เมื่อพูดถึงหมู่บ้านบุ๊ครายน์ ฉันอยากจะเล่าให้ฟังถึงเจ้าของร้านชำเล็กๆ ที่นี่เป็นรายแรก แกเป็นชาวสวิสแท้ๆ อายุอยู่ในราวหกสิบกว่าปี มีสามีเป็นชาวอิตาเลียน แต่เติบโตมาในสวิส ใครๆก็ชอบภรรยา เพราะมีอัธยาศัยดีน่ารักแต่ไม่มีใครชอบสามีเลย รวมทั้งฉันด้วย
เวลาไปซื้อของทีไร หญิงเจ้าของร้านมักจะแถมให้ฉันแบบซื้อหนึ่งให้สองเสมอ จนฉันแสนจะเกรงใจ เคยบอกว่าถึงจะไม่แถมให้ฉันก็มาอุดหนุนอยู่แล้วแต่แกก็ไม่ฟัง พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเองว่าแกชอบฉัน ฉันมาจากเมืองไกลสามารถอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ได้อย่างมีความสุข ชาวบ้านชอบ แกรับถือฉันไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ขอบอกขอบใจไปตามเรื่อง เมื่อมีโอกาสไปต่างประเทศจีนนอกทวีปยุโรป ก็มักจะส่งโปสการ์ดหรือไม่ก็มีของเล็กๆน้อยๆ ติดไม้ติดมือมาฝาก ทำให้แกมีความสุขมาก คุยไปร้อยวันก็ไม่จบกับทุกๆ คนที่มาซื้อของ
ฉันเข้าใจเอาว่าฉันคงเป็นสัญลักษณ์ของโลกกว้างที่แกใฝ่ฝันจะไปให้ถึง แต่ไม่มีโอกาส สามีแกเป็นคนทำขนมปังและขนมเค้ก ฝีมือไม่เลว แต่เป็นมนุษย์ที่เรียกกันในภาษาสวิสว่า “คลู้กใช้เซอร์” (Klugscheisser) แปลหยาบๆ ว่า “อีลูกช่างรู้” แถมพูดไม่ชัดอีกต่างหากทั้งๆ ที่อยู่ประเทศนี้มาตั้งแต่เล็กแต่น้อยไม่ทราบว่าเมียทนแกได้อย่างไร หรือแกมีอะไร “ดี” แบบผู้ชายชาวอิตาเลียนที่ชาวสวิสไม่มีเสียละกระมัง
มีโจ๊กเล่าว่ามีคู่แต่งงานสามคู่ไปฮันนีมูนที่โรงแรมโรแมนติดแห่งหนึ่งเจ้าสาวเป็นสวิสทั้งสามคน แต่มีเจ้าบ่าวชาวสวิสเพียงคนเดียว ที่เหลือเป็นชาวอังกฤษคนหนึ่งและอิตาเลียนอีกคนหนึ่ง หลังอาหารเย็น ผู้ชายสามคนเลี่ยงไปสูบซิการ์ ดื่มบรั่นดีคุยกันส่วนเจ้าสาวทั้งสามตั้งสภากาแฟ “นินทา” เขาปรึกษากันว่า ไหนๆ ต่างก็เป็นเจ้าสาวใหม่ ไม่มี “ประสบการณ์” ด้วยกันทั้งสามคน เพราะฉะนั้นใครมีอะไร “ดีๆ” ก็ให้บอกกันบ้าง ไม่ต้องพูดมากหรอกเพียงแต่เวลาพบกันในตอนอาหารเช้าขอให้ทักทายกล่าวคำสวัสดีเฉยๆ ก็พอจะถือเอาการสวัสดีสั้นๆ หรือทักทายยาวๆ เป็นเครื่องวัด “ความสุขและความสนุก”
พอพบกันตอนเช้า เจ้าสาวที่มีสามีเป็นชาวสวิสเดินหน้าตูมออกมาทักว่า “กรู๊ทซี่”-สวัสดี เจ้าสาวของอังกฤษกล่าวคำสวัสดีโดยมีรอยยิ้มระบายอยู่นิดๆ ว่า “กู๊ดมอร์นิ่ง…กู๊ดมอร์นิ่ง” ส่วนเจ้าสาวของชายอิตาเลียนยิ้มย่องผ่องใสพูดว่า “Buongiorno. Che bel tempo. Come Sta? Le presento monmarito…-อรุณสวัสดิ์ค่ะ อากาศช่างดีอะไรเช่นนี้ คุณสบายดีหรือคะ ขอแนะนำให้รู้จักสามีอะฮั้นด้วยค่ะ…” ฮา
