วันที่ ๓ มิถุนายน เก้านาฬิกาตรงรถมารับไปวัด “เดรปุง” (Drehpung) ซึ่งเป็นวัดใหญ่ที่สุดและว่ากันว่าร่ำรวยที่สุดในทิเบต สร้างขึ้นในปี ๑๔๑๖ รถวิ่งไปตามถนนใหญ่ด้านตะวันตกของลาซ่าประมาณแปดกิโลเมตรแล้วก็เลี้ยวเข้าถนนเล็กแคบและขรุขระขึ้นเนินที่สูงชันไปอีกประมาณสามกิโลเมตร รถจอดตรงเชิงบันไดของวัด เราจำต้องไต่บันไดเดินผ่านขอทานที่นั่งกันอยู่สลอนบนขั้นบันได มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คนชราและพิการในเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น ต้องรีบเร่งฝีเท้าเพราะไม่เช่นนั้น จะโดนยื้อยุดฉุดลากและถูกตามตื๊อขอเงิน อยากจะให้เหมือนกัน แต่เกรงว่าถ้าให้คนหนึ่งอีกหลายๆคนก็จะกรูเข้ามาขอกันเป็นแถว แบบที่เมืองพาราณสีในอินเดีย
“เดรปุง” แปลว่า กองข้าว ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะตัววัดสร้างขึ้นเป็นกระจุก มีลักษณะเป็นกองสีขาวบนเชิงภูเขา “แกมโบ อุ๊ทซี่” องค์ลามะที่ประจำวัดที่นี่เป็นผู้สั่งสอนอบรมลามะที่เยาว์วัย ท่านสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่าลามะองค์น้อยๆที่กลับชาติมาเกิดองค์ใดมีความสามารถที่จะปกครองทิเบตในฐานะประมุขได้ หรือว่าองค์ใดจะเป็นได้ก็แต่เพียงเครื่องมือของผู้สำเร็จราชการเท่านั้น ดาไลลามะองค์ที่ห้าขยายวัดให้ใหญ่ขึ้นในขณะที่มาทรงพักอยู่ที่วัดนี้ ระหว่างการก่อสร้างวัง “โพทาล่า” ยามรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด วัดมีพระสงฆ์อยู่ถึงหนึ่งหมื่นรูปและมีที่ดินมากมายทุกหัวระแหง
ในปี ค.ศ. ๑๙๕๙ พระสงฆ์สามพันรูป ในจำนวนหกพันที่ประจำอยู่ที่วัดนี้หนีตามองค์ดาไลลามะไปอยู่อินเดีย รวมทั้งดาไลลามะสมณศักดิ์สูงอีกหลายองค์ส่วนที่เหลือสึกจากสมณเพศกลับบ้านเดิมของตนเพื่อไปทำการค้าขายหรือไม่ก็แต่งงานมีลูกมีเต้า ในวัดจึงมีอยู่แต่พระสงฆ์แก่ๆไม่กี่องค์ ได้อาศัยทำไร่ในที่รัฐบาลจีนให้ไว้ทำกินเลี้ยงชีพพออยู่ได้ ปัจจุบันมีพระสงฆ์และเณรอาศัยอยู่ประมาณสี่ร้อยรูป วัด “เดรปุง” มีชื่อเสียงว่าปลูกสวนแอปเปิ้ลได้อร่อยที่สุดในลาซ่า
ลักษณะของวัดคล้ายคลึงกับวัดอื่นๆในทิเบตแต่ใหญ่กว่ามาก เราได้ชมพระพุทธรูปไมตรียะซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าแห่งอนาคตกาล คนทิเบตชื่อว่าพระองค์มีจิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา หากใครมีทุกข์และได้มีโอกาสมานมัสการพระรูปแล้ว ก็จะลืมความทุกข์โศก ในวัดมีสถูปเจดีย์ทำด้วยทองเป็นที่ฝังพระศพของดาไลลามะองค์ที่สอง ที่สามและที่สี่ บนหิ้งบูชาในโบสถ์มี “ทอมา” ซึ่งเป็นอาหารที่เสกแล้ววางอยู่ “ทอมา” ทำด้วยเนยและข้าวบาร์เล่ย์ ปั้นเป็นรูปกรวยหัวแหลมมีฐานกลมกว้างกว่ายอดซึ่งมีลักษณะคล้ายเจดีย์ ส่วนยอดมีไว้สำหรับยึดรูปเหรียญที่ปั้นจากเนยเป็นรูปกลมประดับไว้ข้างบน ในเทศกาลพิเศษต่างๆเหรียญเหล่านี้จะทำอย่างประณีตประดับไว้อย่างหรูหรา จะเห็น “ทอมา” ประเภทนี้ได้ในกล่องกระจกที่วางไว้บนโต๊ะหมู่บูชา
ตาว่าพาเราไปดูครัวใหญ่แบบโบราณของวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออก โรงครัวมืดทึบสกปรก ทำให้ระลึกถึงครัวในหนังสือ “The Name of the Rose” ซึ่งเขียนโดย “Umberto Eco” ที่เคยอ่านเมื่อหลายปีมาแล้วต่อมาฮอลลีวู้ดมาทำเป็นหนัง แสดงโดย “ชอง คอนเนอรี” เตาใหญ่ในครัวยังคงใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง หม้ออาหารทั้งขนาดมหึมาและขนาดต่างๆ รวมทั้งหม้อกระบอกที่ใช้ทำเนยขนาดใหญ่แขวนอยู่บนผนังโดยรอบ มีเนยที่ทำจากข้าวบาร์เล่ย์กองอยู่บนพื้น พระสงฆ์ในวัดฉันอาหารที่ทำจากครัวนี้ อาหาร “ทอมา” วางอยู่ระเกะระกะ ตอนที่เราเดินเข้าไปในครัว พระสงฆ์หลายรูปกำลังขะมักเขม้นกวนเนยกันอยู่ ส่งกลิ่นตลบอบอวลไปทั่ว
ตอนเที่ยงตาว่าพาไปกินอาหารกลางวันที่ภัตตาคารทิเบตชื่อว่า “สโนว์ก๊อด” (Snow God) ที่เชิงเขาอันเป็นที่ตั้งของวัง “โพทาล่า” อาหารทิเบตไม่เลวเลย เราลองสั่งเบียร์ของเขามาดื่ม รู้สึกว่าเบียร์จะเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ เพราะเห็นดื่มกันทั่วไป เพราะมีเปอร์เช็นต์ของแอลกอฮอล์น้อยมาก เนื่องจากทำจากข้าวบาร์เล่ย์ชาวไร่ชาวนาใช้เป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย
หลังอาหารกลางวันตาว่าพาเราไปปล่อยไว้ที่จัตุรัส “บาคอร์” (Bharkhor Square) ให้ได้ช็อปปิ้งกันให้หนำใจ (shop till you drop) ก่อนจะพาไปชมวัด “โจกัง” (Jokhang Temple) ที่อยู่ใกล้ๆตอนบ่ายสี่โมงเพราะวัดเปิดให้เข้าชมในเวลาดังกล่าวเท่านั้น
ลาซ่าแบ่งออกเป็นสองเขต คือเมืองเก่าและเมืองใหม่ แม้จะอยู่ไม่ห่างกัน แต่สิ่งก่อสร้างและการดำเนินชีวิตของผู้คนนั้นแตกต่างกันมาก เมืองเก่ามีศูนย์กลางอยู่ที่วัด “โจกัง” ซึ่งชาวทิเบตถือว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ถนนในเมืองเก่าเล็กและแคบแล่นตัดผ่านบ้านที่สร้างด้วยหินสีขาว แต่กาลเวลาทำให้มีสีคล้ำลงจนเป็นกระดำกระด่าง คงมีแต่สีจัดจ้านบนไม้บางแห่งที่ยังเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ถนนบาคอร์ทอดเป็นรูปวงแหวนไปรอบวัด “โจกัง” ซึ่งเป็นหัวใจของเมือง