เที่ยวไปบนหลังคาโลก ตอนที่ 2

เดินขึ้นบันไดไปอีกสามช่วงก็มาถึงระเบียงวิหารเราเดินไปหยุดอยู่ตรงทางเข้า มองเลยผ่านประตูเข้าไปเห็นผนังและเพดานของวิหารสลักเป็นลวดลายสีฉูดฉาดวันที่เรามาถึงตรงกับวันวิสาขบูชาพอดี ภายในวิหารจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์ทิเบตในชุดจีวรสีแดงเปลือกมังคุดกำลังสวดมนต์ภาวนา มีหนังสือสวดมนต์กางอยู่ตรงหน้า เสียงสวดมนต์ในภาษาทิเบตดังกังวานเป็นทำนองสูงๆต่ำๆทำเอาขนลุกขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว กลิ่นของธูป ควันจากเทียนคละเคล้าด้วยกลิ่นของข้าวบาร์เลย์ปั้นเป็นก้อนๆสำหรับถวายพระ เรียกในภาษาทิเบตว่า “ซัมปา”

ทำให้พวกเราเคลิบเคลิ้มเหมือนกับหลุดออกไปอีกโลกหนึ่ง โลกที่เราไม่รู้จักและคุ้นเคย กลิ่นของ “ซัมปา” แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของอากาศไม่ว่าจะย่างก้าวไปที่ใดในทิเบต เรายืนจังงังเหมือนถูกมนต์สะกดกับภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เราถูกปลุกให้ตื่นจากภวังค์ เมื่อตาว่าพูดขึ้นเบาๆว่า หากใครต้องการจะถ่ายรูปภายในวิหาร จะต้องจ่ายเงินให้พระสงฆ์คนละสิบหยวน ทุกคนควักเงินยื่นให้ด้วยความเต็มใจพวกเราโชคดีนักที่มาถึงในช่วงวันวิสาขบูชาจึงได้เห็นพระสงฆ์ทั้งวัดลงมาร่วมนมัสการพระพุทธเจ้าโดยพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ หากช้าอีกเพียงสองวัน เราคงจะได้เห็นแต่วิหารที่ว่างเปล่า ปราศจากพระสงฆ์แม้แต่เพียงองค์เดียวบนโต๊ะหมู่บูชามีธูปเทียนและเครื่องสักการะหลายอย่าง สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้คือ “ซัมปา” ในถาดทองเหลืองขนาดใหญ่ “ซัมปา” เป็นอาหารหลักของชาวทิเบต และมักจะใช้เป็นอาหารถวายพระพุทธรูปอีกด้วย “ซัมปา” ทำจากข้าวบาร์เลย์ที่นำเอาไปล้าง คั่ว แล้วบดจนละเอียด หลังจากนั้นก็ผสมน้ำปั้นเป็นก้อนๆ มีหัวแหลมคล้ายกรวย แค่นั้นก็เป็นอันเสร็จ ไม่จำเป็นต้องเอาไปทำให้สุกอีก ชาวทิเบตกิน “ซัมปา” เป็นอาหารหลักประจำวันเหมือนกับที่เอเชียส่วนใหญ่กินข้าว ในโอกาสพิเศษก็อาจจะมีเนื้อจามรีกับผักเล็กๆน้อยๆผสมไปด้วย โดยทั่วไปกลิ่นของ “ซัมปา” คงจะไม่สู้รุนแรงเพราะเป็นกลิ่นของข้าวบาร์เลย์คั่วบด ทว่า “ซัมปา” มีวางอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในบ้านในปราสาท ในวัดหรือวิหารที่ไม่มีอากาศถ่ายเท คลุกเคล้าด้วยกลิ่นเนยทำให้กลิ่นของมันฉุนเฉียว เวียนหัว ฉันรู้สึกว่ากลิ่นของ “ซัมปา” แทรกเข้าไปอยู่ตามเนื้อตัว ในเสื้อผ้า ในผม และแม้แต่ในผ้าเช็ดตัวของโรงแรม กลิ่นของมันติดตามหลอกหลอนฉันไปทุกแห่งตลอดระยะเวลาเก้าวันที่อยู่ในทิเบต

