หมู่บ้านที่ฉันอยู่ชื่อ “บุ๊ครายน์” (BUCHRAIN) ชาวบ้านดั้งเดิมเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า “บัวรี่” เป็นหมู่บ้านที่เรียกว่าค่อนข้างจะใหญ่พอสมควร จึงปรากฏอยู่ในแผ่นที่ประเทศสวิสอย่างชัดเจน
อันที่จริงแม้ว่าจะเล็กจิ๊บจ๊อยแค่ไหนคนสวิสก็เขียนลงในแผ่นที่ของเขาเสมอเพราะความหยุมหยิมถี่ถ้วน จะว่าไปแล้วหมู่บ้านนี้คงจะไม่ใหญ่มากนัก หากว่าจะไม่รวมหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งเข้าไปด้วย ด้วยเหตุผลทางการเมือง คือ หมู่บ้าน “เพอร์เล่น” (PERLEN) ชาวบ้านออกเสียงว่า “แบ๋เล่อ” ตอนแรกๆฉันก็งง ไม่เข้าใจว่าเขาหมายถึงที่ไหนกันแน่
หมู่บ้าน หรือ COMMUNE ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “เกไมน์เด้” (GEMEINDE) ในภาษาท้องถิ่น เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของประเทศ มีอิสระในการปกครองตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กันรัฐหรือรัฐบาลกลาง นอกจากในเรื่องสำคัญๆที่เกี่ยวกับรัฐหรือประเทศเป็นส่วนรวมมี “นายก” ที่เรียก “เกไมน์เด้อัมมาน” (GEMEINDEAMMAN) เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องบริหาร และมี “ประธาน” หมู่บ้านที่เรียกว่า “เกไมน์เด้แพรซิเด้นท์” (GEMEINDEPRASIDENT) ที่เป็นปากเสียงของประชาชนในหมู่บ้าน
บุ๊ครายน์อยู่ห่างจากตัวเมืองลูเซิร์นประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถเพียงสิบถึงสิบห้านาทีก็ไปถึงใจกลางเมืองถ้ารถไม่ติดมากนัก อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณเกือบ 500 เมตร สูงกว่าตัวเมืองลูเซิร์นนิดหน่อย มีประชาชนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประมาณสี่พันกว่าคนเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนที่เรามาปลูกบ้านอยู่ใหม่ๆ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีประชาชนอยู่ไม่ถึงสองพัน ในแถบที่ฉันอยู่มีแต่บ้านหลังเดี่ยวนับได้ประมาณ 35 หลังคาเรือน เราเรียกแถบที่เราอยู่ว่า “ฮอฟมัทควอเตียร์” (HOFMATTQUARTIER) เพราะมีถนนชื่อเดียวกันตัดผ่าน อยู่เกือบจะใจกลางหมู่บ้านและตั้งอยู่บนเนินเขาสูงสุด บางคนจึงได้กระแนะกระแหนพวกเราว่าเพราะอยู่สูงจึงได้แต่ “ลุคดาวน์” ลงไปมองคนที่อยู่ตามเนินซึ่งเป็นแฟลตที่คนส่วนใหญ่เช่าอาศัยอยู่ มันเป็นการเล่นคำของชาวอังกฤษ LOOK DOWN ซึ่งแปลว่าดูถูก
