ที่นี่เขามีอะไรกัน

หน้าร้อนประเทศนี้ (สวิตเซอร์แลนด์) ดีหนักหนาประการแรก ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่หน้าบูดหน้าบึ้งอย่างที่มักจะเห็นกันในฤดูอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว หนาวจัดๆเข้า ผิวพรรณของพลเมืองที่ซีดอยู่แล้วยิ่งซีดเข้าไปใหญ่ เหมือนสีของเต้าหู้สีขาวที่วางขายในตู้กระจกในซูเปอร์มาร์เก็ตของ “มิโกรส์”

อย่าทำเล่นไป เดี๋ยวนี้ชาวสวิสรู้จักเต้าหู้กันดี เอามาทำอาหารสลัดประเภท “กินแล้วฟิต” กันเป็นแถวๆฉันเองยังสู้ไม่ได้เลยค่ะ

เมื่อหน้าตาซีดเป็นไก่ต้มข่าแล้วก็ต้องเดือดร้อนไปอาบอบเข้าเครื่องให้ผิวพรรณคลายซีดมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ดูเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีแข็งแรงเป็นที่อิจฉาของคนที่ได้พบเห็น แม้แต่จะต้องเสียเงินเสียทองก็จำยอม โดยเฉพาะนักธุรกิจที่ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับงานทั้งวันก็ต้องหาเวลาไปเข้าเครื่องอบบ้างเล็กน้อย จะได้ดูสมาร์ท มีเสน่ห์ ไม่อย่างงั้นลูกค้าหรือคนที่มาติดต่อธุรกิจการงานด้วยจะไม่เลื่อมใส

เพราะฉะนั้นผิดสีน้ำตาลของฉันจึงเป็นที่อิจฉาริษยากันมาก พวกเขาค่อนขอดว่าฉันโชคดีมาแต่กำเนิด ไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองก็มีผิวสวยได้ฉันก็ได้แต่นึกปลง อยากจะบอกกับเขาเหมือนกันว่า ที่ประเทศของฉันนั้นถ้าใครอยาก “สวย” ก็ต้องไปเสียเงินเสียทองอาบน้ำนมทำให้ “ผิวนวลขาว” เหมือนกันแต่ฉันก็เชยนะคะ ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้คนไทยยังอาบน้ำนมกันอยู่อย่างสมัยก่อนหรือเปล่า แหม ในบางเรื่องฉันก็เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีเหมือนกันแหละค่ะไม่กล้าพูดมากในเรื่องสวยๆงามๆประเดี๋ยวคุณผู้อ่านก็จะแอบหัวเราะเยาะคุยเรื่องที่ฉันถนัดดีกว่านะคะ

เดือนกรกฎาคม และสิงหาคมเป็นช่วงพักร้อนของคนสวิสส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าคุณพ่อจะไม่อยากพักในช่วงนี้ก็ “จำเป็น” ต้องพักนะคะเพราะส่วนใหญ่ลูกเต้าหยุดโรงเรียน 5-6 สัปดาห์ จะไม่หยุดได้ยังไงกันเมียจะได้ดึงหูขาดเป็นไร เดี๋ยวเพื่อนบ้านใครๆ ถามว่าเมื่อพักร้อนไปไหนมาจะไปอ้ำๆอึ้งๆบอกว่าไม่ได้ไปไหน อยู่บ้านเฉยๆ ได้อย่างไรกัน คนจะได้ดูชาหมามันจะได้ดูถูกปะไร จะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ต้องกระเบียดกระเสียดไปเที่ยวให้จงได้ จะได้เก็บเอาไว้ฝอยกับใครๆเขา

เรื่องไปฮอลิเดย์ของชาวสวิสนี่เป็นเรื่องใหญ่นะคะ ไม่ไปไม่ได้ โรงเรียนเปิดเทอม ลูกเต้ากลับไปโรงเรียน ได้ยินเพื่อนๆคุยกันว่าได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ถ้าลูกเขาไม่ได้ไปก็จะมีอาการน้อยเนื้อต่ำใจ ดีไม่ดีเดี๋ยวก็หาเรื่องหนีไป “เล่น” ของกับเพื่อนเสียเลย ก็พ่อแม่อยากไม่เห็นใจทำไม่เล่า (วะ) กดดันเหลือเกิน