บนโต๊ะหมู่บูชาภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางต่างๆประดิษฐานอยู่หลายองค์ องค์หนึ่งเป็นพระศักยมุนีซึ่งชาวทิเบตนับถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าแห่งปัจจุบันกาลพวกเขาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งได้เป็นสามภาคคือ องค์ปัจจุบันกาล องค์อนาคตกาล และองค์อดีตกาลเป็นการยากสำหรับคนสุกๆดิบๆอย่างฉันจะเข้าใจในความเชื่อถือของชาวทิเบต แต่ฉันก็ให้ความเคารพและไม่ลบหลู่ความเชื่อถือของเขาแต่อย่างใด

ทางซ้ายมือของโต๊ะหมู่บูชามีแผ่น “ทังกา” ติดอยู่ในกรอบกระจก จิตรกรรมฝาผนังแลดูสวยงาม แสดงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของชาวทิเบต นอกจากนั้นก็มีเหรียญทองแดงโบราณที่ทางวัดรวบรวมไว้ จัดวางอยู่ในกล่องตรงมุมหนึ่ง บรรยากาศภายในวิหารแห่งนี้จะติดตาตรึงใจฉันตลอดจนชั่วชีวิต

ขณะเดินออกจากวิหาร เห็นชาวทิเบตทั้งหญิงและชายในเครื่องแต่งกายประจำชาติเดินขึ้นบันไดมาเพื่อเผาเครื่องสักการะบูชาในเตาอิฐบนระเบียงของวัด พร้อมกับถวาย “ซัมปา” เป็นสังฆทานแด่พระสงฆ์ พวกเขาคงจะเดินกันมาจากที่ไกล เพราะไม่มีรถจอดให้เห็นเลยแม้แต่คันเดียว

ตาว่าชี้ไปที่หมู่ขุนเขาเบื้องหน้าและบอกว่าเป็น “สุสานบนท้องฟ้า” ของชาวทิเบต พอเราทำหน้างงๆ เขาก็อธิบายว่าเวลาที่ชาวทิเบตธรรมดาๆอย่างตัวเขาตายร่างของเขาจะถูกหามขึ้นไปบนภูเขา เพื่อจะได้ถูกสับออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วโยนให้อีแร้งหรือพวกกากิน หากเป็นเด็กที่มีอายุหนึ่งขวบตาย ร่างของเด็กก็จะถูกสับเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเช่นกัน แต่เขาจะโยนชิ้นส่วนลงไปในน้ำ จึงเรียกว่า “สุสานในท้องน้ำ” หากองค์ลามะที่มีสมณะศักดิ์สูงถึงแก่มรณะกรรม ท่านจะได้รับการฝังในหลุมฝังศพอย่างดีที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า ให้ผู้คนได้มาคารวะ ส่วนองค์ลามะที่มีตำแหน่งรองๆลงไป เขาจะทำพิธีเผาแล้วอัฐิไปฝังไว้ในสถูปเจดีย์สัจธรรมที่ทุกคนได้รับในวันนี้ การแบ่งชนชั้นวรรณะยังมีให้เห็นอยู่เสมอแม้แต่ในยามตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศด้อยพัฒนา

ขากลับเราไปแวะที่วัด “ทรานดรุ๊ก” ฝนหยุดตกแล้ว แสงแดดกำลังพยายามจะทอแสงลงมา แม้จะเป็นในยามบ่ายแก่ๆจวนเย็น หมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของวัดยังคับคั่งคึกคักไปด้วยชาวทิเบตที่แห่แหนมาจากหมู่บ้านข้างเคียงมีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่วัยกลางคนและวัยปลาย ล้วนแต่แต่งกายประจำชาติมีสีสันบาดตาด้วยกันทุกคน บนศีรษะมีผ้าหรือหมวกสีสวยคลุมไว้ จะเห็นได้ว่าหญิงที่แต่งงานแล้วจะแขวนผ้ากันเปื้อนไว้บนกระโปรงยาว

“ทรานดรุ๊ก” เป็นวัดแรกๆที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่เจ็ด พอเดินเข้าประตูใหญ่ก็จะเห็นห้องเล็กๆมี “กงล้อสวดมนต์” ขนาดใหญ่แขวนอยู่ มีจิตรกรรมฝาผนังเช่นเคย ถัดจากห้องไปเป็นลานสี่เหลี่ยมกว้าง ทางด้านซ้ายมือของลานเป็นโบสถ์บรรจุ “ทังกา” เก่าแก่สวยงามปักเป็นรูปพระศักยมุนีและพระอรหันต์ทั้งสิบหกของพระองค์

