี่คนจะล่วงล้ำเข้าไปได้แล้ว พวกแม่บ้านเหล่านี้มักจะเกรงว่าจะต้องล้างถ้วยกาแฟอีกเป็นของแถม นอกเหนือไปจากภาระประจำวันที่ตนมีอยู่ ก็พวกเขาถือสิทธิ์กันมากอย่างไรเล่า ส่วนฉันนั้นไม่ต้องพูดถึง หยุดคุยกับแม่บ้านชาวสวิสที่ถูกใจบนถนนหน้าบ้านไม่กี่นาทีก็มักจะชวนเขาเข้าบ้านดื่มกาแฟ บางครั้งก็แถมด้วยแชมเปญ แล้วแต่ว่าจะได้จังหวะอย่างไร
สมัยที่เพิ่งมาอยู่แถวนี้ใหม่ๆ หลายคนอิดเอื้อน ไม่เคยชินกับการถูกชวนแบบจู่โจมเช่นนี้ เขาจึงรู้สึกอึดอัด กลัวว่าจะต้องเลี้ยงกลับเป็นการตอบแทนคนสวิสเชื่อในเรื่องการตอบแทน ไม่ว่าใครจะทำอะไรให้แม้แต่เพียงเล็กๆน้อยๆก็มักจะตอบแทนกันเป็นเรื่องเป็นราวคล้ายๆกับไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใครอะไรเทือกนั้น
เมื่อเวลาล่วงเลยไปเป็นสิบๆปีทุกคนในละแวกนี้รู้จักฉัน มักจะชวนไปดื่มกาแฟที่บ้านในหน้าหนาวหรือในยามที่ฝนตก และในหน้าร้อนถ้าเขาเห็นฉันนั่งอ่านหนังสืออยู่ในสนามก็มักจะชวนให้ไปดื่มเบียร์ด้วย ฉันเสียอีกที่ไม่ค่อยจะได้มีเวลาไปเยี่ยมเขามากอย่างที่พวกเขาต้องการ ส่วนแม่บ้านชาวสวิสด้วยกันเองนั้น เขามักจะไม่ค่อยเชิญกัน บางครั้งการเป็นเอ๊าท์ไซเดอร์ (OUTSIDER) แบบฉันก็ดีไปอย่าง ได้รู้อะไรต่ออะไรที่เป็นก๊อสซิปมากมาย เขาแน่ใจว่าฉันจะไม่เอาไปโพนทะนา แม้ว่าฉันจะเคยขู่เล่นๆเอาไว้ว่าจะเก็บเอาไปเขียนลงในนิตยสารของไทยก็ตาม แม่บ้านคนหนึ่งมีกุญแจบ้านของฉันเก็บไว้ เวลาที่ไปไหนๆ ถ้าเป็นในฤดูหนาวก็จะมาเปิดปิดหน้าต่างบ้านให้อากาศถ่ายเท ถ้าเป็นฤดูร้อนจะมาดูแลรดน้ำต้นไม้ดอกไม้ให้ อีกอย่างหนึ่ง ฉันเป็นคนขี้ลืม บางทีออกจากบ้านทางด้านโรงรถแล้วลืมกุญแจเข้าบ้านไม่ได้ ต้องไปเอาที่เขา ซึ่งทำให้เขาภูมิใจมากที่ฉันยกย่องไว้วางใจให้เป็นคนสำคัญ
เมื่อพูดถึงแม่บ้าน อย่าเพิ่งไปวาดภาพว่าเป็นผู้หญิงอ้วนตุ๊ต๊ะ หน้าตาน่าเกลียด ไม่ใช่อย่างนั้นจ๊ะ พวกเขาส่วนใหญ่มีการศึกษาดี แต่งตัวดี ในละแวกที่อยู่นี้เป็นแถบที่มีบ้านเป็นหลังๆที่คนอังกฤษเรียกว่าดีแทชด์เฮ้าส์ (DETACHED HOUSE) พ่อบ้านมีหน้าที่อาชีพการงานดี มีรายได้ที่แม่บ้านไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว แม่บ้านเหล่านี้จึงมักจะอยู่บ้านดูแลลูกเต้าและสามี อาจจะแก้เหงาด้วยการไปทำงานช่วยสังคมเงียบๆ หรือไปมีงานอดิเรกที่ตนชอบหรือเล่นกีฬา เป็นต้น ไม่ต้องนั่งเหงาอยู่คนเดียวที่บ้าน สถานที่ให้เล่นกีฬาก็มีเยอะ จะเล่นอะไรก็ได้ทั้งนั้น (ยกเว้นกอล์ฟ)
ใน ปลายเดือนมิถุนายนของทุกปีในวันเสาร์ สมาคมนักว่ายน้ำและประดาน้ำสมัครเล่นของลูเซิร์น ชื่อว่า “เมรู” (MEROU) จัดให้มีการว่ายน้ำในแม่น้ำรอยส์ (REUSS) อย่าเพิ่งคิดว่า ปู้โธ่ของกล้วยๆ ว่ายน้ำใครๆก็ว่ายได้ จริงไมเถียง แต่การว่ายน้ำในวันนี้เป็นการว่ายไปตามน้ำถึง 24 กิโลเมตร เจ้ากรรมวันนั้นและตลอดทั้งอาทิตย์ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา บนภูเขาก็มีหิมะตกตลอดอุณหภูมิบนเขา -4 องศาเซลเซียส พื้นที่ข้างล่างในราว 10 องศา ในแม่น้ำ 14 องศา บรื๋อ… น้ำในแม่น้ำรอยส์ไหลออกมาจากทะเลสาบลูเซิร์น และน้ำในทะเลสาบก็เป็นน้ำแข็งและหิมะที่ละลายลงมาจากภูเขา