ส่วนคุณแม่บ้านทั้งหลายก็จำต้องตะเกียดตะกายไปฮอลิเดย์เหมือนกันไม่เช่นนั้นเวลาไปจ่ายตลาดซื้อของที่มิโกรส์ ไม่มีเรื่องฮอลิเดย์มาคุยกับเขาก็ไปผูกคอตายเสียดีกว่า อย่าอยู่ให้อายชาวพาราเขาเลย

อย่านึกว่าฉันพูดเล่นนะคะ นี่เรื่องจริงไม่อิงนิยายเลยแหละค่ะ เคยคุยให้คุณผู้อ่านฟังแล้วว่า คนในประเทศนี้ได้หยุดพักประจำปีกันคนละอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แม้ว่าในสายตาของคนในประเทศอื่น ชาวสวิสจะมีรายได้ดีตามสถิติที่ธนาคารโลกให้ไว้เมื่อสองปีมาแล้วรายได้ต่อหัวของคนสวิสสูงที่สุดในโลกคือ 36,410 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่คนส่วนใหญ่ต่างก็มีรายจ่ายประจำที่แน่นอนกันอยู่แล้วทุกเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าประกันต่างๆ (โดยถัวเฉลี่ยแล้วชาวสวิสจ่ายค่าประกันสูงที่สุดในโลกคือ 18 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมด)

นอกจากนั้นก็มีค่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ จะมีเงินเก็บบ้างก็เพียงเล็กๆน้อยๆ จะเอาเงินที่ไหนเหลือเยอะแยะพาลูกพาเต้าไปฮอลิเดย์ต่างประเทศได้ แม้แต่จะเป็นเพียงประเทศใกล้ๆนี่ก็เถอะ

แต่มีเพื่อนหลายคนที่เชื่อถือได้เล่าให้ฟังว่า วิธีเก็บเงินไปเที่ยวของแม่บ้านโดยทั่วไปวิธีหนึ่งก็คือกระเบียดกระเสียดในเรื่องอาหารที่ซื้อกินในครอบครัว กินกันในบ้านใครจะมาเห็นเล่า ไม่มีใครมาเคาะประตูโดยไม่มีการนัดหมายอยู่แล้วแต่ถึงจะมี เขาก็มักจะไม่มาตอนเวลากินอาหารหรอกค่ะ แทนที่จะกินเนื้อสเต็กราคาแพง ก็ซื้อเนื้อหมูถูกๆชิ้นเล็กๆหรือไม่ก็เนื้อไก่ที่เขาจัดขายในกล่องเพราะไก่เป็นเนื้อที่ถูกที่สุดในกระบวนเนื้อทั้งหลายรองจากหมู หรือไม่ก็ซื้ออาหารประเภทแป้ง เช่นสปาเกตตี้หรือมะกะโรนีทำกับซอสมะเขือเทศ ไม่ต้องใส่เนื้อ หรือไม่ก็ซื้อมันฝรั่งมาปรุงเป็นอาหารชนิดต่างๆ บางคนก็ซื้ออาหารจำพวกไส้กรอกสีขาวๆ ราคาถูกมาทำกินสลัดหัวเล็กๆหัวเดียวก็กินกันได้ทั้งครอบครัว 4-5 คน