ชาวบ้านทั้งหญิงและชายนั่งกันอยู่สลอนบนลานรูปสี่เหลี่ยม แต่ละคนมี “กงล้อ” อยู่ในมือ ต่างก็แกว่งกงล้อไปมา ปากขมุบขมิบสวดมนต์ภาวนา ชายแก่คนหนึ่งนั่งอยู่บนเตียงผ้าใบเก่าๆ ในมือถือกงล้อ ปากเผยอขึ้นเผยอลง พร่ำสวดมนต์อธิษฐาน มีชาวทิเบตบางคนยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ขององค์พระพุทธรูป เหยียดมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ โน้มตัวนอนราบคว่ำหน้าลงไปบนพื้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่นำพากับความสกปรกเลอะเทอะของพื้นที่เหนียวหนับไปด้วยเนยที่ทำจากข้าวบาร์เลย์เช่นเดียวกับ “ซัมปา” กลิ่นหืนของเนยตลบอบอวลไปทั่ว

ศาสนาเป็นหัวใจของชาวทิเบตทุกผู้ทุกนามส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ในชาตินี้ด้วยการสวดมนต์ภาวนาเพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ให้ดีกว่าในชาตินี้ แม้จะยากจนแต่พวกเขาก็พยายามทำบุญถวายพระด้วยความหวังที่จะพ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปเกิดอีกในชาติหน้า จนกว่าจะถึงจุดสูงสุดของชาวพุทธคือ “นิพพาน”

หลังอาหารเย็นที่โรงแรมซีตาง เราออกไปเดินเล่นข้างนอก ในใจกลางตัวเมืองซีตางไม่มีอะไรที่เป็นความบันเทิงแม้แต่น้อยนิด ผ่านร้านค้าชั้นเดียวแห่งหนึ่ง ชายเจ้าของร้านออกมาฉุดไม้ฉุดมือให้เข้าไปดู ปรากฏว่าเป็นบริการ “ห้องน้ำฝักบัว” มีอยู่สามสี่ห้อง แต่ละห้องมีฝักบัวติดอยู่สองอัน ฉันถามข้อข้องใจเป็นภาษาแมนดาริน ชายเจ้าของร้านบอกว่าถ้ามีคนมาเช่าบริการหลายคน เขาก็จะจัดให้ผู้ใช้ได้อาบน้ำในห้องเดียวกัน อันที่จริงชาวทิเบตก็ทันสมัยไม่แพ้ชาวสแกนดิเนเวียน เพราะในห้องอาบอบเซาน่าในประเทศแถบนั้นก็มีทั้งหญิงและชายเปลือยกายนั่งอบไอน้ำร่วมกันเหมือนกัน

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม

หลังอาหารเช้า รถมารับเวลาเจ็ดนาฬิกาครึ่งเพื่อพาเราไปอาราม “ซามเย” ซึ่งตั้งอยู่ออกไปทางเหนืออีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ “ยาลองซางโป” นั่งรถไปประมาณสี่สิบนาทีก็มาถึงท่าเรือโดยสาร ตาว่าบอกว่าเรือข้ามฟากไปฝั่งโน้นจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งเป็นอย่างมากโชคดีที่ไม่มีใครรู้อนาคตล่วงหน้า

เรือโดยสารเป็นเรือท้องแบน สร้างขึ้นง่ายๆ ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลแบบที่ชาวนาในแถบนี้ใช้สำหรับบรรทุกของหรืองานหนักอื่นๆ คิดว่าคนไทยทางเหนือเรียกรถที่ใช้เครื่องยนต์ชนิดนี้ว่า “อีแต๋น”

ในเรือมีผู้โดยสารอยู่แล้วหลายคน ส่วนใหญ่เป็นชาวทิเบตที่กำลังมุ่งหน้าไปอาราม “ซามเย” เช่นเดียวกับเราเพื่อไปทำบุญเพราะเพิ่งเป็นวันที่สองของวันวิสาขบูชาเข้าใจว่าดั้นด้นกันมาจากที่ไกล นอกจากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียชายอีกสามคนเดินทางมาจากเนปาลพอพวกเราลง เรือก็เต็มพอดี แม่น้ำ “ยาลองซางโป” ในช่วงนี้ตื้นเขินมาก คนขับเรือต้องคอยระวังไม่ให้ท้องเรือกระแทกสันดอน ลูกเรือจำต้องใช้ไม้พายคอยค้ำเรือเอาไว้จึงทำให้เรือแล่นได้ช้ามาก แล่นไปนานเท่าไรก็ยังไปไม่ถึงไหนเสียที ยังคงเห็นฝั่งอยู่ใกล้ๆ

