รถบัสคันนั้นใหญ่โตกว้างขวางทันสมัยที่สุดในบรรดารถประเภทเดียวกันบรรจุผู้โดยสารได้ถึง ๕๒ คนอย่างสบายๆ ในรถมีอุปกรณ์ให้ความสะดวกทุกอย่างรวมถึงห้องน้ำเล็กๆสะอาดสะอ้าน และหอมอีกต่างหากแต่ภายในรถบัสคันที่ว่านี้มีกันอยู่เพียง ๒๓ ชีวิตเท่านั้น ที่จะออกเดินทางจากสวิสไปประเทศโรมาเนียและบัลแกเรีย ทำให้ทุกคนมีที่สบายเหยียดแข้งขากันได้เต็มที่
ขณะที่พักอยู่ที่บ้านในสวิส เวลาเพ็ญและฮันส์จะไปเที่ยวประเทศต่างๆในยุโรป ก็มักจะขับรถไปกันเอง ไม่เคยไปกับแพ็คเกจทัวร์เลยแต่มาคราวนี้เพ็ญเห็นโฆษณาในแม็กกาซีนสวิสฉบับหนึ่ง จัดทัวร์ที่ดูน่าสนใจนี้ขึ้นเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ เพ็ญจึงอยากจะลองไปดูสักครั้งแทนที่จะขับรถไปกันเองอย่างคราวก่อนๆ สนนราคาก็ไม่สู้จะแพงนัก หัวหนึ่งตกในราว ๒,๐๐๐ สวิสฟรังก์เท่านั้น (คูณด้วย ๓๐ เป็นเงินบาท) รวมค่าเดินทาง โรงแรม อาหารเช้าและอาหารเย็น
“ไม่เอา” สามีเพ็ญปฏิเสธ “คุณก็รู้เราไม่เคยร่วมเดินทางไปไหนกับเพื่อนร่วมชาติของผมเลย ถ้าไปกับชาติอื่นหลายๆชาติ อย่างที่เราทำกันตอนอยู่ต่างประเทศ ผมยินดีเสมอ แต่ในสวิสนี่ผมรำคาญที่จะไปไหนเป็นหมู่เป็นคณะกับพวกนี้ อวดดีก็เท่านั้น ไม่เคยเห็นชาติไหนรวยเท่า ดีเท่าชาติของตนเอง ขนาดหนีความกดดันจากสวิสมาอยู่ภูเก็ต พอรวมหัวกันก็นินทาเจ้าของประเทศ ไม่รู้ว่าจะทนอยู่ไปทำไม”
“แหม ฮันส์ก็ ดูแต่ผู้หญิงต่างชาติบางคนที่แต่งงานกับคนสวิสสิคะ เวลาตกระกำลำบาก รัฐบาลสวิสก็ช่วย เพื่อนฝูงชาวสวิสก็ช่วยเขายังไม่เห็นความดีเลย มีแต่สวดคนสวิสเสียป่นปี้ มันแล้วแต่คนนะคะ ไม่ใช่เรื่องของเชื้อชาติ” ทั้งๆที่เห็นด้วย แต่เพ็ญก็แก้ต่างให้เพราะอยากไปเที่ยวในดินแดนที่ไม่ค่อยจะมีใครไปกัน
“ไปแบบนี้น่ะลำบาก เพ็ญรู้ไหม เขาไม่ได้พักโรงแรมระดับโอเรียนเต็ลหรือแชงหรือโรงแรม ๔ ฤดู ที่เพ็ญรู้จักหรอกนะ อาหารการกินก็ไม่ใช่ นูเวลคูซีน เพ็ญจะทนได้หรือ?” สามีเพ็ญเป็นห่วง
“ได้สิคะ ดูแต่เวลาเราไปเที่ยวทิเบตหรือมองโกเลียสิ ลำบากแทบแย่เพ็ญยังไม่เคยบ่นเลย”
“มันไม่เหมือนกันนี่ ที่นั่นเรารู้สภาพความไม่สมบูรณ์ของเขา เราก็ยอมรับ แล้วเราก็ไปกับคนที่เราพอใจจะไปด้วย แต่นี่เป็นยุโรปตะวันออก ล้าหลัง คนที่จะเดินทางร่วมกันก็คงจะเป็นคนที่ไม่เคยอยู่ต่างประเทศ เขาไม่ดูอะไรด้วยสายตาของเราหรอก และเพ็ญก็ปากจัดฟิวส์ขาดง่าย เดี๋ยวใครพูดอะไรไม่สบอารมณ์ก็จะบ่อนแตก เอาไว้เราขับรถไปกันเองดีกว่า” ฮันส์ปลอบ