ถัดจากร้านขายของชำไปเป็นร้านขายเนื้อ สามีภรรยาเป็นชาวสวิสทั้งคู่แรกๆ ฉันมีปัญหากับเขา เพราะเอาเนื้อไม่ดีมาขายให้ ฉันก็เลยบอกเขาอย่างสุภาพว่า เนื้อที่ให้ไปนั้นไม่ดี เขาทำท่าจะคืนเงินให้ แต่ฉันบอกว่า ที่มาบอกนี้ไม่ใช่อยากจะได้เงินคืน แต่เพื่อว่าคราวหน้าเขาควรจะให้เนื้อดีแก่ฉัน ตัวสามีย้อนฉันว่า เงินจำนวนที่ฉันจ่ายไปแล้วนั้น ถ้าไปซื้อที่อื่นก็จะได้เนื้อแบบเดียวกันนี่แหละ จะดีไปกว่านี้ไม่ได้ ฉันก็เลยบอกอย่างสุภาพไปอีกว่า ฉันอยากได้เนื้อที่มีคุณภาพดีที่สุด ถ้าจะต้องเสียเงินมากกว่านั้นก็ยอม ขอให้บอกมา
มีอยู่ครั้งหนึ่ง บังเอิญวอลเตอร์โทรศัพท์มาบอกว่าจะพาแขก 2-3 คนมาดริ๊งค์ที่บ้าน ฉันก็เลยรีบเอาถาดเดินไปที่ร้านขายเนื้อ ขอให้เขาช่วยจัดเนื้อ “เย็น” (Cold Cuts) ให้ ภรรยาคนขายเนื้อบ่นอย่างไม่พอใจว่าจะจัดให้ทันได้อย่างไร เวลากะทันหัน ฉันโมโหเลยบอกเขาว่า ถ้าจัดให้ไม่ได้ก็ขอให้บอกมาฉันจะได้ไปซื้อที่อื่น เขาเลยบอกว่าได้แต่ต้องรอหน่อย ฉันเลยตกลง มีเรื่องเล็กๆน้อยๆ แบบนี้อยู่หลายครั้งจนฉันเกือบจะเลิกซื้อเนื้อร้านนี้อยู่แล้ว เขาก็กลับกลายเป็นดีกับฉันอย่างไม่น่าเชื่อไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสาเหตุ เข้าร้านทีไรก็เอาอกเอาใจ จะเอาเนื้ออย่างไรก็ไม่บ่นอีก ตัดให้โดยดี อันที่จริงแล้วถ้าไม่จำเป็นที่จริงๆ ฉันก็อยากจะซื้อของในตัวหมู่บ้านมากกว่าที่จะไปซื้อที่อื่นเป็นการอุดหนุนช่วยเหลือเศรษฐกิจของคนในหมู่บ้านเดียวกัน
นอกจากสองร้านนี้แล้วก็มีซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ตั้งอยู่เกือบจะถึงปลายเนิน เพราะคนส่วนใหญ่อาศัยที่นั่นภายในอีกหนึ่งปีข้างหน้า บุ๊ครายน์จะมีศูนย์การค้าที่ใหญ่พอสมควร ขณะนี้กำลังก่อสร้างอยู่ในที่ดินที่เจ้าของที่ตายไปแล้วยกให้กับ “เกไมน์เด้” อยู่ใกล้ๆบ้านของฉันเอง ต่อไปก็คงจะสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องขับรถเข้าไปซื้อของในตัวเมืองอย่างในปัจจุบัน
สิ่งอื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกก็มีอยู่ครบครัน เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ คลินิกหมอ ร้านทำผม ร้านนวดหน้า ร้านอาหาร ฯลฯ ฉันใช้บริการของทุกอย่างที่นี่