แล่นไปได้ครู่ใหญ่ๆคนถ่อเรือทำไม้พายหล่นลงน้ำต้องกระโดดตามไปงมเอาขึ้นมา พอไปได้อีกหน่อยท้องเรือก็กระแทกเข้ากับสันดอน แล่นต่อไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่บนฝั่งส่งเรืออีกลำหนึ่งออกมาช่วย แต่เรือลำนี้มีผู้โดยสารอยู่แล้วเกือบเต็มพอมาถึงคนขับเรือของเราก็ชี้โบ๊ชี้เบ๊ให้ผู้โดยสารถ่ายไปลงเรือลำนั้น ชาวทิเบตรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียก็เฮโลกันถ่ายเรือเหลืออยู่แต่พวกเราสิบแปดคนและตาว่ากับหัวหน้าทัวร์คือนายหมา เราเห็นเรือเต็มก็นั่งกันเฉยๆ นายหมากับตาว่าล้งเล้งกันอยู่ครู่หนึ่งตาว่าจึงบอกให้พวกเราไปลงเรือลำนั้น เรือที่เต็มอยู่แล้วพอมีผู้โดยสารลงมาอีกยี่สิบก็แทบจะล่ม พอคนขับเรือจัดแจงติดเครื่องเตรียมจะออก ปรากฏว่าเรือตาย พยายามเท่าไรเครื่องก็ไม่ติด ในเวลาเดียวกันนั่นเองเรือลำเก่าที่เราโดยสารมาหลุดออกจากสันดอนได้ กำลังจะติดเครื่องหันหัวเข้าฝั่ง พอเห็นว่าเรือที่เราลงไปเครื่องเสีย ก็หันหัวกลับมารับ ทุกคนจึงต้องกลับไปลงเรือลำเก่ากันใหม่ กว่าเรือจะออกได้เล่นเอาเหงื่อตกกันทุกคน ภายในเรืออย่าว่าแต่จะมีที่นั่งหรือยืนเลย แม้แต่ที่สำหรับจะหายใจก็แทบจะไม่มี ฉันทนกลิ่นดีเซลไม่ได้มาแล้วตั้งแต่เรือออกจากฝั่ง จึงเอาผ้าเช็ดหน้าสีขาวผืนใหญ่ผูกปิดจมูกเอาไว้แบบไอ้โม่ง แถมยังสวมแว่นตากันแดดสีดำอีกต่างหาก เลยถูกแซวเอาว่าไหนๆจะไฮแจ๊คเรือทั้งทีก็ทำไม่เป็น เรือลำหนึ่งติดสันดอนไปแล้ว อีกลำหนึ่งเครื่องเสีย คนถูกไฮแจ๊คก็ยังไม่รู้สึกทีว่าคนที่ไฮแจ๊คจะเอาอะไรไม่เห็นเรียกร้องอะไรสักอย่าง

พวกเรายืนอย่างแออัดยัดกันเป็นปลากระป๋องแต่ก็ไม่มีใครบ่นว่ากระไร ยืนชมทิวทัศน์ของสองฝั่งแม่น้ำไปเรื่อยๆ วิวของ “ยาลองซางโป” ในช่วงนี้ที่มีเสน่ห์เหลือเกิน แสงแดดส่องลงมากระทบแม่น้ำทั้งสองข้างแลดูเป็นสีเหลืองนวลเรืองๆรายล้อมด้วยขุนเขาสีน้ำตาลสูงตระหง่านจรดท้องฟ้าสีคราม บางแห่งของแม่น้ำนี้มีกำแพงทรายที่เกิดจากการเซาะของน้ำและลมทำให้เกิดเป็นรูปต่างๆแล้วแต่จะจินตนาการ บ้างก็แลดูเหมือนกำแพงปราสาท บ้างก็แลดูเหมือนสถูปเจดีย์ หรือรูปสัตว์ ความเพลิดเพลินจากการเฝ้ามองทิวทัศน์ทำให้เราลืมสภาพในเรือ