บาคอร์เป็นถนนที่คึกคักที่สุด และยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ ร้านปลูกเป็นเพิงหรือแบบแบกะดิน มีเจ้าของเป็นคนทิเบต ขายของประเภทกะหล่ำ กำไล ลูกปัดสีต่างๆ ทำด้วยฝีมือของชาวพื้นเมือง แม้จะเป็นฝีมือที่ออกจะหยาบ แต่ก็มีสีสันเด่นสะดุดตา ร้านขายเครื่องเทศมากมายหลายชนิดเห็นอยู่ทั่วไป รวมทั้งร้านขายของที่ระลึกเช่นกงล้อสวดมนต์ขนาดต่างๆ มีมีด แหวน ตลับแป้ง ถ้วยโถโอชาม ให้ได้เลือกซื้อกันในราคาที่ถูกมาก ฉันเดินดูจนเมื่อยแต่ไม่ได้ซื้ออะไร นอกจากสร้อยคอลูกปัดเส้นยาวสีน้ำตาลแก่สองเส้นให้ลูกสาว แล้วก็ไปนั่งดื่มโคล่าดูความวุ่นวายอยู่ในร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่บนหลังคาตึกเก่าๆ แลเห็นวิวของจัตุรัสบากอร์ได้โดยรอบ
ในบริเวณวัด “โจกัง” แลเห็นนักธุดงค์ชาวทิเบตเดินจงกรมไปรอบๆวัด ในมือมีกงล้อสวดมนต์ที่จะขาดเสียมิได้ ปากขมุบขมิบสวดบทภาวนางึมงำ เคยถามตาว่าครั้งหนึ่งว่าที่เขาสวดๆกันน่ะ สวดกันจริงๆ หรือเพื่อหลอกนักท่องเที่ยวหน้าโง่เช่นเรา ตาว่าตอบว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง เคยสังเกตเห็นชาวทิเบตบางคนที่พอเห็นเราไปยืนดูเขาก้มๆเงยๆ นมัสการพระพุทธรูป เขาก็จะยิ่งก้มๆเงยๆมากขึ้น พร้อมกับใช้หางตาคอยชำเลืองว่ายังมีคนยืนดูอยู่หรือไม่ หากเห็นว่าไม่มีใครสนใจแล้ว เขาก็หยุดอย่างนี้ก็มีด้วย
เมืองใหม่มีอาณาบริเวณอยู่บนฐานอันเป็นที่ตั้งของวัง “โพทาล่า” เป็นเมืองที่ยังใหม่สมชื่อเพราะเพิ่งสร้างขึ้นมาได้เพียงสี่สิบกว่าปีเท่านั้น เป็นถิ่นที่คนจีนอาศัยอยู่ ถนนที่ตัดผ่านกว้างและตรง มีร้านที่ค่อนข้างทันสมัยพอสมควร ชาวจีนนำเอาสินค้าจากแผ่นดินใหญ่มาขาย
ได้เวลาบ่ายสี่โมงตาว่ามารับที่จุดนัดพบ เพื่อไปดูวัดโจกัง ซึ่งได้ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในทิเบต รู้สึกว่าวัดทุกวัดที่ไปชมมีอะไรที่สุดสุดอยู่ทุกแห่ง ที่ประตูทางเข้ามีนักธุดงค์หลายคนทำนมัสการขอพรอยู่หน้าพระพุทธรูปศักยมุนีซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าแห่งปัจจุบันกาล นิยายปรัมปราเล่าว่ากษัตริย์ “ซองสแตนกัมโป” (Tsongstan Gampo) ทรงขว้างพระธำมรงค์ขึ้นไปในอากาศ และอธิษฐานว่าหากพระธำมรงค์ตกลงที่ใด จะใช้ที่นั่นเป็นที่สร้างวัด พระธำมรงค์บังเอิญตกไปกระทบเข้ากับหินก้อนหนึ่งในลุ่มที่มีน้ำขังเฉอะแฉะ ทันใดนั้นก็มีเจดีย์สีขาวผุดขึ้นมาอย่างปาฏิหาริย์ คนงานจึงใช้หินถมบ่อ แล้วสร้างวัดโจกังขึ้น
