วันนี้ ถ้าฉันจะเขียนอะไรบ้าๆบอๆถึงเธอละก็ เธอต้องยกโทษให้ฉันนะจ๊ะคนดี แหม ก็ฉันยังคงมีฟาสนาคท์ฟีเวอร์ (Fasnacht Fever) อยู่นี่จ๊ะขึ้นต้นจดหมายแบบนี้เธอคงปวดหัวละสิเดี๋ยวก่อน อย่างเพิ่งงอน จะบอกอยู่เดี๋ยวนี้แล้วว่าแปลว่าอะไร ฟาสนาคท์ก็แปลว่าคาร์นิวัล (Carnival) ยังไงล่ะจ๊ะ
ความจริงมันก็ไม่ได้แปลว่าคาร์นิวัลตรงๆหรอกนะ ฉันแผลงออกมาใช้เองแหละ ถ้าจะแปลแบบเอาเป็นเอาตายกันละก็ Fasnacht มาจากคำว่า fast ซึ่งแปลว่าอดอาหาร ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเร็วนะยะ ฉันต้องรีบออกตัวไว้ก่อน เพราะกลัวคนอวด (ไม่) รู้ไงล่ะ ส่วน nacht แปลว่ากลางคืน พอรวมกันเข้าแล้วกลายเป็น Fasnacht ไม่มีตัว t (ที) เข้าใจหรือยังล่ะ
เมืองลูเซิร์นมีงานคาร์นิวัลกันปีละหน และคาร์นิวัลนี้ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่มโหฬารแบบที่เขาจัดกันที่เมืองริโอเดอจาเนโร (Rio de Janeiro) ในประเทศบราซิล แต่มันก็ยิ่งใหญ่มโหฬารพอสมควรสำหรับประเทศเล็กๆ แบบนี้การจัดงานประเภทนี้ให้สำเร็จสมบูรณ์ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยความร่วมมือพร้อมใจกันของทุกๆฝ่ายเชียวแหละ การวางแผนงานก็ต้องทำล่วงหน้ากันเป็นปีๆ และพวกที่จัดงานก็ต้องมีใจรัก ยอมเสียสละเวลาว่างส่วนตัวไปประชุม ออกความคิดเห็น ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายว่าจะเอายังไงกันดีจะเอาใครหรือว่าเหตุการณ์ใหม่เอี่ยมอะไรที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆมาเป็นข้อล้อเลียน เยาะเย้ย หรือตลกขบขัน
ส่วนพวกที่อยู่ในกลุ่มดนตรีก็ต้องนัดกันไปซ้อมดนตรีของตน ไอ้ที่ไปมั่งไม่ไปมั่งนี่นะ เขาไม่เล่นด้วยหรอก ยิ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มก็ยิ่งหนัก เพราะต้องทำงานมากขึ้นกว่าใครๆอีก 2-3 เท่าใครที่มีคู่ชีวิตที่ไม่บ้าในเรื่องนี้ไปด้วยละก็ไม่ต้องพูดกัน หย่ากันไปเลยแหละเธอใครมันจะไปทนได้ ในเมื่อไปประชุมกลับบ้านดึกๆดื่มๆเพื่อสนองตัณหาของตนเอง
ก่อนที่สมาชิกจะมาประชุมกัน พวกที่เป็นหัวหน้ากลุ่มก็ต้องไปถึงก่อนเพื่อ ไปจัดแจงดูแลสถานที่ประชุมให้เรียบร้อยจัดหาเครื่องดื่มไว้ให้พร้อมมูล เวลาเลิกประชุมก็ต้องอยู่ดูแลเก็บข้าวของ ไอ้แบบที่ถือตัวว่าข้าเป็นประธานหรือนายกฯนะเว้ย แล้วปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปลูกเดียว ตัวเองเป็นคนสั่งการน่ะ ไม่สำเร็จหรอก ไม่ช้าไม่นานไม่ถูกเตะก็โดนไล่ออก