โกดังสีฟ้าเปิดประทุนจอดรอรับอยู่แล้วเมื่อเรือไปถึงฝั่งด้านโน้นเพื่อพาเราไปจนถึงประตูของวิหาร “ซามเย” ชาวทิเบตรวมทั้งชาวออสเตรเลียด้วยต่างพากันโหนตัวขึ้นไปบนรถ แต่คณะเราลังเลเพราะใกล้เที่ยงเต็มทน ขอร้องตาว่าช่วยบอกพวกที่ขึ้นรถแล้วให้ไปกันก่อน ค่อยมารับเราทีหลัง ทั้งขาไปและขากลับใช้เวลาประมาณสี่สิบนาที ในระหว่างที่รอเราจะได้กินอาหารกันบนฝั่งแม่น้ำ

“โน โน” ตาว่าปฏิเสธอย่างไม่ได้ไยดี เขาบอกว่ารถจะไม่กลับมาอีกแล้ว เพราะวิ่งอยู่เที่ยวเดียว เราบอกว่าเดินทางกันมานี่เสียเงินกันคนละไม่ใช่น้อย น่าจะตามใจ “ลูกทัวร์” บ้าง หากจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้รถกลับมารับอีกเที่ยว เราก็ยินดีจ่ายให้

“No can do” ตาว่ายืนยัน เราจะต้องไปกับรถคันนี้ให้ได้ นายหมาหัวหน้าทัวร์ทำให้เราเดือดดาล เพราะเขาทำไม่รู้ไม่ชี้ ตาว่าว่าอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่โต้แย้งแทนเลย แม้ว่าเราจะโกรธแต่ก็ไม่มีใครแสดงอะไรออกมาในตอนนั้น ค่อยว่าเอากันตอนหลัง แค้นนี้ต้องชำระ

ตะเกียดตะกายกันขึ้นไปบนรถโกดังไร้ประทุนฉันกระซิบกับพระเอกว่า ไอ้รถคันนี้ธรรมดาคงจะมีไว้สำหรับบรรทุกวัวควายหรือจามรีเป็นแน่ เรายืนห้อยโหนกันไปบนหลังรถ มือเหนี่ยวโครงเหล็กหลังคารถ รถพาวิ่งกระแทกกระทั้นไปบนทางขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ จะเรียกว่าถนนก็คงจะไม่ได้ แต่เป็นหนทางที่รถใช้วิ่งกันมานานจนกลายเป็นถนนมากกว่า พวกเรายืนตัวโยนหัวสั่นหัวคลอนกันไปตลอดทาง ในขณะที่รถวิ่งข้ามทะเลทรายปนหินผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีสัตว์อื่นให้เห็นนอกจากจามรียืนเบิ่งมองรถที่วิ่งผ่านไป

ฉันหันไปกระซิบกับ “แมเรียน” เพื่อนคู่หูชาวอเมริกันแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจ้าอารามซามเยนี่ขอให้วิเศษจริงๆสมกับที่ได้ดั้นด้นกันมาเป็นคณะแรกเถิดนะ ไม่งั้นกลับเซี่ยงไฮเมื่อไร เจ้าจอห์นต้องตาดำแน่ๆ” แมเรียนหัวร่อกิ๊ก หากหนุ่มๆสาวๆเกิดมาได้ยินเข้าคงจะค่อนว่าแก่กันแล้วยังหัวร่อต่อกระซิกไม่เจียมตัว ส่วนหนุ่มสาวสวิสคนข้างเคียงก็กระซิบกระซาบแบบแสดงละครบนเวทีให้ทุกคนได้ยินว่า “เธอคงจะไม่ลืมวันเกิดวันนี้ของเธอไปจนชั่วชีวิตเชียวนะ แฮปปี้เบิร์ธเดย์” ฉันได้แต่ถอนใจดังเฮือก

ในที่สุด รถก็มาจอดอยู่หน้ากำแพงทางเข้าของ “ซามเย” พอลงจากรถสิ่งแรกที่ทุกคนมองหาก็คือที่ “ปลดทุกข์” เดินทางกันมาตั้งแต่เช้ายังไม่ได้ทำ “ธุระ” กันเลย ส้วมทุกแห่งที่เห็นมาในทิเบตย่ำแย่ไปกว่าที่แผ่นดินใหญ่เสียอีก คิดดูเอาก็แล้วกันว่าแย่ขนาดไหน พอมองไม่เห็น แต่ละคนก็แยกย้ายกันไป “จัดการ” กันตามมีตามเกิด ฉันหลบไปหลังกำแพงวัด ไม่มีที่ซ่อนอื่นใด จำใจต้องนั่งยองๆถอดกางเกงยีนส์ตัวเก่งหันหน้าเผชิญกับพระทิเบตสามองค์ที่ยืนมองออกมาจากหน้าต่างข้างบน พระสงฆ์องค์เจ้าคงจะอาบัติกันในคราวนี้แน่ๆ