“ไม่ดีหรอกค่ะ เพ็ญขี้เกียจดูแผนที่ อายุมากขึ้นหูตาก็ไม่ค่อยจะดี ดูแผนที่ทีไรเพ็ญต้องถอดแว่น แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ จะได้แลเห็นป้ายถนน แล้วภาษาโรมาเนียและบัลแกเรียของเราก็กระดิกหูเสียที่ไหน คนที่รู้ภาษาต่างประเทศที่นั่นก็มีอยู่ไม่กี่คน คนที่พูดได้ก็หนีไปอยู่ประเทศอื่นกันเสียหมดแล้ว” เพ็ญเถียงตามที่ได้รู้มา
“ไปก็ไป แต่เพ็ญจะมาบ่นไม่ได้นะหากไม่พอใจอะไรหรือใครในระหว่างการเดินทาง” ในที่สุดฮันส์ก็ใจอ่อนกับคำอ้อนวอนของภรรยาจึงจำยอมอย่างเสียไม่ได้
คริสเตียน รูบี้ หนุ่มใหญ่ชาวสวิสเป็นเจ้าของบริษัทท่องเที่ยว “รูบี้” (Rubi) ที่มีสำนักงานอยู่ที่เมืองอินเตอร์ลากัน (Interlaken) เขาทำทั้งหน้าที่โชเฟอร์ กุลีแบกสัมภาระทำความสะอาดรถและไกด์ในคนเดียวกัน ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ แต่เขาก็ทำทุกอย่างได้อย่างดีเยี่ยมไม่บกพร่องให้ได้เม้าท์กันเลย
คืนแรกไปพักแรมที่โรงแรม “พรีลไมเออร์ฮ็อฟ” (Priel Mayerhof) ที่เมือง “ลินซ์” (Linz) ในออสเตรีย ซึ่งมีระยะทาง ๘๑๖ กิโลเมตร จากซูริค วันรุ่งขึ้นคริสเตียนขับรถอ้อมเวียนนาข้ามพรมแดนที่ Nickelsdorf เข้าประเทศฮังการี ไปแวะที่กรุงบูดาเปสต์ (Budapest) เมืองหลวงของประเทศฮังการีเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำดานูบซึ่งไหลผ่านแยกบูดาเปสต์เป็น ๒ เมือง ฝั่ง “บูดา” ประกอบไปด้วยเนินเขามีปราสาทและอนุสาวรีย์ในขณะที่ “เปสต์” อยู่ต่ำกว่า ถนนใหญ่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม ทั้ง ๒ ฝั่งเชื่อมติดต่อกันด้วยสะพานหลายแห่ง
ฮันส์และเพ็ญชวนกันเดินไปบนถนนที่ปลอดรถ Pedestrian Zone ทางฝั่ง “เปสต์” จนถึงจัตุรัสอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ “วีรชน” (Heroes’ Square) เพื่อถ่ายรูปอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.๑๘๙๖ เพื่อระลึกถึงชาวเผ่า “มานยา” (Magyar)
“ชาวมานยานี่เป็นใครกันนะ” ฮันส์ ถาม เขาไม่เคยกลัวเสียหน้าเมื่อต้องการรู้สิ่งใด “อ๋อ เขาก็เป็นชาวฮังการีในสมัยก่อนที่รบได้ชัยชนะ และยึดครองลุ่มน้ำในเขตคาร์ปาเตียนนั่นไง” เพ็ญตอบเพราะได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีก่อนออกเดินทาง