กษัตริย์ “ซองสแตนกัมโป” เป็นกษัตริย์องค์ที่สามสิบสองของทิเบต ครองราชย์อยู่ระหว่างปี ๖๐๘ ถึง ๖๕๐ พระองค์ส่งผู้คงแก่เรียนไปยังประเทศอินเดียเพื่อเรียนภาษาสันสกฤต ตัวอักษรทิเบตได้ถือกำเนิดมาในช่วงนี้ จึงมีอายุมากกว่าอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงหลายร้อยปี
มีเส้นทางสร้างเป็นวงแหวนให้นักธุดงค์ได้เวียนรอบอยู่ด้วยกันสามทาง วงนอกสุดเป็นตัวเมืองเก่าที่เล่าให้ฟังแล้ว วงกลางเป็นถนนบาคอร์ ส่วนวงในวนไปรอบวัดโจกัง ถนนสายกลางมีกงล้อสวดมนต์แขวนอยู่โดยรอบ เพื่อให้ความสะดวกแก่นักธุดงค์ในการสวดภาวนาโดยใช้มือหมุนกงล้อไปรอบๆ จากซ้ายไปขวาในขณะที่เดินจงกรม
พยายามเพ่งมองจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดซึ่งมีพระพุทธรูปปางต่างๆหลายองค์ แต่น่าเสียดายที่มองอะไรไม่ค่อยเห็น เพราะในวัดมืดมาก ถ้าเอาไฟฉายติดมือไปด้วยคงจะได้เห็นอะไรสวยๆงามๆบ้าง ตาว่าบอกว่าหากองค์ดาไลลามะเสด็จมา จะเสด็จมาพักที่วัดโจกัง ด้วยมีห้องที่ประทับอยู่ในนี้ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูฉันอยากจะรู้ว่าเวลาดาราฮอลลีวู้ด “ริชาร์ด เกียร์” มาทิเบต เขาไปพักที่ไหน เกียร์เลื่อมใสในศาสนาพุทธของทิเบต เป็นตัวตั้งตัวตีให้ความสนับสนุนองค์ดาไลลามะอย่างออกนอกหน้า จนรัฐบาลจีนไม่ยอมออกวีซ่าให้เข้าประเทศด้วยเกรงการขัดแย้ง
วันที่ ๔ มิถุนายน
เช้านี้เรามีโปรแกรมไปเที่ยววัง “โพทาล่า” สร้างขึ้นในศตวรรษที่เจ็ดโดยกษัตริย์ “ซองสแตนกัมโป” พระองค์ทรงเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธมาสู่ทิเบต จำรูปปั้นได้ง่ายเพราะบนพระเศียรทรงพระมาลาสูงสีส้มหรือสีทอง ตรงกลางเป็นช่องเล็กๆ มีพระพุทธรูปองค์น้อยโผล่ออกมาแนบข้างของพระองค์ทางด้านซ้ายเป็นมเหสีชาวจีน ส่วนทางด้านขวาเป็นมเหสีชาวเนปาล
วังโพทาล่าตั้งอยู่บนเขา “แดง” (Red Hill) ทาสีขาว สูงเด่นเห็นได้แต่ไกลรอบทิศ กษัตริย์ “ซองสแตนกัมโป” ทรงสร้างป้อมปราการแห่งนี้ประทานมเหสีต่างชาติทิ้งสอง และได้ทรงใช้สถานที่แห่งเดียวกันนี้เป็นตักศิลาศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเปลี่ยนจากศาสนา “เบิน” มาทรงนับถือพระพุทธศาสนาหลังจากที่วังสร้างเสร็จได้หนึ่งพันปีก็ถูกทำลายไปเกือบหมดด้วยพระเพลิงบ้าง ฟ้าผ่าบ้าง ศึกสงครามบ้าง จึงยังมีห้องเหลืออยู่อีกสองห้องเท่านั้นที่เป็นของเดิม
วังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างขึ้นและขยายใหม่จากของเก่าในสมัยการปกครองของดาไลลามะองค์ที่ห้าคือในศตวรรษที่สิบเจ็ด และได้รับการปรับปรุงให้เป็นวังฤดูหนาวในปี ๑๗๕๕ ในเวลาเดียวกับที่ดาไลลามะองค์ที่เจ็ดโปรดให้สร้างวัง “นอร์บูลิงค่า” เป็นวังฤดูร้อน วังโพทาล่าเป็นศูนย์กลางการปกครองทั้งด้านการเมืองและด้านศาสนาของดาไลลามะหลายองค์ วังโพทาล่าใหญ่มโหฬารมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดถึงหนึ่งพันห้องและแบ่งออกเป็นสิบสามชั้น ภายในจึงมีห้องที่ประทับของดาไลลามะในขณะที่ยังทรงพระชนมชีพอยู่ และเมื่อสิ้นชีพกษัตริย์ก็มีห้องที่จัดเป็นที่ฝังพระศพทำด้วยทองคำอันโอ่อ่านอกจากนั้นก็มีห้องพักของผู้สำเร็จราชการ พระอาจารย์และลามะที่มีสมณะสูงศักดิ์หลายรูป ทั้งยังเป็นวัดที่พำนักของพระสงฆ์อีกต่างหาก ศิลปะสิ่งประดับประดามีที่อยู่ในวังล้วนแต่หาค่ามิได้ ปัจจุบันวังนี้จึงได้ถูกยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติซึ่งไม่มีใครจะแตะต้องได้
รถวิ่งไต่ถนนเล็กๆขึ้นเขาเพื่อให้เราไปขึ้นวังทางด้านปราสาทแดงได้สะดวก แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องเดินขึ้นไปตามถนนที่ลาดสูงชันกว่าจะถึงตัวปราสาท ส่วนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวชมมีอยู่ไม่กี่ห้อง อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้ได้รวมที่ประทับขององค์ดาไลลามะไว้ด้วย
แม้ว่าวังโพทาล่าได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้วและยังมีพระสงฆ์เหลืออยู่อีกไม่กี่รูปพำนักอยู่ที่นี่ เพื่อดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อย แต่คนทิเบตส่วนใหญ่ก็ยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การคารวะอยู่ไม่คลาย
ชมวังด้วยความตื่นตาตื่นใจระคนด้วยความเศร้าและสมเพช ตื่นตาตื่นใจในความหรูหราและเฟื่องฟูในด้านศิลปะ และรู้สึกสมเพชที่ความหรูหราโอ่อ่าวิเศษเลิศเลอเช่นนี้จะมีก็แต่ในประเทศที่ประชาชนยังยากจนอยู่เท่านั้น สิ่งฟู่ฟ่าเยี่ยงนี้หาได้น้อยในประเทศที่ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี ช่วยไม่ได้ที่จะรู้สึกชนิดนี้ เมื่อได้ไปเห็นสถานที่อันชวนให้ตะลึงตะไลที่สร้างขึ้นในประเทศที่ประชาชนยังอดๆอยากๆด้วยรู้อยู่แก่ใจว่ามันถูกสร้างขึ้นจากเลือด น้ำตา และความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสของมนุษย์หลายหมื่นหลายแสนหรืออาจจะหลายล้านคน