ฉันจำได้ว่า เมื่อสัก 4-5 ปีก่อนนี้น้องชายฉัน เธอจำได้ไหม หมอมิตรไงล่ะ มาเที่ยวลูเซิร์นกับครอบครัวอยากจะทำอะไรให้ฉันภูมิใจบ้าง ก็เลยให้ยายพาย ลูกสาวแสดงฟ้อนรำสุโขทัยให้ฉันเชิญเพื่อนบ้านชาวสวิสมาชมเป็นการอวดศิลปะไทย ฉันก็เลยไปติดต่อขอยืมห้องหนึ่งในโรงเรียนสำหรับจัดการแสดง พอได้เวลา เพื่อนบ้านที่ได้รับเชิญก็มากันมากมายพอสมควร ฉันได้จัดเครื่องดื่มเตรียมไว้รับรองหลังการแสดง งานเล็กๆนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร พอแขกกลับบ้านไปหมดแล้วก็เหลือฉันและครอบครัวกับเพื่อนบ้านสนิทๆอีก 4-5 คนอยู่ช่วยจัดเก็บโต๊ะ ทำความสะอาดสถานที่ให้เรียบร้อย ล้างแก้ว เช็ดเก็บเข้ากล่องเอาไปคืนร้านที่เราสั่งเครื่องดื่มมาในจำนวนเพื่อนที่เหลืออยู่ มี ดร.ปีเตอร์แฮร์เกอร์ และภรรยารวมอยู่ด้วย ปีเตอร์เป็นบิ๊กบอสอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของเมืองลูเซิร์น เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้ และในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานของหมู่บ้านอีกด้วยฉันไม่รู้นะว่าพวกบิ๊กๆที่องค์การของเธอจะเป็นเช่นไร แต่ในคืนวันนั้นปีเตอร์ถอดเน็คไทออกพับเก็บเข้ากระเป๋า ม้วนแขนเสื้อ จัดการล้างถ้วยล้างชาม มีภรรยาคอยช่วยเช็ดอยู่ข้างๆ ฉันเองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เอาใจใส่มากนักเพื่อนฝูงก็ต้องช่วยกันเป็นธรรมดา แต่พอกลับบ้านแล้ว น้องชายฉันก็บ่นว่าเสียดายเหลือเกินคืนนี้ ถามว่าเสียดายอะไร แกก็บอกว่าเสียดายที่ไม่ได้ชักรูปปีเตอร์ไว้เป็นขวัญตาเก็บไว้อวดใครๆที่เมืองไทย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…
งาน เทศกาลฟาสนาคท์ที่ไม่มีวันที่ที่แน่นอนเหมือนวันคริสต์มาส เพราะขึ้นอยู่กับเทศกาลอีสเตอร์ว่าจะช้าหรือเร็วในปีนั้นๆ เรื่องนี้อีกเรื่องที่ฉันข้องใจไม่หายทำไมทีวันคริสต์มาสละก็มีวันตายตัวเพื่อฉลองวันเกิดของพระเยซู แต่ทำไมหนอวันตายและวันที่พระเยซูพื้นคืนชีพขึ้นมาไม่ยักกะมีวันที่แน่นอน นี่ถ้าโป๊ปได้ยินฉันพูดแบบนี้กับเธอ ท่านอาจจะจ้างมาเฟียมากำจัดฉันก็ได้เนอะ แบบพวกฟันดาเมนตัลลิสต์ในอิหร่านที่สั่งจับตายนายแซลมัน รัชดี ยังไงล่ะ ค่าที่บังอาจเขียน “โคลงของซาตาน” (The Satanic Verses) ดูถูกดูหมิ่นพระอัลลอห์ของพวกเขา โอ๊ย ริจะเป็นนักเขียนนี่ก็เสียวเหมือนกันนิ