อีกวิธีหนึ่งที่พวกเขามักจะประหยัดกัน ก็คือ ไปซื้อหาเสื้อผ้าถูกๆ มาใส่ตอนที่ห้างร้านลดราคาเลหลังในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม หรือไม่ก็ซื้อจากร้าน “ประหยัด” ที่ขายเสื้อผ้าให้คนมีรายได้น้อย “ชุดเก่ง” มีไว้ชุดเดียวก็พอ เอาไว้ใส่ไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ผู้ชายบางคนทนเมียรบเร้าไม่ได้ ถึงกับไปขอกู้เงินจากแบงค์ “โพรเครดิต” (เรียกการกู้ชนิดนี้ในภาษาสวิสว่า KLEINKREDIT) เพื่อไปเที่ยวฮอลิเดย์ เสียดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 15 เอง บรื๋อส์…ไม่ต้องมีอะไรเป็น COLLATERAL ประกันการกู้ยืม เพียงแต่ต้องเซ็นชื่อสัญญาว่าแต่ละเดือนจะต้องเอาเงินมาใช้กลับคืนเป็นจำนวนเท่านี้เท่านั้น เพื่อนบ้านที่สนิทของฉันคงหนึ่งเป็นนายธนาคารแถมยังหาลำไพ่พิเศษด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ตามเก็บหนี้สินของหมู่บ้านอีกต่างหากเล่าให้ฟัง โดยไม่ได้เอ่ยชื่อใครหรอก เพราะเป็นความลับสุดๆ ที่จะเปิดเผยไม่ได้ เพราะจะเป็นการผิดมารยาทและผิดต่อหน้าที่ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง แต่ถึงจะไม่เล่า ฉันก็เห็นเองน่ะแหละค่ะ มองจากหน้าต่างครัวของฉันไปก็เห็นประตูหน้าบ้านของเขา เวลาทำกับข้าว ใครไปใครมายืนกดกระดิ่งบ้านเขา ฉันก็มองเห็นถนัด แม้จะไม่อยากสอดรู้สอดเห็นก็ตาม (จริงหรือเปล่าเนี่ย ถ้าไม่สอดรู้สอดเห็นจะมีเรื่องอะไรต่ออะไรมาเล่าให้แพรวฟังได้มากมาย)

สิ้นเดือนมีเงินใช้คืนก็รอดตัวไปแต่มีบางครั้งหรือบ่อยครั้งที่เดียวที่เกิดความจำเป็นมีรายจ่าย “กะทันหัน” อย่างอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น ต้องไปหาหมอฟันเป็นต้น คุณผู้อ่านก็พอจะทราบว่าค่าไหน แล้วก็ไม่มีประกันด้วย ตัวคนเดียวเมื่อไหร่ ทั้งครอบครัวน่ะเฉลี่ยแล้วมี 4 คนต่อครอบครัว เกิดเหตุอย่างนี้เข้าก็ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ในเดือนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตามเก็บหนี้สินก็ต้องส่งจดหมายไปเตือน ถ้าเตือนแล้ว 2-3 ครั้งยังไม่ชำระ เขาต้องแจ้งตำรวจให้มีคำสั่งไปยึดข้าวของบางอย่างเอาไว้เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ บางทีต้องไปกู้มาใหม่เพื่อมาชำระหนี้เก่า ทำไปเรื่อยๆ ก็เป็นดินพอกหางหมู

บางคน (อยากจะบอกว่าบางเมียมากกว่า) เห็นเพื่อนมีอะไรใหม่ก็อยากได้ต้องเคี่ยวเข็ญรบเร้าให้ผัวสุดที่รักไปซื้อมาบ้าง เพราะกลัวจะน้อยหน้า ทั้งๆที่ไม่มีเงิน ก็ไปกู้มาจากโพรเครดิต พอถึงเวลาไม่มีเงินชำระ เจ้าหน้าที่ตามเก็บหนี้สินต้องไปยึดทรัพย์สินนั้นๆมา นี่อาจจะเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งก็ได้ ที่ทำให้คนสวิสไม่ชอบให้ใครไปเห็นบ้านเห็นช่องของเข้า เรื่องอิจฉาตาร้อนจะว่าไปแล้วมันก็เป็นวิสัยของปุถุชน มีกันทุกชาติทุกภาษา แล้วแต่ว่าจะบังคับจิตใจได้แค่ไหน แต่ความอิจฉาริษยาของชาวสวิส ที่มีต่อคนที่เขาคิดว่า “มีมากกว่า” นี้รุนแรงนัก นี่ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่คนสวิสที่ “รวย” จริงจะอยู่กันเงียบๆแบบโลว์โพรไพล์จริงๆค่ะ จะไม่มีคอลัมน์ซุบซิบประเภทผัวซื้อเพชรเม็ดเท่าลูกมะพร้าวให้ยอดขมองอิ่มเป็นของขวัญวันเกิด หรือถอยรถเมอร์เซเดสรุ่นล่าสุดในโอกาสฉลองครบรอบวันแต่งงานอะไรเทือกนี้ เพราะคนสวิสจะหมั่นไส้เอามากๆ และก็จะหาเรื่องหัวเราะเยาะถากถาง จับผิดกันไม่มีสิ้นสุดไม่ได้ไปผุดไปเกิดแน่นอนกับคนที่อยากดังด้วยเรื่องประเภทนี้