คุยให้คุณผู้อ่านฟังในตอนแรกแล้วว่าละแวกบ้านที่ฉันอยู่เรียกว่า “ฮอฟมัทควอเตียร์” (Hofmatt Quartier) เพราะมีถนนชื่อเดียวกันตัดผ่าน เราเคยมีงานเลี้ยงสังสรรค์กันปีละครั้งในสนามหญ้าหน้าบ้านของครอบครัวเอียร์ม่าและก๊อทฟริด ในสมัยนั้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็สนุกสนานกันเต็มที่ ทุกคนต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ต้องเลิกไปโดยปริยาย เพราะเด็กๆเช่นลูกของฉันและของเพื่อนบ้านต่างก็เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันไปหมดแล้ว เขาก็เลยไม่อยากจะมาร่วมสังสรรค์กับ “คนแก่ๆ” อย่างพวกเราสักเท่าไหร่
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กพวกนี้แม้จะโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ต่างก็ยังคงปักหลักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านไม่ยอมแยกตัวไปหาแฟลตอยู่กันเอง ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะธรรมดาเด็กฝรั่งเมื่อมีงานมีการทำ ต่างก็มักจะแยกย้ายออกไปเช่าที่อยู่อาศัยกันเองเป็นส่วนสัด ใครที่ยังอยู่กับพ่อแม่เมื่อโตแล้วจึงเป็นของแปลกไปสำหรับคนที่นี่จนถึงขั้นยกหัวข้อขึ้นมาถกเถียงแก้ “ปัญหา” กันในโทรทัศน์ทีเดียว
เมื่อไม่นานมานี้ เอียร์ม่าตัดสินใจ “ไล่” ลูกทั้งสองคนให้ไปหาแฟลตอยู่เองโดยให้เหตุผลว่าประเดี๋ยวจะไม่รู้จักช่วยตัวเองเวลาต้องออกไปมีครอบครัว ฉันเถียงแก้ตัวให้ทั้งสองคนว่า ฉันเองมาจากสังคมที่ต้องอยู่กับพ่อแม่ จนแต่งงานออกเรือนไปแล้วจึงจะไปอยู่กับสามี ถ้าสามีเป็นคนไทยอาจจะมีเรือนอยู่ในบริเวณเดียวกับพ่อแม่ด้วยซ้ำไปแม้จะไม่เคยออกไปเช่าบ้านอยู่ตามลำพัง แต่งงานแล้วฉันก็สามารถดูแลบ้านช่องของตนเองได้ ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรบ้านช่องของเขาก็ออกใหญ่มีหลายห้องไม่น่าจะให้ลูกออกไปเช่าแฟลตเลย แต่เอียร์ม่าก็ไม่ฟัง ยืนยันให้ลูกออกไปหาที่อยู่เองจนได้
ทั้ง “ลูเซิร์น” และ “ก๊อทฟริดจูเนียร์” ไปเช่าแฟลตอยู่ในหมู่บ้านติดๆกัน ที่น่าขำก็คือ เขายังคงกลับมากินอาหารกลางวันของแม่ที่บ้านกันทั้งสองคนเพราะที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ และในวันเสาร์อาทิตย์ก็มาขลุกอยู่ที่บ้านพ่อแม่ แทบจะไม่ได้อยู่ที่แฟลตที่ตนเองเช่าไว้เลย อาศัยเอาไว้เป็นที่นอนตอนกลางคืนเท่านั้นขนาดที่เป็นสวิสทั้งแท่ง วอลเตอร์ยังบ่นเลยว่าทำไมให้ลูกไปเช่าแฟลตอยู่ก็ไม่รู้ในเมื่อลูกๆ เองก็ไม่อยากไปสักเท่าไหร่คงมาป้วนเปี้ยนอยู่ที่บ้านเดิมทุกวัน นี่ก็แสดงว่ามีความรักความเข้าใจกันระหว่างลูกกับพ่อแม่เป็นอย่างดี