สมาคมได้จัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 มีผู้สนใจเข้าร่วมด้วยถึง 850 คนมีทั้งเด็ก ทีนเอจทั้งหญิงและชาย ชายหนุ่มและหญิงสาว ตลอดจนผู้ใหญ่ที่อายุเลยห้าสิบขึ้นไป มีคนหนึ่งเป็นผู้หญิง มาร่วมว่ายด้วยเป็นครั้งแรก มารู้ภายหลังว่าชื่อเอลิซาเบธ อายุ 50 ปี เมื่อขึ้นจากน้ำหลังจากที่ว่ายไปจนถึงหลักชัยแล้ว เธอบอกว่าปีหน้าจะมาร่วมว่ายด้วยใหม่ เพราะสนุกมาก แม้ว่าจะหนาวจนสั่นก็ตาม
งานนี้ทุกคนต้องสวมชุดกับ (WETSUIT) มีหมวกยาง มีแว่นดำน้ำ มีท่อยางไว้หายใจ และมีรองเท้ากบ พอได้เวลาห้าโมงตรง ทั้งหมดมารวมพร้อมกันอยู่บนสะพานหน้าเทศบาลเก่าเมืองลูเซิร์นคน “กล้าหาญ” คนแรกคนหนึ่งหันหลังให้แม่น้ำแล้วกระโดดตูมลงไป ได้ยินเสียงร้องเมื่อร่างถึงผืนน้ำว่า “BRR. ISTDAS KALT.” บรื๋อ…หนาวชิบ หลังจากนั้นก็มีเสียงดังตูมๆไม่ขาดระยะตามติดๆกันมาจนครบทิ้ง 850 คน เขาปล่อยให้ตัวไหลไปตามสายน้ำที่เชี่ยวกราก ผ่านทำนบที่ไหลแรง ร่างกระดอนขึ้นไปตามน้ำ น่าเสียวไส้ บางคนใช้ห่วงยางใหญ่หรือไม่ก็ปลายางตัวใหญ่เกาะพาตัวลอยไป บางคนพายเรือยาง จะใช้อะไรเป็นเครื่องช่วยก็ได้ ไม่มีกติกาห้ามแต่อย่างใด พวกคนดูต่างก็วิ่งตามกันไปตามสายน้ำ ส่งเสียงร้องเชียร์กึกก้องเอาใจช่วยให้พวกเขาไปถึงที่หมายได้โดยปลอดภัย
จุดที่เขาจะต้องว่ายไปให้ถึงคือเมืองซินส์ (SINS) ซึ่งอยู่ในรัฐอาร์เกา (ARGAU) ห่างจากเมืองลูเซิร์น 24 กิโลเมตรตลอดระยะทางก็มีหน่วยช่วยเหลือและรักษาความปลอดภัยอยู่บนฝั่ง ถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไปก็จะไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง
ฉันกลับไปที่รถ (GISIKON) ที่พวกนักว่ายน้ำจะขึ้นมาพักเพื่อดื่มกาแฟร้อนๆและกินไส้กรอกนิดหน่อยรองเท้าก่อนจะออกว่ายต่อไปจนถึงเมืองซินส์ พอนักว่ายน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำ ทุกคนก็หนาวกันจนคางสั่น หน้าซีดเป็นต้ม แต่ทุกคนก็มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สนุกกับการว่ายน้ำในวันนี้เป็นที่ยิ่ง
พอดื่มกาแฟหายหนาวกันแล้วสักพัก พวกเขาก็กระโดดตูมลงไปในน้ำใหม่ คราวนี้ลอยคอแหวกว่ายกันไปจนถึงสะพานไม้เก่าแก่ของเมืองซินส์ ใช้เวลาในการว่ายทั้งหมดตั้งแต่เมืองลูเซิร์นมาถึงที่นี่ในราว 3 ชั่วโมง รวมทั้งหยุดพักดื่มกาแฟด้วย
ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ ไม่มีใครได้รางวัลอะไร เป็นการว่ายน้ำร่วมสนุกสนานร่าเริง ซึ่งฉันคิดว่าเป็นการพักผ่อนคลายเครียดที่แปลกไปอีกอย่างหนึ่งของชาวลูเซิร์นตราบใดที่ยังมีคนสมัครกันมากๆแบบนี้ เขาก็จะยังคงจัดงานกันต่อไป
บางทีเขาก็จัดให้มีการว่ายน้ำข้ามฝั่งทะเลสาบจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนลูกสาวของฉันเข้าร่วมด้วย เพราะเขาว่ายน้ำเก่ง ว่ายได้เป็นชั่งโมงๆไม่เหนื่อยเลย กลับบ้านได้ถ้วยแก้วไม่มีค่าอะไรในทางวัตถุ แต่มีค่ามากทางด้านจิตใจมาเป็นที่ระลึกด้วยถ้วยหนึ่ง บนถ้วยแก้วเป็นโล่ของสมาคมนักว่ายน้ำเมืองลูเซิร์น สลักเอาไว้ว่า “SEEUEBERQUERUNG” แปลว่า (ให้ไว้) ในโอกาสที่ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบเมืองลูเซิร์นฉันยังตั้งแก้วใบนี้ไว้บนชั้นของเตาผิงมาจนทุกวันนี้
แล้วฉันจะเขียนมาคุยให้เธอฟังใหม่เมื่อมีเทศกาลแปลกๆ