ขอเล่าเรื่อง ที่เกิดขึ้นกับตนเองสักนิดนะคะ เอาเรื่องเดียวก่อนก็แล้วกัน เพราะมีอยู่หลายเรื่อง

เช้าวันหนึ่งฝนตกพรำๆ กระดิ่งประตูบ้านดังขึ้น ฉันเดินไปเปิดประตูมีชายคนหนึ่งมือข้างหนึ่งกางร่ม อีกมือถือกระเป๋าแบบคนเร่ขายของ ท่าทางทุลักทุเลเต็มที เราต่างสวัสดีกันตามธรรมเนียมสุภาพของชาวสวิส “กรู๋ทซี่” เขาบอกฉันว่าเขามาจากองค์การแห่งหนึ่งมีของหลายอย่างมาขาย ฉันอาจจะสนใจซื้อ แล้วก็วางกระเป๋าทำท่าจะเปิดให้ดู ฉันไม่ต้องการซื้ออะไร และก็ไม่อยากทำความลำบากให้เขาด้วยการเปิดกระเป๋าเอาของออกให้ฉันดูโดยฉันไม่ซื้อ ก็เลยพูดกับเขาอย่างสุภาพว่า ฉันมีของทุกอย่างแล้ว อย่าลำบากเปิดกระเป๋าเลย แล้วฉันก็ขอบใจเขา กล่าวคำสวัสดีและเอิ้อมมือจะปิดประตูบ้าน

ไวยิ่งกว่า “กามนิตหนุ่ม” เสียอีกกระทาชายนายนี้ใช้เท้าของเขาแทรกเข้ามาระหว่างประตู ไม่ยอมให้ฉันปิดแล้วตะคอกฉันอย่างหยาบคายว่า “คุณ (เอ็ง ?) เป็นคนต่างชาติมีบ้านสวยอยู่แต่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติ (เขาใช้คำว่า MITBURGER) ผม (ข้า ?) เอาของมาขายถึงที่แล้วทำไมไม่ซื้อ (วะ)” ตอนแรกฉันก็งงไปเหมือนกันไม่ทันคิดว่าจะโดนแจ๊คพ็อคแบบนี้แต่เช้าตรู่ พอได้สติก็บอกเขาไปเรียบๆว่า “เอาเท้า (ตีน) คุณ (เอ็ง ?) ออกไปเดี๋ยวนี้นะ แล้วก็ไปให้พ้นบ้าน อีกอย่างหนึ่ง ฉัน (ข้า) ก็เป็นสวิสเหมือนคุณ (เอ็ง) รีบย้ายทวารออกไปเสียไวๆ ไม่งั้นฉัน (ข้า) จะโทรศัพท์ไปเรียกตำรวจ” เขาเลยเดินคอตกออกไป

อีกสักชั่วโมงต่อมา พอระงับสติอารมณ์ได้แล้ว ฉันก็โทรศัพท์ไปเล่าให้เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันฟัง เขาบอกว่าเขาก็โดนเหมือนกัน แต่คราวนี้อีตาสติเฟื่องคนนี้บอกเขาว่า “ขอให้พระผู้เป็นเจ้ายกโทษให้คุณด้วยที่ไม่ซื้อของจากเขา มีบ้านสวยอยู่เสียเปล่า” คุยกันแล้วเราต่างก็นึกขำ เลยหัวเราะกันสนุก