แหงนมองข้ามไปทางฝั่ง “บูดา” เป็นเนินเขา “เจลเลิร์ท” (Gellert) มีอนุสาวรีย์ “อิสรภาพ” (Independence Monument) ตั้งอยู่บนเนิน สองมือชูใบปาล์มเหนือศีรษะสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารชาวโซเวียตที่ช่วยปลดแอกให้ประเทศฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี ค.ศ.๑๙๔๕
คริสเตียนขับรถพาคณะข้ามสะพาน “เอลิซาเบธ” ซึ่งเป็นสะพานที่สวยที่สุดในกรุงบูดาเปสต์ วกเวียนขึ้นไปบนเขา “เจลเลิร์ท” เป็นสถานที่ที่ทุกคนควรจะขึ้นไป เพราะเห็นวิวที่งดงามที่สุดเมื่อมองข้ามแม่น้ำดานูบไปยัง “เปสต์” ทางฝั่งตรงข้าม A7-DSCF0012หอคอยแบบบาโรคของโบสถ์เซ็นต์แอนน์สูงเสียบยอดฟ้าสีคราม ในวันที่มีอากาศดีเช่นในวันนี้ แลเห็นโบสถ์อีก ๒-๓ แห่ง เด่นเป็นสง่าท่ามกลางบ้านเรือนที่สวยงามเป็นระเบียบ
“แปลกนะ แม่น้ำดานูบนี่ไม่ยักกะเป็นสีฟ้าอย่างที่บรรยายในเพลงวอลท์ซ์ ‘บลูดานูบ’ ที่เรารู้จักกัน จำได้ว่ามีคนตั้งข้อสังเกตอันนี้ที่กรุงเวียนนา แม่น้ำดานูบที่นั่นก็ไม่เป็นสีฟ้าเห็นแต่เป็นสีเขียวอมเทา อาจเป็นเพราะมลพิษจากวิ่งแวดล้อมหรือเปล่าคะ?” เพ็ญใช้คำว่า Pollution “แต่เวลาผู้ดูรูปที่ไรเห็นเป็นสีฟ้า ทุกทีเห็นที่กล้องถ่ายรูปจะไม่เชื่อสายตาของมนุษย์กระมังจึงกำหนดให้ดานูบเป็นสีฟ้าเสมอ” เพ็ญช่างสังเกตตามเคย
“ไม่ใช่ ‘Pollution’ ทั้งหมดหรอก” ฮันส์อธิบาย “สีของแม่น้ำเกิดจากปริมาณของดิน กรวด ทราย และแร่ชนิดต่างๆที่พัดไปมาตามกระแสน้ำไงล่ะ พอช่วงไหนที่กระแสน้ำไม่เชี่ยว ดิน ทราย พวกนี้ก็มักจะสะสมรวมตัวกันอยู่ในช่วงนั้น ทำให้แม่น้ำมีสีอย่างที่เราเห็น”
“เพ็ญว่าบูดาเปสต์สวยกว่ากรุงปร๊ากเสียอีก ฮันส์ว่างั้นไหม รู้สึกว่าจะเป็นอินเตอร์มากกว่าด้วยซ้ำ มีคนอยู่ตั้งหลายชนิดหลายภาษาชาวฮังกาเรียนมีการศึกษาดี พอๆกับชาวเช็กและชาวสโลวีเนียเลย ส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกยิปซีที่ไม่มีการศึกษาอย่างที่ชาวโลกเข้าใจกันผิดๆหรอก” เพ็ญพูดจากประสบการณ์ที่เคยได้พบประสังสรรค์กับคนเหล่านี้มา “เสียดายที่อยู่ได้ไม่นาน คราวหลังเรามาเที่ยวกันเองดีกว่านะคะ”
“เห็นไหม ผมบอกแล้วมากับทัวร์ก็อย่างนี้แหละ ดูอะไรก็ชะโงกๆ หาคนที่จะสนใจอะไรจริงจังไม่ค่อยมี” ฮันส์ได้ทีขี่แพะไล่
หลังจากที่ได้ถ่ายรูปกันพอหอมปากหอมคอแล้ว คณะก็เดินทางต่อไปพักที่เมืองเชเก็ด (Szeged) โรงแรม “รอยัส” เป็นโรงแรมสี่ดาวตั้งอยู่ในเขตปลอดรถ ฮันส์และเพ็ญจึงมีโอกาสเดินออกเที่ยว หลังอาหารเย็นไปนั่งที่ร้านกาแฟข้างทาง ดูหนุ่มๆสาวๆนักศึกษาเดินผ่านไปมา ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง มีความสุขกับสิ่งเล็กๆน้อยๆรอบตน