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เด็กๆจะไปเรียนหนังสือในโรงเรียนเดียวกันตั้งแต่ชั้นประถมจนจบชั้นมัธยม แต่เด็กที่อยู่เนินเขาจะไม่ขึ้นเนินมาเล่นกับเด็กในแถบบ้านของเรา เขาจะเล่นกับหมู่เด็กที่อยู่ในละแวกเดียวกันเท่านั้น เมื่อลูกสาวยังไปเรียนหนังสือ เคยบอกเขาว่าถ้าชอบเพื่อนคนไหนในชั้นก็ให้ชวนมาเที่ยวบ้านได้ เขาก็ชวนมาเพียงคนเดียว คือ “ทีน่า” ที่พ่อแม่เช่าแฟลตอยู่ข้างล่างเพื่อนคนอื่นๆ ในสมัยนั้นเป็นเพื่อนที่เป็นลูกชายลูกสาวของเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน คือ “ลูเซีย” และ “ก๊อทฟริดจูเนียร์” ที่มีคำว่า “จูเนียร์” เหมือนกัน รวมทั้งปู่ก็ชื่อเดียวกันด้วย สงสัยครอบครัวนี้คงเกรงว่าชื่อนี้จะสูญพันธุ์นอกจากนั้นยังมีเพื่อนเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่ง คือ “เรโต้” ที่อยู่บ้านตรงกันข้ามกับเรา ทั้งสี่คนนี่สนิทสนมกันมากแม้ในปัจจุบันนี้ลูกสาวฉันจะไปทำงานที่เมืองไทยแล้ว พวกเขาก็ยังเขียนจดหมายและโทรศัพท์ถึงกันเสมอ
ในหมู่บ้านมีสองโรงเรียน (ถ้านับที่ “เพอร์เล่น” ด้วยก็เป็นสาม) เป็นโรงเรียนระดับประถมหนึ่งระดับมัธยม เป็นกฎของประเทศสวิสว่าเด็กมีบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ต้องไปโรงเรียนที่นั่น ไม่ใช่ว่าอยู่เมืองลูเซิร์น แต่ส่งลูกไปเรียนที่ซูริค อย่างนี้ไม่ได้ค่ะ อย่าว่าแต่จะข้ามเมืองเลยแม้แต่จะข้ามเขตใกล้ๆก็ไม่ได้ นอกเสียจากกว่าจะไปเข้าโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่ง และต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงจับจิต มีพ่อแม่ผู้ปกครองบางคน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ เข้าใจ (ผิด) ว่าถ้าส่งลูกไปอยู่โรงเรียนเอกชนแล้วต่อไปภายหน้าเขาจะได้มีคอนเน็คชั่นในสังคมต่อไปในอนาคต แต่คนสวิสแท้ๆเอง น้อยนักที่จะทำแบบนี้ เพราะเขาหัวเราะเยาะว่าใครที่ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนแบบนี้ นอกจากจะเสียเงินเสียทองไปโดยใช่เหตุแล้ว เด็กที่ส่งไปก็จะ “ปัญญาอ่อน” เป็นแน่แท้จึงเรียนร่วมกับเด็กสวิสคนอื่นๆ ในโรงเรียนธรรมดาไม่ได้
ฉันเองต้องสารภาพว่า เมื่อกลับจากต่างประเทศยังไม่เข้าใจในระบบการศึกษาของประเทศสวิสอย่างเพียงพอ จึงคิดจะส่งลูกสาวไปอยู่โรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ เพราะเมื่อสมัยอยู่ต่างประเทศเคยส่งเข้าไปเรียนโรงเรียนอังกฤษแต่วอลเตอร์ซึ่งโดยปกติจะใจดีกับลูกกับเมีย ยื่นคำขาดว่าไม่ให้ไปแน่นอน ลูกเป็นคนสวิส เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่มนุษย์สวิสคนอื่นๆเข้าเรียนกัน เมื่อสำเร็จแล้วจะไปไหนก็ได้ ไม่ห้าม
เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว ฉันก็ขอขยายความนิดหนึ่ง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดที่วอลเตอร์พูดเช่นนั้นไม่ใช่เพราะรังเกียจคนชาติอื่น แต่ต้องการให้ลูกมีความรู้สึกว่าตน “มีหลักแหล่ง” ที่แท้จริง ไม่ใช่เติบโตแบบครึ่งๆกลางๆ โดยไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนชาติใดกันแน่ นั่นเป็นเพราะว่าฉันเป็นคนไทย ฉันเองไม่ค่อยชอบคำว่า “ลูกครึ่ง” เท่าไรนัก ทั้งๆที่โดยเนื้อแท้มันก็ไม่ใช่คำหยาบคายอะไรฉันจึงสอนลูกเสมอไม่ให้พูดกับใครๆว่าเป็น “ลูกครึ่ง” แต่ให้บอกว่า “เป็นชาวสวิส แต่คุณแม่เป็นไทย” หรือไม่ก็ “เป็นคนไทย แต่คุณพ่อเป็นสวิส”
ตอนแรกฉันก็ไม่สู้จะชอบใจนักที่ลูกจะไม่ได้ไปเรียนในระบบอังกฤษที่คุ้นเคย แต่หลังจากที่ลูกเรียนสำเร็จมีอาชีพแล้ว นึกย้อนหลังไป ดีใจว่าตัดสินใจถูกที่ให้เข้าเรียนในสวิสในโรงเรียนธรรมดาเช่นเด็กนักเรียนสวิสคนอื่นๆ ไม่ได้ส่งให้เขาไปอยู่ที่ไหนไกลตา จนในที่สุดอาจจะไม่รู้ว่ารากเหง้าของตนนั้นอยู่ที่ใดกันแน่ แม้แต่ครูที่สอนในโรงเรียนเองก็ “จะต้อง” อาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วยเช่นกัน จะไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ นอกจากเหตุผลในด้านภาษีรายได้แล้ว เขายังบอกต่อไปว่า ถ้าครูไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ใกล้โรงเรียน จะต้องเสียเวลาเดินทางไปเปล่าๆ และจะทำให้มี “สเตรส” (STRESS) อันจะทำให้ไม่สามารถสอนเด็กนักเรียนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เคยเกิดเหตุมาแล้วค่ะ ครูที่มีที่อยู่อาศัยที่อื่นต้องถูกออกไป ไม่ได้สอนต่อ แต่เป็นในหมู่บ้านอื่น ไม่ใช่ที่นี่คนสวิสละเอียดถึงเพียงนี้
นอกจากนั้นแล้ว โรงเรียนยังมีกฎห้ามพ่อแม่ผู้ปกครองเอาเด็กไปฮอลิเดย์ในระหว่างเปิดเทอมอีกด้วย ยกเว้นในกรณีพิเศษจริงๆ แต่ก็ต้องเขียนจดหมายขออนุญาตเป็นขั้นตอนจากผู้ดูแลนักเรียน ถ้าไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับกันอ่วมอรทัยเลยค่ะ
เหตุที่เด็กชาวสวิสไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเรียน “ข้ามเขต” ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องภาษี เราเสียภาษีรายได้ 3 หน หนึ่งเสียให้กับหมู่บ้านหรือคอมมูน ที่สองเสียให้กับรัฐลูเซิร์นที่สาม เสียให้กับประเทศ คือ FEDERAL เมื่อเสียภาษีแล้วก็เป็นความรับผิดชอบของหมู่บ้านที่จะจัดให้มีโรงเรียนและสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น เพราะฉะนั้นเด็กที่ไปโรงเรียนจึงไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนค่าสมุด และค่าหนังสือแต่อย่างใด ไม่มียูนิฟอร์ม ใครจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ซึ่งส่วนใหญ่ก็มียูนิฟอร์มอย่างเดียวกัน คือ กางเกงบลูยีน เสื้อยืด และรองเท้าผ้าใบหรือบู๊ตในหน้าหนาว