แต่ถ้าจะหยุดคิดสักนิด คุณผู้อ่านจะเห็นว่านี่เป็นความอิจฉาริษยาแบบสุดๆที่เรา “บังอาจ” มีบ้านอยู่ ไม่ต้องออกไปทำงานเร่ขายของเหมือนเขา อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า มีชาวสวิสเพียง 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีที่อยู่เป็นของจนเอง แต่กว่าเราจะมีสมบัติของตนเองได้ เราก็ต้องทำงานหนักมาแล้วมากมายเหมือนกัน และยังคงต้องทำอยู่ เพื่อรักษาสิ่งที่เรามีเอาไว้ แต่ข้อนี้เขาไม่ต้องการรับรู้

ถ้าใครเห็นชาวสวิสไปเที่ยวเมืองไทย อย่าเพิ่งไปคิดว่าพวกเขา “รวย” มีสตางค์กันไปหมดทุกคน เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว มีหลายๆคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขาไปเที่ยวเพื่อ “กันครหา” จากเพื่อนบ้านว่าตนเองไม่มีสตางค์จึงไม่มีปัญญาไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้ามีใครไปถามเขาว่าเขาอิจฉาคนอื่นหรือ เขาจะแปลกใจ รีบบอกว่า เปล่าเลย มันเป็นสิทธิ์ของทุกคนที่ควรจะ “มี” ให้เหมือนกันต่างหาก

ฉันเคยถกเถียงกับเพื่อนครูคนหนึ่งถึงเรื่องของแพงเกินเหตุในประเทศนี้ ฉันบอกเขาว่า เวลาฉันไปช็อปปิ้งซื้ออาหารฉันไม่เคยมีความคิดอยู่ในหัวเลยว่าจะต้องนั่งพักดื่มกาแฟ นอกจากจะบังเอิญพบคนรู้จัก เกิดคุยกันก็ชวนกันไปดื่มกาแฟ เพราะประการหนึ่ง กาแฟตามร้านถ้วยละสามฟรังก์สามสิบ ถ้าฉันอยากดื่มกาแฟ ฉันก็ไปชงดื่มที่บ้านได้ไม่จำเป็นต้องไปนั่งดื่มที่คาเฟ่ ไม่ใช่ว่าจะคุยทับถมคนอื่นหรอกนะคะ ฉันมีปัญญาซื้อกาแฟดื่มได้ตามร้าน แต่ฉันเห็นว่าสิ้นเปลือง และก็ไม่ใช่นิสัยของฉันอีกด้วย ฉันบอกเขาว่าฉันไม่เข้าใจว่าแม่บ้านหลายคนที่สามีมีรายได้น้อยไปนั่งดื่มกาแฟ สูบบุหรี่อยู่ได้อย่างไรทุกครั้งที่ไปจ่ายตลาด เขาบอกฉันว่าเพราะคนเหล่านี้อยากจะให้คนอื่นเห็นว่า ถ้าเขาอยากดื่มกาแฟ เขาก็มีปัญญา “ทำได้” เขาไม่ต้องการให้ใครมารู้เขาไม่มีเงิน

เช่นเดียวกับการไปฮอลิเดย์ เขาบอกให้ฉันไปดูร้านกาแฟถ้วยละหนึ่งฟรังก์แปดสิบ มีคนแน่นร้านตลอดวัน เขาเล่าต่อไปว่า คนที่มาดื่มกาแฟส่วนใหญ่เป็นคน “ตกงาน” ต้องไปยืนเขาแถวตอกบัตรทุกสัปดาห์เอาเงินประกันตกงาน ฉันบอกเขาว่าฉันไม่เข้าใจ ถ้าหากฉันตกงานไม่มีเงิน ฉันก็จะประหยัด ไม่เอาเงินไปซื้อกาแฟนอกบ้านดื่ม เป็นการประหยัดได้อีกหนึ่งได้อีกทางหนึ่งแต่เขาบอกฉันอย่างเคืองๆว่า ฉันพูดอย่างนี้ได้ก็เพราะฉันมีปัญญาซื้ออะไรก็ซื้อได้ ไม่จำเป็นต้องไป “อวด” ใคร แต่คนที่ไม่มีนี่สิ เขาก็มีหัวใจ อยากจะมีให้เทียมหน้าเทียมตาคนอื่นๆ เช่นกันเพราะเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