เป็นที่น่าสังเกตว่าวังโพทาล่าเป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีถังขยะให้เห็น ชมวังมานานชาวคณะเกิดอยากจะหาที่ปลดทุกข์ พอลงมาถึงด้านล่างสุดของวัง ก็แลเห็นป้ายลูกศรชี้บอก ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเข้าไป พอคนแรกเสร็จธุระเดินออกมาก็บอกว่าส้วมหลังนี้ทุกคนต้องเข้าไปดู ฉันเองแม้จะไม่ค่อยอยากเข้า แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็เข้าไปบ้าง เห็นห้องสี่เหลี่ยมสร้างด้วยหินซึ่งเจาะจากโขดหินมีขนาดยาว บนพื้นปูด้วยแผ่นกระดานมีช่องเจาะเอาไว้ให้นั่งยองๆทำธุระ และลอดช่องลงไปเห็นด้านล่างลึกละลิ่วเวิ้งว้าง เสียวไส้เป็นกำลัง หากพลาดท่าตกลงไปไม่เพียงแต่คอจะหักตายเท่านั้น แต่ยังตายแบบ “ไร้เกียรติ” อีกด้วย เดาเอาว่าห้องที่ใช้เป็นส้วมคงจะเคยเป็นอุโมงค์ในสมัยโบราณเพื่อใช้คุมขังนักโทษและศัตรูบ้านศัตรูเมือง หนังสือที่อ่านบอกว่าแมงป่องมีพิษทำรังอยู่ที่นี่จนเต็มไปหมด หากใครเกิดซวยถูกขังที่นี้จะไม่มีวันมีชีวิตรอดออกไปได้เลย
ตอนบ่ายตาว่าพาเราไปเยี่ยมครอบครัวชาวทิเบตซึ่งมีอยู่ในโปรแกรม รถวิ่งไปตามถนนที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ มีขยะเรี่ยราดอยู่ทั้งสองข้างทาง เห็นบ้านชั้นเดียวก่อด้วยหินปลูกอยู่หลายหลัง ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย น่าจะเป็นสลัมมากกว่า ในที่สุดรถก็พาเราไปจอดหน้ารั้วบ้านหลังหนึ่ง คนขับบีบแตร ส่วนตาว่าลงไปกดกริ่งประตูบ้าน เพียงอึดใจเดียวประตูก็เปิดออก
หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำชาติแต่ไม่มีสีสัน มีผ้ากันเปื้อนผูกอยู่รอบเอวยาวเท่าๆ กับกระโปรงซึ่งคลุมไปจนถึงข้อเท้า เด็กหญิงหน้าตาน่าเอ็นดูในราวสิบขวบนุ่งกระโปรงแบบเด็กๆยืนอยู่เคียงข้าง ได้ความว่าเป็นหลานยาย เจ้าของบ้านหญิงกล่าวคำสวัสดีและเชิญให้เราเข้าไปในบ้านด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีไมตรีจิต พอเข้าประตูรั้วไปนางก็แนะนำให้รู้จักกับสามีซึ่งใส่เสื้อเชิ้ตขาว นุ่งกางเกงขายาวแบบสากลธรรมดา
บ้านปลูกเป็นแบบสี่เหลี่ยม มีด้วยกันสักห้าหกห้องสร้างล้อมรอบลานที่อยู่ตรงกลาง บนลานมีดอกกุหลาบสีแดงสดปลูกอยู่ในกระถางหลายใบ บริเวณรอบๆถูกปัดกวาดสะอาดสะอ้าน หญิงเจ้าบ้านพาเราเข้าไปนั่งในห้องรับแขกซึ่งมีเก้าอี้โซฟาแบบบ้านสากลทั่วโลกฉันหยิบเอากาแฟและขนมปังกรอบที่ซื้อมาจากเซี่ยงไฮ้ให้เป็นของขวัญ ตามธรรมเนียมชาวสวิส รู้สึกว่านางพอใจมาก เพราะหลังจากนั้นก็มาป้วนเปี้ยนกับฉันมากกว่าคนอื่นๆ เสร็จแล้วก็พาเราไปชมห้องต่างๆในบ้าน ทุกห้องจัดเก็บอย่างดี ไม่มีอะไรรกรุงรัง แม้แต่เตียงนอนก็ปูผ้าคลุมเรียบร้อย มีแต่ครัวเท่านั้นที่แปลกปลอมไปจากสภาพโดยทั่วไปของบ้าน เตาหุงต้มเป็นแบบเก่าใช้ฟืน เมื่อได้เห็นภาชนะที่ตั้งวางอยู่อดสงสัยไม่ได้ว่าเขาไม่เคยทำความสะอาดบ้างเลยหรือ