ส่วน “เรโต้” ที่พ่อแม่มีบ้านอยู่ตรงข้ามกับเรามาฟ้องฉันเมื่อไม่นานมานี้ว่า พ่อแม่ได้ยื่นคำขาดให้เขาไปเช่าแฟลตอยู่เอง เขาจำเป็นต้องย้ายไปในเดือนตุลาคมนี้ แต่แม่บอกว่าให้เอาเสื้อผ้ามาบ้านอาทิตย์ละครั้ง จะซักให้ แฟลตที่เข้าไปเช่าอยู่ก็อยู่ใกล้ๆ บุ๊ครายน์ เช่นเดียวกับแฟลตของลูเซียและก๊อทฟริดเหมือนกัน ฉันบอกเรโต้ว่าเรายังมีของใช้เช่น โคมไฟ ถ้วยแก้ว ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้ถ้าเขาอยากได้ก็ให้มาเอาไป จะได้ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อของใหม่ เราสนิทกับเขาถึงแค่นี้
แต่พ่อแม่ชาวสวิสส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นที่เล่ามานี่หรอกค่ะ พวกเขารอกันแทบไม่ไหวเลยทีเดียวที่จะให้ลูกๆออกจากบ้านไปเมื่อเรียนจบได้งานทำแล้ว ลูกศิษย์ของฉันคนหนึ่งเล่าว่าออกจากบ้านพ่อแม่ไปเช่าห้องอยู่เองเมื่ออายุได้เพียง 16 ปีเท่านั้น เพราะไม่ถูกกับแม่ ฉันฟังแล้วหายใจขัดๆ เด็กผู้หญิงคนนี้มีพ่อเป็นหมอ
ใครจะทำอะไรก็เป็นเรื่องเขา ฉันไม่อยากจะเข้าไปก้าวก่ายหรือยุ่งด้วยแต่ที่เกลียดเข้ากระดูกก็คือ พ่อแม่ฝรั่งที่อยากจะให้ลูกออกจากบ้านไปเสียเร็วๆแต่พอลูกแต่งงานมีลูกเป็นของตนเองแล้วก็ “สั่น” อยากจะเล่นบทเป็นปู่ย่าตายายแถมพกรูปของหลานไว้เป็นปึ๊งๆเที่ยวอวดชาวบ้าน แสนจะน่าเบื่อและน่ารำคาญเป็นที่สุด และฉันก็มักจะไม่ค่อยปิดบังความรู้สึกเสียด้วย
อีกครอบครัวหนึ่งมีลูกสาวอายุไล่เลี่ยกับลูกสาวของฉัน แต่ก็ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัวนี้เป็นคนดี แต่ไม่สุงสิงกับใคร ภรรยาเคนปรารภกับฉันนานมาแล้วว่า เขามีความรู้สึกว่าสังคม “ฮอฟมัท” ไม่ยินดีต้อนรับเขาเท่าไหร่ เพราะพ่อบ้านเป็นเพียงคนขับรถให้ “มิโกรส์” ไม่ใช่นายธนาคารหรือเพรสิเดนท์ของพิพิธภัณฑ์ หรือผู้จัดการบริษัทพันล้าน เงินที่ปลูกบ้านเป็นเงินมรดกของเมียที่พ่อทิ้งไว้ให้ตอนตาย ฉันฟังแล้วไม่กล้าออกความเห็น ไม่กล้าแม้แต่จะปลอบ เพราะเป็นคนไม่ชอบพูดอะไรที่ผู้ฟังฟังแล้วเหมือน “ปลอม” ลูกสาวเรียนจบแล้ว แต่ไม่ทราบว่าทำงานอะไรแน่ เพราะแม่ไม่ค่อยเล่าให้ใครฟังแม้แต่ฉันซึ่งเป็น “ป้าแก้ปัญหา” ความจริงไม่ใช่หรอกค่ะ เพียงแต่รับฟังเฉยๆคนพูดก็สบายใจแล้ว