ยังมีอีก เรื่องหนึ่งที่ฉันยังคงเห็นว่าแปลกทั้งๆที่อยู่ประเทศนี้มาเนิ่นนานแล้ว คนสวิสส่วนใหญ่ถือว่าคนที่ไม่มีสตางค์ไปฮอลิเดย์เป็นคนที่มีฐานะอยู่ในขั้น “EXISTENCE MINIMUM” ฐานะนี้ในความเห็นของเขาเกือบจะเทียบได้กับฐานะแบบ “BELOW POVERTY” นั่นเทียว และ “ความจน” อย่างน้อยก็ในความเห็นของคนสวิสเป็นสิ่งที่น่าละอาย จำต้องปิดบัง จะไปบอกให้ใครรู้ไม่ได้ เพราะใครๆก็รู้ประเทศสวิสรวย จะปล่อยให้มีคนยากจนอยู่ในประเทศได้อย่างไร เขามีความเห็นว่าทุกคนควรจะมีสิทธิ์ในการดำรงชีพเช่นเดียวกัน อย่างน้อยก็คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน แต่ฉันเห็นว่ามันเป็นได้แต่เพียงใน “อุดมคติ” เท่านั้นจะเป็นจริงไปได้อย่างไรกัน

บางคนถึงกับเรียกร้องมาในจดหมายเปิดผนึกให้รัฐมนตรีลดเงินเดือนตัวเองเพื่อไปช่วยรายจ่ายสีแดงที่มีมากกว่ารายรับของเขา แต่ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ มีความรับผิดชอบมาก ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมเช่นกัน ไม่ใช่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงไปต้องรับผิดชอบอะไรมาก แล้วไปเรียกร้องเอาเงินเดือนของผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของพนักงานเป็นร้อยๆพันๆ หรือเรียกร้องเอาเงินเดือนของคระรัฐมนตรีเช่นในประเทศสวิสได้อย่างไร

คนที่เข้ามาบริหารงานตำแหน่งรัฐมนตรีสวิสต่างเป็นคนดีทุกคนพยายามที่จะทำสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดให้กับประเทศชาติ บางที่ฉันก็เห็นใจเหมือนกัน ที่นับวันก็ถูกโจมตีเอามากมาย วันหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงกับร้องไหในสภาเลยค่ะฉันเห็นในข่าวทีวีเต็มตา ถึงแม้ฉันจะไม่สู้พิศมัยรัฐมนตรีคนนี้นัก ในเรื่องนโยบายการเก็บภาษีแบบจากคนที่มี “มากกว่า” ไปแบ่งให้คนที่มี “น้อยกว่า” แต่เขาก็ทำด้วยความจริงใจ หวังดีต่อประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ก็อย่างว่า ฉันไม่ชอบเสียภาษีสักเท่าไหร่เพราะเราเสียเอามากๆด้วย เรียกว่าเก็บเงินทั้งปียังไม่ได้เท่าที่เสียภาษีเลยค่ะ เพราะเขาเก็บภาษีรวมทั้งสามีภรรยาไม่แยกเก็บ ฉันหาได้เท่าไหร่ ภาษีก็กินหมด สู้อยู่บ้านเฉยๆดีกว่า

ตั้งแต่ ลูกสาวเรียนจบแล้ว ฉันไม่ค่อยชอบไปไหนนานๆในช่วงฤดูร้อนเพราะเมืองลูเซิร์นมีกิจกรรมน่าสนใจหลายอย่างจนดูกันแทบจะไม่หมดทีเดียวบางที่ก็วันเดียวกันเสียดาย ไม่รู้ว่าจะแบ่งภาคไปอย่างไรดีจึงจะเก็บภาพหมดได้ทุกภาพ และเอาเรื่องทุกเรื่องมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้ฟังกันอย่างถี่ถ้วน ก็ขอเล่าสั้นๆแต่เฉพาะที่ได้ไปเที่ยวมาและอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆด้วยก็แล้วกันนะคะ