เสร็จสรรพ “จูเลีย” จัดการแจกกระดาษเปียกให้เช็ดมือแก้ขัด หลังจากได้รับกล่องอาหารและเครื่องดื่มแล้ว แต่ละคนก็แยกย้ายกันไปหาที่นั่ง “ปิกนิก” เราสองคนและเพื่อนชาวอเมริกันอีกสี่คนนั่งลงบนระเบียงของบ้านเล็กๆหลังหนึ่ง ท้องร้องจ๊อกๆด้วยความหิว แต่ก็กลืนอะไรเข้าไปไม่ลง ชาวสวิสควักมีดทหารสีแดงออกมาปอกลูกแพร์ให้ทุกคน พอกล้อมแกล้มไม่ให้ท้องว่างจนเกินไป กลิ่นอาจแทรกซึมอยู่ทั่วทุกอณูของอากาศ ชวนให้ปั่นป่วนในท้องเป็นที่ยิ่ง แต่ละครั้งที่หายใจเราต้องค่อยๆผ่อนเข้า แต่ตอนผ่อนออกต้องผ่อนออกอย่างแรง หมาผอมโซกลุ่มโตป้วนเปี้ยนรอเศษอาหารอยู่ใกล้ๆ ในขณะที่เด็กๆในเสื้อผ้าสกปรกมอมแมมยืนจ้องกล่องอาหารกันตาแป๋ว ในที่สุดเราก็ยื่นกล่องอาหารให้เด็กๆเหล่านั้นไปแบ่งกันกิน

พูดถึงเรื่องห้องน้ำ ก็อยากจะเล่าถึงหญิงสาวชาวเยอรมันสองคน อูเต้และซีโมนได้ทำตัวอย่างที่ดีให้แก่พวกเราทุกคนในคณะ ถนนจากสนามบินกองการ์ไปยังเมืองซีตาง หากพ้นจากหมู่บ้านไปแล้วจะเป็นถนนโล่งๆขนาบด้วยภูเขาและเนินทราย จะหาต้นไม้ทำยาสักต้นก็ไม่มี ครั้งหนึ่งอูเต้ขอร้องให้คนขับจอดรถเพราะธรรมชาติของร่างกายเรียกร้อง เมื่อรถจอดเธอก็ลงจากรถไปอย่างเงียบๆมีซีโมนตามหลังไปด้วย ที่ที่รถจอดอย่าว่าแต่ต้นไม้เลย แม้พุ่มไม้อะไรก็ไม่มีทั้งสิ้น พอเสร็จธุระทั้งสองก็กลับขึ้นรถหน้าตาเฉย คราวต่อไปเมื่อรถจอดให้ถ่ายรูป พวกเราก็จัดการหาที่ “ปลดทุกข์” โดยไม่ขัดเขินกันอีกต่อไป ครั้งแรกเมื่อรถจอดฉันวิ่งไปหลังเนินเตี้ยๆ ซึ่งบังอะไรไม่ได้มากนัก สาวอื่นๆในคณะก็ตามไปด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีการเหนียมอายกันอีกต่อไป เมื่อถึงเวลาต่างฝ่ายต่างก็ทำ “ธุระ” ให้เสร็จสิ้นเสียโดยไว ใช้กระดาษเปียกที่ทุกคนมีติดมาด้วยเช็ดมือ บางครั้งไม่มีที่ซ่อนจริงๆ ผู้ชายก็จะแยกไปทางหนึ่ง ผู้หญิงอีกทางหนึ่ง ไม่มีใครสนใจใคร