อีกประการหนึ่ง ไม่มีแคนทีนหรือร้ายขายอาหารในโรงเรียน เด็กๆต้องกลับมากินข้าวกลางวันที่บ้าน พ่อบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะกลับมากินข้าวกลางวันที่บ้านด้วย ในจำนวนนี้มีวอลเตอร์รวมอยู่ด้วย ถ้าหากว่าเขาไม่มีแขกของบริษัท หรือมีธุรกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพราะบริษัทที่เขาทำงานอยู่ก็ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขานั่นเอง ขับรถไปห้านาทีก็ถึง เป็นบริษัทลิฟต์ที่ใหญ่เป็นที่สองของโลกในด้านการขาย ส่วนด้านเทคนิคนั้นเป็นที่หนึ่งของโลก ถ้าหากเขาไม่กลับมากินกลางวันที่บ้าน โอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกันในระหว่างสัปดาห์คงจะแทบไม่มี เพราะเขาไปทำงานแต่เช้ามืด กว่าจะกลับก็ในราวสองทุ่ม เรียกว่าถ้าเป็นฤดูหนาวแล้วเขาแทบจะไม่เคยเห็นบ้านของตนในยามที่มีแสงแดดเลย
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้หญิงชาวสวิสส่วนใหญ่เมื่อแต่งงานมีลูกมีเต้าแล้วจึงต้องอยู่กับบ้านเพื่อดูแลครอบครัว จนกว่าลูกเต้าจะเติบโตดูแลตนเองได้แล้วนั่นแหละ จึงจะออกไปหางานพาร์ตไทม์ทำ ผู้หญิงสวิสส่วนใหญ่ที่ออกไปทำงานนอกบ้านเต็มวันหลังจากที่มีลูกแล้วจึงเป็นประเภทที่ “ต้อง” ออกไปทำเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือเศรษฐกิจของครอบครัวมากกว่าอย่างอื่น
ยังจำปฏิกิริยาของเพื่อนบ้านในตอนแรกได้ว่าเขาตกใจมากเมื่อฉันไปทำงานครึ่งวันตอนที่ลูกยังไปเรียนหนังสืออยู่ เพราะฉันเสียดายความรู้ (แม้จะมีอยู่เพียงแค่หางอึ่ง) เขาบอกฉันด้วยความหวังดีว่า ฉันมีบ้านอยู่ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ฉันเป็น (อย่างน้อยฉันก็หวังว่าฉันเป็น) ผู้จัดการที่ดี จึงจัดการทุกอย่างได้อย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหาแต่อย่างไร ลูกและสามีได้กินข้าวกลางวันที่บ้าน ไม่อดจนผอมโซเป็นชาวเอธิโอเปียแต่อย่างไร ขอโม้หน่อยนะคะว่าครอบครัวยังได้กินอาหารสดๆ ที่แม่ทำ ไม่ใช่อาหารประเภท REM (REFUSEDBY ETHIOPIAN MEAL) แปลว่า แม้แต่ชาวเอธิโอเปียที่อดอยากก็ยังปฏิเสธแถมลูกยังภูมิใจเสียอีกที่แม่มีความสนใจอย่างอื่นนอกบ้าน นอกจากตั้งตัวเขาไว้เป็นจุดศูนย์กลาง เพราะเป็นลูกสาวคนเดียว