ชาวคณะคิดคล้ายคลึงกันว่าครอบครัวนี้คงจะเป็นครอบครัวทิเบตที่ได้รับเลือกให้เป็น “โชว์พีซ” ไว้อวดนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ภายในบ้านมีห้องพระและห้องสวดมนต์ซึ่งแยกไปจากห้องอื่นๆ มีโต๊ะหมู่บูชาทำด้วยไม้ทาสีฉูดฉาด มีลวดลายสลักงดงาม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของประเทศโดยเฉพาะ ชาวทิเบตที่มีฐานะดีมากเท่านั้นจึงจะสามารถมีห้องพระและห้องสวดมนต์ภายในบ้านได้ ไม่มีก๊อกน้ำภายในหรือนอกบ้าน น้ำที่ใช้ปั๊มขึ้นมาจากบ่อ แล้วเอามาถ่ายเก็บไว้ในถังใบใหญ่ ตรงนี้จึงเป็นลานเล็กๆสำหรับไว้ซักผ้าและอาบน้ำ ฉันถามหญิงเจ้าของบ้านเป็นภาษาแมนดารินว่าส้วมอยู่ที่ไหน นางชี้มือไปนอกรั้วทางด้านฝั่งตรงกันข้ามของถนนซึ่งมีห้องเล็กๆเก่าๆสร้างด้วยหินตั้งอยู่ ก่อนจะกลับไปขึ้นรถ ฉันเดินไปสำรวจ จึงเห็นว่าส่วนที่ควรจะเป็นประตูนั้นเป็นโพรงเล็กๆมืดทึม เต็มไปด้วยหยากไย่ รู้สึกดีใจที่เจ้าของบ้านไม่ได้จัดหาอะไรมาให้รับประทาน โดยถือคติ “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ”
เย็นวันนั้นเราเปิดประชุมย่อยๆ ทบทวนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอดแปดวันในทิเบต ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า แม้การเดินทางจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี รู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวทิเบตแบบที่เราไปกัน เป็นประสบการณ์ที่แต่งแต้มชีวิตให้มีสีสัน ในฐานะที่เป็นเจ้าของคอลัมน์ “มองต่างมุม” หรือ “Another View” พวกเขาจึงพร้อมใจกันยกหน้าที่เขียนบันทึกการเดินทางให้ฉันเป็นคนเอาไปลงในหนังสือของสมาคมที่ออกทุกเดือนที่เซี่ยงไฮ้ ในขณะที่เขียนบันทึกนี้เป็นภาษาไทย ภาคภาษาอังกฤษได้ลงพิมพ์ไปเรียบร้อยนานแล้ว
เราต้องถกเถียงและปรึกษากันอยู่นาน กว่าจะตกลงกันได้ว่าควรจะให้ทิปใครอย่างไร เราต้องการทำโทษนายหมา จึงให้ทิปเขาน้อยที่สุด ทั้งๆที่เขาควรจะได้มากที่สุด เพราะเป็นทัวร์ลีดเดอร์ แต่เราต้องการเตือนเขาทางอ้อมให้ปรับปรุงตนเอง
วันที่ ๕ มิถุนายน
ออกจากโรงแรมลาซ่าตอนหกนาฬิกาสามสิบนาที ไปสนามบินก็องการ์ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณสองชั่วโมง เพื่อให้ทันเครื่องบินที่จะออกตอนเก้าโมงครึ่ง ใกล้เที่ยงเรามาถึงเมืองเฉิงตู แวะรับประทานอาหารกลางวันในร้านอาหารใกล้สนามบินแล้วเปลี่ยนเครื่องต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ถึงท่าอากาศยานที่ “หงเฉา” ตอนบ่ายสามโมง