อยู่กันอย่างสงบเช่นนี้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคลื่นใต้น้ำ ครอบครัวหนึ่งเพิ่งจะหย่ากันหลังจากที่อื่น สามีไปทำงานที่สิงโปร์ ส่วนภรรยาอยู่ที่สวิสแต่ย้ายไปอยู่เมืองอื่น อีกคู่หนึ่งกำลังจะหย่าเหมือนกัน แต่คู่นี้ลูกๆยังเรียนหนังสืออยู่ สามีไปมีผู้หญิงคนใหม่อีกครอบครัวหนึ่งสามีเป็นนักบินทหารปลดเกษียณแล้วตั้งแต่อายุห้าสิบแปดลูกชายติดยาเสพติด ส่งไปรักษา เลิกเป็นพักๆ แล้วก็ติดอีก ในที่สุดพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน เขาเป็นคนหนุ่มหน้าตาดีอนาคตคงไปอีกไกลถ้าไม่ติดยาเสพติดเคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นมากับก๊อทฟริดจูเนียร์ เมื่อพ่อไม่ให้เข้าบ้านก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ฉันคิดถึงหัวอกคนที่เป็นแม่แล้วสงสารจับใจ หน้าตาอมทุกข์หาความสุขไม่ได้เลย
ตอนไปฮอลิเดย์ที่ฮอสเตรียเมื่อเดือนกรกฎาคม ไปพักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ขณะนั่งกินอาหารเย็น มีครอบครัวชาวเยอรมันสองคู่นั่งโต๊ะใกล้ๆกับเรา ผู้ชายทั้งสองคนคุยกันเสียงดัง โดยเฉพาะคนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจฟังก็ได้ยินหมดว่าเขาคุยอะไรกันบ้าง มีเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่ด้วย โดยที่เขาไม่รู้ว่าฉันเป็นคนไทยถ้าจะพูดแบบนักเลง ฉันก็อยากจะพูดว่า “แม่ง…คุยกันตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเลยทีเดียว” แถมคนหนึ่งยังพกซิการ์เอาไว้ในกระเป๋าเสื้อนอกให้เห็นทนโท่อีกต่างหาก โธ่ ไอ้เบื๊อก เขาต้องเหน็บไว้ข้างในกระเป๋าด้านในย่ะ ไม่ใช่เหน็บเอาไว้ด้านนอก ขณะที่เขาคุยกันอยู่นั้น มีตอนหนึ่งที่ทำให้เราขำมากทั้งๆ ที่ไม่น่าขำ เพราะเป็นเรื่องเศร้า
เขาเล่าว่าเพื่อนบ้านคนหนึ่งอยู่ๆก็ลุกขึ้นมากินยาตาย ฉันแอบกระซิบกับวอลเตอร์ว่า ฉันไม่แปลกใจเลยเป็นฉันฉันก็ฆ่าตัวตายเหมือนกันถ้ามีเขาเป็นเพื่อนบ้าน แต่วอลเตอร์บอกว่า “ปู้โธ่ วิธีการฆ่าตัวตายของเพื่อนบ้านไอ้ ‘รูทวาร’ นี่นะ พ้วิธีการของเพื่อนบ้านคนหนึ่งของเราหลุดลุ่ยเลยละ”
ฉันเลยนึกขึ้นมาได้ว่าเพื่อนบ้านคนหนึ่งฆ่าตัวตายเมื่อสองปีที่แล้วมานี่เอง ด้วยวิธีที่แหวกแนวไม่ซ้ำแบบใคร “เฟรนี่” เป็นผู้หญิงหน้าตาดี มีสามีที่ฉัน “คิดว่า” น่ารัก มีหน้าที่การงานดี มีลูกสามคน แต่เฟรนี่เป็นผู้หญิงที่น่าสงสารเพราะเป็นโรค “Depression” เกือบจะตลอดเวลา ยิ่งในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมจะมีอาการมากขึ้น นอนอยู่ในห้องมืดๆตลอดเวลา ไม่ยอมลุกออกมาพูดจากับใคร สามีและลูกๆต้องช่วยตัวเองในบ้านทุกเรื่อง สามีเคยส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้ง ได้ยามากินเป็นกระตั้กๆ เป็นๆหายๆติดต่อกันหลายปี ฉันเคยสงสัยว่าทำไมเขาจึงมีลูกถึงสามคน ถ้าแม่เป็นโรคเช่นนี้สงสารเด็กจริงๆ