พูดถึงเรื่องนี้แล้วต้องขอออกนอกเรื่องอีกนิดนะ ฉันมีหนังสือเล่มนี้อยู่ที่บ้าน เพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งแอบส่งมาให้ ตอนนั้นเรื่องกำลังเกิดสดๆร้อนๆเทียวละ ฉันอ่านแล้วก็เก็บวางไว้ในชั้นหนังสือในห้องรับแขก ไม่นานฉันก็ไปประเทศอิสราเอลและพักที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ บนชั้นที่ฉันพักอยู่ เขาแจกขนมบรรจุในกล่องรูปไข่สวยน่ารักให้ด้วย บนฝากล่องมีรูปผลไม้ เช่น ผลสตรอเบอร์รี่ เชอร์รี่ ฯลฯ ประดับไว้รอบๆ ตรงกลางเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า Holiday Inn Crown Plaza Tel Aviv – Jerusalem ความที่ฉันงกก็เลยเอากลับติดมาบ้านด้วยตั้งใจว่าจะกินเมื่อมีโอกาส แต่ยังไม่ทันได้กิน ก็บังเอิญมีแขกสำคัญมาจากประเทศอิหร่านโดยกะทันหัน บังเอิญเป็นวันอาทิตย์ ฉันไม่มีอาหารสดเหลืออยู่เลย เพราะอย่างที่เล่าแล้วว่าเราเพิ่งกลับจากอิสราเอล ไม่ทันได้ไปซื้ออาหารมาตุนไว้ เราเลยเชิญเขาไปกินข้าวกลางวันที่ร้านอาหาร เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เชิญเขามากินกาแฟที่บ้าน แขกชาวอิหร่านผู้นี้สังเกตดูลักษณะการแต่งตัว ฉันเดาเอาว่าเขาคงจะเคร่งในศาสนามาก แต่การพูดการจาของเขาเป็นปกติ ไม่ส่อว่าจะเป็นพวกฟันดาเมนตัลลิสต์แต่อย่างไร
พอมาถึงบ้าน ฉันก็แปลงร่างจากคุณนายเป็นแจ๋ว เข้าครัวไปจัดการชงกาแฟ ความจริงมันก็ไม่ยากเย็นอะไรเพราะฉันมีเครื่องชงกาแฟมหึมา กดปุ่มเข้าทีเดียว กาแฟก็ไหลออกมา ไม่ต้องกรองแบบเชยๆที่เธอเห็นในหนังสือฮอลลีวู้ดหรอกนะอีหนู นึกขึ้นมาได้ว่ามีขนมจากอิสราเอลอยู่ในกล่องสวย ก็เลยจัดใสถาดพร้อมกาแฟเอาออกไปวางรับแขกด้วย ผู้ชายสองคนรับกาแฟไปดื่มเฉยๆไม่พูดขอบใจสักคำ ฉันชักฉันขึ้นมาคนอะไรไม่มีมารยาท เห็นฉันเป็นคนใช้หรือไร แม่แต่คนใช้เสิร์ฟกาแฟ เราก็ต้องขอบใจ นี่อะไร ไม่พูดไม่จา ขนมเสิร์ฟให้ก็ไม่มีใครกิน มีฉันกินอยู่คนเดียวดื่มกาแฟเสร็จ แขกก็ลุกขึ้นยืนกล่าวคำอำลา ขอบคุณในความเอื้อเฟื้อของฉันวอลเตอร์พาเขาไปส่งโรงแรม
ทันทีที่กลับมาถึงบ้าน วอลเตอร์ก็หัวเราะออกมาอย่างกลั้นไม่อยู่ บอกว่าฉันนี่ต้อนรับแขกต่างชาติต่างภาษาอยู่บ่อยๆ ธรรมเนียมของเขาฉันก็รู้ดี ทำไมถึงได้ปล่อยไก่ออกไปตัวเบ้อเริ่มยังงั้นผิดวิธีทางการทูต ตอนแรกฉันก็งงๆสักครู่จึงนึกขึ้นมาได้ว่าเอาขนมจากประเทศอิสราเอลเลี้ยงชาวอิหร่าน และแทนที่จะใส่จานอย่างทุกครั้ง กลับเอาออกมาเสิร์ฟทั้งกล่อง โดยมีชื่อของประเทศติดหราอยู่ แถมยังมีหนังสือต้องห้ามวางเป็นสง่าอยู่ในห้องรับแขกอีกต่างหากมิน่าเล่า คุณผู้ชายถึงไม่ยอมแตะต้องขนมเลย ถ้าฉันดูคนไม่ผิด แขกของเราคนนี้เต๊ะท่ารังเกียจขนมจากอิสราเอลไปยังงั้นเอง กลับเข้าห้องในโรงแรมไปแล้วคงจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ในความบ้องตื้นของฉันเป็นแน่