“เชเก็ด” เป็นเมืองเล็กๆตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ “ทิสซ่า” (Tisza) ที่ไหลเข้าไปในประเทศยูโกสลาเวีย ในขณะที่แม่น้ำ “มาโรส” (Maros) จากโรมาเนียไหลเข้าไปในแม่น้ำทิสซ่า ในปี ค.ศ.๑๘๗๙ เมืองเชเก็ดเกือบหายไปจากแผนที่เพราะเกิดน้ำท่วมเสียหายมากมาย เมืองที่เห็นในปัจจุบันเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่แทนเมืองเก่า แต่ก็ยังรักษาความเป็นเอกลักษณ์แบบเดิมไว้ได้ โดยแทบจะไม่มีของใหม่แปลกปลอมเข้าไปเลย แต่เมืองใหม่นี่ก็เกือบจะล่มอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมอีกครั้งในเดือนเมษายนเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน
เมืองเชเก็ดมีชื่อเสียงในการปลูกพริกตุ้ม (Paprika) และทำ “ซาลามี” ยี่ห้อ “พิค” (Pick) ซึ่งเป็นซาลามีที่อร่อยละมีชื่อที่สุดในประเทศฮังการี
คณะข้ามด่านด้านฮังการีที่ “นากีลัก” (Nagylak) เข้าประเทศโรมาเนียที่ด่าน “นาดลัค” (Nadlac) กว่าจะผ่านเข้าออกประเทศที่เคยอยู่หลังม่านเหล็กแต่ละทีต้องใช้เวลาเป็นชั่งโมงๆทั้งๆที่ไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นเลย ไกด์ชาวโรมาเนียบอกว่ารออยู่ที่ด่านหลายชั่วโมงแล้ว วิลลี่ ดาเนียลเป็นนักศึกษาหนุ่ม อายุ ๒๓ ปี เรียนอักษรศาสตร์ภาษาโรมาเนียและเยอรมัน ที่มหาวิทยาลัยในกรุงบูดาเปสต์ ตอนกลางวันในช่วงที่เขาพาชาวคณะไปกินอาหารในภัตตาคารที่เมือง “อารัด” (Arad) เพ็ญชวนฮันส์เดินเรื่อยๆไปตามถนนอันร่มรื่นด้วยเงาไม้ เพื่อดูเมืองและผู้คนเพราะไม่อยากไปอุดอู้เสียเวลาอยู่ในร้านอาหารซื้อฮ็อตดอกพร้อมน้ำดื่มแล้วก็เอาไปนั่งกินที่โต๊ะใต้ร่มไม้ร่วมกับชาวโรมาเนียคนอื่นๆ แม้ว่าจะส่งภาษากันไม่รู้เรื่อง แต่ภาษายิ้มก็เป็นภาษาที่เข้าใจกันได้ทั่วโลก เพ็ญถ่ายรูปพวกเขากับฮันส์ที่นั่งอยู่ด้วยกัน ดูเอาเองค่ะ
ตามท้องถนนมีรถ “ดาช่า” (Dacia) เล็กๆวิ่งไปมา วิลลี่บอกว่าเป็นรถที่ผลิตขึ้นเองในประเทศใช้ได้ทุกอย่างรวมถึงบรรทุกพืชผลของชาวไร่ชาวนาด้วย ภาษาเยอรมันที่วิลลี่ใช้ไม่เลวเลย เมื่อนึกถึงว่าเขาไม่เคยออกไปเรียนต่างประเทศที่ไหน นอกจากในมหาวิทยาลัยในประเทศตนเอง