เมื่อสองปีที่แล้วเป็นวันเปิดเทอมแรก ลูกชายคนสุดท้องเพิ่งจะเข้าโรงเรียนเป็นวันแรก เฟรนี่ฝากจดหมายให้ลูกชายไปให้ครูที่โรงเรียน มารู้ภายหลังว่าเป็นจดหมาย “ลา” ในขณะเดียวกันหล่อนก็โทรศัพท์ไปหาสามีที่ทำงานบอกว่าไม่สบาย ให้กลับมาบ้านเดี๋ยวนั้นหลังจากนั้นก็โทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลบอกว่าไม่สบายมาก ให้ส่งรถมารับโดยด่วน แถมยังโทร.ไปสถานีตำรวจเป็นแหล่งสุดท้าย แจ้งว่าต้องการความช่วยเหลือ ขอให้มาทันที เสร็จแล้วก็เข้าห้อง หยิบเอาปืนไรเฟิลทหารของสามีที่มีสำหรับฝึกซ้อมออกมา นอนลงบนเตียง เอา “ดูเวท์” (Duvet) ผ้านวมที่ใช้ห่มนอนคลุมตนเองไว้ ใช้หัวแม่เท้าเหนี่ยวไก จ่อปากกระบอกปืนเข้าที่สมองตนเอง แล้วลั่นไกซ้ำแล้วซ้ำอีก ตายคาที่ เลือดกระจายไปทั่วห้อง ทั้งๆที่ใช้ดูเวท์คลุมเอาไว้แล้ว ดูเถิด แม้จะฆ่าตัวตาย ผู้หญิงสวิสก็ยังระวังที่จะไม่ให้พื้นบ้านของเขาสกปรกเลอะเทอะ ฉันคิดแล้วก็อดหัวเราะไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นเรื่องไม่น่าจะหัวเราะเลย
เพื่อนบ้านของเฟรนี่ผิดสังเกต วิ่งมาหน้าบ้านเกือบจะพร้อมกับที่รถพยาบาล รถตำรวจ และสามีมาถึง ในวันทำพิธีฝันศพ ผู้หญิงในหมู่บ้านไปงานศพกันทั้งละแวก ยกเว้นฉัน คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่าฉันใจจืดใจดำ ไม่ใช่หรอกค่ะ ฉันเป็นคนที่บางคนอาจจะเห็นว่า “ขวางโลก” เช่นนี้แหละ เพราะฉันไม่ยอมตาม “การะแสคลื่น” ของใคร แม้ฉันจะสงสารเฟรนี่ที่หล่อนเป็นโรคดีเพรสที่ยากจะรักษาให้หายขาด แต่ฉันเห็นว่าหล่อนฆ่าตัวตายอย่างเลือดเย็น แปลนทุกอย่างไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนซึ่งแปลว่าหล่อนมีสติสัมปชัญญะโดยครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ได้ทำลงไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ หล่อนเห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงลูกๆ ว่ามีความรู้สึกเช่นไร ที่จะต้องหาคำอธิบายชั่วชีวิตว่าแม่ตายอย่างไรฉันทนดูหน้าลูกๆ หล่อนไม่ได้ค่ะ จึงได้แต่ส่งการ์ดไปแสดงความเสียใจเท่านั้น
อีกหนึ่งปีให้หลังสามีก็แต่งงานใหม่ฉันไม่รู้จักภรรยาคนใหม่ของเขา แต่ได้ยินมาว่าสามีเก่าของเจ้าหล่อนก็ฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน Come on – join the club.
นอกจากครอบครัวดังที่เล่าให้ฟังแล้ว ครอบครัวอื่นๆก็เป็นครอบครัวธรรมดาๆ เหมือนเรา มีสุขมีทุกข์สลับกันไปตามประสามนุษย์ปุถุชนในโลกเช่นเดียวกับคนอื่นๆเหมือนกัน