วันแรก ของฟาสนาคท์เริ่มแต่ไก่โห่ในวันพฤหัสบดีสกปรก “ชมุทซิกเกิ้นดอนเนอร์สตาก” (Schmutzigen Donnerstag) ทำไมวันนี้สกปรก ฉันก็เป็นวันพฤหัสฯหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลเลนท์ (Lent) ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชาวคาทอลิก “พยายาม” จะอดอาหาร หรือไม่ก็พยายามกำจัดความอยากกิน อยากดื่ม อยากเสพของตน เช่น เคยกินของหวานหลังอาหาร ก็ไม่กิน เคยกินเนื้อก็เปลี่ยนไปกินปลาแทน เคยมีเซ็กซ์กลางวันหนกลางคืนหน ก็ตัดให้เหลือแต่กลางวันหรือกลางคืนเพียงหนเดียว ดังนี้เป็นต้น
ขบวนแห่จะไปเริ่มต้นที่จัตุรัสสฟริตส์ซี่ตอนที่เธอไปลูเซิร์น ฉันก็เคยพาเธอไปที่นั่น จัตุรัสนี้อยู่ปลายสะพานแซปเปิ้ลไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง หิมะจะพากันตกลงมาจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ขบวนแห่จะเริ่มเวลาตีห้าตรง มีผู้ชายชาวเมืองลูเซิร์นแท้ๆได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรูเดอร์ฟริตส์ชี่ เชื่อกัน ฟริตสชี่เป็นเจ้าแห่งความสนุกสนานร่าเริง เธอเคยเห็นอนุสาวรีย์ของเขาแล้วที่กลางจัตุรัส มีสีหน้าตลกๆบอกความรื่นเริง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินผ่านไปแล้วก็ผ่านมาไม่รู้หรอกว่ามีอะไรอยู่ที่นั่นบ้าง รู้อยู่อย่างเดียวว่าจะไปซื้อโดเล็กซ์ได้ที่ไหนเท่านั้น
ตามหลักฐานบอกว่า เทศกาลนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แน่ะ นักวิชาการบางคนชื่อว่าฟริตส์ชี่เป็นเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในสมัยนั้น คงจะคล้ายกับพระศิวะกระมัง ฉันก็ไม่รู้แน่ ฉันจะไม่เล่ารายละเอียดในการแต่งตั้งฟริตส์ชี่ให้เธอฟังละ เพราะสลับซับซ้อนยุ่งยากเอาเป็นว่าผู้ชายที่จะได้เป็นฟริตส์ชี่จะต้องได้รับเลือกจากกรรมการจัดงานในสมาคมอาชีพสาขาต่างๆก็แล้วกันนะ
พอตีห้าตรง ขบวนแห่มาพร้อมกันแล้วเขาก็จะจุดพลุเสียงดัง เรียกกันว่าคนาล (Knall) หรือในภาษาอังกฤษก็จะพูดว่า Start with a Bang แปลว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นของฟาสนาคท์แล้วนะ และงานนี้จะมีติดต่อไปถึงสามวันสามคืน คือ วันพฤหัสฯ วันจันทร์ และวันอังคาร สิ้นเสียงพลุฟริตส์ชี่ก็จะเริ่มปาส้มแจกผู้คนที่มาร่วมชมขบวนแห่ จะให้หนาวแสนหนาวจนเข้ากระดูก ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคน ธรรมดาคนสวิสมักจะเคร่งครัดเรื่องพาเด็กๆไปไหนมาไหนในยามค่ำคืนหรือเช้าตรู่ แต่ในระหว่างเทศกาลนี้เป็นข้อยกเว้น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายต่างก็หอบลูกจูงหลานออกมาเที่ยวด้วยแต่งตัวด้วย ชุดแฟนซีที่คุณแม่อุตส่าห์นั่งหลังขดหลังแข็งเย็บให้ทันเทศกาล จะแต่งบ้าแต่งบอจนสุดฤทธิ์สุดเดชก็ไม่เป็นไร
ขบวนแห่ซึ่งประกอบไปด้วยสมาคมอาชีพต่างๆที่ได้เตรียมการกันมาตลอดทั้งปี อย่างที่ฉันเล่าให้เธอฟังแล้วข้างต้นก็เริ่มเดินพาเหรดออกไปรอบเมือง สิ่งสำคัญที่สุดและจะขาดเสียไม่ได้ ก็คือวงดนตรีให้ทำนองเร้าใจ คือ กู๋เก้นมูซิกเก้น (Guugenmusigen) ถ้าไม่มีวงดนตรีประเภทนี้ ฟาสนาคท์จะไม่เป็นฟาสนาคท์ ฉันจึงต้องเขียนชื่อวงดนตรีให้เธอดู ทั้งๆที่รู้ว่ายากกับการอ่าน เธอดูในรูปที่ฉันแนบมาด้วยก็แล้วกัน จะได้เห็นว่าเครื่องดนตรีมีอะไรบ้าง ธรรมดาฉันเกลียดไอ้ดนตรีชนิดนี้เป็นที่สุด โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาซ้อมหนักก่อนจะถึงวันงาน มันหนวกหูเสียเหลือเกิน ถ้าไม่ชินก็อาจจะเป็นบ้าไปได้ ไม่น่าเชื่อที่ชนชาติที่รักสงบอย่างชาวสวิสจะทำเสียงดังได้สนั่นหวั่นไหวถึงขนาดนี้ แต่ถ้าเธออยู่ในเทศกาลเองละก็ มันจะเป็นเสียงที่เร้าใจให้อยากออกไปเต้นรำกับเขาด้วย
พอตกบ่ายในวันเดียวกันมีขบวนแห่มาอีก เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวอีกชนิดหนึ่ง ใส่หน้ากากแบบแปลกๆ แล้วแต่จะตกลงจัดสรรกันมาให้เหมือนๆกันในแต่ละสมาคม ตามสถิติเขาบอกว่า (สถิติของคนสวิสนี่เชื่อถือได้ เพราะนับกันถี่ถ้วน ไม่โมเม) มีคนติดตามดูขบวนร่วมด้วยในแต่ละครั้งประมาณห้าหมื่นคน เธอลองคิดดูลูเซิร์นเป็นเมืองเล็กนิดเดียว เมื่อมีคนถึงห้าหมื่นอยู่ในถนนพร้อมกันทีเดียวจะแออัดขนาดไหน คนดูพวกนี้แต่งแฟนซีบ้างไม่แต่งบ้าง แล้วแต่ใจสมัครเพราะไม่ได้ร่วมอยู่ในขบวนแห่กับเขาด้วย บางคนก็เพียงแต่วาดหน้าวาดตาเฉยๆแต่ใส่เสื้อผ้าธรรมดา
ในวันจันทร์ที่เรียกกันว่ากู๋ดีสมอนทาก (Guedismontag) ขบวนพาเหรดก็พากันมาอีก ในวันนี้บริษัทร้านรวงที่อยู่ในลูเซิร์นให้พนักงานหยุดตอนบ่ายครึ่งวันเพื่อไปดูขบวน จะให้หยุดหรือไม่ให้หยุด พนักงานส่วนใหญ่โดยมากเป็นพวกเสมียนที่มีฟาสนาคท์อยู่ในสายเลือด ต่างก็ลาพักฮอลิเดย์ในช่วงนั้นกันเป็นแถวๆ บางคนไม่เคยลาหยุดไปฮอลิเดย์ที่ไหนเลยทั้งปี รออยู่แต่งานเทศกาลฟาสนาคท์เท่านั้น เหลือเชื่อจริงๆ