เพ็ญสังเกตว่าประเทศที่เคยอยู่หลังม่านเหล็กมักจะมีปาร์คในเมืองหลายแห่ง แม้จะมีทางด่วนเพียงไม่กี่สาย แต่ถนนแคบๆที่รถผ่านก็จะมีต้นไม้ครึ้มให้ความร่มเย็นอยู่ทั้งสองข้างทางบางครั้งหลังคารถเฉียดไปกับกิ่งไม้ที่อยู่เหนือศีรษะดังแกรนกราก สองข้างทางถนนจากเมืองอารัดไปเมือง “ซีเบียว” (Sibiu) ที่จะไปพักค้างคืนมีทุ่งหญ้าเขียวขจี ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มผลไม้ เช่น ลูกพลัม ชาวบ้านเก็บส่วนหนึ่งไว้ขาย แต่ส่วนมากหมักทำเครื่องดื่ม “ชนัพส์” (Schnapps)
หมู่บ้านตามริมทางเป็นบ้านเล็กๆแต่ก็มีสีสันสะดุดตา มีที่ทางสำหรับปลูกใบไม้ใบหญ้าวิลลี่ บอกว่าบ้านที่เห็นอยู่เป็นเงินที่ชาวโรมาเนียที่ออกไปทำงานนอกประเทศแล้วได้เงินกลับบ้านมาปลูกบ้านของตนเองและซื้อรถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถเก่ามือสองอายุในราว ๒๐ ปีเป็นอย่างน้อย
ในตัวเมืองหลายแห่งยังเต็มไปด้วยอพาร์ตเม้นต์คอนกรีตซอมซ่อ ที่ถูกกำหนดให้สร้างขึ้นโดยเผด็จการ “เชาเชสกู” (Ceausescu) ในสมัยที่เขายังเรืองอำนาจปกครองประเทศโรมาเนีย
เชาเชสกูก็เหมือนกับเผด็จการบ้าอำนาจอีกหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ต้องการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในกำมือ การที่เขาจะเก็บคนในตัวเมืองไว้ในสายตานั้นไม่ยาก เพราะฐานะเศรษฐกิจของคนเมืองไม่อำนวยให้มีบ้านเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว จำต้องเช่าอพาร์ตเม้นต์เล็กๆเป็นที่อาศัย แต่นอกตัวเมืองออกไปชาวนามีบ้าน มีที่ทางเป็นของตนเอง จะควบคุมหรือสปายก็ลำบาก เขาจึงสั่งรื้อบ้านชาวนาออกหมด สร้างอพาร์ตเม้นต์คอนกรีตแบบลวกๆขึ้นแทน จะได้นับจำนวนคนได้ จะสปายก็ไม่ลำบาก อพาร์ตเม้นต์ส่วนใหญ่สร้างอย่างถูกๆไม่มีก๊อกน้ำในบ้าน ไม่มีส้วม ต้องออกไปทำธุระกันข้างนอก ทำให้เดือดร้อนกันตาแทบกระเด็นโดยเฉพาะในฤดูหนาว
ตอนที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีโรมาเนียในปี ค.ศ.๑๙๗๔ เชาเชสกูยกตำแหน่งที่สำคัญๆทางการเมืองให้เมีย ลูกชาย และน้องชายอีก ๓ คน เพื่อคุมอำนาจในส่วนรัฐ แทนที่เขาจะใช้เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศไปทะนุบำรุงประเทศที่ยากจน เขากลับใช้เงินไปสร้างโครงการ “ฝันบ้า” มหึมาหลายโครงการ จนสหรัฐฯเบื่อหน่ายถอนสภาพที่เคยให้โรมาเนียเป็นประเทศที่มีสิทธิเป็นพิเศษในด้านการค้า แต่เชาเชสกูก็ไม่ยี่หระ ไม่มีเงินช่วยเหลือก็ไม่เป็นไร บังคับชาวไร่ชาวนาให้ส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไปขายนอกประเทศ เพื่อเอารายได้มาสาน “ฝันบ้า” ของตนต่อไป จนคนงานทั่วประเทศสุดจะทนเดินขบวนประท้วงต่อต้านก็หลายครั้ง