ตอนแรกแม้แต่คุณแม่ของวอลเตอร์เองก็บ่นว่าฉันออกไปทำงานนอกบ้าน ทิ้งลูกทิ้งเต้า แต่ฉันก็ย้อนด้วย “ความเคารพ” แบบของฉันว่า “ถ้าคุณแม่ยังอายุเท่าฉัน และมีความสามารถเท่าฉัน คุณแม่จะเป็นคนแรกที่ทิ้งลูกทิ้งเต้าแจ้นออกไปทำงานนอกบ้าน” ท่านก็ได้แต่หัวเราะและครางอย่างติดปากทุกครั้งที่ยอมจำนนแบบไม่รู้จะพูดอย่างไรว่า “เอ๊ะ เอ” แปลว่าอะไรไม่ทราบค่ะ และในที่สุดก็ยอมรับในความเป็นตัวของฉันเอง ฉันเสียอีก ทำงานที่ไหนไม่ค่อยจะทน (ยกเว้นการสอนหนังสือ) เพราะทนบอสประเภทสาม “ขี้” ไม่ค่อยจะได้ คือ ชี้อิจฉา ขี้โกง ไม่ใช่โกงเงินโกงทอง โกงเอาความดีความชอบเป็นของตัวเอง และชี้ขลาด ไอ้สอง “ขี้” แรกก็พอจะทนกันได้ แต่เรื่องความขี้ขลาด ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด โทษคนอื่นนี่ ทนไม่ได้เลยจริงๆ ผู้หญิงทำเช่นนี้ก็นับว่าแย่แล้ว ยิ่งลูกผู้ชายทำแบบนี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ในที่สุดได้งานสอนหนังสือจึงอยู่ทนจนเหนื่อยเต็มที แทบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ก็เลยเลิกสอนไปเมื่อสิ้นปีการศึกษาที่ผ่านมาแล้วนี่เอง คือเดือนกรกฎาคม แต่ยังคงเป็นกรรมการสอบอยู่ค่ะ
นอกจากภาษีทั้งสามขั้นตอนที่จะต้องเสียแล้ว เรายังต้องเสียภาษีให้โบสถ์อีกด้วย เรียกในภาษาอังกฤษว่า “CHURCH TAX” เคยพูดกับวอลเตอร์ว่า ตั้งแต่ได้ทำพิธี “คอนเฟอร์เมชั่น” (CONFIRMATION) ให้ลูกแล้ว เราก็ไม่เคยไปโบสถ์อีกเลย ลาออกจากการนับถือศาสนากันเถอะ จะได้ทุ่นภาษี เขาก็หัวเราะ และบอกว่า ทุกคนจะต้องเสียภาษีให้โบสถ์ ถึงแม้เราจะแจ้งว่าไม่มีศาสนาก็ตาม
เมื่อกลับจากต่างประเทศเมื่อ 15 ปีก่อน หลังจากที่บริษัท “เนรเทศ” ให้วอลเตอร์ไปเป็นผู้จัดการอยู่ที่ประเทศนั้นถึง 9 ปี (แต่นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งขอยกไปเล่าคราวอื่นนะคะ เพราะเป็นคนละประเทศกัน) เราก็มาปักหลักอยู่ลูเซิร์น เพราะสำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่ตอนที่มาอยู่ใหม่ๆ สองปีแรกเราเช่าแฟลตอยู่เหมือนกัน เป็นแฟลตที่พี่สาวของวอลเตอร์จัดการเช่าให้ก่อนเรากลับ แฟลตแห่งนี้อยู่ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ “สื่อสารคมนาคม” ของเมืองลูเซิร์น มีศูนยการค้า มีคลับเทนนิส มีรถเมล์เบอร์ 2 ผ่านเข้าตัวเมือง นั่งรถใช้เวลาแค่ 6 นาทีเท่านั้นเอง เรียกว่าสะดวกมาก แฟลตมี 3 ห้องนอน มีห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ครัวเล็กๆ แต่ทันสมัย มีโรงรถสำหรับรถ 2 คัน ฯลฯ แต่…ทว่าเมื่อได้เห็นสภาพภายนอกของแฟลตนี้เป็นครั้งแรกในวันที่มีฝนตกอากาศมืดครึ้ม ฉันแทบจะปล่อยโฮออกมา เพราะตัวตึกดูเก่าโทรมเต็มทน และมีสีเทามอๆ แถมยังตั้งอยู่เสียสูงลิ่ว มีบันไดต้องไต่ขึ้นไปถึง 52 ขั้น ไม่มีลิฟต์โชคดีหน่อยที่เราอยู่ชั้น MEZZANINE บนชั้นนี้มีแฟลตสองหลังซึ่งใหญ่ที่สุดในจำนวนแฟลตทั้งหมด เวลาไปช็อปปิ้ง หรือซื้อเครื่องดื่มเป็นลังๆ หรือแม้แต่ตอนย้ายบ้าน เราต้องแบกสัมภาระกันจนตัวโก่งทีเดียว