งานเทศกาลฟาสนาคท์สุดสิ้นเอาในเย็นวันอังคาร หรือที่เขาเรียกว่ากู๋ดีส์เดี้ยนสทาก (Guedisdienstag) ในตอนบ่ายของวันนั้นมีขบวนแห่อันมโหฬารปิดท้ายรายการ เรียกว่าแห่มอนสเตอร์คอนเซิร์ต (Monsterkonzert) ขบวนแล้วขบวนเล่า คนที่ออกแบบเสื้อผ้าและหน้ากากช่างมีจินตนาการที่วิเศษเหลือเกิน ช่างหาแบบแปลกใหม่มาได้อย่างวิจิตรพิสดารทุกปี ไม่เคยซ้ำกันเลยไอ้ที่จัดงานแฟนซีใส่หมวกบ้าๆบอๆทั้งๆที่ร้อนกันจนตับแทบจะแตกในเมืองร้อนของนครหลวงบางแห่งน่ะ อย่ามาเปรียบกับพวกเขาเลย ขายขี้หน้าเปล่าๆ
ส่วนคนดูสองข้างทางก็ใช้คอนเฟตตี้หรือกระดาษสีต่างๆ ปาคนดูคนอื่นๆ ฉันละเกลียดนัก เพราะเวลาติดเสื้อผ้าและเส้นผมแล้วเอาออกยาก ติดกลับมาเลอะเทอะที่บ้านอีก กว่าจะแกะออกได้ ต้องอาศัยความอดทนอย่างมากเทศกาลฟาสนาคท์จบลงในตอนเช้าวันพุธซึ่งเป็นวันพุธขี้เถ้า คือ อัชเชอร์มิทวค (Aschermittwoch) พระเยซูตรัสไว้ในคัมภีร์ว่า มนุษย์มีร่างอันประกอบด้วยขี้เถ้า (ความหมายคือดิน) เพราะฉะนั้นเมื่อตายแล้วเราก็จะกลับเป็นขี้เถ้าคืนไปสู่ดินเช่นเดิม
ฟาสนาคท์เป็นประเพณีที่ยึดถือกันมานาน ฉันคิดว่างานนี้เป็นการขับไล่ฤดูหนาว ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิมากกว่าอย่างอื่น อีกประการหนึ่ง คนสวิส โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในตอนกลางของประเทศเป็นคนซีเรียส ตลอดทั้งปีทำแต่งาน เป็นคนธรรมดาๆ ไม่มีการสังสรรค์พบปะกันเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ นอกจากพบกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องหาทางออกเพื่อคลายความเครียด หาทางปลดปล่อยความกดดันในจิตใจ
ประเทศนี้มีแต่ข้อห้าม และข้อห้าม อะไรที่ไม่ห้ามหายาก เพราะฉะนั้นฟาสนาคท์จึงเป็นโอกาสอันดีที่พวกเขาจะปล่อยตัวปล่อยใจได้เต็มที่ เหมือนกับนักแสดง จะแสดงเป็นตัวอะไรก็ได้ที่ตนเองฝันอยากจะเป็น ซ่อนตนเองอยู่ในชุดแฟนซี หรือภายใต้หน้ากากที่ไม่มีใครรู้จักหรือจำได้ จะทำอะไรก็ได้ตลอดระยะเวลาเทศกาล ไม่มีใครว่า เพราะแทบทุกคนบ้าเหมือนกันหมด เต้นรำดีดสีตีเป่ากันทั้งวันทั้งคืน หิวนักก็แวะเข้าร้านอาหาร เหนื่อยนักก็นั่งพักริมถนนเอาหลังพิงฝา เมานักก็ล้มตัวลงนอนหลับไปในถนน ซึ่งตายปกติจะไม่มีใครกล้าทำ นอกจากพวกจรจัดเท่านั้น
ชาวสวิสในแถบอื่นๆที่ไม่ได้เติบโตมาในลูเซิร์นมักจะไม่ค่อยเข้าใจประเพณีนี้ และมักจะสงสัยว่าพวกนี้มันจะบ้าไปถึงไหนกัน แต่คนลูเซิร์นเองมีคำกล่าวเป็นภาษาท้องถิ่นของพวกเขาเกี่ยวกับงานฉลองฟาสนาคท์ (Ruudig Schoonen Lozaernen Fasnacht)
แปลว่า ฟาสนาคท์ของชาวลูเซิร์นสนุกชิบห…เลย