แต่ก็ถูกทหารของเชาเชสกูขยี้แหลกลาญ ในปี ๑๙๘๘ และ ๑๙๘๙ เป็นปีที่ประชาชนต้องเดือดร้อนจนถึงที่สุด อดยากขาดแคลนอาหารการกินประเทศลุกเป็นไฟ จนชาวโลกต้องส่งอาหารไปช่วย จากนั้นไม่นานเชาเชสกูและเมียก็ถูกจับไปไว้ในค่ายทหาร ในที่สุดก็ถูกประหารด้วยการยิงเป้าในวันคริสต์มาส ปี ๑๙๘๙ นั่นเอง
โรงแรม Ana ที่คณะไปพักนอกเมืองซีเบียว เป็นโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ ๒ วัน สีผนังยังส่งกลิ่นรบกวนทำให้เพ็ญนอนไม่หลับทั้งคืน แต่ก็ไม่กล้าบ่น เพราะกลัวถูกสามีดุแต่อย่างน้อยอาหารเย็นในวันนั้นก็พอใช้ได้ไม่มากจนกินไม่ลง
วันรุ่งขึ้นวิลลี่พานักท่องเที่ยวชาวสวิสไปเดินในตัวเมืองซีเบียวมีประวัติที่น่าสนใจเพราะถูกปกครองโดยชนชาติต่างๆ บ้านเรือนในตัวเมืองเก่ายังคงมีลักษณะและสีสันเหมือนกับที่ชาวเยอรมันแซ็กซัน (German Saxson) สร้างไว้ในศตวรรษที่ ๑๒ หลังจากที่ตัวเมืองถูกทำลายในศตวรรษที่ ๑๓ โดยพวกทาร์ทาร์ (Tartars) ชาวเมืองจึงได้สร้างกำแพงเมืองเอาไว้โดยรอบเพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกเติร์ก ต่อมาซีเบียวถูกเปลี่ยนมือตกไปอยู่ภายในการปกครองของพวกฮับสเบิร์ก และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ทำการของรัฐบาลออสเตรียในเขต “ทรานซิลเวเนีย” (Transylvania) ในสมัยนี้ซีเบียวเป็นหน้าด่านสำหรับใช้ขึ้นภูเขา “ฟาการาส” (Fagaras Mountains) ซึ่งอยู่ในบริเวณของเทือกเขาคาร์ปาเตียน (Carpathian) สถานที่ที่นักท่องเที่ยวประเภท “แบกและหาม” (Backpackers) แบบที่เห็นกันเกลื่อนตาตามถนนข้างสานใน กทม.ใช้เป็นที่เดินป่าฝ่าดง
ในกลางใจเมือง ยอดหอคอยแหลมห้าหอ สร้างในแบบโกธิคของโบสถ์ “ไบซีริค่าอีแวนจีลีค่า” (Biserica Evanghelica) โผล่เหนือบ้านเรือนในลักษณะเยอรมันแซ็กซันเห็นได้แต่ไกล ภายในตัวโบสถ์ก็คล้ายคลึงกับโบสถ์ในลักษณะโกธิคทั่วไป มีพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือด้านหลังออแกนเป็นหลุมฝังศพของเจ้าชาย “มิห์เนีย” ผู้ใจร้าย “วาลัด เทเปส” (Vlad Tepes) อยู่ด้วย เจ้าชายองค์นี้ถูกปลงพระชนม์หลังการทำพิธีมีสซาที่จัตุรัสในบริเวณโบสถ์นี่เองในเดือนมีนาคม ๑๕๑๐
“วาลัด” ได้นิคเนม “เทเปส” ต่อท้ายก็เพราะ “เทเปส” แปลว่า “ผู้เสียบ” (Impaler) ในสมัยที่เขาปกครองแคว้น “วาลาชา” ในเขตทรานซิลเวเนีย เขาได้ชื่อว่าดุร้ายมาก เวลาทำโทษศัตรูก็จะใช้ไม้เสียบทะลุกัน แล้วทิ่มเข้าไปในสันหลังอย่างระมัดระวังโดยไม่ให้ถูกเส้นประสาทที่สำคัญ เพื่อจะได้มั่นใจว่าคนที่ได้รับโทษจะได้รู้สึกถึงความเจ็บปวดเป็นเวลาถึง ๔๘ ชั่วโมงก่อนตาย