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เมือง “ชีกั๊ซซี่” หลังจากไปดูวัดเราหาที่ไม่ได้ต้องเดินเข้าไปในลานที่จอดรถโกดัง มองเห็นส้วมสาธารณะอยู่สองหลังหญิงและชายแยกกัน มีบันไดไว้ไต่ขึ้น ผู้ชายที่เราส่งขึ้นไปสำรวจถึงกับผงะ ต้องถอยทัพลงจากบันไดอย่างเร่งรีบ เห็นดังนั้นพวกผู้หญิงก็รู้ว่าไม่มีทางที่จะไปใช้ได้ จึงรีบแอบเข้าข้างหลังรถโกดัง ชายแก่ที่เป็นยามวิ่งมาไล่ชี้โบ๊ชี้เบ๊ให้ขึ้นไปใช้ส้วม เราแกล้งเดินตามแกออกมาเชื่องๆ แกก็เลยเดินกลับไปนั่งหน้าประตูตามเดิม

คนข้างเคียงของฉันเห็นเหตุการณ์โดยตลอดเพราะยืนอยู่หน้าประตู จึงหาเรื่องมาคุยกับแกเป็นภาษาสวิสเพื่อเบนความสนใจ ความจริงจะคุยภาษาต่างประเทศอะไรก็ได้ เพราะแกย่อมฟังไม่รู้เรื่องอยู่ดี แกเลยนั่งฟังอ้าปากค้าง คงจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีฝรั่งมายืนคุยด้วยแถมยังได้เงินอีกห้าหยวนเป็นรางวัล แกก็เลยไม่เข้าไปเล่นงานพวกเราที่นั่งเรียงหนึ่งอยู่หลังโกดัง ส่วนพวกผู้ชายก็ยืนเรียงหน้ากระดาน หันหน้าเข้าหากำแพงแบบชายชาวจีนที่เห็นกันทั่วไปตามข้างถนนทั้งในและนอกเมือง การไปเที่ยวทิเบตอย่างพวกเรา หากมีใครเหนียมอาย “ทำไม่ได้” แล้วละก็เห็นทีจะแย่แน่ๆ ทำให้ได้สัจธรรมมาอีกหนึ่งข้อว่ามนุษย์เราจะหมดสิ้น “ความเป็นมนุษย์” ก็ต่อเมื่อสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรจะเก็บไว้ทำในที่ลับกลับมาทำในที่แจ้งได้อย่างไร้ยางอาย

ส้วมสาธารณะในประเทศจีน โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดจะเป็นส้วมเป็นแนวเปิดโล่งตลอด ไม่มีประตูพอเดินเข้าไปจะเห็นหญิงชาวจีนนั่งยองๆ ก้นเปิดขาวอล่องฉ่องมีกระดาษชำระชิ้นน้อยอยู่ในมือ ปากก็คุยกันกับเพื่อน “ร่วมส้วม” ด้วยเรื่องสัพเพเหระเหมือนนั่งคุยกันในห้องรับแขก ยังไงยังงั้นเลยจะเหนียมอายสักนิดก็ไม่มี

วิหาร “ซามเย” ตั้งอยู่เชิงภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในจำนวนสี่ลูกของทิเบต บริเวณรอบวิหารประกอบด้วยภูเขาโล่งๆ สีน้ำตาล ปราศจากต้นไม้ ทิวทัศน์โดยรอบเป็นเนินทรายสูงๆต่ำๆในแถบนี้นอกจากตัววิหารแล้ว ก็มีหมู่บ้านที่รถเราผ่านเนื่องจากเป็นที่ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์จึงมีหมู่บ้านให้เห็น วิหารนี้เป็นวิหารแห่งแรกที่สร้างขึ้นในทิเบตในศตวรรษที่แปด โดยพระเจ้า “ทรีซอง เต็ทซาน” ได้ว่าจ้างชาวอินเดียนสองคนมากำกับการก่อสร้าง พร้อมกับเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กับชาวทิเบตด้วย

วิหาร “ซามเย” ถูกไฟไหม้แล้วหลายครั้ง จนต้องซ่อมใหม่ ตัววิหารที่เห็นในปัจจุบันถูกสร้างแทนวิหารเก่าที่ไฟไหม้ ตัววิหารมลังเมลืองไปด้วยสีทองของมณฑปส่องประกายระยิบระยับล้อเล่นกับแสงแดด ความใหญ่โตมโหฬารของวิหาร ดูช่างตรงกันข้ามกับสภาพของบริเวณที่เต็มไปด้วยขณะมูลฝอยสกปรก คงจะไม่มีใครเคยเห็นหรือรู้จักว่าถังขยะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะย่างก้าวไปแห่งใดในทิเบต จะแลเห็นความไม่เจริญหูเจริญตาไปทั่ว