ก่อนอื่นก็มีการฉลองเมืองกันในวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน มีการออกร้านรวงกันในเมืองเก่า มีการแสดงดนตรี มีอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการการฉลองเมืองสำเร็จด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาคมต่างๆ คุณผู้อ่านเห็นไหมคะว่า สมาคมของสวิสมีความหมายยิ่งใหญ่อย่างไรในชีวิตประจำวันของพวกเขา ในงานจะมีคูปองเป็นฉบับวางขายไปซื้อคูปองมา แล้วเราก็ใช้คูปองแทนเงิน รายได้จากการฉลองเมืองก็บริจาคให้กับสมาคมคนชราบ้าง สมาคมคนพิการขนาดหนักบ้าง สมาคมคนช่วยเหลือคนติดยาเสพย์ติดที่ต้องการจะเลิกบ้างหรือไม่ก็ช่วยสมาคมผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำทารุณบ้าง ฯลฯ

ในเรื่องการช่วยเหลือคนที่ “ด้อยกว่า” แบบนี้ คนสวิสจะทำด้วยความเต็มอกเต็มใจทีเดียว ดูๆไปแล้วก็ยากต่อการเข้าใจ คนที่ต้องการความช่วยเหลืออาจจะทำให้คนสวิสส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองมีค่าขึ้นก็ได้ ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่ด้อยกว่าเขาอยู่อีกมาก ความรู้สึกอันนี้อาจจะเป็นความรู้สึก “ผิด” ที่ตนเอง “มี” มากกว่าคนอีกหลายคน อาจจะเป็นความรู้สึกดังเช่นที่เพื่อนครูของฉันพยายามจะอธิบายให้ฉันฟังก็ได้

กิจกรรม อีกอย่างหนึ่งที่ฉันชอบติดตามเอามากๆก็คือ การไปเที่ยวแบบ “SCHULREISE” ของคณะรัฐมนตรีสวิส ซึ่งฉันเองเห็นว่าน่านิยมคืออย่างนี้ค่ะ ทุกๆปีในราวสิ้นเดือนมิถุนายน ใครที่ได้เป็นประธานาธิบดีในปีนั้น (ประธานาธิบดีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียว และจะสลับกันไปเรื่อยๆ จนครบ 7 คน) จะต้องเชิญให้รัฐมนตรีคนอื่นๆ ไปเที่ยว “HEIMAT” หรือบ้านเกิดของตน ปีนี้คุณคาสปาร์ฟิลลิเกอร์ ชาวลูเซิร์น ได้เป็นประธานาธิบดี ท่านก็เลยเชิญคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆไปเที่ยวรัฐลูเซิร์น มีแต่คณะรัฐมนตรีเท่านั้นค่ะ ลูกเมียไม่เกี่ยวพวกบอดี้การ์ดอะไรก็ไม่มีนะคะ การตัดสินใจในนโยบายอะไรทั้งหมดเป็นการตัดสินใจ “ร่วมกัน” ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปคิดลอบสังหารประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเพราะจะไม่ทำให้นโยบายอะไรของประเทศเปลี่ยนแปลง อีกประการหนึ่งนโยบายที่สำคัญๆคลอดออกมาแล้วก็ยังต้องให้ประชาชนไปลงคะแนนโหวตกันอีกด้วย ถ้าคิดจะลอบสังหารท่านประธานาธิบดีละก็ เห็นจะต้องสังหารหมู่กันทั้งประเทศเทียวนะคะ