“แบรม สโต๊คเคอร์” (Bram Stoker) นักขียนนวนิยายที่มีชีวิตอยู่ตอนต้นศตวรรษที่ ๑๙ เป็นผู้สร้างตำนาน “เคานต์แดร็กคูล่า” ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ “วาลัด” นี่เอง ชื่อเต็มๆของวาลัดคือ “วาลัด แดร็กคูล่า” ซึ่งแปลว่า บุตรชายของมังกร (Son of the Dregon) ตามบิดา คือ (Vlad Dracul) ซึ่งได้รับยศเป็นอัศวินแห่งมังกร (Knight of the Order of Dragon) เวลาใครไปถึง ทรานซิลเวเนียก็มักจะถามหาปราสาทของแดร็กคูล่ากัน
ตรงกันข้ามกับโบสถ์มีช่องบันไดอิฐทอดลงไปบนถนนที่ปูด้วยหิน (Cobbled Stones) เหนือศีรษะมีสะพาน “คนโกหก” (Liar’s Bridge) สร้างขึ้นในปี ๑๘๕๙ ที่ประดับด้วยดอกเจอเรเนียมสีสวย พาดข้ามจากลานฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง เชื่อกันว่า หากใครพูดปดตอนที่ยืนอยู่บนสะพานแล้วละก็ สะพานจะพังลงมา หากเพ็ญเป็นสาวมาก ไม่ใช่สาวน้อยเช่นนี้ ก็อยากชวนฮันส์ให้ขึ้นไปข้ามสักครั้งแล้วจะถามฮันส์อย่างที่คู่รักหนุ่มๆสาวๆมักจะถามตอนรักกันใหม่ๆ
“เมืองซีเบียวนี้เคยมีชื่อว่า ‘Hermannstadt’ ใช่ไหมคะ?” เพ็ญถามตามที่เคยได้รู้มาจากประวัติศาสตร์ยุโรปที่เคยเรียนมา
“ใช่สิ” ฮันส์ตอบ “ในราวศตวรรษที่ ๑๒ พ่อค้าและขุนนางชาวเยอรมันแซ็กซันได้รับเชิญจากฮังการี (ในสมัยก่อนทรานซิลเวเนียอยู่ใต้การปกครองของฮังการี) ให้มาตั้งรกรากอยู่แถบนี้ จะได้ช่วยกันดูแลป้องกันประเทศทางด้านตะวันออก ชาวแซ็กซันได้ตั้งเมืองแบบเดียวกันนี่ถึง ๗ เมือง ให้ชื่อในภาษาเยอรมันว่า ‘Siebenburgen’ แปลว่า ๗ เมือง เมือง ‘บราสซอฟ’ ที่เรากำลังจะเดินทางไปนี่ก็อยู่ในจำนวนนี้เหมือนกัน ก่อนปฏิวัติในปี ๑๙๘๙ ยังมีคนเยอรมันอาศัยอยู่มาก แต่ปัจจุบันเหลือไม่กี่คนส่วนใหญ่อพยพกลับเยอรมันกันหมด” ฮันส์อธิบายยาวเหยียด
“อ่านเรื่องแคว้นทรานซิลเวเนียจากหนังสือของป๊อป (เพ็ญหมายถึงคุณพ่อตนเอง) มาตั้งแต่เด็กๆ มีแต่เรื่องปราสาทร้าง ผีดุดูดเลือด หมาป่าร้องโหยหวน เพ็ญก็เลยสยองฝังใจมาตลอดว่าแถบนี้คงจะน่ากลัว ปราสาทใน ‘ราสนอฟ’ และ ‘แบรน’ ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๑๔ ไม่มีอะไรน่ากลัวสักนิด ไม่เหมือนกับในตำนานของแดร็กคูล่าเลย บรรยากาศโรแมนติกออก” เพ็ญกล่าวกลั้วหัวเราะขำตนเอง