ระยะเวลาในแฟลตสองปีทำให้ฉันได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับ “ภารโรง” หรือคนดูแลตึก (HAUSWART) ชาวสวิสเป็นครั้งแรก ที่เคยเล่าส่วนหนึ่งให้คุณผู้อ่านฟังไปแล้วใน “จดหมายจากลูเซิร์น” ตอน “ลอยคอไปจนถึงเมืองบาป” มันเป็นสองปีที่เป็นบทเรียนอันมีค่า ทำให้ฉันรู้ว่าการเช่าแฟลตอยู่ในประเทศสวิสนั้นไม่ใช่ของง่ายเลย ต้องระมัดระวังตัวไปเสียทุกอย่าง เพราะฉันไม่คุ้นกับระบบการเช่าแฟลตของเขา ถ้าเราจำเป็นต้องเช่าแฟลตอยู่ในประเทศนี้ตลอดไปเช่นชาวสวิสอีก 71 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ฉันคงจะอ้อนวอนวอลเตอร์ให้บริษัทย้ายเขาไปอยู่ประเทศอื่นเป็นแน่
ในสัญญาเช่าจะต้องระบุว่าเงินเดือนเท่าไร มีใครมาอยู่บ้าง ฯลฯ มีข้อบังคับหยุมหยิมร้อยแปดพันประการ จะขอเลือกเฉพาะที่เด่นๆ 2-3 ข้อเท่านั้นนะคะ เช่น ไม่ให้อาบน้ำหลังสี่ทุ่มไปแล้วเพราะจะไปรบกวนชาวแฟลตคนอื่นๆ มีกำหนดให้ใช้เครื่องซักผ้ารวมเดือนละสองครั้งเท่านั้นเอง วันไหนก็ต้องเป็นวันนั้น จะไปแซงคิวของคนอื่นไม่ได้ตากผ้าไว้แล้วจะทำเป็นลืมไม่เก็บไม่ได้เพราะมีคนอื่นคอยจะซักผ้าและคอยใช้ราวตากผ้าอยู่ ซักแล้วก็ต้องเช็ดทำความสะอาดเครื่องให้ดี เกิดมีผงซักฟอกติดอยู่นิดๆหน่อยๆ ก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ฉันไม่เคยมีเรื่องกับเขาหรอกค่ะ เพราะตัวเองก็เป็นคนละเอียดอยู่เหมือนกัน แต่เคยได้ยินเสียงบ่นว่าคนอื่น ฉันซื้อเครื่องซักผ้าเล็กๆ เครื่องหนึ่งเก็บไว้ในครัว อยากซักผ้าเมื่อไรก็ซักได้ แล้วเอาไปตากที่ระเบียงถ้าเป็นหน้าร้อน ถ้าเป็นหน้าอื่นๆฉันจะยกราวเข้าไปตากในห้องนอนของแขกเพื่อไม่ให้เกะกะ
การจะย้ายเข้าหรือย้ายออกจากแฟลตมีกำหนดเวลา คือในเดือนมีนาคมครั้งหนึ่ง และในเดือนตุลาคมอีกครั้งหนึ่ง ถ้าอยากย้ายออกไปก่อนสองเดือนที่กำหนดไว้ให้ จะต้องหาคนมาเช่าให้ได้ก่อนจะย้ายออกไป ถ้าหาไม่ได้ แต่อยากย้ายออกไปก่อน ก็ต้องชำระเงินให้กับเจ้าของจนถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้แต่ถ้าย้ายออกในเดือนที่กำหนดไว้ดังที่กล่าวมาแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทว่า…ก่อนจะย้ายออกไปจะต้องทำความสะอาดแฟลตให้หมดจน แม้แต่ผงเม็ดเดียวก็จะหลงเหลืออยู่ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นผู้ดูแลแฟลตจะสั่งให้กลับไปทำความสะอาดใหม่ อะไรที่สึกหรอเสียหายไปจะต้องชดใช้ ตามปกติบริษัทประกันจะจ่ายให้หากว่าเป็นการสึกหรอเสียหายธรรมดาอย่างที่ควรจะเป็น เขาก็ไม่จ่ายให้ ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง เพราะฉะนั้นชาวสวิสโดยทั่วไปจึงมักจะไม่ค่อยย้ายที่อยู่กันง่ายๆ บางคนอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย หรืออยู่ตั้งแต่เพิ่งแต่งงานจนมีลูก จนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแยกไปอยู่ที่อื่น เขาก็ยังอยู่ที่เดิม
วันสุดท้ายที่เราขนของออกไปหมดแล้วนั้น วอลเตอร์กับฉันต้องช่วยกันทำความสะอาดแฟลตขนานใหญ่ ฉันยังไม่ลืมภาพที่เราต้องนั่งคุกเข่าพยายามดึงพรมปูพื้นห้องแบบ WALL-TO-WALLCARPET ให้หลุดจากกาวที่ติดอยู่อย่างเหนียวแน่นบนพื้นปาร์เกต์ เราคงจ้างคนให้มาช่วยทำให้ หากรู้ล่วงหน้าสักนิดว่าเหตุการณ์จะเป็นไปในรูปนี้ เรารับซื้อพรมนี้มาจากผู้เช่าคนก่อนตอนที่มาขอดูแฟลต เขาบอกว่าเวลาย้ายออกก็ไม่จำเป็นจะต้องเอาพรมออก เพราะพื้นปาร์เกต์ข้างล่างเก่าเต็มที เราหลงกลแถมยังเสียเงินค่าโง่ไปอีก 2,000 ฟรังก์เป็นค่าพรม คนขายก็สบายแฮ ไหนจะได้เงินจากเราแล้วยังไม่ต้อง “แกะ” เอาพรมออกจากพื้นอีกด้วย เรามารู้เอาวินาทีสุดท้าย ตอนที่เขามาเช็คดูความเรียบร้อยของแฟลต คนดูแลบอกว่าเขาต้องการสภาพของแฟลตในลักษณะเดิม คือในแบบที่เป็นพื้นปาร์เกต์ไม่มีพรมปู ไม่ว่าเราจะพูดอย่างไร เขาก็ไม่ฟัง จำได้ว่าฉันเสียน้ำตาไปหลายหยด ขณะที่จำใจต้องแกะเอาพรมออกใครที่เคยทำจะรู้ดีว่าเป็นงานที่โหดเพียงไรขอให้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตเถิด
ในระหว่างสองปีแรกนั้นเราตระเวนไปทั่วรัฐลูเซิร์น หาซื้อบ้านสำเร็จรูปที่ถูกใจ แต่ไม่ได้ เราจึงเปลี่ยนเป็นตระเวนหาที่ดินที่เราจะปลูกบ้านอยู่เอง จนมาได้ที่ดินที่บุ๊ครายน์ หลังจากที่ได้อ้อนอวนซื้อจากเจ้าของที่อยู่หลายครั้งหลายคราจนใจอ่อนยอมขายที่ให้เราได้ปลูกบ้านอยู่มาจนทุกวันนี้ เป็นเวลา 13 ปีแล้วค่ะ และดีใจที่ตัดสินใจไม่ผิดเลย เราได้เพื่อนบ้านที่ดีมีอัธยาศัย ไว้วางใจได้ข้อสำคัญ เราอยู่มานาน เป็นที่รู้จักดีของคนในละแวกนี้ ลูกสาวเคยพูดเมื่อตอนเป็นทีนเอจว่า ถ้าต้องย้ายบ้านอีกเขาคงแย่แน่ๆ แล้วตอนนี้แม่ตัวดีไปอยู่เสียที่ไหน หือ
ความจริงเรามีบ้านของเราเองอยู่แล้วที่กรุงเบิร์น ซื้อเอาไว้ตอนที่อยู่ต่างประเทศ และให้เขาเช่า เพราะเคยหวังไว้ว่าบริษัทจะส่งวอลเตอร์ไปประจำอยู่ที่นั่น แต่ทางสำนักงานใหญ่ที่ลูเซิร์นต้องการตัวเขาเอาไว้
ผลสุดท้ายเราจึงต้องขายบ้านในกรุงเบิร์นไป