คุณฟิลลิเกอร์เป็นเจ้าของโรงงานรถจักรยานและซิการ์ “ฟิลลิเกอร์” ที่ใหญ่โตมีชื่อเสียง แต่ในขณะที่ดำรงตำแหน่งก็ปล่อยให้พี่ชายทำไป ท่านเชิญเพื่อนรัฐมนตรีไปบ้านเกิดของตนที่หมู่บ้าน “เอ็นท์ลี่บุ๊ค” (ENTLEBUCH) เมื่อไปถึงแล้วก็ต้องมีกิจกรรมให้ทำแก้เหงา คุณฟิลลิเกอร์เลยจัดให้มีการร่อน “ทอง” กันในเขตของหมู่บ้าน แต่ก่อนอื่นท่านจัดให้มีการเลี้ยงอาหารกลางวันใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นอาหารจัดแบบบุฟเฟ่ต์ง่ายๆ แต่น่ารับประทานที่เห็นก็มีไส้กรอกชนิดต่างๆ มีปลาเทราต์อบจากเตาอบ และสลัดต่างๆของหวานที่แอปเปิ้ลทอดราดด้วยครีมวานิลลา อิ่มหนำสำราญแล้วต่างคนก็ถลกแขนเสื้อ ใส่บู๊ต ถืออ่างร่อนเดินลงไปในน้ำเพื่อร่อนหาทอง เปียกกันม่อลอกม่อแลกเลยค่ะ

ส่วนคุณชอง พาสคาล เดอลามูร่ารัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ ก็งัดเอาซิการ์จากโรงงานของคุณฟิลลิเกอร์ออกมาสูบ ท่านไม่ลงไปร่อนหาทองด้วยใครเห็นคุณเดอลามูร่าแล้วจะต้องนึกขันเพราะท่านมีลักษณะท่าทางเหมือนหมีแพนด้าน่ารัก นอกจากนั้นท่านยังมีอารมณ์ขันอีกต่างหาก แหม ก็ท่านเป็นชาวสวิส-ฝรั่งเศสนี่คะ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีหญิงคนเดียวของสวิส คือ คุณรูธ ดรายฟุส ในการท่องเที่ยวครั้งนี้ คุณดรายฟุสหกล้มขาหักต้องเข้าโรงพยาบาลในเมืองลูเซิร์น ออกจากโรงพยาบาลแล้วท่านยังเดินเขย่งไปไหนมาไหนตามเคย ส่วนท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (คนที่ร้องไหในสภาอย่างไรล่ะคะ) ที่กำลังก้มหน้าก้มตาร่อนทองว่า ถ้าท่านหาทองได้มากพอปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับรายจ่ายคงจะสิ้นสุดไปโดยปริยาย หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีก็เดินทางต่อไปจนถึงตัวเมืองลูเซิร์น ไปชมเมืองเก่า ไปดูอนุสาวรีย์สิงโต นักท่องเที่ยวต่างก็เข้ามาล้อมวงขอสัมภาษณ์ท่านกันเป็นการใหญ่

หลังจากนั้นก็ลงเรือข้ามทะเลสาบไปยังตำบล “เว็กกิส” (WEGGIS) จบรายการของวันแรกด้วยการไปร่วมดื่มกับราษฎรในตำบลนั้น เรียกในภาษาสวิสว่า “VOLKSAPERO” ฉันรักและนิยมความ “เรียบง่าย” ของคณะรัฐมนตรีทั้งเจ็ดคนนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันชอบท่านรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเป็นพิเศษ คือ คุณอด๊อลฟ โอกี้ ท่านไม่เคยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับรัฐมนตรีอีกหลายๆคน แต่คุณโอกี้พูดภาษาต่างประเทศได้ดีถึงสี่หรือห้าภาษา เมื่อสมัยก่อนท่านเคยเป็นครูสอนเล่นสกีหิมะ แม้จะมีเสียงติเตียนในนโยบายบางเรื่อง ท่านก็ได้ทำหน้าที่ของท่านโดยซื่อสัตย์จริตต่อประเทศอย่างแท้จริง

วันก่อนมีคนถามฉันว่า “เธอเคยเห็นภรรยาของคุณฟิลลิเกอร์ ประธานาธิบดีของสวิสบ้างไหม” เธอเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ ฉันตอบว่า “ไม่เคยเห็นเลย” เขาก็บอกฉันว่า เขาก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน รู้จักแต่ว่าชื่อเวร่า

แต่ไม่เคยเห็นรูปภาพของเธอในหน้าหนังสือพิมพ์เลย